คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 3 (1)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 32 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2754/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดโทษใหม่ตามกฎหมายยาเสพติดที่แก้ไข กรณีโทษเดิมหนักกว่าโทษใหม่
ความผิดฐานผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายตาม พ.รบ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคสอง (เดิม) ต้องระวางโทษประหารชีวิตสถานเดียว ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงจำคุก 25 ปี เช่นนี้ต้องถือว่าโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 กำหนดตามคำพิพากษาคือโทษประหารชีวิต มิใช่โทษจำคุก 25 ปี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว เมื่อปรากฏว่าระหว่างที่จำเลยกำลังรับโทษตามคำพิพากษาซึ่งคดีถึงที่สุดแล้วนั้น ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 9 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 65 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งเฮโรอีนที่จำเลยผลิตโดยการแบ่งบรรจุมีน้ำหนัก 0.30 กรัม เป็นที่เข้าใจว่าหากคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์คงไม่ถึง 3 กรัม เมื่อจำเลยผลิตเฮโรอีนของกลางโดยการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่าย การกระทำของจำเลยจึงต้องด้วยมาตรา 65 วรรคสี่ ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท อันเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ากฎหมายเดิม เมื่อโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 กำหนดคือโทษประหารชีวิต หนักกว่าโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาทตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ศาลต้องกำหนดโทษให้จำเลยใหม่ตามโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) มิใช่ถือเอาโทษจำคุก 25 ปี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ลดโทษให้แล้วมาเป็นหลักในการเปรียบเทียบกับโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 715/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขโทษทางอาญาหลังกฎหมายเปลี่ยนแปลง - สิทธิอุทธรณ์และการใช้กฎหมายใหม่ที่เป็นคุณ
เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2541 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง และมาตรา 66 วรรคสอง ป.อ. มาตรา 83 หากจำเลยเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษา แต่จำเลยมิได้ใช้สิทธิดังกล่าวจนคดีถึงที่สุด จำเลยจึงมิอาจยื่นคำร้องในภายหลังว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเฮโรอีนของกลางที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เกินหนึ่งร้อยกรัมดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 66 วรรคสอง เดิม แม้โจทก์นำสืบว่าเฮโรอีนของกลางคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เกินหนึ่งร้อยกรัม ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยตาม มาตรา 66 วรรคสอง เดิม ได้ เพราะการกระทำของจำเลยคงเป็นความผิดตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ หากศาลฟังตามคำร้องของจำเลยแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ย่อมมีผลเป็นการแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 190
ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง และมาตรา 66 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายในภายหลัง และความผิดของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (3) และมาตรา 66 วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต กฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16571/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายยาเสพติดหลังกระทำผิด และผลต่อการกำหนดโทษใหม่ของผู้ต้องหา
ในระหว่างที่จำเลยกำลังรับโทษตามคำพิพากษาซึ่งคดีถึงที่สุด ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 65 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยตามมาตรา 65 วรรคสอง (เดิม) กำหนดไว้ว่า ผู้ใดผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษประหารชีวิต ส่วนในมาตรา 65 ที่แก้ไขใหม่ กำหนดแยกบทลงโทษกรณีผลิตโดยการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุ และมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม (3) คือไม่ถึง 3 กรัม หากเป็นการผลิตเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษตามมาตรา 65 วรรคสี่ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท เช่นนี้ ความผิดฐานผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายตามมาตรา 65 วรรคสี่ ที่แก้ไขใหม่ จะเป็นคุณมากกว่ากฎหมายเดิมตามมาตรา 65 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด เฉพาะในกรณีที่เป็นการผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายโดยการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุ และมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (3) (ใหม่) คือไม่ถึง 3 กรัม เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยผลิตเฮโรอีนโดยการแบ่งบรรจุใส่หลอดพลาสติก 150 หลอด น้ำหนัก 142.007 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 91.865 กรัม แม้ฟ้องโจทก์จะไม่ได้บรรยายว่า เฮโรอีนดังกล่าวมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด แต่โจทก์บรรยายฟ้องมาแล้วว่า จำเลยผลิตเฮโรอีนโดยการแบ่งจากห่อแล้วบรรจุใส่หลอดพลาสติก 150 หลอด น้ำหนัก 142.007 กรัม อันเป็นการบรรยายฟ้องมาครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 65 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแล้ว เมื่อเฮโรอีนของกลางมีปริมาณสารบริสุทธิ์ 91.865 กรัม เกินกว่าที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม (3) จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 65 วรรคสี่ ที่แก้ไขใหม่ กฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย ส่วนกำหนดโทษตามมาตรา 65 วรรคสอง (เดิม) และมาตรา 65 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ มีระวางโทษประหารชีวิตสถานเดียวเท่ากัน กฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย ต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษจำเลยในความผิดฐานผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3157/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดโทษใหม่ตามกฎหมายยาเสพติดที่แก้ไขใหม่ โดยอาศัยหลักกฎหมายอาญา มาตรา 3(1)
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ผลิตและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยการแบ่งบรรจุจำนวน 130 เม็ดครึ่ง น้ำหนัก 9.13 กรัม โดยไม่ปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หรือมีจำนวนหน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิเท่าใด กรณีจึงต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 65 วรรคสี่และมาตรา 66 วรรคหนึ่งที่แก้ไขใหม่โดยมาตรา 65 วรรคสี่ ซึ่งเป็นบทหนักมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาทแตกต่างจากมาตรา 65 วรรคสอง ตามกฎหมายเดิมที่มีระวางโทษประหารชีวิตสถานเดียว โทษจำคุกตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงเป็นคุณมากกว่าต้องถือว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดและโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งกำลังรับโทษอยู่ร้องขอ ศาลจึงชอบที่จะกำหนดโทษจำเลยที่ 1 เสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) และแม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ร้องขอให้ศาลกำหนดโทษใหม่ด้วย แต่เมื่อจำเลยที่ 2 กำลังรับโทษอยู่และสำนวนความปรากฏแก่ศาล ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ย่อมกำหนดโทษใหม่สำหรับจำเลยที่ 2 ด้วยได้ตาม ป.อ.มาตรา 3 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11527/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทลงโทษคดียาเสพติด: กฎหมายใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย แม้มีการแก้ไขโทษ
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลปรับบทลงโทษและกำหนดโทษใหม่ โดยอ้างว่าเมื่อคดีถึงที่สุดและระหว่างที่จำเลยที่ 3 ต้องโทษมี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 65 และมาตรา 66 กฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยจึงมีเพียงว่าศาลจะปรับบทลงโทษและกำหนดโทษจำเลยที่ 3 ใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ได้หรือไม่ เท่านั้น ส่วนประเด็นที่ว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยที่ 3 มีเฮโรอีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เท่าใดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เท่าใดยุติไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 3 จะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาในคำร้องขอกำหนดโทษใหม่อีกไม่ได้
เฮโรอีนของกลางที่จำเลยที่ 3 ร่วมกันผลิตเพื่อจำหน่ายโดยการแบ่งบรรจุ คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 130.4 กรัม เฮโรอีนของกลางจึงมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป ตามมาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่แก้ไขใหม่ การกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 ไม่ต้องด้วยบทกำหนดโทษในมาตรา 65 วรรคสามและวรรคสี่ ที่แก้ไขใหม่ แต่ต้องด้วยบทกำหนดโทษมาตรา 65 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งมีระวางโทษประหารชีวิต ส่วนมาตรา 65 วรรคสอง เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยที่ 3 กระทำความผิด มีระวางโทษประหารชีวิตเช่นเดียวกัน โทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 คำร้องของจำเลยที่ 3 ไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8472/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดโทษใหม่ตามกฎหมายยาเสพติดที่แก้ไข ศาลไม่อาจปรับโทษเดิมเมื่อคดีถึงที่สุดหลังกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 และคดีของจำเลยที่ 1 ถึงที่สุดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2551 โดยศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 และศาลฎีกาพิพากษาหลังจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ใช้บังคับแล้ว และได้ปรับบทลงโทษและกำหนดโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่แล้ว กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ใหม่ได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1102/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดโทษใหม่ตามกฎหมายยาเสพติดที่แก้ไข - คดีถึงที่สุดหลังกฎหมายใหม่ใช้บังคับ
การที่ศาลจะกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ใหม่ในกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้วตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และคดีถึงที่สุดก่อนวันที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ใช้บังคับ เมื่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 36 ซึ่งให้เพิ่มมาตรา 100/2 แห่งพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 และคดีของจำเลยที่ 1 ถึงที่สุดเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2547 โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ใช้บังคับแล้ว กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14087/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการแก้ไขโทษหลังคดีถึงที่สุด: ผลของ พ.ร.บ.ล้างมลทิน และข้อยกเว้น ป.วิ.อ. มาตรา 190
ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2550 ว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง จำคุก 7 ปี และปรับ 400,000 บาท เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งเป็นจำคุก 10 ปี 6 เดือน และปรับ 600,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 5 ปี 3 เดือน และปรับ 300,000 บาท ต่อมาวันที่ 4 มิถุนายน 2551 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ได้นั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 จนคดีถึงที่สุดแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขการเพิ่มโทษในคดีหลังได้ และเมื่อศาลอ่านคำพิพากษาจนคดีถึงที่สุดแล้ว ศาลนั้นจะแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับการเพิ่มโทษหาได้ไม่ เพราะไม่ใช่การแก้ไขถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาดซึ่งขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 190 และกรณีดังกล่าวไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่จะทำให้ศาลมีอำนาจยกคดีขึ้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ได้
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 13/2553)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13883/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดโทษใหม่ตามกฎหมายยาเสพติดที่แก้ไข โดยต้องพิจารณาช่วงเวลาที่คดีถึงที่สุด
ป.อ. มาตรา 3 บัญญัติว่า "ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว แต่ในกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้วดังต่อไปนี้ (1) ถ้าผู้กระทำความผิด...กำลังรับโทษอยู่และโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง...เมื่อผู้กระทำความผิดร้องขอ ให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง..." บทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า ศาลจะกำหนดโทษใหม่ในกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้วได้ต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และคดีถึงที่สุดก่อนวันที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังใช้บังคับ เมื่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ซึ่งยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 และคดีของจำเลยที่ 1 ถึงที่สุดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2550 โดยศาลฎีกาพิพากษาเมื่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ใช้บังคับแล้ว กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับ ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่ศาลกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2823/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทกฎหมายความผิดฐานจ้างงานคนต่างด้าว และการพิจารณาความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง เมื่อข้อเท็จจริงไม่เข้าองค์ประกอบความผิด
แม้จำเลยที่ 3 ซึ่งยื่นฎีกาเพียงผู้เดียวถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาและศาลฎีกามีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 เสียจากสารบบความของศาลฎีกาแล้ว แต่สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า สถานบริการที่เกิดเหตุเป็นสถานบริการที่เปิดเพื่อให้บริการแก่บุคคลทั่วไป ในวันเวลาเกิดเหตุที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจสอบพบหญิงสัญชาติพม่า 30 คน นั่งอยู่ในตู้กระจกใสอันเป็นที่เปิดเผยเพื่อรอให้บริการแก่ลูกค้า เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีเจตนาเพื่อให้หญิงทั้งหมดทำงานเป็นหญิงบริการให้แก่ลูกค้าในสถานบริการเท่านั้น หาได้มีเจตนาเพื่อให้หญิงทั้ง 30 คน พ้นจากการจับกุมไม่ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำความผิด กรณีเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่เป็นความผิดก็มีอำนาจยกขึ้นพิจารณาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215, 225
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 3(1) ให้ยกเลิก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 ซึ่งความผิดฐานรับคนต่างด้าวเข้าทำงานตามกฎหมายที่ใช้บังคับใหม่เป็นความผิดตาม มาตรา 27 ที่ได้กำหนดโทษไว้ในมาตรา 54 ให้ระวางโทษปรับสถานเดียวต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน ต่างจาก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 39 ที่ให้ระวางโทษจำคุกหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนของโทษจำคุกกฎหมายที่ใช้ในภายหลังเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่า แต่ในส่วนโทษปรับกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดมีบางส่วนเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยที่ 2 ไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคแรก กรณีเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จะยุติการพิจารณาไปในชั้นศาลอุทธรณ์แล้ว แต่คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
of 4