คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.ยาเสพติด ม. 162

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3686/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดโทษใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.3(1) กรณีแก้ไขกฎหมายยาเสพติด และการเพิ่มโทษฐานกระทำผิดซ้ำ
หลักการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีใดแล้ว คู่ความฝ่ายที่ไม่พอใจหรือไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์และฎีกาได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ เว้นแต่ถูกจำกัดสิทธิตามบทบัญญัติของกฎหมาย และการพิจารณาคดีนี้ในชั้นอุทธรณ์ต้องเป็นไปดังที่บัญญัติไว้ในภาค 4 ลักษณะ 1 อุทธรณ์ ตาม ป.วิ.อ. ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ดังนั้น การที่จำเลยอุทธรณ์เฉพาะขอให้ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำคุกและปรับในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายที่ศาลชั้นต้นกำหนดมาใหม่โดยเห็นว่าโทษจำคุกและปรับสูงเกินไป โดยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการปรับบทกำหนดโทษฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 104, 162 และฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคหนึ่ง จึงถือว่าจำเลยพอใจไม่โต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดบทกำหนดโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว การกำหนดบทกำหนดโทษย่อมเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์จะก้าวล่วงไปวินิจฉัยการปรับบทกำหนดโทษอีกครั้งหนึ่งและปรับบทกำหนดโทษเสียใหม่ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (1) ซึ่งยุติไปแล้วนั้นมิได้ ทั้งกรณีไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่ให้อำนาจศาลอุทธรณ์ในกรณีเช่นนี้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาและพิพากษาคดีภาค 1 ลักษณะ 1 อุทธรณ์ และไม่ก่อสิทธิให้จำเลยฎีกาในข้อที่ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทกำหนดโทษตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (1) ชอบหรือไม่ แม้ศาลฎีกาอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาก็ไม่อาจรับวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2610/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดโทษใหม่ตามกฎหมายยาเสพติดที่แก้ไข และการเพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบ
คำว่า "กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด หรือกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด" ตาม ป.อ. มาตรา 3 นั้น หมายถึงกฎหมายที่บัญญัติถึงการกระทำอันเป็นความผิดหรือบัญญัติถึงโทษ หรือโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิด ซึ่งในคดีนี้ได้แก่บทความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนกับฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และบทกฎหมายให้เพิ่มโทษแก่ผู้กระทำความผิด หากมีการแก้ไขบทกฎหมายดังกล่าวในทางที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด และมีผลให้จำเลยได้รับโทษน้อยลง ศาลก็มีอำนาจแก้ไขโทษที่จะลงแก่จำเลยได้ภายในเงื่อนไขของมาตรา 3 (1) ในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน กับฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลชั้นต้นวางโทษจำคุก 8 เดือน กับจำคุก 10 ปี และปรับ 700,000 บาท ตามลำดับ เมื่อโทษที่กำหนดในภายหลังสำหรับความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ประกอบ ป.ยาเสพติด มาตรา 162 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน หรือปรับไม่เกิน 26,666.66 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นความผิดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี และปรับไม่เกิน 1,500,000 บาท ดังนั้น โทษที่กำหนดตามคำพิพากษาจึงไม่หนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ความผิดทั้งสองฐานจึงไม่อยู่ในบังคับตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษจำเลยใหม่ได้
สำหรับประเด็นเรื่องการเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 ถูกยกเลิกไปโดย พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 4 ส่วน ป. ยาเสพติด ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ก็ไม่มีบทบัญญัติให้เพิ่มโทษได้ แม้กฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะมิได้บัญญัติเรื่องการเพิ่มโทษไว้ แต่ก็มิได้หมายความว่าศาลไม่อาจเพิ่มโทษตามบทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไปตาม ป.อ. เมื่อจำเลยกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอีกโดยไม่เข็ดหลาบ และโจทก์มีคำขอให้เพิ่มโทษตามกฎหมายเดิมไว้แล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีความประสงค์จะขอเพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบและได้กล่าวในฟ้องแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา 92 ที่เป็นบททั่วไปได้ และถือว่าการเพิ่มโทษเป็นส่วนหนึ่งของโทษตามคำพิพากษา ที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษให้แก่จำเลยใหม่จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว หาใช่เป็นการแก้ไขคำพิพากษาอันถึงที่สุดอันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 190 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ไม่