คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ประมวญ รักศิลธรรรม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8477/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมอำพรางและการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในการยึดทรัพย์ คดีผู้บริโภค
การที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยที่ 2 มีชื่อร่วมในโฉนดที่ดินและสัญญาจำนองเป็นการถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ร้องนั้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของผู้ร้องซึ่งเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อในการถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทในส่วนที่จำเลยที่ 2 ยึดถือไว้แทนผู้ร้อง การที่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจะได้รับความคุ้มครองไม่ให้ต้องเสื่อมเสียถึงสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้สามัญตามคำพิพากษา เมื่อจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อไว้ต่อโจทก์ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเป็นตัวแทนของผู้ร้องในการถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาท โจทก์จึงไม่ได้อยู่ในฐานะบุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 806 แต่เมื่อคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดของผู้ร้องระบุว่าการมีชื่อจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในโฉนดที่ดิน หนังสือสัญญาขายที่ดิน และสัญญาจำนอง เป็นการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ร้อง ย่อมแสดงว่าผู้ร้องตระหนักดีว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้ร้องฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอกพฤติการณ์ของผู้ร้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาท ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8429/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โมฆะสัญญา: สัญญาผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมขัดต่อกฎหมายค้ำประกันใหม่
ก่อนที่โจทก์กับจำเลยทั้งสามจะทำสัญญากัน ได้มีการตรา พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ขึ้นโดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติใน ป.พ.พ.ว่าด้วยค้ำประกันหลายมาตรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ยกเลิกมาตรา 691 (เดิม) และเพิ่มเติม มาตรา 681/1 ซึ่งบัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งว่า ข้อตกลงใดที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ค้ำประกันมีสถานะเป็นลูกหนี้ชั้นที่สองอย่างแท้จริง จึงห้ามเจ้าหนี้ทำสัญญาให้ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมในหนี้ที่ตนเป็นผู้ค้ำประกัน แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการทำสัญญาอื่นที่ไม่ใช่สัญญาค้ำประกัน ในการตีความนอกจากตีความจากข้อความที่เขียนไว้ในสัญญาแล้วยังต้องตีความตามเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรและต้องเป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปรกติประเพณีด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 และมาตรา 368 จำเลยที่ 1 ทำคำเสนอขอเช่าซื้อรถโดยระบุว่า จำเลยที่ 1 ตกลงซื้อรถยนต์จากเจ้าของหรือผู้จำหน่าย จึงประสงค์ขออนุมัติสินเชื่อจากโจทก์เพื่อนำไปชำระราคาแก่เจ้าของหรือผู้จำหน่ายโดยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในรถให้แก่โจทก์ เพื่อให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อจากโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำคำเสนอขอทำหนังสือยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม โดยระบุในคำเสนอว่าเพื่อให้โจทก์พิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าตามคำขอเพื่อให้ผู้เช่าได้รับรถคันที่ขอเช่าซื้อไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการเช่าซื้อ แสดงให้เห็นเจตนาที่แท้จริงของการทำสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสามว่า จำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวประสงค์จะซื้อรถโดยขอสินเชื่อจากโจทก์ แต่เพื่อให้แน่ใจว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน จึงให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญายินยอมผูกพันร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย อันเป็นประโยชน์แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 หาได้รับผลประโยชน์หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับรถคันที่เช่าซื้อแต่อย่างใดไม่ การเข้าทำสัญญาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีลักษณะเข้าผูกพันรับผิดเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 แต่เนื่องจากกฎหมายค้ำประกันใหม่ห้ามมิให้มีข้อตกลงให้ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม โจทก์จึงอาศัยข้อกฎหมายเกี่ยวกับลูกหนี้ร่วมมาบังคับใช้กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 แทนโดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงชื่อในแบบสัญญาที่โจทก์พิมพ์ข้อความไว้ล่วงหน้ามีสาระสำคัญว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม นอกจากนี้ยังมีข้อความที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตกลงล่วงหน้ายอมให้มีการผ่อนชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ตกลงยอมรับผิดเต็มจำนวนแม้โจทก์ปลดหนี้หรือลดหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 และยอมรับผิดแม้จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเข้าทำสัญญาเช่าซื้อด้วยความสำคัญผิดอย่างใด ๆ ไม่ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะได้รู้ถึงเหตุไร้ความสามารถหรือสำคัญผิดในขณะทำสัญญาหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ล้วนแต่บัญญัติไว้เฉพาะใน ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะค้ำประกัน แต่โจทก์จัดทำสัญญาโดยกำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายดังกล่าวบัญญัติ หากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ใช่ผู้ค้ำประกันก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกระทำเช่นนั้น ประกอบกับตามประเพณีทางการค้าของธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์ที่ผ่านมาผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อจัดให้ผู้เช่าซื้อโดยให้มีบุคคลต้องร่วมรับผิดในหนี้ของผู้เช่าซื้อจะจัดให้ทำสัญญาค้ำประกัน สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำขึ้นนั้น คู่สัญญามีเจตนาผูกพันกันอย่างสัญญาค้ำประกัน ข้อตกลงที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงขัดต่อกฎหมายและตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 681/1 การที่โจทก์หลีกเลี่ยงกฎหมายโดยอาศัยอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าและมีความสันทัดในข้อกฎหมายมากกว่าจัดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญายอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมแทนการทำสัญญาค้ำประกันอย่างตรงไปตรงมา ถือว่าโจทก์ผู้ประกอบธุรกิจไม่ใช้สิทธิแห่งตนด้วยความสุจริตโดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12 จึงไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ จากสัญญาดังกล่าวได้ พฤติการณ์ของโจทก์ไม่อาจสันนิษฐานได้ว่าคู่กรณีมีเจตนาจะให้สัญญาส่วนที่ไม่เป็นโมฆะแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะเพราะไม่มีส่วนใดที่สมบูรณ์แยกส่วนออกมาได้ สัญญายินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3คดีนี้จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การ และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลจะพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ในการนี้ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลำพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้ การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์จัดพิมพ์สัญญายินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับใช้สัญญาค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 681/1 ตกเป็นโมฆะ เป็นการวินิจฉัยในประเด็นว่าคำฟ้องของโจทก์ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ถือเป็นประเด็นการวินิจฉัยที่อยู่ในประเด็นตามคำฟ้อง ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจหยิบยกปัญหาว่าสัญญายินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเป็นโมฆะมาวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2958/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารประมาทเลินเล่อจ่ายเช็คปลอม, โจทก์ละเลยการตรวจสอบ, ศาลลดค่าเสียหาย
จำเลยประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อันเป็นกิจการที่ประชาชนให้ความไว้วางใจย่อมต้องใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความละเอียดรอบคอบ การที่พนักงานของจำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทซึ่งมีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมและผิดเงื่อนไขการสั่งจ่ายเช็ค จึงเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ถือว่าจำเลยผิดสัญญาฝากทรัพย์ จำเลยจะยกข้ออ้างว่า พนักงานของจำเลยโทรศัพท์สอบถามผู้จัดการของโจทก์เกี่ยวกับการลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเกินจำนวน และยกพฤติการณ์ในการเก็บรักษาเช็คพิพาทว่าเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ ตลอดจนอ้างว่าโจทก์ผู้รับรองการถอนเงินตามเช็คเป็นการรับสภาพหนี้ ขึ้นอ้างเป็นข้อยกเว้นว่าโจทก์ตกอยู่ในฐานะผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คปลอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย เพื่อให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดหาได้ไม่ แต่พฤติการณ์ที่โจทก์มอบให้ผู้จัดการของโจทก์เป็นผู้เก็บรักษาสมุดเช็คของโจทก์ไว้ผู้เดียว ซึ่งไม่ชอบด้วยข้อบังคับของโจทก์ที่ให้คณะกรรมการของโจทก์เก็บรักษาสมุดเช็คโจทก์ และการยอมให้กรรมการผู้มีอำนาจบางคนลงลายมือชื่อในเช็คไว้ล่วงหน้าทั้งการสั่งจ่ายเช็คพิพาทซึ่งเป็นเงินจำนวนมากกลับจ่ายเป็นเช็คผู้ถือ โดยไม่ระบุชื่อผู้รับเงินและไม่ขีดคร่อมเช็คตามข้อบังคับของโจทก์รวมทั้งไม่ตรวจสอบรายการเดินบัญชีกระแสรายวันที่จำเลยส่งให้ทราบทุกเดือน จนทำให้มีผู้นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินจากบัญชีโจทก์ถึง 44 ฉบับ ในช่วงระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่า โจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายไม่ยิ่งหย่อนกว่าจำเลยด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2065/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระหน้าที่ผู้ประกอบการจัดสรรที่ดินต่อผู้บริโภค กรณีสร้างบ้านไม่ได้มาตรฐานและระดับที่ดินต่ำกว่าเกณฑ์
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เมื่อเดือนตุลาคม 2554 น้ำท่วมในโครงการและท่วมเข้ามาในบ้านโจทก์เนื่องจากจำเลยทั้งสองปรับปรุงระดับพื้นดินต่ำเป็นแอ่งกระทะไม่เรียบเสมอกัน ระดับพื้นบ้านชั้นล่างของโจทก์ไม่ได้มีระดับสูงกว่าถนนหน้าโครงการ 0.60 เมตร ตามที่ได้ยื่นขออนุญาตจัดสรร เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองให้การว่า บ้านโจทก์ไม่ได้เกิดความเสียหายจากการก่อสร้าง โครงสร้างโดยรวมของบ้านยังมั่นคงแข็งแรงและย่อมมีการเสื่อมสภาพไปตามสิ่งแวดล้อม กาลเวลาและการใช้งานตามสมควร ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ้านเกิดจากช่วงเดือนตุลาคม 2554 เกิดอุทกภัยครั้งร้ายแรง ความเสียหายไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง จากคำฟ้องและคำให้การของจำเลยทั้งสองในเบื้องต้นย่อมเข้าใจว่า หากจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการถมที่ดินให้มีความสูงไม่ต่ำกว่าถนนสาธารณะหน้าโครงการจัดสรรที่ดินตามที่ได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินแล้ว เมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมโจทก์จะไม่ได้รับความเสียหาย หรือหากได้รับความเสียหายก็จะเกิดความเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อจำเลยทั้งสองอ้างว่า จำเลยที่ 2 ได้ดำเนินการถมที่ดินตามที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินแล้ว ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่า สภาพทางธรณีวิทยาของที่ดินของพื้นที่ก่อสร้างในขณะทำการก่อสร้างจะมีอยู่อย่างไร จะก่อให้เกิดการทรุดตัวในปริมาณสูงหรือไม่ จำเลยที่ 2 ทำการปรับถมดินไม่ต่ำกว่าถนนสาธารณะหน้าโครงการแล้วหรือไม่ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างและอยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยทั้งสองที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจตามความในมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวจึงตกอยู่แก่จำเลยทั้งสอง
ส่วนที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการลงโทษนั้น จำเลยทั้งสองเป็นผู้ประกอบธุรกิจค้าที่ดิน ทำการจัดสรรที่ดินและบ้านเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย โดยที่ดินและบ้านในโครงการของจำเลยทั้งสองมีราคาสูง แต่จำเลยทั้งสองถมดินปรับระดับถนนในโครงการ และพื้นดินในโครงการ รวมถึงพื้นดินบริเวณบ้านโจทก์ มีระดับต่ำกว่าถนนสาธารณะหน้าโครงการ ไม่เป็นไปตามสัญญาจะซื้อจะขายที่จำเลยที่ 2 ทำกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้บริโภค พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่า จำเลยทั้งสองจงใจไม่ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายและคำขออนุญาตจัดสรรที่ดินและบ้านมาตั้งแต่แรก มีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม ทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายเพื่อประโยชน์ในทางการค้าโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น จึงสมควรบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเพื่อการลงโทษแก่โจทก์ครึ่งหนึ่งของความเสียหายที่โจทก์ได้รับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1539/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายทอดตลาดที่ไม่ชอบเนื่องจากข้อมูลทรัพย์ไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้ซื้อสำคัญผิดในสาระสำคัญของทรัพย์
ที่ตั้งจริงของทรัพย์อยู่ห่างจากที่ตั้งของทรัพย์ตามประกาศขายทอดตลาดเป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร และมีเนื้อที่เพียง 18 ไร่เศษ ทั้งเป็นที่ดินไม่มีทางเข้าออก การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 2 ระบุว่า เนื้อที่ 22 ไร่ 3 งาน 46 ตารางวา และมีแผนที่สังเขปแสดงสภาพที่ดินว่าด้านหนึ่งของที่ดินติดกับที่สาธารณะประโยชน์ของกรมทางหลวง ทั้งมีภาพถ่ายท้ายประกาศแสดงว่าเป็นที่ดินที่ใช้ทำการเกษตร โดยโจทก์เป็นผู้นำส่งภาพถ่ายและแผนที่ที่ตั้งทรัพย์ยืนยันว่าถูกต้องตรงกับทรัพย์ที่นำยึดทุกประการ เมื่อปรากฏว่าที่ดินมีเนื้อที่ต่างกันประมาณ 5 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 20 ของเนื้อที่จริง และมีที่ตั้งอยู่ห่างกัน 5 กิโลเมตร อันนับว่าที่ดินมีที่ตั้งและเนื้อที่ต่างจากที่ปรากฏในประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นอย่างมาก ดังนั้น แม้ประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะระบุว่า ผู้ซื้อทรัพย์มีหน้าที่ต้องตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ที่จะซื้อ และถือว่าผู้ซื้อทรัพย์ได้ทราบถึงสภาพทรัพย์โดยละเอียดครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่เมื่อการปิดประกาศขายทอดตลาด ณ ที่ตั้งทรัพย์ดังกล่าว เป็นการปิดประกาศ ณ สถานที่ที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง แม้ผู้ซื้อทรัพย์ไปตรวจดูที่ดินตามที่ระบุไว้ในแผนที่สังเขป ซึ่งไม่ใช่ที่ตั้งทรัพย์จริง ผู้ซื้อทรัพย์อาจไม่ทราบถึงความคลาดเคลื่อนดังกล่าว ดังนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะตรวจสอบที่ดินแปลงดังกล่าว และให้ข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริงก่อนจะประกาศขายทอดตลาด การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเพียงแนบแผนที่สังเขปดังกล่าว ย่อมทำให้ผู้ซื้อทรัพย์สำคัญผิดเกี่ยวกับสภาพของทรัพย์ที่จะขายทอดตลาด ซึ่งถือว่าเป็นข้อสาระสำคัญที่ทำให้ผู้ซื้อทรัพย์สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ การขายทอดตลาดดังกล่าวจึงเป็นไปโดยไม่ชอบ