คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1656

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 173 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 722/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พินัยกรรมถูกต้องตามกฎหมาย: การพิสูจน์สิทธิในทรัพย์สินหลังเสียชีวิต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์ ส่วนโจทก์ที่ 2 ไม่ได้อุทธรณ์ คดีสำหรับโจทก์ที่ 2 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ที่ 2 ไม่อาจฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้ ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 มา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
โจทก์ที่ 1 กล่าวอ้างว่าพินัยกรรมเกิดขึ้นโดยกลฉ้อฉล อาศัยความชราและสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ของผู้ตาย ไม่มีผลบังคับตามกฎหมายเป็นโมฆะ ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์ที่ 1 ผู้กล่าวอ้าง
ผู้ตายได้ลงลายพิมพ์นิ้วมือต่อหน้าพยาน ผู้พิมพ์ ผู้เขียน ครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติ พินัยกรรมจึงมีผลบังคับตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9683-9685/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พินัยกรรมมีผลบังคับใช้ได้ ชอบธรรมในการขับไล่ผู้บุกรุก และสิทธิเหนือพื้นดินต้องจดทะเบียน
พินัยกรรมพิพาทมีลักษณะเป็นพินัยกรรมแบบธรรมดา หรือพินัยกรรมแบบมีพยาน เป็นหนังสือที่มีการลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำพินัยกรรม รอยลบ ขีด ฆ่า เติมข้อความที่ช่องวัน เดือน ปี และอายุของผู้ตายมีการลงลายมือชื่อผู้ตายและลงลายมือชื่อของ ว. กับ ศ. ผู้เป็นพยานรับรองลายมือชื่อผู้ตายซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วทั้งสองคนกำกับไว้ ทั้งผู้ตายได้ลงลายมือชื่อกับพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือไว้ที่ช่องผู้ทำพินัยกรรม โดยมีลายมือชื่อของ ศ. และ ว. ที่ช่องพยานครบถ้วน แม้พินัยกรรมที่พิพาทไม่มีข้อความที่เป็นถ้อยคำระบุการเผื่อตายไว้โดยชัดแจ้ง แต่ก็มีข้อความว่า "พินัยกรรม" ที่หัวกระดาษตรงกลาง ซึ่งหมายถึงเอกสารแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินหรือการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย และยังมีข้อความระบุไว้ว่า "....ข้าพเจ้าขอให้ ผ. บุตรสาวเป็นผู้จัดการมรดกให้ปฏิบัติตามเจตนาของข้าพเจ้าในการแบ่งปันทรัพย์สิน... ขอทำพินัยกรรมให้แบ่งทรัพย์สินดังนี้..." กรณีจึงมีความหมายอยู่ในตัวว่าข้อกำหนดในเอกสารดังกล่าวจะมีผลต่อเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย พินัยกรรมที่พิพาทจึงเป็นไปตามแบบที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 1656 แห่ง ป.พ.พ. และมีผลบังคับตามกฎหมาย หาได้เป็นโมฆะไม่
การที่โจทก์ได้รับอนุญาตจากผู้ตายให้ปลูกสร้างอาคารห้องเช่า 26 ห้อง บนที่ดินของผู้ตายเป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิเหนือพื้นดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1410 อันเป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งที่ไม่อาจได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม จึงต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นสิทธิเหนือพื้นดินที่ได้มานั้นยังไม่บริบูรณ์และไม่อาจใช้ยันบุคคลภายนอกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อตกลงที่ผู้ตายอนุญาตให้โจทก์ปลูกสร้างอาคารห้องเช่าบนที่ดินดังกล่าวไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ โจทก์จึงปราศจากสิทธิตามกฎหมายที่จะใช้ยันต่อจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จำเลยที่ 6 ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินชอบที่จะขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินตามฟ้องแย้งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1339/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเรื่องพินัยกรรมปลอม ศาลต้องใช้ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญา
การพิจารณาว่าคดีแพ่งใดเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหรือไม่นั้นย่อมต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงในคดีแพ่งนั้นเองว่าอาศัยเหตุจากการกระทำที่เป็นองค์ประกอบความผิดในคดีอาญาหรือไม่ เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องจำเลยในคดีแพ่งขอให้ศาลพิพากษาว่าพินัยกรรมของเจ้ามรดกเป็นพินัยกรรมปลอมและให้จำเลยเป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของเจ้ามรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรเนื่องจากจำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้พินัยกรรมปลอมก็โดยอาศัยเหตุมาจากการที่โจทก์ทั้งเจ็ดร้องทุกข์ให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีอาญาข้อหาปลอมพินัยกรรมและใช้พินัยกรรมปลอม ซึ่งในที่สุดศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีถึงที่สุดในคดีอาญาแล้วว่าพินัยกรรมที่โจทก์ทั้งเจ็ดอ้างว่าเป็นพินัยกรรมปลอมไม่ใช่พินัยกรรมปลอม นับได้ว่าทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาต่างมีประเด็นสำคัญโดยตรงเป็นอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดคดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งในปัญหาที่ว่าจำเลยปลอมพินัยกรรม อันจะเป็นเหตุให้จำเลยเป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกเจ้ามรดกผู้ตายหรือไม่ ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า ส. เจ้ามรดกได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้า พยานจริง และพยานได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมรับรองลายมือชื่อของ ส. ในขณะเดียวกันด้วย ลายมือชื่อ ส. ในพินัยกรรมดังกล่าวมิใช่ลายมือชื่อปลอม อันมีความหมายในตัวโดยปริยายว่าจำเลยไม่ได้ปลอมพินัยกรรมดังกล่าว จึงไม่เป็นเหตุให้จำเลยเป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร ตามฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ด
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทเป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่ หากปลอมจำเลยเป็นผู้ปลอมพินัยกรรมดังกล่าวหรือไม่ ไม่ได้กำหนดประเด็นว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะหรือไม่ และโจทก์ทั้งเจ็ดไม่ได้บรรยายฟ้องมาด้วยว่าพยานในพินัยกรรมไม่ได้รู้เห็นขณะที่ทำพินัยกรรมและขณะเจ้ามรดกผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรม อันเป็นการหยิบยกเรื่องแบบพินัยกรรมขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ด้วย ประกอบกับคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งศาลฎีกาในคดีอาญาฟังข้อเท็จจริงยุติแล้ว ข้อเท็จจริงในคดีนี้จึงต้องถือเป็นยุติตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 หยิบยกเรื่องแบบพินัยกรรมขึ้นมาวินิจฉัยเพิ่มเติมทำนองว่า พินัยกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 ประกอบมาตรา 1705 ทรัพย์มรดกของ ส. ทั้งหมดและตามพินัยกรรมจำต้องนำไปแบ่งให้ทายาทโดยธรรมทุกคนของ ส. ตามกฎหมายต่อไปนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12430/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงให้ชำระหนี้แทนบุคคลภายนอกที่มิได้ตกลงด้วย ไม่ผูกพันทายาทตามพินัยกรรม
ข้อความตามข้อตกลงข้อ 2 เป็นเรื่องนาง ก. ผู้รับสัญญาตกลงกับโจทก์ว่าหากผู้รับสัญญาได้จำหน่ายหรือขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ผู้อื่น ผู้รับสัญญาจะต้องชำระเงิน 3,000,000 บาท แก่โจทก์ทันทีที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียน ซึ่งหมายถึงเป็นการจำหน่ายหรือขายในขณะที่นาง ก. ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น เพราะหนี้การชำระเงินดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียน ไม่อาจตีความข้อตกลงดังกล่าวว่า การที่นาง ก. ทำพินัยกรรมยกที่ดินให้บุคคลอื่นเป็นการจำหน่ายหรือขายที่ดินพิพาทด้วย เหตุนี้ ข้อความต่อมาตามข้อตกลงที่ระบุให้ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์นั้นไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมหรือผู้อื่นก็ตามจะต้องเป็นผู้ชำระเงินแทนนาง ก. เต็มตามจำนวนเงิน 3,000,000 บาท แก่โจทก์นั้น จึงเป็นข้อตกลงแยกต่างหากจากข้อแรก ซึ่งมีความหมายว่าผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมหรือผู้อื่นก็ตามต้องรับผิดชำระหนี้ 3,000,0000 บาท แก่โจทก์แทนนาง ก. ด้วยอันเป็นข้อตกลงที่จะมีผลบังคับเอาแก่บุคคลภายนอกที่มิใช่คู่สัญญาให้ต้องรับผิดต่อคู่สัญญาทั้ง ๆ ที่บุคคลภายนอกมิได้ตกลงด้วยนั้นย่อมกระทำมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11034/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โมฆะภาพพินัยกรรม: การลงลายมือชื่อพยานโดยไม่เห็นเหตุการณ์ทำพินัยกรรม
แม้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงว่า พินัยกรรมปลอมหรือไม่โดยมิได้กำหนดประเด็นว่า พินัยกรรมเป็นโมฆะหรือไม่ แต่ปัญหาเรื่องแบบของพินัยกรรมเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และโจทก์ก็บรรยายฟ้องมาด้วยว่า พยานในพินัยกรรมไม่รู้เห็นขณะทำพินัยกรรมอันเป็นการยกเรื่องแบบพินัยกรรมมาเป็นข้อต่อสู้ด้วย เมื่อมีข้อเท็จจริงดังกล่าวในการดำเนินกระบวนการพิจารณา ศาลจึงมีอำนาจหยิบยกปัญหาว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง
ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคแรก บัญญัติกำหนดแบบของพินัยกรรมแบบธรรมดาไว้ว่า ผู้ทำพินัยกรรมแบบที่เป็นหนังสือนั้นต้องมีพยานอย่างน้อยสองคนและพยานจะต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่พยานไม่ว่าคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรม แต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง ก็ย่อมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายมาตราดังกล่าวและทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะไปในทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 แม้ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมมาสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำพินัยกรรมมีความประสงค์จะทำพินัยกรรมจริง ก็ไม่มีผลทำให้พินัยกรรมที่เป็นโมฆะไปแล้วกลับกลายเป็นพินัยกรรมที่มีผลสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11034/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พินัยกรรมโมฆะเมื่อพยานลงลายมือชื่อโดยไม่เห็นเหตุการณ์ทำพินัยกรรม แม้พยานจะสอบถามเจตนาภายหลังก็ไม่สมบูรณ์
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ประเด็นเดียวว่า พินัยกรรมตามฟ้องปลอมหรือไม่ แต่ในคำฟ้องนอกจากจะอ้างว่าพินัยกรรมตามฟ้องเป็นพินัยกรรมปลอมแล้ว โจทก์ยังบรรยายฟ้องมาด้วยว่า บุคคลที่ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมต่างมิได้รู้เห็นขณะที่ ส. ลงลายมือชื่อในพินัยกรรม พินัยกรรมจึงตกเป็นโมฆะทั้งฉบับข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวถือเป็นการยกเอาแบบของพินัยกรรมมาเป็นข้อต่อสู้ เพื่อให้พินัยกรรมไม่มีผลใช้บังคับด้วย แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาท แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง
พยานในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรม แต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง ย่อมไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคแรก และทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 ไปในทันที แม้ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมจะมาสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำพินัยกรรมมีความประสงค์จะทำพินัยกรรมจริง ก็ไม่มีผลทำให้การลงลายมือชื่อในพินัยกรรมที่ไม่ชอบหรือพินัยกรรมที่เป็นโมฆะไปแล้วกลับกลายเป็นการลงลายมือชื่อที่ชอบทำให้พินัยกรรมมีผลสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 485/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือยืนยันการถวายที่ดินมีผลเป็นหนังสือแสดงเจตนาให้ที่ดินแก่โจทก์ แม้ไม่เป็นพินัยกรรมตามกฎหมาย
แม้ในตอนบนของเอกสารจะมีข้อความว่า "หนังสือพินัยกรรม" แต่ไม่มีพยาน 2 คน ลงลายมือชื่อรับรอง จึงไม่มีลักษณะเป็นพินัยกรรมตามกฎหมาย และหนังสือดังกล่าวมีข้อความว่า ข้าพเจ้า ล. หรือ ช. ได้ถวายที่ดินจำนวนประมาณ 15 ไร่ ให้วัดวังก์พงในปีที่วัดวังก์พงได้วางศิลาฤกษ์สร้างพระอุโบสถนั้น... เนื่องจากทราบว่าเอกสาร น.ส.3 ที่ได้ถวายได้สูญหายไปจากวัดวังก์พงเมื่อปี 2525 และยังติดตามไม่พบและในเอกสารยังมีชื่อของข้าพเจ้าอยู่ ข้าพเจ้าจึงขอทำหนังสือฉบับนี้ยืนยันการถวายที่ดินแปลงดังกล่าวและหากข้าพเจ้าถึงแก่กรรมขอให้ถือหนังสือฉบับนี้เป็นพินัยกรรมยืนยันการถวายมอบกรรมสิทธิ์ให้แก่วัดวังก์พงต่อไป ตามข้อความในเอกสารดังกล่าวถือได้ว่าเป็นหนังสือยืนยันการยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งในปัจจุบันขณะทำหนังสือดังกล่าวจนถึงว่าหากถึงแก่กรรมก็ยังยืนยันยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ หนังสือดังกล่าวถือได้ว่าเป็นหนังสือแสดงเจตนาของ ล. ที่ยืนยันว่ามีเจตนายกที่ดินพิพาทให้โจทก์มาตั้งแต่แรกจนถึงขณะทำหนังสือดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ล. ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้วที่ดินพิพาทจึงเป็นธรณีสงฆ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2102/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาคดีมรดก: พินัยกรรมทำผิดแบบเป็นโมฆะ ทายาทโดยธรรมมีสิทธิเรียกร้องทรัพย์คืน
จำเลยกับผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยากันโดยไม่จดทะเบียนสมรส จึงไม่ต้องพิจารณาว่าทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ คงต้องพิจารณาเฉพาะเรื่องกรรมสิทธิ์รวมว่าเป็นทรัพย์สินที่ซื้อหามาด้วยเงินที่ร่วมกันทำมาหาได้หรือไม่ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ตายได้รับมาโดยการรับมรดกและโดยการให้โดยเสน่หา ย่อมไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของผู้ตายเพียงผู้เดียว
พินัยกรรมที่ผู้ตายทำขึ้นโดยใช้พิมพ์ดีดทั้งฉบับ ย่อมไม่ใช่พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1657 คงเป็นแต่พินัยกรรมแบบธรรมดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 ที่ต้องมีพยานรู้เห็นซึ่งมาตรา 1656 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน การที่พยานในพินัยกรรมพิพาทลงลายมือชื่อเป็นพยานภายหลังจึงขัดต่อบทบัญญัติดังกล่าวพินัยกรรมพิพาทย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2536/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พินัยกรรมสมบูรณ์ แม้มีการแก้ไขเล็กน้อย ไม่กระทบสาระสำคัญ และการขีดฆ่าคำบางส่วนไม่มีผลทำให้เป็นโมฆะ
การขีดฆ่า คำว่า "ดังนี้" ในพินัยกรรมออกไปเพราะเป็นการพิมพ์ข้อความตกไปแล้วพิมพ์ใหม่เป็นว่า "ให้มีผลเมื่อข้าพเจ้าตายแล้วดังนี้" การขีดฆ่าคำว่า "ดังนี้" ไม่มีผลต่อความสมบูรณ์ของข้อความในพินัยกรรม เพราะแม้ไม่มีการขีดฆ่าคำดังกล่าวและไม่พิมพ์ข้อความใหม่ข้อความที่พิมพ์ก่อนหน้านั้นก็ระบุชัดเจนว่าเป็นใบมอบทรัพย์สิน (มรดก) ให้แก่จำเลยผู้รับมรดกเพียงผู้เดียว การรับมรดกย่อมจะมีผลต่อเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายอยู่แล้ว ส่วนการขีดฆ่าคำว่า "ผู้รับมอบ" แล้วพิมพ์ข้อความใหม่เป็นว่า "พยาน" ก็เพื่อให้ตรงกับความเป็นจริงว่า จ. ลงลายมือชื่อเป็นพยานในการทำพินัยกรรมมิใช่เป็นผู้รับมอบ การแก้ไขดังกล่าวมิใช่เป็นการตก เติม แก้ไขเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมที่ต้องมีการลงลายมือชื่อกำกับ ทั้งเป็นการแก้ไขก่อนที่ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อในพินัยกรรมจึงไม่ต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคสอง ไม่ทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2536/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขพินัยกรรมโดยการขีดฆ่าและพิมพ์ใหม่ ไม่ทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะ หากไม่เข้าข่ายแก้ไขเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ
ที่ผู้ตายขีดฆ่าคำว่า "ดังนี้" ออกไปเพราะเป็นการพิมพ์ข้อความตกแล้วพิมพ์ใหม่ว่า "ให้มีผลเมื่อข้าพเจ้าตายแล้วดังนี้" โดยผู้ตายไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับนั้น การขีดฆ่าดังกล่าวไม่มีผลต่อความสมบูรณ์ของข้อความในพินัยกรรมเพราะแม้ไม่มีการขีดฆ่าดังกล่าวและไม่พิมพ์ข้อความใหม่ ข้อความที่พิมพ์ก่อนหน้านั้นก็ระบุชัดเจนว่าเป็นใบมอบทรัพย์สิน (มรดก) ให้แก่จำเลยผู้รับมรดกเพียงผู้เดียว การรับมรดกย่อมจะมีผลต่อเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายอยู่แล้ว ส่วนการขีดฆ่าคำว่า "ผู้รับมอบ" แล้วพิมพ์ข้อความใหม่เป็นว่า "พยาน" ก็เพื่อให้ตรงกับความเป็นจริงว่า จ. ลงลายมือชื่อเป็นพยานในการทำพินัยกรรม มิใช่เป็นผู้รับมอบแต่อย่างใด การแก้ไขดังกล่าวมิใช่เป็นการตกเติม แก้ไขเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมทั้งเป็นการแก้ไขก่อนที่ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อในพินัยกรรมจึงไม่ต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคสอง จึงไม่ทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะ
of 18