คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชนากานต์ ธีรเวชพลกุล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 53 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5856/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นในคดีชู้สาว ต้องมีพฤติการณ์เปิดเผยความสัมพันธ์
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า "สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้" จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การที่ภริยาเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นโดยไม่มีเงื่อนไขต้องฟ้องหย่าสามีมาด้วยนั้น ต้องปรากฏพฤติการณ์ด้วยว่าหญิงอื่นนั้นได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์อย่างไร เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีพฤติการณ์แสดงตนโดยเปิดเผยอย่างไร อันเป็นประเด็นแห่งคดีที่โจทก์จะนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5579/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีชู้สาว: โจทก์ทราบความสัมพันธ์ชู้สาวแต่ทำสัญญาแยกกันอยู่และฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูภายหลัง ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
เมื่อพิจารณาจากคำฟ้องในคดีนี้ประกอบกับคดีที่โจทก์ฟ้อง ล. เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู จึงเห็นได้ว่าโจทก์ทราบมานานแล้วว่า ล. มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหญิงอื่นหลายคนรวมทั้งจำเลยในคดีนี้ สอดคล้องกับที่โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในช่วงปี 2559 ล. เลี้ยงดูผู้หญิงหลายคน และ ร. พยานโจทก์ที่เบิกความว่าได้สมัครทำงานเป็นเชฟให้แก่ ล. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 พยานเป็นผู้ส่งภาพถ่ายแสดงความสัมพันธ์ระหว่าง ล. กับจำเลย รวมทั้งคลิปวิดีโอต่าง ๆ ให้แก่โจทก์ พฤติการณ์ที่โจทก์ทราบดีว่า ล. มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับผู้หญิงหลายคน รวมทั้งจำเลยในคดีนี้ แต่โจทก์กลับมิได้ใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนในการกระทำดังกล่าวจากจำเลย แต่กลับทำสัญญาแยกกันอยู่กับ ล. สองฉบับดังกล่าวข้างต้นและให้ ล. จ่ายเงินค่าเลี้ยงดูให้แก่โจทก์ ตลอดจนให้ใช้บัตรเครดิตอย่างไม่จำกัดวงเงิน ต่อมาโจทก์กลับมาฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยในคดีนี้เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 เป็นจำนวนเงินสูงถึง 300,000,000 บาท หรือการที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจาก ล. เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 จำนวน 78,600,000 บาท อันเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่โจทก์ทราบถึงเหตุดังกล่าวและแยกกันอยู่กับ ล. เมื่อปี 2557 เป็นเวลาถึงเกือบ 6 ปี จึงเชื่อว่าเกิดจากโจทก์ที่โกรธแค้นจำเลยและ ล. ที่ ล. ไม่จ่ายเงินค่าเลี้ยงดูให้แก่โจทก์อีกต่อไป รวมทั้งยกเลิกการใช้บัตรเครดิตของโจทก์ หาใช่มาจากจำเลย แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับ ล. สามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตามที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้ไม่ ซึ่งสอดคล้องกับที่โจทก์เบิกความตอบทนายโจทก์ถามว่า ในช่วงที่บัตรเครดิตของโจทก์หมดอายุ ได้มีการส่งบัตรเครดิตใหม่ไปให้ที่ที่พักของ ล. สามี จำเลยเห็นจึงบอกให้ ล. ตัดบัตรทิ้ง ทั้ง ป.พ.พ. มาตรา 5 บัญญัติว่า "ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต" การที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยในคดีนี้ จึงสืบเนื่องมาจากการที่ ล. ระงับการจ่ายเงินค่าเลี้ยงดูและการใช้บัตรเครดิตของโจทก์ตามข้อตกลงเป็นสำคัญ มิได้มีเจตนาที่จะใช้บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง มาเรียกค่าทดแทนจากจำเลยอย่างแท้จริง การฟ้องคดีของโจทก์ดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้กระทำได้ อีกทั้งยังเป็นการใช้สิทธิฟ้องจำเลยโดยไม่สุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ ศาลฎีกามีสิทธิยกขึ้นในชั้นฎีกาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตา 182/1 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1656/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รายงานเยาวชนใช้ได้เฉพาะข้อมูลพื้นฐาน การวินิจฉัยความผิดต้องใช้พยานหลักฐาน การกระทำหลายกรรมต่างกันต้องลงโทษทุกกรรม
แม้รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเยาวชนของสถานพินิจจะมีความสำคัญแก่การพิพากษาคดี เนื่องจากพ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 131 บัญญัติไว้มีใจความว่า ศาลจะพิพากษาลงโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนได้ต่อเมื่อได้รับทราบรายงานดังกล่าวแล้ว แต่ก็มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อให้ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมทั้งปวงเกี่ยวกับจำเลย บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งจำเลยอาศัยอยู่ด้วย หรือบุคคลซึ่งให้การศึกษา ให้ทำการงาน หรือ มีความเกี่ยวข้องตามมาตรา 115 เข้าสู่สำนวนคดี โดยมาตรา 118 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า การพิจารณาคดีอาญา ที่เด็กหรือเยาวชนเป็นจำเลย ศาลจะรับฟังรายงานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงตามมาตรา 115 ที่มิใช่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดที่ถูกฟ้องโดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบรายงานนั้นก็ได้ เพื่อเสนอรายงานและความเห็นต่อศาลเกี่ยวกับการลงโทษ หรือการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแก่จำเลยเท่านั้น หากศาลจะฟังข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่ถูกฟ้อง ศาลจะรับฟังรายงานดังกล่าวโดยไม่มีพยานบุคคลประกอบไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงตามรายงานมิใช่ข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการสืบพยานของคู่ความ จึงไม่สามารถนำมารับฟัง ในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะนำมาวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยได้ การที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษรับฟังรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรุงเทพมหานคร แล้วเชื่อว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดกรรมเดียวนั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1241/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนหย่าเพื่อหลีกเลี่ยงบังคับคดี: โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องหากไม่ได้ถูกโต้แย้งสิทธิโดยตรง
การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าการแสดงเจตนาจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยทั้งสองทำขึ้นมีเจตนาลวงโดยสมรู้กันมิได้มีเจตนาหย่ากันจริงแต่จดทะเบียนหย่าเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกบังคับคดี การจดทะเบียนหย่าตกเป็นโมฆะ และเป็นการจดทะเบียนหย่าโดยไม่สุจริต ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ย่อมต้องด้วยกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะเรื่องการแสดงเจตนาและโมฆะกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า "การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ..." และตามมาตรา 172 วรรคหนึ่งที่บัญญัติว่า "โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้" ศาลจึงต้องใช้บทกฎหมายเฉพาะดังกล่าวเป็นหลักในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้ตามที่มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ โดยไม่จำต้องอาศัยมาตรา 5 เรื่องการใช้สิทธิแห่งตนที่ให้บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต อันเป็นบทกฎหมายทั่วไปมาใช้ในการวินิจฉัยคดีนี้
การจดทะเบียนหย่าเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดีนี้นั้น กฎหมายบัญญัติทางแก้ไว้หลายกรณีด้วยกันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและสังคมสงบสุข แม้จำเลยทั้งสองอยู่ในสถานะจดทะเบียนหย่า แต่สิทธิของโจทก์ทั้งสองในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในการที่จะบังคับแก่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น โจทก์ทั้งสองชอบที่จะบังคับแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ด้วยการร้องขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้มีการบังคับคดี โดยวิธียึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิเรียกร้อง หรือบังคับโดยวิธีอื่นแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้ แม้ว่ามีชื่อบุคคลอื่นเป็นเจ้าของในทะเบียนหรือปรากฏตามหลักฐานอย่างอื่นว่าเป็นของบุคคลอื่น ทั้งนี้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 274 วรรคหนึ่ง, 296 (1) (2) (3), 297 (1) และมาตรา 298 ส่วนขั้นตอนในการบังคับคดีตามบทกฎหมายดังกล่าว ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่ความและป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น โจทก์ทั้งสองจะอ้างว่าทำให้สิทธิในการบังคับคดีของโจทก์ทั้งสองไม่ได้รับความคุ้มครองหาได้ไม่ กรณียังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองถูกโต้แย้งสิทธิ โจทก์ทั้งสองจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างได้ว่าการจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะ หากจำเลยทั้งสองจดทะเบียนหย่าโดยเจตนาลวงอันมีผลให้การหย่าเป็นโมฆะ และมีการทำนิติกรรมใด ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดี ย่อมเป็นการทำนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ทั้งสองผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเสียเปรียบ โจทก์ทั้งสองชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง เนื่องจากโจทก์ทั้งสองถูกโต้แย้งสิทธิ ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างได้ว่าการจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะ แต่ในคดีนี้โจทก์ทั้งสองไม่ได้ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำนิติกรรมใดลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ทั้งสองผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ รวมทั้งไม่ได้ร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมใด ๆ คงฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถกระบะภายหลังการจดทะเบียนหย่าทำให้โจทก์ทั้งสองยึดรถคันดังกล่าวไม่ได้ และมีคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนหย่าเท่านั้น คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงไม่ใช่การขอให้เพิกถอนนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง และศาลไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนการเป็นเจ้าของรถของจำเลยที่ 2 ในทะเบียนรถ เพราะจะเป็นการพิพากษาให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182/1 วรรคสอง ดังนั้น แม้ศาลพิพากษาว่าการจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะและให้เพิกถอนการจดทะเบียนหย่า แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังมีชื่อเป็นเจ้าของในทะเบียนรถเช่นเดิม ผลของคำพิพากษาดังกล่าวทำให้สิทธิของโจทก์ทั้งสองยังมีเท่ากับการไม่ได้ฟ้อง ซึ่งแสดงได้ว่าตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองถูกโต้แย้งสิทธิ โจทก์ทั้งสองจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างได้ว่าการจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1218/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรหลังหย่า: ศาลพิจารณาความสามารถของทั้งสองฝ่ายและเปลี่ยนแปลงจากข้อตกลงเดิมได้
ข้อเท็จจริงปรากฏตามทางนำสืบของผู้ร้อง ซึ่งผู้คัดค้านมิได้โต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่าบุตรผู้เยาว์ได้ย้ายมาอยู่อาศัยกับผู้ร้องเป็นการถาวรตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 จนถึงปัจจุบัน ดังนั้นแม้ในหนังสือข้อตกลงหย่า ข้อ 1.2 ระบุว่า ฝ่ายชายยินดีให้ค่าเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันหย่า โดยจะแบ่งจ่ายเป็นรายอาทิตย์ทั้งนี้ไม่เกิน 20,000 บาท ต่อเดือน โดยโอนเข้าบัญชีฝ่ายหญิงทุกครั้ง... ก็ตาม แต่เหตุที่ตกลงเช่นนั้นก็เนื่องมาจากขณะนั้นบุตรผู้เยาว์พักอาศัยอยู่กับผู้คัดค้านโดยผู้คัดค้านเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเมื่อปรากฏว่าข้อเท็จจริงได้เปลี่ยนแปลงไปโดยบุตรผู้เยาว์ได้ย้ายมาอยู่อาศัยกับผู้ร้อง ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 จนถึงปัจจุบัน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับบุตรผู้เยาว์ ผู้ร้องเป็นผู้ชำระทั้งสิ้น ทั้งผู้คัดค้านก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าตั้งแต่บุตรผู้เยาว์ย้ายมาพักอาศัยกับผู้ร้องแล้วผู้คัดค้านได้ใช้จ่ายสิ่งใดที่เกี่ยวกับบุตรผู้เยาว์ไปบ้าง ดังนั้น หากให้ผู้ร้องต้องชำระเงินให้แก่ผู้คัดค้านตามข้อตกลงหย่าในข้อ 1.2 อีก ก็เท่ากับว่าผู้ร้องต้องชำระเงินเพิ่มจากที่ตกลงกันไว้ ซึ่งผิดไปจากเจตนารมณ์ของคู่สัญญาที่ประสงค์จะให้ข้อตกลงหย่าในข้อ 1.2 เป็นไปเพื่อการเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์อย่างแท้จริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 453/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอนุญาตขายทรัพย์สินของผู้เยาว์เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาและการลงทุนในอนาคต
ผู้ร้องขอขายที่ดินซึ่งผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้เยาว์ เพื่อการศึกษาแก่ผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตร ผู้ร้องในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมมาร้องขออนุญาตทำนิติกรรมขายที่ดินต่อศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 ก็เพื่อให้ศาลกำกับดูแลให้เหมาะสมเป็นประโยชน์ต่อผู้เยาว์หรือก่อความเสียหายแก่ผู้เยาว์น้อยที่สุด เมื่อได้ความว่าการขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งอนาคตของผู้เยาว์และได้รับราคาที่สูงกว่าราคาประเมิน จึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะอนุญาตให้มีการขายได้โดยเร็วเพื่อประโยชน์ของผู้เยาว์ ที่ศาลชั้นต้นอ้างว่าการทำนิติกรรมขายไม่ได้รับความยินยอมจาก จ. มารดาผู้เยาว์ เป็นการวินิจฉัยขัดกับข้อเท็จจริงเนื่องจากที่ จ. ไม่ได้ดูแลผู้เยาว์และไม่อาจติดต่อได้ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษอ้างว่า ไม่มีเรื่องเร่งด่วนหรือเหตุฉุกเฉิน ก็ไม่ได้อยู่ในบริบทที่มาตรา 1574 กำหนดไว้ ส่วนที่อ้างว่ารอให้ผู้เยาว์ทั้งสองเจริญวัยจนบรรลุนิติภาวะตัดสินใจเอง ก็เป็นข้อวินิจฉัยที่ขัดต่อเจตนารมณ์ที่มาตรา 1574 ให้ศาลกำกับดูแลการทำนิติกรรม ไม่ใช่ปล่อยให้ช่วงเวลาที่ยังเป็นผู้เยาว์เสียไปโดยเปล่าประโยชน์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งสินสมรสหลังหย่า: ศาลพิพากษาให้โอนที่ดินพร้อมบ้านให้โจทก์ได้ แม้ข้อตกลงระบุเฉพาะบ้าน
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าระหว่างโจทก์และจำเลย และขอบังคับให้จำเลยแบ่งสินสมรสทุกรายการให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง จำเลยให้การต่อสู้ว่า บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าไม่เป็นโมฆะ การจัดแบ่งสินสมรสตามข้อ 3 เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนการหย่า ถือได้ว่ามีการแบ่งทรัพย์สินอันเป็นสินสมรส โดยยกให้จำเลยทั้งหมดแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอแบ่งสินสมรสใหม่อีก เมื่อพิเคราะห์คำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แล้ว ถือได้ว่าโจทก์มีเจตนาขอแบ่งสินสมรสทั้งปวงระหว่างโจทก์กับจำเลยกึ่งหนึ่งโดยขอให้ไม่ยึดถือตามบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า โจทก์และจำเลยทำบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่ากันด้วยความสมัครใจ บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าจึงสมบูรณ์มีผลผูกพันโจทก์และจำเลยให้ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างกัน แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าดังกล่าวระบุสินสมรสที่ตกลงยกให้โจทก์เพียงบ้านเลขที่ 109/4 โดยไม่ได้กล่าวถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 89706 อันเป็นที่ตั้งของบ้านดังกล่าวแต่อย่างใด และโจทก์มีคำขอให้แบ่งสินสมรสอีก 5 รายการ ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยปกปิดไว้ซึ่งรวมถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 89706 ที่พิพาทด้วย แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยแบ่งที่ดังกล่าวอันเป็นสินสมรสให้แก่โจทก์เพียงกึ่งหนึ่ง แต่โจทก์ย่อมไม่อาจบรรยายฟ้องขอให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งแปลงได้ เพราะโจทก์ตั้งรูปเรื่องมาว่าบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า ไม่ได้เกิดจากความสมัครใจของโจทก์และโจทก์ต้องการขอแบ่งสินสมรสรายการอื่น ๆ นอกจากที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าด้วย เมื่อข้อเท็จจริงยุติในชั้นฎีกาว่าบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่ามีผลใช้บังคับได้ และจำเลยยังไม่ได้แบ่งสินสมรสรายการที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษก็ได้วินิจฉัยแล้วว่า บ้านเลขที่ 109/4 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 89706 เป็นส่วนควบตามกฎหมายของที่ดินโฉนดเลขที่ 89706 และเมื่อพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีในทางสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 แล้วเห็นได้ว่าโจทก์และจำเลยมีเจตนาแบ่งทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสระหว่างกันโดยจำเลยตกลงยกที่ดินโฉนดเลขที่ 89706 พร้อมบ้านเลขที่ 109/4 ให้แก่โจทก์ทั้งหมด โดยนับตั้งแต่วันที่มีการทำบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า เมื่อมูลค่าที่ดินพิพาทไม่ได้สูงเกินไปกว่าราคาประเมินกึ่งหนึ่งของสินสมรสในคดีนี้และยังอยู่ในประเด็นพิพาทว่า จำเลยต้องแบ่งสินสมรสรายการนี้ให้โจทก์หรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 89706 พร้อมบ้านเลขที่ 109/4 ให้โจทก์ทั้งหมด จึงไม่เป็นการพิพากษาที่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฎในคำฟ้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบ พ.ร.บ. ศาลเยาวชนฯ มาตรา 182/1 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 451/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องหย่าต้องมีเหตุสมควร การแยกกันอยู่ต้องเกิดจากความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่จากพฤติกรรมไม่เหมาะสมของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
เหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) ไม่ได้มีเพียงระยะเวลาที่แยกกันอยู่เกินสามปีเท่านั้น ยังต้องมีองค์ประกอบอื่นอีกคือ ต้องเป็นเพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาด้วย ตามฟ้องโจทก์แปลความได้ว่า นับตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน โจทก์กับจำเลยแยกกันอยู่โดยสมัครใจ พฤติการณ์ต่าง ๆ ของจำเลยที่ทำให้โจทก์กับจำเลยไม่สามารถที่จะกลับมาอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุข อันเป็นการบรรยายครบองค์ประกอบเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4/2) แล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุว่าเป็นเวลาเกินกว่า 3 ปี แต่ช่วงเวลาที่โจทก์บรรยายในฟ้องเป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นเวลาเกินกว่า 3 ปี แล้ว ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังเป็นยุติจากการวินิจฉัยพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกับข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องแล้วทั้งสิ้น ไม่มีข้อเท็จจริงใดเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่นอกคำฟ้อง ส่วนศาลชั้นต้นจะเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุตินั้นเป็นเหตุหย่าหรือไม่ และเป็นเหตุหย่าที่ปรับได้กับบทบัญญัติกฎหมายมาตราใด อนุมาตราใด เป็นอำนาจหน้าที่และเป็นความเห็นของแต่ละศาล ไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นปรับบทกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) จึงไม่ถือเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องหรือเป็นการวินิจฉัยในประเด็นอื่นที่มิได้กล่าวมาในฟ้อง
ในคดีก่อนโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยรับว่า โจทก์คบหากับผู้หญิงอื่นระหว่างที่ยังอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย อีกทั้งในคดีนี้โจทก์ก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยรับว่า จำเลยฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก ม. ที่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับโจทก์เช่นกัน ดังนั้น สาเหตุที่โจทก์ไม่กลับบ้านไปหาจำเลยในคดีก่อนและคดีนี้มาจากตัวโจทก์เองที่มีพฤติกรรมอันแสดงถึงการนอกใจจำเลย ยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาทั้งที่โจทก์กับจำเลยยังเป็นสามีภริยากันอยู่ หาใช่มาจากจำเลยไม่ ทั้งความเป็นจริงที่จำเลยต้องแยกกันอยู่กับโจทก์เกิดจากสภาพครอบครัวที่โจทก์ต้องกลับไปดูแลมารดาที่เจ็บป่วย ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ที่จะต้องกลับมาเยี่ยมเยียนดูแลบุตรภริยา ทั้งจำเลยยังรักใคร่หึงหวงในตัวโจทก์อยู่ จึงได้ฟ้อง ม. เรียกค่าทดแทนที่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับโจทก์ กรณีดังกล่าวจะถือว่าเป็นการแยกกันโดยความสมัครใจของจำเลยด้วยหาได้ไม่ ฉะนั้นคงฟังได้แต่เพียงว่า โจทก์กับจำเลยแยกกันอยู่มากว่า 3 ปี จริง แต่การแยกกันอยู่นั้น มิใช่ด้วยความสมัครใจของจำเลย การที่โจทก์กับจำเลยแยกกันอยู่เช่นนี้ก็โดยลำพังความสมัครใจของโจทก์แต่ฝ่ายเดียว หาทำให้เกิดสิทธิฟ้องหย่าจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 234/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันในคดีทำร้ายร่างกายและกระทำชำเราเด็ก ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ลงโทษทุกกรรม
เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันและทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำชำเราผู้ตายในคราวเดียวกันกับที่จำเลยทำร้ายผู้ตาย โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมหลังจากที่มีการตรวจพิสูจน์ศพผู้ตายแล้ว การทำร้ายทางเพศเกิดขึ้นเป็นประจำไม่ใช่คราวใดคราวหนึ่งโดยเฉพาะ ทั้งเจตนาของจำเลยที่ใช้มือตีไปที่ศีรษะและบริเวณหลังคือเจตนาทำร้ายผู้ตายที่เป็นเด็กด้วยความโมโห และเจตนากระทำความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งสามารถแยกออกจากเจตนาของจำเลยที่กระทำความผิดข้อหากระทำชำเราได้ การกระทำของจำเลยจึงเห็นได้ชัดว่า จำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลในการกระทำทั้งสองข้อหาแตกต่างกัน จึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5209/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คถูกปฏิเสธเนื่องจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ระงับการจ่ายหลังจำเลยล้มละลาย ไม่ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค
จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ แต่ก่อนถึงกำหนดวันที่ลงในเช็ค จำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จำเลยย่อมไม่มีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของตนเองนับแต่วันดังกล่าว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 เมื่อโจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า "มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายโดยผู้มีอำนาจตามกฎหมาย" แสดงว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ดำเนินการตามอำนาจในการจัดการและเก็บรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยเพื่อเข้ากองทรัพย์สินและนำมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ด้วยการมีคำสั่งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท การที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินมิใช่เกิดจากการกระทำของจำเลย จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง
of 6