คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 366 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 29 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3811/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับสัญญาเงินกู้: การไม่ลงนามสัญญาภายในกำหนด ทำให้จำเลยมีสิทธิริบเงินได้ ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย
การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาสินเชื่อ โดยกำหนดให้โจทก์ทั้งสามดำเนินการด้านนิติกรรมสัญญาและเบิกใช้วงเงินจำนวน 656,000,000 บาท กับจำเลยให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2557 โดยเสนอเงื่อนไขและข้อบังคับวงเงินสินเชื่อให้โจทก์ทั้งสามมีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อ (Front end Fee) จำนวน 13,120,000 บาท แก่จำเลยในวันลงนามในสัญญาสินเชื่อและดำเนินการด้านนิติกรรมสัญญากับเบิกใช้วงเงินกับค่าธรรมเนียมในวันที่ 31 ตุลาคม 2557 ข้อตกลงที่จำเลยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อ (Front end Fee) เป็นข้อตกลงที่แยกต่างหากจากการคิดดอกเบี้ยในการเบิกใช้วงเงินดังกล่าว ข้อตกลงชำระค่าธรรมเนียมเช่นนี้จึงมีลักษณะของการตอบแทนการใช้วงเงินสินเชื่อตามเอกสารสัญญาสินเชื่อที่โจทก์ทั้งสามกับจำเลยลงนาม ซึ่งหากมิได้มีการลงนามในสัญญาสินเชื่อแล้ว โจทก์ทั้งสามไม่อาจเบิกใช้วงเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยอันมีลักษณะเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน ทั้งแสดงว่าโจทก์ทั้งสามและจำเลยมีเจตนาถือเอาตามสัญญาสินเชื่อเป็นสำคัญตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ไม่สามารถดำเนินการให้ ป. จ. และ ว. กรรมการโจทก์ที่ 1 ในขณะนั้น มาลงนามในสัญญาดังกล่าวกับจำเลยภายในระยะเวลาที่กำหนด ดังนี้ สัญญากู้เงินหรือสัญญาสินเชื่อระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ โจทก์ทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิเบิกเงินสินเชื่อตามที่จำเลยเคยอนุมัติให้ และจำเลยย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อ (Front end Fee) จากโจทก์ทั้งสามตามที่ตกลงกันไว้ แต่การที่จำเลยระบุไว้ในเงื่อนไขและข้อบังคับวงเงินสินเชื่อให้โจทก์ทั้งสามชำระค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อบางส่วน 9,560,000 บาท ในวันที่โจทก์ทั้งสามลงนามตอบรับในหนังสือดังกล่าว และหากโจทก์ทั้งสามไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ จำเลยมีสิทธิริบเงินดังกล่าวโดยไม่ต้องคืนแก่โจทก์ทั้งสาม อันมีลักษณะของสัญญาอย่างหนึ่งที่โจทก์ทั้งสามสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอันหนึ่งอันใดนั้นด้วยดังที่บัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคสอง ซึ่งเบี้ยปรับนั้นหากสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ เมื่อโจทก์ทั้งสามเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ลงนามในสัญญาสินเชื่อกับจำเลย จำเลยย่อมมีสิทธิริบเงิน 9,560,000 บาท ที่ได้รับมาจากโจทก์ทั้งสามในฐานะเบี้ยปรับอันเป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงในสัญญาโดยชอบ จำเลยมีสิทธิปฏิเสธไม่คืนเงินแก่โจทก์ทั้งสามได้โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดนัด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสาม เมื่อต่อมาศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าเงินทั้งหมดที่จำเลยรับมาจากโจทก์ทั้งสามเป็นเบี้ยปรับแล้วใช้ดุลพินิจให้ลดเบี้ยปรับลงเหลือ 2,000,000 บาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคสอง เป็นผลให้จำเลยต้องคืนเบี้ยปรับบางส่วนแก่โจทก์ทั้งสามเป็นเงิน 7,560,000 บาท ซึ่งหาเป็นความผิดของจำเลยไม่ โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนเพราะการรับเงินดังกล่าวของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7118/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างทำของ, การบอกเลิกสัญญา, สิทธิยึดหน่วงเอกสาร, ค่าเสียหายจากการผิดสัญญา
โจทก์ร่างสัญญาว่าจ้างให้จำเลยลงลายมือชื่อและจำเลยขอแก้ไขรายละเอียดก่อน แต่จำเลยก็ให้โจทก์เข้าทำงานตามที่ตกลงกันแล้วโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการพูดถึงเงื่อนไขและข้อตกลงในสัญญาที่ยังตกลงในสัญญาที่ยังตกลงกันไม่ได้อีก เหตุที่มีการโต้เถียงเรื่องสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรเกิดจากการที่โจทก์ทวงถามค่าจ้างจากจำเลย จำเลยจึงอ้างระเบียบของจำเลยที่ต้องทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมาโจทก์และจำเลยก็ไม่ได้ลงชื่อในสัญญาจ้างแต่โจทก์ก็ยอมรับปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้รับจ้าง ส่วนจำเลยได้ถือเอาประโยชน์จากสัญญาในฐานะผู้ว่าจ้างและมีการชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์บางส่วนแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีเช่นนี้ เชื่อได้ว่าโจทก์ตกลงรับจะทำการงานให้แก่จำเลยและจำเลยตกลงให้ค่าจ้างเพื่อการนั้น ทำให้สัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์และจำเลยได้เกิดขึ้นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 โดยโจทก์และจำเลยมิได้มุ่งหมายให้สัญญาจ้างทำของพิพาทต้องทำสัญญากันเป็นหนังสือโดยให้คู่สัญญาลงชื่อในสัญญาอีก สัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย หาได้มีกรณีเป็นที่สงสัยว่าสัญญาจะต้องทำเป็นหนังสือตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9108/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างขนส่งยังไม่เกิดขึ้นหากไม่มีการลงนามในสัญญา แม้จะมีการตกลงรายละเอียดเบื้องต้น
เดิมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขนสินค้าเองบางส่วนที่เหลือให้โจทก์และบริษัทอื่นรับจ้างขนสินค้าคิดค่าจ้างเป็นรายเที่ยว จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับโจทก์มีสัญญาต่อกันในการรับจ้างขนสินค้าบางส่วนดังกล่าว ครั้นต่อมาโจทก์ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนด้านการจัดส่งสินค้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่ง ธ. กรรมการผู้มีอำนาจโจทก์ยอมรับว่ายังไม่มีการทำสัญญาเนื่องจากสัญญาจะทำขึ้นในภายหลัง แสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาว่าสัญญาอันมุ่งจะทำต่อกันนั้นต้องทำเป็นหนังสือ แต่โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังไม่สามารถลงนามในสัญญาได้ เนื่องจากยังไม่สามารถตกลงกันได้ในรายละเอียด ดังนั้น เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังไม่ได้ลงนามในสัญญา ต้องถือว่ายังไม่มีสัญญาต่อกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง สัญญาว่าจ้างรถห้องเย็นขนส่งสินค้าที่ว่าจ้างโจทก์แต่ผู้เดียวตามฟ้องจึงยังไม่เกิดขึ้น โจทก์จึงจะฟ้องให้อีกฝ่ายปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวและเรียกค่าเสียหายหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6828/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประมูลอากรเก็บรังนกอีแอ่นมีผลผูกพัน แม้มีกฎหมายใหม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ไม่ปฏิบัติตามสัญญา
ตามประกาศของจังหวัด เรื่อง ประมูลเงินอากรรังนกอีแอ่น ระบุว่า ผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอนุญาตให้เป็นผู้ชนะการประมูลจะต้องมาทำสัญญาอนุญาตเก็บรังนกอีแอ่นกับโจทก์ที่ 2 เมื่อได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากโจทก์ที่ 2 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์ที่ 1 กับจำเลยมีเจตนาตกลงกันว่าสัญญาอันมุ่งจะทำนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือ ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะทำสัญญาอนุญาตเก็บรังนกอีแอ่นเป็นหนังสือ โจทก์ที่ 1 อนุญาตให้จำเลยเข้าดูแลรักษาเกาะรังนกท้องที่จังหวัดตรังในช่วงปลอดสัญญาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของจำเลยได้ตามที่จำเลยขอ และจำเลยให้การยอมรับว่าการที่จำเลยได้รับอนุญาตให้เข้าไปดูแลเกาะรังนกอีแอ่นในระหว่างปลอดสัญญาเป็นการเข้าไปเพื่อสำรวจเส้นทางที่ตั้งของเกาะและจุดที่ตั้งของถ้ำที่มีรังนกอีแอ่น มีกรณีเป็นที่สงสัยว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 มีสัญญาอนุญาตจัดเก็บรังนกต่อกันกับจำเลยแล้วหรือไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง ท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ แต่อย่างไรก็ตาม แม้จำเลยยังไม่มีความรับผิดตามสัญญาหลักคือสัญญาอนุญาตเก็บรังนกอีแอ่น เนื่องจากสัญญาดังกล่าวยังไม่เกิดจนกว่าโจทก์ที่ 1 ให้ความเห็นชอบ และจำเลยไปทำสัญญาอนุญาตเก็บรังนกอีแอ่นเป็นหนังสือกับโจทก์ที่ 2 แต่ประกาศของจังหวัด เรื่อง ประมูลอากรรังนกอีแอ่น และเอกสารแนบท้ายมีความชัดเจนเพียงพอ เมื่อโจทก์ที่ 2 ยอมรับว่าจำเลยเป็นผู้ประมูลสูงสุดและแจ้งให้จำเลยทราบแล้วจึงมีผลผูกพันโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยโดยจำเลยต้องปฏิบัติตามข้อสัญญาประกวดราคา เมื่อจำเลยไม่ยอมไปทำสัญญาอนุญาตเก็บรังนกอีแอ่น โจทก์ที่ 1 ผู้มีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.อากรรังนกอีแอ่น พ.ศ.2482 และโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการประมูลเงินอากรรังนกอีแอ่นย่อมเรียกร้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาประกวดราคาย่อมมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5181/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ใบเสนอราคาไม่ผูกพันสัญญา หากผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามข้อสาระสำคัญ และไม่มีมูลฟ้อง
จำเลยทำใบเสนอราคาคอนกรีตเทรองพื้นและคอนกรีตโครงสร้างต่อโจทก์มีการระบุถึงรายละเอียดของรายการสินค้าประเภทคอนกรีตเทรองพื้นและคอนกรีตโครงสร้างพร้อมราคาไว้ และจำเลยยังระบุเงื่อนไขเพื่อประกอบการพิจารณาของโจทก์ไว้รวม 9 ข้อ ในใบเสนอราคาดังกล่าว โดยข้อ 4 ระบุถึงการติดตั้งเครื่องผสมคอนกรีต ณ หน้างานก่อสร้าง กำหนดติดตั้งแล้วเสร็จ 30 วัน นับจากวันทำสัญญา และในข้อ 9 ระบุถึงการที่ผู้ซื้อมีเหตุจำเป็นต้องซื้อคอนกรีตจากผู้ขายรายอื่นเนื่องจากเหตุที่ผู้ขายไม่สามารถให้บริการได้ ผู้ขายยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ซื้อในอัตราค่าเสียหายตามความเป็นจริง ซึ่งในข้อ 4 และข้อ 9 นี้เท่านั้นที่ได้กล่าวถึงสัญญาและสัญญาซื้อขายไว้ แม้จะมิได้ระบุว่าสัญญาและสัญญาซื้อขายจะต้องทำเป็นหนังสือกันในภายหลังดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาใบเสนอราคาดังกล่าวในข้อ 7 ที่ระบุให้ผู้ซื้อซึ่งหมายถึงโจทก์ต้องออกหนังสือค้ำประกันของธนาคารเท่ากับมูลค่า 2,000,000 บาท โดยผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบค่าธรรมเนียมธนาคารที่เกิดขึ้นด้วย แต่โจทก์กลับมิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามใบเสนอราคาในข้อ 7 นี้ โดยขอออกหนังสือค้ำประกันของธนาคารตามวงเงินประกันแต่อย่างใดและแสดงให้เห็นว่า โจทก์เองก็มิได้ตกลงโดยยินยอมที่จะผูกพันและปฏิบัติตามใบเสนอราคาดังกล่าวทั้งหมดทุกข้อ ที่โจทก์ให้จำเลยปฏิบัติตามใบเสนอราคาเฉพาะในข้อ 9 ซึ่งเป็นประโยชน์แก่โจทก์ แต่กลับไม่ยอมปฏิบัติตามใบเสนอราคาในข้อ 7 ซึ่งเป็นข้อสาระสำคัญที่จำเลยได้แสดงไว้โดยชัดแจ้งว่า โจทก์จะต้องตกลงด้วยในข้อนี้ การที่โจทก์ยังมิได้ขอออกหนังสือค้ำประกันของธนาคารตามใบเสนอราคาข้อ 7 นี้ จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์และจำเลยได้ตกลงตามใบเสนอราคากันทั้งหมดทุกข้อแล้ว ใบเสนอราคาที่จำเลยทำถึงโจทก์เป็นเพียงการทำความเข้าใจกันกับโจทก์ไว้เฉพาะบางสิ่งบางอย่างในเบื้องต้นเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะได้ระบุไว้ก็หาเป็นการผูกพันจำเลยไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคหนึ่งและวรรคสอง การที่โจทก์ซื้อคอนกรีตจากจำเลยเรื่อยมา ก็เป็นเพียงการซื้อขายสินค้าเฉพาะสิ่งตามรายการที่มีการส่งมอบให้แก่กันเป็นคราว ๆ ไปเท่านั้น มิได้เป็นคำสนองเข้ารับทำสัญญาตามใบเสนอราคาดังกล่าว
โจทก์ว่าจ้าง ส. เป็นผู้ดำเนินการรื้อถอนและปรับพื้นที่ในส่วนที่จำเลยก่อสร้างขึ้นเพื่อผลิตคอนกรีตส่งให้แก่โจทก์เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นเงิน 70,000 บาท เมื่อตามใบเสนอราคาข้อ 4 ระบุถึงการติดตั้งเครื่องผสมคอนกรีต ณ หน้างานก่อสร้าง กำหนดติดตั้งแล้วเสร็จ 30 วัน นับจากวันทำสัญญา แสดงให้เห็นว่าจำเลยก่อสร้างหรือติดตั้งเครื่องผสมคอนกรีตขึ้นโดยได้รับความยินยอมจากโจทก์ ต่อมาโจทก์ไม่ได้ยินยอมให้จำเลยอยู่บนพื้นที่ที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะอยู่และต้องรื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกไป แต่โจทก์กลับว่าจ้าง ส. รื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกไป โดยจำเลยมิได้ตกลงว่าจะเป็นฝ่ายเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยจึงไม่มีความรับผิดตามสัญญาที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การก็ตาม แต่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง ศาลจะมีคำพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ในการนี้ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลำพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้ เมื่อคดีโจทก์ไม่มีมูลให้รับฟังได้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญา ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยคืนหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคาร 600,000 บาท ที่จำเลยยึดถือไว้คืนแก่โจทก์ ก็ไม่ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่าเป็นหนังสือสัญญาค้ำประกันที่จำเลยได้ยึดถือไว้เกี่ยวด้วยกับใบเสนอราคาหรือไม่อย่างไร จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2224/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อจะขายยังไม่สมบูรณ์ เงินมัดจำต้องคืน จำเลยไม่มีสิทธิริบ
ใบรับเงินมีข้อความว่า "จำเลยตกลงจะขายที่ดินให้โจทก์ โดยมีเงื่อนไขการชำระเงินเป็นเวลา 2 ปี และในวันนี้โจทก์ได้ชำระเงินมัดจำจำนวน 500,000 บาท ด้วยเช็ค ส่วนที่เหลือจะชำระตามเงื่อนไขสัญญาจะซื้อจะขายที่ทั้งสองฝ่ายจัดทำขึ้นภายใน 30 วัน" เห็นได้ว่า ใบรับเงินเป็นเพียงหลักฐานการรับเงินมัดจำที่โจทก์ชำระแก่จำเลยเท่านั้น หลังจากนั้นโจทก์กับจำเลยจะต้องทำสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งจะได้จัดทำขึ้นภายหลังภายใน 30 วัน ตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน แสดงให้เห็นว่า โจทก์จำเลยมีเจตนาจะทำสัญญาจะซื้อจะขายเป็นหนังสือกันอีก กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า "ถ้าได้ตกลงกันว่าสัญญาอันมุ่งจะทำนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือไซร้ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัยท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ" ดังนั้น เมื่อโจทก์และจำเลยยังมิได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกันเป็นหนังสือ สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่เกิดขึ้น เงินมัดจำที่จำเลยรับไว้จึงเป็นการรับไว้โดยปรากศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จำเลยไม่มีสิทธิริบมัดจำจึงต้องคืนให้โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6866/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเหมาค่าก่อสร้าง: การหักกลบลบค่าเสียหาย, ค่าวัสดุ, และการคิดค่าจ้างเพิ่มเติม
ข้ออ้างที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ก่อสร้างชำรุดบกพร่องแล้วไม่ยอมแก้ไข จำเลยจึงบอกเลิกสัญญานั้น เป็นเรื่องความรับผิดในความชำรุดบกพร่องที่โจทก์ในฐานะผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชอบอยู่แล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 595 โดยไม่คำนึงว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ ดังนั้น ประเด็นว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ จึงไม่เป็นประเด็นสำคัญแห่งคดีที่ศาลจำต้องวินิจฉัยเสียก่อนและเมื่อฟังว่าโจทก์และจำเลยตกลงเลิกสัญญากันแล้ว กรณีเช่นนี้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 ส่วนการงานที่โจทก์ได้ทำไปแล้ว จำเลยต้องชดใช้คืนด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นๆ และจำเลยมีสิทธิที่จะหักค่าเสียหายที่ต้องซ่อมแซมงานที่โจทก์ก่อสร้างชำรุดบกพร่องออกจากค่าจ้างที่ยังค้างชำระอยู่ได้
สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่งกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง โจทก์จึงนำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยตกลงให้โจทก์ก่อสร้างเพิ่มเติมไปจากแบบแปลนที่ตกลงกันไว้เดิมได้ ไม่ต้องห้ามนำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)
สำหรับค่าจ้างในส่วนงานเพิ่มเติม เมื่อตามสัญญากำหนดไว้ว่าการเพิ่มเติมงานจะต้องคิดราคากันใหม่โดยทำเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ไม่ปรากฏว่าเมื่อโจทก์กับจำเลยได้ตกลงเพิ่มเติมงานและราคากันใหม่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว จึงถือว่าโจทก์กับจำเลยไม่ได้มีสัญญาต่อกันในส่วนที่โจทก์ทำงานเพิ่มเติม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างในส่วนงานเพิ่มเติมจากจำเลย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายในส่วนการก่อสร้างชำรุดบกพร่องแก่จำเลย 77,240 บาท แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่จำเลย 102,080 บาท จำเลยอุทธรณ์ว่าค่าเสียหายส่วนนี้ควรเป็น 151,040 บาท แม้โจทก์จะไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ แต่โจทก์ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นคิดคำนวณรวมค่าเสียหายส่วนนี้ไม่ถูกต้อง จึงถือว่าโจทก์ได้โต้แย้งจำนวนค่าเสียหายในส่วนนี้แล้ว ฉะนั้น ค่าเสียหายในส่วนชำรุดบกพร่องจึงหายุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ ทั้งถือเป็นเรื่องแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่นๆ ในคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2339/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแปลงหนี้โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ การแสดงเจตนาทำสัญญาโดยไม่ต้องทำเป็นหนังสือ
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 ที่กฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นสัญญานั้น กฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องทำเป็นหนังสือ การแสดงเจตนาโดยมีคำเสนอและคำสนองตรงกันก็ย่อมถือว่าเป็นการแสดงเจตนาทำสัญญาต่อกันได้แล้ว ตามคำเสนอข้อตกลงการชำระหนี้ของ บริษัท ธ. โดยบริษัทดังกล่าวเสนอโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตีมูลค่าราคาที่ดินเป็นเงิน 448,000 บาท ส่วนหนี้ที่เหลืออีกจำนวน 193,865.57 บาท ผู้รับสัญญา คือ บริษัท ธ. ตกลงจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้ทำบันทึกข้อตกลง ซึ่งต่อมาโจทก์ก็ได้สนองรับคำเสนอโดยโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวจาก บริษัท ธ. โดยใส่ชื่อ ส. กรรมการผู้จัดการโจทก์ไว้แทนคำเสนอของบริษัท ธ. จึงตรงกับคำสนองของโจทก์ เพราะโจทก์ได้รับโอนที่ดินไว้แล้วโดยใส่ชื่อ ส. การโอนหนี้ดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีการขืนใจลูกหนี้แต่อย่างใด จึงเป็นการแปลงหนี้โดยชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 350 หนี้จึงเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349
ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่มีกรณีใด ๆ ที่จะต้องสงสัยอีกต่อไปว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง เพราะโจทก์ยินยอมรับโอนที่ดินจากบริษัท ธ. โดนใส่ชื่อ ส. ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ไว้แทน จึงเป็นการสนองเจตนาไปถึงบริษัท ธ. ผู้เสนอแล้ว ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอตาม ป.พ.พ. มาตรา 361 โดยมิจำต้องทำเป็นหนังสือ หนี้ระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นอันระงับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2339/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ การแสดงเจตนาทางวาจา และการรับชำระหนี้แทน
ป.พ.พ. มาตรา 350 มิได้บัญญัติว่าต้องทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่เป็นหนังสือระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ การแสดงเจตนาด้วยวาจาโดยมีคำเสนอและคำสนองตรงกันก็ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ต่อกันได้แล้ว
ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง ต้องมีกรณีเป็นที่สงสัย จึงนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่มีกรณีใดๆ ที่จะต้องสงสัยอีกต่อไป เพราะโจทก์ยินยอมรับโอนที่ดินจากบริษัท ธ. แล้ว ซึ่งตามมาตรา 361 สัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ การที่โจทก์รับโอนที่ดินจึงเป็นการสนองเจตนาไปถึงบริษัท ธ. ผู้เสนอแล้วย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้น โดยมิจำต้องทำเป็นหนังสือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3399/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อจะขายไม่สมบูรณ์เมื่อไม่มีลายมือชื่อครบถ้วน การคืนเงินและค่าเสียหายจากสัญญาที่ผิดนัด
สัญญาจะซื้อจะขายที่โจทก์ที่ 1 ทำกับจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่ามีลายมือชื่อของฝ่ายจำเลยในช่องผู้ขาย มีเพียงลายมือชื่อโจทก์ที่ 1 ในช่องผู้ซื้อ ทั้งไม่มีลายมือชื่อพยาน และไม่ได้มีการระบุวันเดือนปีไว้ ในการติดต่อสื่อสารถึงกันก็ไม่ได้มีการอ้างถึงสัญญาดังกล่าว คงอ้างถึงแต่ใบสมัครเข้าร่วมการก่อสร้างบ้านปันส่วนซึ่งมีข้อความในข้อ 5 ระบุว่า โจทก์ที่ 1 ผู้จองจะต้องทำสัญญากับจำเลยที่ 1 เช่นนี้เป็นกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง ดังนั้น สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงไม่สมบูรณ์และไม่มีผลผูกพันโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1
โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ผูกพันกันตามใบสมัครเข้าร่วมการก่อสร้างบ้านปันส่วน เมื่อโจทก์ที่ 1 ผิดสัญญาและจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาแล้ว คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนว่ามิได้มีสัญญาต่อกันเลย สิ่งใดที่ส่งมอบกันแล้วก็ต้องคืนให้แก่กันตามมาตรา 391 วรรคหนึ่ง โจทก์ที่ 1 จึงต้องคืนห้องชุดให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ก็ต้องคืนค่างวดและเงินดาวน์ให้แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ย และเมื่อปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ได้ครอบครองและใช้ประโยชน์ในห้องชุดมาตลอดเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการงานอันที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์สินนั้น โจทก์ที่ 1 จึงต้องชดใช้ด้วยเงินตามควรตามมาตรา 391 วรรคสาม
การที่โจทก์ที่ 1 ได้ขายสิทธิในการผ่อนชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 2 นั้น ตามมาตรา 350 บัญญัติว่า แปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้นจะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่ จากข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มีการทำสัญญากันระหว่างจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กับโจทก์ที่ 2 ซึ่งจะเข้าเป็นลูกหนี้คนใหม่เลย สัญญาแปลงหนี้ใหม่จึงไม่เกิดขึ้น โจทก์ที่ 1 จึงยังคงเป็นลูกหนี้อยู่เช่นเดิม
of 3