คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชนากานต์ ธีรเวชพลกุล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 53 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2421/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ที่ขัดกับการรับสารภาพเดิม และพิจารณาโทษจำเลยต่างกันตามพฤติการณ์
จำเลยทั้งสองฎีกาว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ แต่เมื่อความผิดดังกล่าวจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองย่อมรับฟังเป็นยุติได้ตามฟ้องโจทก์ การที่จำเลยทั้งสองฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นนอกจากที่ให้การรับสารภาพและเป็นฎีกาข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 มาตรา 47 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2347/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพันคู่กรณี เว้นแต่มีการตกลงยินยอมเพิกถอน
โจทก์ จำเลย และจำเลยร่วมร่วมกันตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าองค์คณะผู้พิพากษาในศาลชั้นต้น โดยคู่ความแต่ละฝ่ายและองค์คณะผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นได้ลงลายมือชื่อไว้ท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นแล้ว โดยคู่ความทุกฝ่ายแถลงร่วมกันต่อศาลชั้นต้นว่า หากศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกา คู่ความประสงค์จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความในชั้นฎีกา ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำแถลงของคู่ความเป็นกระบวนพิจารณาที่คู่ความทำขึ้นในศาลและต่อหน้าองค์คณะผู้พิพากษาในศาลชั้นต้น เมื่อข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นเรื่องที่โจทก์ จำเลย และจำเลยร่วมระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่ขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน มีลักษณะเป็นการประนีประนอมยอมความ ย่อมมีผลผูกพันคู่ความให้ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะยกเลิกหรือเพิกถอนเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ เว้นแต่คู่กรณีแห่งการประนีประนอมยอมความนั้นจะตกลงยินยอมด้วย ข้ออ้างของจำเลยที่ว่า โจทก์ไม่ได้ยุติคดีทั้งหมดตามที่ตกลงกันต่างหากนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยกล่าวอ้างข้อตกลงนอกเหนือไปจากสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันในศาล แม้ในวันดังกล่าวทนายจำเลยจะมิได้มาศาลเพื่อร่วมตรวจสอบสัญญาดังที่จำเลยอ้าง จำเลยจะยกเหตุดังกล่าวรวมทั้งข้ออ้างที่จำเลยถูกฉ้อฉลขึ้นปฏิเสธสัญญาประนีประนอมยอมความว่าถูกฉ้อฉลย่อมฟังไม่ขึ้น คดีไม่มีเหตุอันสมควรที่จำเลยจะปฏิเสธไม่ให้ศาลฎีกามีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความในชั้นฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1924/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินนิคมสร้างตนเองที่เป็นโมฆะ และการขาดสภาพการเป็นสมาชิกนิคม
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐที่นิคมสร้างตนเองคำสร้อยมีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้สมาชิกของนิคมเท่านั้นเข้าทำประโยชน์ หากสมาชิกของนิคมได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้วและได้เป็นสมาชิกมาเป็นเวลาห้าปี นิคมสร้างตนเองคำสร้อยจึงสามารถออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ให้แก่ผู้นั้นได้ ซึ่งสมาชิกนิคมสามารถนำที่ดินไปขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม ป.ที่ดินได้ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 6, 8 และ 11 เมื่อที่ดินพิพาทยังไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน นิคมสร้างตนเองคำสร้อยเพียงแต่อนุญาตจัดสรรให้จำเลยซึ่งเป็นสมาชิกเข้าครอบครองทำประโยชน์ ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 21 และมาตรา 24 สิทธิของผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าครอบครอง จึงมิใช่สิทธิตาม ป.ที่ดินหรือตาม ป.พ.พ. แต่เป็นสิทธิตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ที่รัฐจัดสรรให้แก่สมาชิกของนิคมสร้างตนเองคำสร้อย โดยมีเงื่อนไขตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ดังกล่าว และสมาชิกของนิคมสร้างตนเองที่ได้รับมอบที่ดินแล้ว ต้องจัดที่ดินให้เกิดประโยชน์ให้แล้วเสร็จภายในห้าปีนับแต่วันที่อพยพครอบครัวเข้าอยู่ประจำ โดยมาตรา 27 สมาชิกต้องไม่มอบหรือโอนสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับมอบให้แก่ผู้อื่น เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย นอกจากนี้มาตรา 15 ยังห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปหาประโยชน์ ยึดถือ หรือครอบครองที่ดินภายในนิคมเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี แสดงว่า ที่ดินของนิคมสร้างตนเองจะโอนไปยังบุคคลภายนอกได้จะต้องเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินแล้วเท่านั้น และจะต้องพ้นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินก่อน ดังนี้ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของนิคมสร้างตนเองคำสร้อยที่ยังไม่มีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จึงเป็นที่ดินที่ต้องห้ามมิให้สมาชิกของนิคมโอนสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินไปยังบุคคลอื่น การที่จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้บิดาโจทก์ จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 27 (6) อย่างชัดแจ้ง สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับบิดาโจทก์ จึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิตามสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวเข้ายึดถือครอบครอง เข้าทำประโยชน์ในที่ดินได้ และไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดิน
พฤติการณ์ที่จำเลยขายสิทธิและส่งมอบที่ดินให้บิดาโจทก์เข้าทำประโยชน์ โดยย้ายภูมิลำเนาไปอยู่จังหวัดยโสธรตั้งแต่ปี 2530 เพิ่งย้ายกลับมาอยู่จังหวัดมุกดาหารปี 2548 ถือได้ว่าจำเลยสละสิทธิและเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 26 และมาตรา 27 (6) ทั้งยังเป็นการไปจากนิคมสร้างตนเองคำสร้อยเกินหกเดือนโดยไม่ได้รับอนุญาตก่อนที่จะได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ในที่ดิน จำเลยจึงเป็นอันขาดจากการเป็นสมาชิกของนิคมสร้างตนเองคำสร้อยและหมดสิทธิในที่ดินพิพาทและจะเรียกร้องค่าทดแทนอย่างใดมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 142/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สมคบค้ามนุษย์: การกระทำความผิดต่อเนื่อง vs. ความผิดกรรมเดียว
การที่จำเลยกับพวกพาผู้เสียหายที่ 1 อายุ 14 ปีเศษ และผู้เสียหายที่ 3 อายุ 15 ปีเศษ ไปขายบริการทางเพศ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 และวันที่ 19 สิงหาคม 2561 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยกับพวกได้กระทำสิ่งใดอันเป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ใหม่ การกระทำที่สมคบเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์มีเพียงครั้งเดียวตั้งแต่แรกที่พันตำรวจโท ก. กับพวกทำการล่อซื้อบริการทางเพศผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 จากจำเลยกับพวกครั้งแรก การที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ไปขายบริการทางเพศแก่สายลับที่ล่อซื้ออีกในวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 จึงเป็นเพียงการอาศัยการสมคบเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตั้งแต่แรกที่เคยล่อซื้อบริการทางเพศมาแล้วเท่านั้น มิได้มีการกระทำอันเป็นการสมคบขึ้นใหม่อันจะเป็นความผิดทุกครั้งที่มีการซื้อบริการทางเพศ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานสมคบเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ที่ได้กระทำในวันที่ 15 มิถุนายน 2561 เพียงกรรมเดียว แต่ไม่มีความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ของวันที่ 19 สิงหาคม 2561 อีกกรรมหนึ่ง และความผิดฐานสมคบกันเพื่อการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์เป็นความผิดฐานคนละกรรมกับความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3823/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลอมเอกสารสิทธิเพื่อใช้ในการหลอกลวงเรียกรับเงินค่าเสียหายจากผู้เสียหาย เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม
สัญญาบันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายมี ส. และผู้เสียหายร่วมลงลายมือชื่อเพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันว่า ผู้เสียหายยินยอมชำระเงินให้แก่ ส. ซึ่งเป็นตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจช่วงของบริษัท ด. โดยเอกสารดังกล่าวมีหัวกระดาษและตราสัญลักษณ์ของบริษัท ด. ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ทำให้บุคคลทั่วไปเห็นแล้วเชื่อว่าบริษัทดังกล่าวทำขึ้น แม้ความจริงบริษัทดังกล่าวไม่ได้ทำบันทึกข้อตกลงนั้นกับผู้เสียหาย แต่การที่พวกของจำเลยซึ่งไม่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงกลับทำสัญญาบันทึกข้อตกลงดังกล่าวกับผู้เสียหาย เพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารสิทธิที่แท้จริงแล้วนำไปใช้อ้างต่อพันตำรวจตรี น. เพื่อแสดงให้เห็นว่าได้ยอมความโดยชอบ ทำให้คดีในส่วนอาญาระงับโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน แม้จะมิใช่เอกสารที่แท้จริงของบริษัทดังกล่าวก็ตาม ก็เป็นการทำปลอมเอกสารสิทธิขึ้นทั้งฉบับและใช้เอกสารสิทธิปลอม
การที่จำเลยกับพวกร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานในการตรวจค้นผู้เสียหาย แล้วนำสัญญาบันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายกลับมาลงบันทึกประจำวันโดยแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานอันเป็นเอกสารราชการเพื่อใช้เป็นหลักฐานว่า ส. พวกของจำเลยเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงและผู้เสียหายเป็นผู้ละเมิดสินค้าลิขสิทธิ์ แต่ตกลงค่าเสียหายได้โดยผู้เสียหายยินยอมชดใช้เป็นเงิน และทุกฝ่ายจะไม่เอาความกันภายหลังทั้งทางแพ่งและทางอาญา แม้จะกระทำต่างเวลากันแต่เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าพวกของจำเลยได้รับมอบอำนาจมาและมีอำนาจกระทำการแทนเจ้าของลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้าในการเรียกรับเงินค่าเสียหายและตกลงยอมความกับผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3676/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องอาญาไม่จำเป็นต้องระบุวันที่แน่นอน หากโจทก์บรรยายเวลาตามสมควรแล้ว ฟ้องยังชอบ
ป.วิ.อ. มาตรา 158 มิได้บังคับให้ฟ้องต้องบรรยายระบุเจาะจงวันที่และเดือนซึ่งเกิดการกระทำผิด ทั้งเวลาซึ่งเกิดการกระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงหรือรายละเอียด กฎหมายบัญญัติเพียงให้โจทก์กล่าวมาพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องระบุเวลาการกระทำผิดของจำเลยว่าประมาณปีใด โดยฟ้องโจทก์บรรยายด้วยว่า ไม่ปรากฏแน่ชัดถึงวันที่และเดือนที่จำเลยกระทำความผิด จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่เกี่ยวกับเวลาเท่าที่จะบรรยายได้ มิได้ประสงค์เอาเปรียบในเชิงคดี การที่จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาโดยรายละเอียดจะนำเสนอข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในชั้นพิจารณาต่อไป แสดงว่าจำเลยเข้าใจฟ้องโจทก์ได้ดีและสามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้อง ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3009/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ขายยาเสพติดมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการกระทำผิดของผู้ซื้อ แม้ไม่มีส่วนร่วมโดยตรงในการครอบครองหรือจำหน่าย
เมทแอมเฟตามีนของกลาง 565 เม็ด เป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่ ส. ซื้อมาจากจำเลย หลังจากที่จำเลยขายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ ส. โดยจำเลยได้รับเงินค่าเมทแอมเฟตามีนไปแล้ว การครอบครองเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายล้วนเป็นการกระทำของ ส. กับพวกโดยจำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้อง อีกทั้งในวันเกิดเหตุในคดีนี้จำเลยไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุหรือมีส่วนร่วมในการครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยร่วมกับ ส. กับพวกมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย แต่การที่จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่ ส. ย่อมถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ส. ในการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยจึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการ แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยเป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ถือว่าข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่เป็นข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 กับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2887/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลักทรัพย์ในความสัมพันธ์สมรสที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายไทย และข้อยกเว้นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71
โจทก์ร่วมและจำเลยจดทะเบียนสมรสกันที่ประเทศอังกฤษเมื่อปี 2557 แม้ ป.พ.พ. มาตรา 1459 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติว่า "การสมรสในต่างประเทศระหว่างคนที่มีสัญชาติไทยด้วยกัน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย จะทำตามแบบที่กำหนดไว้ตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายแห่งประเทศนั้นก็ได้" และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การสมรสซึ่งได้ทำถูกต้องตามแบบที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแห่งประเทศที่ทำการสมรสนั้น ย่อมเป็นอันสมบูรณ์" ก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า "เงื่อนไขแห่งการสมรสให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยและโจทก์ร่วมเป็นผู้มีสัญชาติไทย ดังนั้น ในการพิจารณาถึงความสมบูรณ์แห่งการสมรสระหว่างจำเลยและโจทก์ร่วมจึงต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 หมวด 2 เรื่องเงื่อนไขแห่งการสมรสประกอบด้วย เมื่อมาตรา 1448 บัญญัติว่า "การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว" แสดงว่าการสมรสจะสมบูรณ์ต่อเมื่อคู่สมรสเป็นชายและหญิง เมื่อจำเลยและโจทก์ร่วมต่างก็เป็นหญิง การสมรสระหว่างจำเลยและโจทก์ร่วมจึงไม่ต้องด้วยเงื่อนไขของการสมรสตามกฎหมายไทย จำเลยและโจทก์ร่วมไม่มีสถานะเป็นสามีภริยาตามกฎหมาย กรณีจึงไม่ต้องด้วยเหตุยกเว้นโทษตาม ป.อ. มาตรา 71

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1864/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโกงเจ้าหนี้หลังล้มละลาย: เจ้าหนี้ต้องยื่นขอรับชำระหนี้ตามขั้นตอน หากไม่ยื่น สิทธิเรียกร้องสิ้นสุด
หนี้ของโจทก์เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยจะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โจทก์จึงต้องยื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่ยื่นขอรับชำระหนี้ โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ต่อไป ซึ่งตาม ป.อ. มาตรา 350 ที่บัญญัติว่า เจ้าหนี้ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้นั้น หมายถึงเจ้าหนี้ที่สามารถบังคับชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ย่อมหมดสิทธิบังคับชำระหนี้จากจำเลยได้อีกต่อไป เพราะผลของการประนอมหนี้หลังล้มละลายย่อมผูกพันโจทก์ และเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายไปแล้ว จำเลยย่อมหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลาย ทั้งคำว่า "เจ้าหนี้ของตน" ย่อมหมายถึงเฉพาะโจทก์ที่เป็นผู้เสียหายในคดีนี้เท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงเจ้าหนี้อื่นของจำเลยที่มิได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ด้วย ดังนั้น การที่จำเลยขายที่ดินตามฟ้องจึงมิใช่การกระทำเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในคดีแพ่งได้รับชำระหนี้ จำเลยไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 472/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ชมรมสงเคราะห์จ่ายเงินสงเคราะห์หลังสมาชิกเสียชีวิต เข้าข่ายประกอบธุรกิจประกันชีวิตโดยไม่ได้รับอนุญาต
การดำเนินกิจกรรมของชมรมเอื้ออาทรเกษตรกรอำนาจเจริญ สมาชิกจะต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกแก่ชมรมทุกปี เมื่อสมาชิกถึงแก่ความตาย ชมรมจะนำเงินค่าสมาชิกหมุนเวียนจ่ายเป็นเงินสงเคราะห์โดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะของสมาชิกนั้น เป็นเหตุในอนาคตที่จะใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์ตามที่สมาชิกนั้นกำหนดไว้ มิใช่เป็นการจ่ายเพื่อการสงเคราะห์ตาม พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 แต่เป็นการดำเนินกิจการอันมีลักษณะทำการเป็นผู้รับประกันภัยโดยทำสัญญาประกันชีวิตตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 มาตรา 862 และมาตรา 889 ซึ่งมิได้จัดตั้งขึ้นในรูปบริษัทมหาชนจำกัด จึงไม่อาจที่จะได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตตาม พ.ร.บ.การประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 7
จำเลยทั้งสี่ร่วมกันดำเนินกิจการชมรมในการทำการเป็นผู้รับประกันชีวิตโดยทำสัญญาประกันชีวิตกับบรรดาสมาชิกทั้งหลายด้วยการแบ่งหน้าที่กันทำชักชวนหาสมาชิก เป็นการร่วมกันทำการเป็นผู้รับประกันภัยโดยทำสัญญาประกันชีวิตกับบุคคลใด ๆ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัย อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 18 ซึ่งบัญญัติไว้เป็นความผิดตามมาตรา 91
of 6