คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ม. 29

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 154 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7055/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการอุทธรณ์ภาษี, การแยกพิจารณาภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม, หลักการประมาณการกำไรสุทธิเกินร้อยละ 25
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้แสดงหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับรายได้โจทก์และบัญชีรายได้ของโจทก์ว่าโจทก์ มีบัญชีรายได้เป็นเงิน 16,834,480.41 บาท ซึ่งตรงกับงบดุลในปี 2535 แต่เจ้าพนักงานของจำเลยได้คำนวณรายได้ ของโจทก์รวมทั้งสิ้น 16,982,605.43 บาท และแจ้งว่าโจทก์บันทึกรายได้ต่างจากการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน 148,125.02 บาท ซึ่งยอดตามที่เจ้าพนักงานจำเลยคำนวณมานั้น เจ้าพนักงานได้บวกภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปด้วย การที่โจทก์ อุทธรณ์ว่า โจทก์มีรายได้จำนวนตามฟ้อง เพราะเวลาที่โจทก์ขายน้ำมันจะมีส่วนลดให้แก่ลูกค้า ยอดที่จำเลยคำนวณ ไม่ตรงกันเพราะคิดเฉลี่ยจากราคาเต็มไม่คิดส่วนลดให้ และราคาเฉลี่ยที่เจ้าพนักงานสรรพากรประเมินอาจไม่ตรงกับราคาน้ำมันในแต่ละวัน เป็นการคำนวณไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอนอาจผิดหรือถูกก็ได้นั้น เป็นข้อที่โจทก์มิได้ยกขึ้นอ้างเพื่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทไว้ในคำฟ้อง แม้ศาลภาษีอากรกลางได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ยื่นรายการและชำระภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 67 ทวิ (1) หรือยื่นรายการและชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ (1) โดยแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นโดยไม่มีเหตุอันสมควรก็จะต้องรับผิดตาม มาตรา 67 ตรี ซึ่งจะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ (1) หรือ ของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นหรือของภาษีที่ชำระขาดแล้วแต่กรณี ดังนั้น จึงถือได้ว่าการฝ่าฝืนมาตรา 67 ทวิ ได้มีบทบัญญัติกำหนดความรับผิดไว้โดยเฉพาะแล้ว และหากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ยื่นประมาณการหรือแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 เจ้าพนักงานประเมินจะทราบและสามารถประเมินให้ผู้ต้องเสียภาษีชำระภาษีพร้อมเงินเพิ่มได้ทันทีเมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ยื่นชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 68 และ 69 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยไม่จำต้องออกหมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการมาไต่สวน ตรวจสอบดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 กรณีจึงมิใช่เรื่องการยื่นรายการตามแบบไม่ถูกต้องและมีการออกหมายเรียกไต่สวนตรวจสอบแล้วจึงประเมินเพิ่มตามที่ตรวจสอบดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 และ 20 เจ้าพนักงานประเมิน จึงไม่มีอำนาจประเมินให้โจทก์เสียเบี้ยปรับตามมาตรา 22 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
ประมวลรัษฎากร มาตรา 67 ทวิ วรรคสอง บัญญัติว่า ภาษีที่ชำระตามวรรคหนึ่งให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 68 ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 (ครึ่งปี) ที่เจ้าพนักงานประเมินจำนวน 23,425.27 บาท จึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าภาษีที่โจทก์ต้องชำระเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 เมื่อโจทก์ได้ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 ตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 68 และ 69 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้ยื่นตามปกติและที่ได้ยื่นเพิ่มเติมรวมทั้ง จะต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 เนื่องจากบันทึกยอดขายขาดไป ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์ชำระภาษีจำนวนดังกล่าว จึงซ้ำซ้อนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย
มาตรา 67 ตรี บัญญัติให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่แสดงประมาณกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีโดยไม่มีเหตุอันสมควรเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ (1) หรือของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสีย ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น หรือของภาษีที่ชำระขาดแล้วแต่กรณี เมื่อโจทก์มีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจะนำมาหักได้ตามกฎหมายในรอบระยะเวลาหกเดือนของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ซึ่งแบบ ภ.ง.ด. 51 ของจำเลยก็ยินยอมให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แล้วจึงนำมาถือเป็นภาษีเงินได้ที่ต้องชำระเพิ่มเติม โจทก์ย่อมนำภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่โจทก์ได้จ่ายไปมาหักได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์ มิได้อุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
ทุนทรัพย์ที่พิพาทเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มต้องแยกคำนวณจากทุนทรัพย์ที่พิพาทเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล เพราะการฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของภาษีทั้งสองประเภทมีสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและมีวิธีการคำนวณแตกต่างกัน เมื่อทุนทรัพย์เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีที่พิพาท 50,000 บาท จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 25 โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์เสียภาษีครบถ้วนถูกต้องแล้วโดยมียอดขายจำนวน 367,496.49 บาท และยอดซื้อจำนวน 339,058.97 บาท เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงย่อมต้องห้ามอุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6331/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับภาษี: การประเมินเบี้ยปรับตามมาตรา 89(4) และ (10) แห่งประมวลรัษฎากร การยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้อง
จำเลยยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องเป็นเหตุให้จำนวนภาษีขายคลาดเคลื่อนไป จำเลยจึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีขายที่แสดงไว้ขาดไปตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 (4) และการกระทำของจำเลยดังกล่าวมิใช่เป็นการมิได้ทำรายงานตามที่กฎหมายกำหนดหรือรายงานอื่นตามที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 87/1 หรือมีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ อันจะทำให้ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินภาษีซึ่งคำนวณจากฐานภาษีที่มิได้ทำรายงานหรือมิได้ลงรายการในรายงานให้ถูกต้องตามมาตรา 89 (10)
การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และมาตรา 246

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1001/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีอากร: การประเมินภาษีจากรายรับที่ไม่ถูกต้อง และการซ้ำซ้อนของการประเมินเบี้ยปรับ
ชื่อผู้ประกอบการค้าที่เป็นเจ้าของบัตรชดเชยภาษี เลขประจำตัวผู้เสียภาษีที่ปรากฏอยู่ตอนบนของรายการเป็นของจำเลยและมีรายละเอียดเลขบัตรชดเชยภาษีพร้อมยอดเงินตามบัตรชดเชยภาษี เมื่อจำเลยไม่โต้แย้งคัดค้านจึงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของบัตรชดเชยภาษี จำเลยมีหน้าที่ต้องนำเงินตามมูลค่าบัตรภาษีตามเอกสารดังกล่าวมาคำนวณเสียภาษี แต่จำเลยไม่มาพบและไม่นำส่งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีเมื่อได้รับหมายเรียกเพื่อตรวจสอบบัญชีจำเลยจึงต้องรับผิดเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับดังกล่าวก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 71(1)และต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของจำนวนภาษีที่ต้องเสีย นับแต่วันพ้นกำหนดและยื่นรายการสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี แต่ไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียจำนวนดังกล่าวตามมาตรา 22
จำเลยยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด.50เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2540 และแจ้งเลิกประกอบกิจการเมื่อวันที่ 16กันยายน 2540 จึงแสดงได้ว่าในรอบระยะเวลาบัญชีนี้จำเลยประกอบกิจการเต็มทั้งรอบระยะเวลาบัญชีจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการประมาณการกำไรสุทธิและชำระภาษีจากกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.51 สำหรับรอบระยะเวลาหกเดือนเมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่ยื่นแบบดังกล่าวตามมาตรา 67 ทวิ (1) จำเลยจึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ (1) ตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรฯ
ประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 67 ตรี ได้กำหนดบทลงโทษให้ผู้เสียภาษีชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 20 ไว้เป็นการเฉพาะแล้วการที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้จำเลยชำระเบี้ยปรับในจำนวนภาษีเดียวกันอีกจึงเป็นการซ้ำซ้อน การประเมินเบี้ยปรับนี้จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯมาตรา 29 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7758/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหลอกลวงขอเงินชดเชยภาษีอากร, การโอนบัตรภาษีโดยไม่ชอบ, ความรับผิดร่วมกันของจำเลยในการชดใช้เงินและดอกเบี้ย
ศาลภาษีอากรกลางอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 โจทก์ต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 24 การนับเวลา ยื่นอุทธรณ์ 1 เดือน ต้องนับวันรุ่งขึ้นเป็นวันแรกตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 และสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น ตามมาตรา 193/5 โจทก์ยื่นอุทธรณ์วันที่ 28 สิงหาคม 2541 จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 มิได้ส่งสินค้าตามใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้า 22 ฉบับ ออกไปนอกราชอาณาจักร แต่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการหลอกลวงโจทก์ โดยยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าที่อ้างว่าส่งออกตามใบขนสินค้าขาออกฯ ดังกล่าวจนเป็นเหตุให้โจทก์จ่ายเงินชดเชยในรูปของบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับโอนบัตรภาษีจากจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปของบัตรภาษีโดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 ที่มิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปของ บัตรภาษี จำเลยที่ 3 ผู้รับโอนสิทธิต่อจากจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้โอน จำเลยที่ 3 จึงได้รับสิทธิตามบัตรภาษีไปจากโจทก์โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ เงินชดเชย ค่าภาษีอากรที่จ่ายในรูปบัตรภาษีจึงเป็นลาภมิควรได้ จำเลยที่ 3 จะต้องคืนบัตรภาษีให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ต้องชดใช้ราคาแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406
จำเลยที่ 3 ให้การว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ขาดอายุความ เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหม ทดแทน โจทก์ทราบเรื่องเมื่อเดือนกรกฎาคม 2534 แต่ฟ้องคดีวันที่ 5 สิงหาคม 2540 สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึง ขาดอายุความ จึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเพียงว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความตามมูลละเมิดหรือไม่เท่านั้น เมื่อคดีของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ฟังได้ว่าเป็นเรื่องสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ลาภมิควรได้ การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลหนี้ลาภมิควรได้สำหรับจำเลยที่ 3 ขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 จึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือจากคำให้การของจำเลยที่ 3 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบ เรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้ง ศาลภาษีอากรฯ มาตรา 17, 29 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
ที่จำเลยที่ 3 แก้อุทธรณ์ว่า เอกสารชุดคำขอที่โจทก์อ้างส่งเป็นเอกสารที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้รับบัตรภาษีและนำบัตรภาษีของโจทก์ไปใช้แล้วนั้น เป็นคำแก้อุทธรณ์ที่ขัดกับคำให้การของจำเลยที่ 3 จึงเป็นข้อที่มิได้ ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 29 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้รับสิทธิตามบัตรภาษีไปจากโจทก์โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ เงินชดเชยค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 รับไปจากโจทก์ จึงเป็นลาภมิควรได้ จำเลยที่ 4 และที่ 5 จะต้องคืนบัตรภาษีให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ต้องชดใช้ราคาตามที่กำหนดไว้ในบัตรภาษีให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้สำแดงข้อความอันเป็นเท็จไว้ในใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้าว่าส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร แล้วจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าที่ส่งออกนั้น และโจทก์ได้จ่ายเงินชดเชยเป็นบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็น ผู้รับโอนบัตรภาษีจากจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องคืนบัตรภาษีดังกล่าว หากคืนไม่ได้ก็ต้องชดใช้ราคาและตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ทำละเมิดหรือวันที่รับบัตรภาษี
แม้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ไม่ได้ร่วมกระทำละเมิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ตามพฤติการณ์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ได้รับโอนบัตรภาษีมาโดยสุจริต จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระ ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีให้แก่โจทก์นับแต่วันที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 จะต้องคืนทรัพย์สินนั้นหรือเวลาที่โจทก์เรียกคืนบัตรภาษีเพราะมูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องเป็นมูลหนี้ลาภมิควรได้ แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ได้รับหนังสือแจ้งจากโจทก์ให้คืนบัตรภาษีเมื่อใด ถือว่าโจทก์เรียกให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 คืนบัตรภาษีนับแต่วันฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4498/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประเด็นภาษี: การรับรู้รายได้-รายจ่ายตามเกณฑ์สิทธิ, ส่วนลดลูกค้า, และรายจ่ายต้องห้ามทางภาษี
โจทก์คิดค่าเช่าช่วงตามยอดการผลิต ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนกล่องที่ผลิตได้จากเครื่องจักรที่ผ่านการบรรจุและจำหน่ายได้แล้วกับผู้เช่าช่วงทุกรายของโจทก์ เมื่อผู้เช่าช่วงเครื่องจักรจากโจทก์ทำการผลิตกล่องที่บรรจุนมและน้ำผลไม้และจำหน่ายได้แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้ผู้เช่าช่วงรับผิดในจำนวนเงินค่าเช่าช่วงดังกล่าวได้ในวันที่ผู้เช่าช่วงผลิตกล่องที่บรรจุนมและน้ำผลไม้และจำหน่ายได้แล้ว ถือเป็นรายได้จากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีตามหลักเกณฑ์สิทธิโจทก์ต้องนำรายได้ตามหนี้ดังกล่าวมารวมคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในวันดังกล่าวตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 วรรคสอง การที่ผู้เช่าช่วงส่งรายงานเป็นหนังสือระบุจำนวนกล่องที่ผลิตได้จากเครื่องจักรในระหว่างเดือนปฏิทินที่ผ่านมาให้แก่โจทก์ไม่ช้ากว่าวันที่ 20 ของทุกเดือนปฏิทิน เป็นเพียงวิธีการชำระเงินค่าเช่าช่วงตามสัญญาเช่าช่วงระหว่างโจทก์กับผู้เช่าช่วงเท่านั้น และเป็นเรื่องกิจการภายในธุรกิจของโจทก์เอง โจทก์จะนำข้อตกลงระหว่างโจทก์กับผู้เช่าช่วงมาเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรหาได้ไม่ และเมื่อโจทก์บันทึกรายได้ค่าเช่ารับตามขนาดและยอดการผลิตเหลื่อมเดือนกัน จึงมีผลทำให้โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้าโดยแสดงยอดรายรับของแต่ละเดือนเหลื่อมเดือนกันด้วย
การประกอบกิจการของโจทก์ โจทก์จะดำเนินการต่อเมื่อลูกค้าในประเทศได้ทำสัญญาเช่าเครื่องจักรกับโจทก์ก่อน โจทก์จึงได้ติดต่อไปยังเจ้าของเครื่องจักรในประเทศสิงคโปร์เพื่อเช่าเครื่องจักรตามแบบและขนาดที่ลูกค้าในประเทศต้องการ ซึ่งโจทก์ต้องจ่ายค่าเช่าพื้นฐานให้แก่เจ้าของเครื่องจักรในประเทศสิงคโปร์รวมทั้งค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้าและรายจ่ายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นตอนนำเข้าเพราะโจทก์เป็นผู้นำเข้าและผ่านพิธีศุลกากรเอง รายจ่ายต่าง ๆ ดังกล่าว จึงเป็นรายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิการเช่าเครื่องจักร ซึ่งเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง การได้มาซึ่งสิทธิการเช่าจึงเป็นการได้สิทธิในทรัพย์สิน และเนื่องจากสิทธิการเช่านี้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่กิจการของบริษัทโจทก์เกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี จึงถือว่าเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน
สัญญาเช่าไม่ได้ระบุว่ามีกำหนดระยะเวลาเช่าเท่าใด คงระบุแต่เพียงว่า ไม่ว่าเวลาใด ๆ หลังจากครบกำหนด 2 ปี นับจากวันที่การเช่ามีผลบังคับผู้เช่าอาจบอกกล่าวเลิกสัญญาเช่านี้เป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ทราบล่วงหน้า 12 เดือนมีความหมายว่าหากผู้เช่ายังไม่บอกกล่าวเลิกสัญญาแล้วผู้เช่าก็เช่าได้ต่อไปโดยไม่มีกำหนด ลักษณะเช่นนี้ถือว่าเป็นสัญญาเช่าไม่มีกำหนดระยะเวลา เมื่อค่าเช่าพื้นฐานดังกล่าวเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนเป็นการเช่าที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรดังกล่าวจึงต้องบังคับตามมาตรา4 (3) แห่ง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527 ซึ่งกำหนดถึงทรัพย์สินประเภทที่เป็นต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิการเช่าว่า กรณีมีหนังสือสัญญาเช่าที่มีข้อกำหนดให้ต่ออายุการเช่าได้โดยเงื่อนไขการต่ออายุนั้น เปิดโอกาสให้ต่ออายุการเช่ากันได้ต่อ ๆ ไปจะหักได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าต้นทุน การที่เจ้าพนักงานประเมินนำรายจ่ายค่าเช่าพื้นฐานของโจทก์มาเฉลี่ยหักเป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรที่เช่ามาเป็นเวลา 10 ปี จึงชอบด้วยกฎหมาย
แม้ประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์โจทก์จะกล่าวอ้างมาในคำฟ้อง และจำเลยให้การต่อสู้ แต่เมื่อศาลภาษีอากรกลางมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถานและโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านการกำหนดประเด็นดังกล่าวไว้ อุทธรณ์ของโจทก์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับนั้น โจทก์มิได้ยกปัญหาดังกล่าวเป็นข้ออ้างเพื่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทไว้ในคำฟ้อง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากร ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่ประชุมฝ่ายการตลาดของโจทก์ได้อนุมัติแผนการให้ส่วนลดเพื่อจูงใจลูกค้าของบริษัท ตามหลักเกณฑ์ดังนี้ (1). สำหรับลูกค้าที่บรรจุและขายผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้มากกว่า 50 ล้านกล่อง จะให้ส่วนลดร้อยละ 2 (ของราคาวัตถุดิบ)(2). สำหรับลูกค้าที่บรรจุและขายผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้มากกว่า 75 ล้านกล่องจะให้ส่วนลดร้อยละ 3 (ของราคาวัตถุดิบ) หลักเกณฑ์การให้ส่วนลดดังกล่าวกำหนดไว้แน่นอน และใช้สำหรับลูกค้าทุกรายของโจทก์ ทั้งแผนการให้ส่วนลดเพื่อจูงใจลูกค้าของโจทก์นั้น ถ้าลูกค้าสามารถบรรจุและขายผลิตภัณฑ์ได้มากแล้ว โจทก์จะมีรายได้เพิ่มขึ้น รายจ่ายดังกล่าวจึงเป็นรายจ่ายเพื่อประกอบธุรกิจตามวัตถุประสงค์ของโจทก์อันเกี่ยวข้องกับธุรกิจของโจทก์โดยตรง จำเลยไม่มีหลักฐานมาสนับสนุนให้เห็นว่าลูกค้าของโจทก์ทั้ง 3 ราย ที่ได้รับส่วนลดนั้นมีความผูกพันเฉพาะกับโจทก์อย่างไรอันแสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้เลือกปฏิบัติ ลำพังเพียงแต่โจทก์ไม่ได้แจ้งให้ลูกค้าของโจทก์ทราบทุกรายถึงแผนการให้ส่วนลดนั้น ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว การให้โดยเสน่หาหรือการกุศล เมื่อโจทก์ได้จ่ายเพื่อผลในการดำเนินธุรกิจของโจทก์หรือเพื่อกิจการของโจทก์ โจทก์ย่อมนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณสุทธิได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4498/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากการเช่าเครื่องจักร และการประเมินภาษีการค้าที่ถูกต้อง
โจทก์ประกอบกิจการให้เช่าเครื่องจักรผลิตกล่องและบรรจุอาหารโดยโจทก์เช่าเครื่องจักรจากบริษัทในประเทศสิงคโปร์แล้วนำมาให้ลูกค้าในประเทศไทยเช่าช่วง ค่าเช่าพื้นฐานที่โจทก์จ่ายให้แก่ผู้ให้เช่ารวมทั้งค่าภาษีอากร ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเครื่องจักรที่เช่าเป็นรายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิการเช่าเครื่องจักร ซึ่งสิทธิการเช่า เครื่องจักรนี้ถือเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง การได้มาซึ่งสิทธิการเช่า จึงเป็นการได้สิทธิในทรัพย์สิน และเนื่องจากสิทธิการเช่านี้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่กิจการของโจทก์เกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี จึงถือว่า เป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน โจทก์จึงไม่มีสิทธินำไปหักเป็นรายจ่ายทั้งจำนวนในรอบระยะเวลาบัญชีที่โจทก์นำเครื่องจักรดังกล่าว ออกให้เช่าช่วง โจทก์คงมีสิทธิทยอยหักในรูปของค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา เมื่อการเช่าเครื่องจักรระหว่างโจทก์กับผู้ให้เช่าเป็นการเช่า ที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจึงหักได้ไม่เกินรอบระยะเวลาบัญชีละร้อยละ 10 ตามมาตรา 4(3) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 การที่เจ้าพนักงานประเมิน นำรายจ่ายดังกล่าวมาเฉลี่ยหักเป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเป็นเวลา10 ปี จึงชอบด้วยกฎหมาย
ลูกค้าเช่าช่วงเครื่องจักรจากโจทก์เพื่อนำไปผลิตกล่องใช้บรรจุนมและผลไม้ โจทก์คิดค่าเช่าช่วงตามจำนวนกล่องที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่บรรจุในกล่องได้แล้ว ซึ่งจะมีการบันทึกไว้ในมิเตอร์ของเครื่องจักรในแต่ละเดือน สิทธิของโจทก์ที่เรียกให้ผู้เช่าช่วงรับผิดในจำนวนเงิน ค่าเช่าช่วงจึงเกิดขึ้นในวันที่ผู้เช่าช่วงผลิตกล่องที่บรรจุนมและน้ำผลไม้ และจำหน่ายได้แล้ว รายได้จากค่าเช่าช่วงจึงเกิดขึ้นในวันดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์สิทธิ โจทก์ต้องนำรายได้ตามหนี้ดังกล่าวมารวมคำนวณ ภาษีเงินได้นิติบุคคลในวันดังกล่าวตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 วรรคสอง ที่โจทก์อ้างว่าผู้เช่าช่วงจะส่งรายงานเป็นหนังสือระบุจำนวนกล่องที่ผลิต ได้จากเครื่องจักรในระหว่างเดือนปฏิทินที่ผ่านมาให้แก่โจทก์ไม่ช้ากว่าวันที่ 20 ของทุกเดือนปฏิทิน โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะออกใบแจ้งหนี้ และเรียกเก็บค่าเช่าช่วงจากผู้เช่าช่วงได้ก่อนที่ผู้เช่าช่วงจะรายงานแจ้งจำนวนการผลิตของเดือนที่ผ่านมา โจทก์จึงต้องบันทึกรายได้ค่าเช่าของเดือนที่ผ่านมาเป็นรายได้ของเดือนที่ออกใบแจ้งหนี้นั้น เป็นเพียงวิธีการชำระเงินค่าเช่าช่วงตามสัญญาเช่าช่วงระหว่างโจทก์กับผู้เช่าช่วงเท่านั้น และเป็นเรื่องกิจการภายในธุรกิจของโจทก์เอง โจทก์จะนำ ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับผู้เช่าช่วงมาเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การ จัดเก็บภาษีตามประมวลรัษฎากรหาได้ไม่ การบันทึกรายได้ค่าเช่ารับ ตามขนาดและยอดการผลิตที่โจทก์บันทึกไว้จึงเหลื่อมเดือนกัน เมื่อเจ้าพนักงานประเมินนำค่าเช่าที่คำนวณจากยอดการผลิตและ จำหน่ายได้แล้วซึ่งโจทก์คำนวณไว้มาบันทึกรายได้ให้ถูกต้องตาม เงื่อนไขของมาตรา 65 วรรคสอง จึงถือเป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วย กฎหมายแล้ว
ประเด็นที่ว่าหากรายจ่ายค่าเช่าพื้นฐานของโจทก์ต้องเฉลี่ย หักเป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในระยะเวลา 10 ปีแล้ว รายได้ ค่าเช่าพื้นฐานที่โจทก์ได้รับจากผู้เช่าช่วงและโจทก์ได้ลงเป็นรายรับ ในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันกับรายจ่ายค่าเช่าพื้นฐานก็ต้องปรับปรุงเป็นรายได้เฉลี่ย 10 ปี เช่นเดียวกันตามหลักการบัญชีว่าด้วยการรับรู้ รายได้และรายจ่ายโดยใช้เกณฑ์สิทธิและหลักการจับคู่รายจ่ายกับ รายได้นั้น แม้โจทก์จะกล่าวอ้างมาในคำฟ้องและจำเลยให้การต่อสู้ แต่ในชั้นชี้สองสถานเมื่อศาลภาษีอากรกลางมิได้กำหนดเป็นประเด็น ข้อพิพาท โจทก์ก็มิได้โต้แย้งคัดค้าน อุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับ ประเด็นนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลภาษีอากรกลางต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณา คดีภาษีอากรฯ มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับนั้น โจทก์มิได้ยกปัญหา ดังกล่าวเป็นข้ออ้างเพื่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทไว้ในคำฟ้อง จึงเป็น ข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้ อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์ให้ส่วนลดเพื่อจูงใจลูกค้าของบริษัทโดยกำหนดหลักเกณฑ์การให้ส่วนลดไว้แน่นอนและใช้สำหรับลูกค้าทุกรายของโจทก์ดังนี้ (1) ลูกค้าที่บรรจุและขายผลิตภัณฑ์บริษัทได้มากกว่า 5 ล้านกล่อง จะให้ส่วนลดร้อยละ 2 ของราคาวัตถุดิบ (2) ลูกค้าที่บรรจุและขาย ผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้มากกว่า 75 ล้านกล่องจะให้ส่วนลดร้อยละ 3 ของราคาวัตถุดิบ การให้ส่วนลดนี้ถ้าลูกค้าสามารถบรรจุและขาย ผลิตภัณฑ์ได้มากแล้ว โจทก์จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ค่าส่วนลดที่โจทก์ ให้แก่ลูกค้าตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงเป็นรายจ่ายเพื่อประกอบธุรกิจตามวัตถุประสงค์ของโจทก์อันเกี่ยวข้องกับธุรกิจของโจทก์โดยตรง โจทก์ย่อมนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ไม่ต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร และลำพังเพียงแต่ โจทก์ไม่ได้แจ้งให้ลูกค้าของโจทก์ทราบทุกรายถึงแผนการให้ส่วนลดดังกล่าวก็ยังไม่อาจถือว่าส่วนลดดังกล่าวเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะ เป็นการส่วนตัว การให้โดยเสน่หาหรือการกุศลตามมาตรา 65 ตรี (3)แห่งประมวลรัษฎากร อันจะเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2789/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของทายาทและผู้จัดการมรดกต่อหนี้ภาษีอากร โดยจำกัดตามทรัพย์มรดก
ผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรของห้างหุ้นส่วนจำกัด รวมถึง ห.ในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1077 (2) และ 1087 เมื่อ ห. ถึงแก่ความตาย ความรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรจึงตกทอดแก่ทายาทตามมาตรา 1599 และ 1600 และเมื่อเจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้จึงต้องถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการ ซึ่งผู้จัดการมรดกชอบที่จะทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้ตามมาตรา 1736 การที่จำเลยทำบันทึกยินยอมชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างแทน ห. ในฐานะทายาทโดยธรรมและในฐานะผู้จัดการมรดกของ ห. หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด เป็นการกระทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นเพื่อชำระหนี้ค่าภาษีอากรที่กองมรดกค้างชำระอยู่
การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ห. ทำบันทึกยินยอมชำระหนี้อีกฉบับหนึ่งหลังจากฉบับแรก 9 เดือนขอผัดผ่อนการชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างไปอีกคราวหนึ่ง ถือได้ว่าจำเลยทำบันทึกยินยอมชำระหนี้ฉบับที่สองทั้งในฐานะทายาทโดยธรรมและในฐานะผู้จัดการมรดกของ ห. เนื่องจากจำเลยทำบันทึกดังกล่าวขึ้นเพื่อขอผัดผ่อนการชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างตามที่ได้มีการทำบันทึกยินยอมชำระหนี้ฉบับแรก โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดก ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1737
แม้จำเลยจะทำบันทึกยินยอมชำระหนี้โดยไม่โต้แย้งทั้งสิ้น แต่ความรับผิดของจำเลยในฐานะทายาทเกี่ยวกับหนี้สินของ ห. เจ้ามรดกนั้น ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตามมาตรา 1601 นอกจากนี้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวตามมาตรา 1724 ด้วย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวและวินิจฉัยมาในชั้นศาลภาษีอากรกลาง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และ 246

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2642/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้มีการย้ายที่ทำการ และการไม่อุทธรณ์การประเมินทำให้ไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ว่า การปิดหมายเรียกไม่ชอบเพราะมิได้สอบถามคนที่อยู่ในบ้านก่อน แต่โจทก์มิได้ยกประเด็นนี้ขึ้นเป็นข้ออ้างในคำฟ้อง จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลภาษีอากรกลาง ทั้งมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
เจ้าพนักงานของจำเลยปิดหมายเรียก ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ตามที่จดทะเบียนไว้ต่อกระทรวงพาณิชย์ จึงเป็นการปิดหมายโดยชอบตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่ง ป.รัษฎากร การที่โจทก์ย้ายที่ทำการไปแล้วเป็นเพียงข้อที่โจทก์อาจยกขึ้นอ้างว่าไม่จงใจไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกได้เท่านั้น แต่ปรากฏว่านอกจากเจ้าพนักงานของจำเลยจะปิดหมายเรียกดังกล่าวแล้วยังส่งสำเนาหมายเรียกให้แก่ ส. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ โดย ย. รับไว้แทน เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก เจ้าพนักงานประเมินได้ส่งหนังสือเตือนให้ปฏิบัติตามหมายเรียกซึ่งได้ส่งสำเนาหนังสือเตือนให้ ส. ด้วย โดย บ. รับไว้แทน เมื่อ ส. ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ทราบข้อความตามหมายเรียกจึงถือว่าโจทก์ทราบเช่นกัน เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก จึงเป็นการจงใจขัดขืนหมายเรียก เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินภาษีตามมาตรา 71 (1) แห่ง ป.รัษฎากร
โจทก์ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมิน จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมินตามมาตรา 21, 88 ประกอบมาตรา 87 (3) แห่ง ป.รัษฎากร ที่ใช้บังคับระหว่างปี 2530 ถึง 2532 แม้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์รับพิจารณาอุทธรณ์ให้ก็เป็นการไม่ชอบ มีผลเท่ากับไม่มีการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
สำหรับภาษีการค้าแม้เจ้าพนักงานประเมินจะเรียกให้โจทก์ชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม แต่เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับภาษีการค้า ศาลจึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องเบี้ยปรับและเงินเพิ่มในส่วนเกี่ยวกับภาษีการค้า
ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล เจ้าพนักงานประเมินมิได้เรียกให้โจทก์ชำระเบี้ยปรับ คงเรียกให้ชำระเฉพาะเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่ง ป.รัษฎากร ซึ่งกำหนดอัตราไว้แน่นอนแล้ว ศาลไม่อาจงดหรือลดเงินเพิ่มได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2642/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโดยเจ้าพนักงานประเมินชอบธรรม แม้มีการย้ายที่ทำการและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์รับพิจารณาโดยมิชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ว่า การปิดหมายเรียกไม่ชอบเพราะมิได้สอบถามคนที่อยู่ในบ้านก่อน แต่โจทก์มิได้ยกประเด็นนี้ขึ้นเป็นข้ออ้างในคำฟ้องจึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลภาษีอากร ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
เจ้าพนักงานของจำเลยปิดหมายเรียก ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ตามที่จดทะเบียนไว้ต่อกระทรวงพาณิชย์จึงเป็นการปิดหมายโดยชอบตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร การที่โจทก์ย้ายที่ทำการไปแล้วเป็นเพียงข้อที่โจทก์อาจยกขึ้นอ้างว่าไม่จงใจไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกได้เท่านั้น แต่ปรากฏว่านอกจากเจ้าพนักงานของจำเลยจะปิดหมายเรียกดังกล่าวแล้วยังส่งสำเนาหมายเรียกให้แก่ ส. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์โดย ย. รับไว้แทน เมื่อโจทก์ ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก เจ้าพนักงานประเมินได้ส่งหนังสือเตือนให้ ปฏิบัติตามหมายเรียกซึ่งได้ส่งสำเนาหนังสือเตือนให้ ส. ด้วย โดย บ. รับไว้แทน เมื่อ ส. ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน โจทก์ทราบข้อความตามหมายเรียก จึงถือว่าโจทก์ทราบเช่นกัน เมื่อโจทก์ ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก จึงเป็นการจงใจขัดขืนหมายเรียกเจ้าพนักงานประเมิน ย่อมมีอำนาจประเมินภาษีตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร
โจทก์ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินจึงต้องห้ามมิให้ อุทธรณ์การประเมินภาษีการค้าตามมาตรา 21,88 ประกอบมาตรา 87(3) แห่งประมวลรัษฎากรที่ใช้บังคับระหว่างปี 2530 ถึง 2532 แม้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์รับพิจารณาอุทธรณ์ให้ก็เป็นการไม่ชอบมีผลเท่ากับไม่มีการ พิจารณาอุทธรณ์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
สำหรับภาษีการค้า แม้เจ้าพนักงานประเมินจะเรียกให้โจทก์ชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแต่เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับภาษีการค้าศาลจึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องเบี้ยปรับและเงินเพิ่มในส่วนเกี่ยวกับภาษีการค้าได้
ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล เจ้าพนักงานประเมินมิได้เรียกให้โจทก์ชำระเบี้ยปรับ คงเรียกให้ชำระเฉพาะเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกำหนดอัตราไว้แน่นอนแล้ว ศาลไม่อาจงดหรือลดเงินเพิ่มได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2095/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำฟ้องโดยการเพิ่มชื่อโจทก์ และสถานะคู่ความของคณะบุคคลตามกฎหมายภาษีอากร
คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์เป็นการเพิ่มเติมชื่อโจทก์ที่จะต้องระบุไว้แน่ชัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67 เข้ามาในภายหลัง จึงเป็นการเพิ่มจำนวนผู้เป็นโจทก์เข้ามาในคำฟ้องเดิม มิใช่เป็นเรื่องขอแก้ไขคำฟ้องตามนัยบทกฎหมายดังกล่าว คำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีผลแต่อย่างใด เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าโจทก์เป็นคณะบุคคลตามกฎหมายใช้ชื่อว่า "คณะบุคคลกำชัย-มณฑา" ซึ่งเป็นเพียงคณะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่รวมกันเป็นหน่วยภาษีตามประมวลรัษฎากรเท่านั้น มิใช่นิติบุคคลตามกฎหมาย โจทก์จึงมิใช่บุคคลธรรมดาและมิใช่นิติบุคคลอันอาจเป็นคู่ความในคดีได้
of 16