คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 94

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 246 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 699/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมหลังศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เป็นโมฆะ ลาภมิควรได้ ผู้กู้และผู้รับเงินต้องคืน
โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ภายหลังที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 แล้ว จึงมิใช่กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องเข้าว่าคดีแพ่งอันเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาล ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 25 อีกทั้งการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ และทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินกับ ก. ภายหลังที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 แล้ว จึงเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพราะไม่ได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และ 24 การกู้เงินและการซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 หนี้ดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังที่ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ไม่อาจนำมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27, 91 และมาตรา 94 โจทก์ชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดต่อโจทก์โดยตรง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
เมื่อการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 จากโจทก์ รวมทั้งการซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับ ก. ได้กระทำขึ้นหลังจากจำเลยที่ 1 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไว้เด็ดขาดแล้ว การกู้ยืมและการซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่ขัดต่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และ 24 เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม และถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมให้นำบทบัญญัติเรื่องลาภมิควรได้มาใช้บังคับ ดังนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กู้จึงต้องรับผิดคืนเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่ ก. และชำระหนี้ให้จำเลยที่ 3 ไปแทน ก. ให้แก่โจทก์ทั้งหมด โดย ก. ซึ่งเป็นผู้ได้รับเงินที่โจทก์ชำระส่วนหนึ่งไปเป็นค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและได้รับประโยชน์โดยตรงจากการที่จำเลยที่ 3 ได้รับชำระหนี้และไถ่ถอนการจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ ต้องร่วมรับผิดในการคืนเงินแก่โจทก์ด้วย จำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ก. ต้องรับผิดเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ได้รับ สำหรับจำเลยที่ 3 แม้มีส่วนได้รับเงินจากโจทก์แต่ก็เป็นการได้รับเงินที่จ่ายเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 3 แทน ก. ตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่นิติกรรมที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำขึ้น จึงไม่ตกเป็นโมฆะ ทั้งเป็นการที่จำเลยที่ 3 ได้รับชำระหนี้ที่มีอยู่จริงไว้โดยสุจริต และได้ไถ่ถอนการจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ ก. ไปแล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดแก่โจทก์
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อโจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดตามฟ้องโจทก์ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8437/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับจำนอง, สิทธิเรียกร้องหนี้, เจตนาลวง, การกระทำโดยสุจริต, ข้อจำกัดดอกเบี้ย
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสอง ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ และตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ หนี้จำนองจึงเป็นทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์จำนอง โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองย่อมเป็นผู้มีทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์พิพาทชอบที่จะได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะโอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ โดยไม่จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 เนื่องจากโจทก์มิใช่เจ้าหนี้ไม่มีประกันแต่ประการใด แม้มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยภายหลังจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้รับการปลดจากการล้มละลาย และโจทก์เคยขอให้ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 4 ผู้เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามลำดับบังคับจำนองนำทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์พิพาท และจำเลยที่ 4 มีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องบังคับจำนองเอง และโจทก์มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ตามลำดับภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งดังกล่าว การบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์พิพาทก็หาจบสิ้นลงตั้งแต่ในกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายแล้วไม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองจากจำเลยที่ 3 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7223/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ค่าปรับนายประกันในคดีอาญา ยื่นคำขอรับชำระหนี้หลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และเกินกำหนดเวลา ย่อมไม่อาจรับชำระได้
มูลหนี้ที่จะนำมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้จะต้องเป็นหนี้เงินที่มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม ทั้งเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91 ประกอบมาตรา 94 สำหรับมูลหนี้ในคดีนี้คือมูลหนี้ตามสัญญาประกันที่ลูกหนี้ที่ 2 ได้ทำสัญญาประกันต่อศาลในการขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคดีอาญาของศาลแขวงธนบุรี ในวงเงินประกัน 330,000 บาท โดยมีที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นหลักประกัน ต่อมาปรากฏว่าเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2549 ลูกหนี้ที่ 2 ไม่ส่งตัวจำเลยมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษาศาลฎีกาตามกำหนดนัดซึ่งถือว่าลูกหนี้ที่ 2 ผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลแขวงธนบุรีมีคำสั่งปรับเงินลูกหนี้ที่ 2 เต็มตามสัญญาประกัน มูลแห่งหนี้เงินจึงเกิดขึ้นในวันดังกล่าวภายหลังจากวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 2 เด็ดขาดแล้วเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 และมิใช่กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แพ้คดีในคดีที่เข้าว่าคดีแพ่งอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ที่เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้นับจากวันคดีถึงที่สุดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 25 ประกอบมาตรา 93 ดังนี้ เมื่อเจ้าหนี้นำมูลหนี้ค่าปรับนายประกันในคดีอาญาของศาลแขวงธนบุรีมายื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อพ้นกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ทั้งหนี้เงินดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 2 เด็ดขาด ย่อมต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 91 ประกอบมาตรา 94
แม้ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีการแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคสอง โดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2558 ก็ตาม ก็เป็นบทบัญญัติในส่วนการบังคับหลักประกันที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งเจ้าหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องว่ากล่าวกันต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5252/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าปรับคดีอาญาไม่เป็นหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ศาลและอัยการมีอำนาจบังคับคดีได้โดยไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้
การบังคับโทษปรับเป็นการใช้อำนาจรัฐเกี่ยวกับการลงโทษทางอาญาแก่จำเลยที่ 1 เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วเป็นอำนาจของศาลที่จะบังคับโทษปรับแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องในฐานะพนักงานอัยการมีอำนาจบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับเต็มจำนวนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา
การที่จำเลยที่ 1 ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และบรรดาเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 จะต้องขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ต่อผู้คัดค้านตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2583 มาตรา 27, 91 วรรคหนึ่ง และมาตรา 94 แต่คดีนี้ศาลและผู้ร้องมิใช่เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 อีกทั้งค่าปรับก็มิใช่หนี้ตามที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย แต่การชำระเงินค่าปรับหรือการบังคับโทษปรับเป็นการใช้อำนาจรัฐเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยศาลและพนักงานอัยการเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 29 โดยไม่จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้คัดค้านเช่นเดียวกับหนี้เงินในคดีแพ่ง มิฉะนั้นแล้วการลงโทษทางอาญาจะไม่ต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะกฎหมายอาญาจัดเป็นกฎหมายมหาชนว่าด้วยความผิดและโทษทางอาญาเป็นบทบัญญัติถึงความเกี่ยวพันระหว่างเอกชนกับรัฐ ทั้งการกระทำความผิดนั้นยังได้ชื่อว่ากระทบกระเทือนต่อมหาชนเป็นส่วนรวม จึงไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติล้มละลายซึ่งผู้ร้องจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15320/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลย สิทธิในการดำเนินคดีและข้อจำกัดตามกฎหมายล้มละลาย
หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและบ้านพิพาทของโจทก์และเรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์ไม่อาจนำที่ดินและบ้านพิพาทออกให้เช่าซึ่งจะได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 60,000 บาท คิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 เดือน เป็นเงิน 60,000 บาท พร้อมทั้งค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 60,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า สัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาต่อโจทก์ ขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนสิทธิการเช่าที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลย ดังนี้ คดีโจทก์ในส่วนที่ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและบ้านพิพาทอันเป็นทรัพย์สินของโจทก์ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยโดยตรง จึงไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะดำเนินคดีแทนจำเลยตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) จำเลยย่อมมีอำนาจต่อสู้คดีได้โดยลำพัง สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมานั้นโจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าเป็นค่าเสียหายนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 พร้อมทั้งค่าเสียหายนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท เมื่อปรากฏว่าศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2554 ค่าเสียหายดังกล่าวจึงเป็นมูลหนี้อันเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่เกิดขึ้นภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์ไม่อาจนำมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 27, 91 และ 94 โจทก์ชอบที่จะฟ้องจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ในคดีล้มละลายได้โดยตรง ไม่อาจฟ้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นจำเลยแทนลูกหนี้หรือเข้าดำเนินคดีนี้แทนลูกหนี้ จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ด้วยตนเอง แต่ในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยนั้น เป็นการขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนสิทธิการเช่าที่ดินและบ้านพิพาทตามสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาอันเป็นประโยชน์ในทางทรัพย์สินของจำเลย กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยใช้สิทธิฟ้องร้องเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยระหว่างจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 22 (3) ที่ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งและพิพากษาตามฟ้องแย้งจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15320/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีล้มละลาย: สิทธิในการฟ้องร้องของลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้การพิทักษ์ทรัพย์ และข้อจำกัดในการดำเนินคดี
หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2554 แล้ว โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและบ้านพิพาทของโจทก์และเรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์ไม่อาจนำที่ดินและบ้านพิพาทออกให้เช่าซึ่งจะได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 60,000 บาท คิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 เดือน เป็นเงิน 60,000 บาท พร้อมทั้งค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 60,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า สัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาต่อโจทก์ ขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนสิทธิการเช่าที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลย ดังนี้คดีโจทก์ในส่วนที่ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและบ้านพิพาทอันเป็นทรัพย์สินของโจทก์ ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยโดยตรงจึงไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะดำเนินคดีแทนจำเลยตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) จำเลยย่อมมีอำนาจต่อสู้คดีได้โดยลำพัง สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมานั้นโจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าเป็นค่าเสียหายนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 พร้อมทั้งค่าเสียหายนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท เมื่อปรากฏว่าศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2554 ค่าเสียหายดังกล่าวจึงเป็นมูลหนี้อันเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่เกิดขึ้นภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์ไม่อาจนำมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 27, 91 และ 94 โจทก์ชอบที่จะฟ้องจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ในคดีล้มละลายไม่อาจฟ้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นจำเลยแทนลูกหนี้หรือเข้าดำเนินคดีนี้แทนลูกหนี้ จำเลยย่อมมีอำนาจต่อสู้คดีได้โดยลำพังทั้งมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ด้วยตนเอง แต่ในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยนั้น เป็นการขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนสิทธิการเช่าที่ดินและบ้านพิพาทตามสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาอันเป็นประโยชน์ในทางทรัพย์สินของจำเลย กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยใช้สิทธิฟ้องร้องเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยระหว่างจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 22 (3) ที่ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งและพิพากษาตามฟ้องแย้งจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15283/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการคุ้มครองทรัพย์สินในคดีล้มละลาย: ผลกระทบต่อสิทธิของเจ้าหนี้และผู้คัดค้าน
แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีนี้ยังคงมีผลผูกพันโจทก์และผู้คัดค้านอยู่ก็ตาม แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด อำนาจในการจัดการกิจการและรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ย่อมตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 โจทก์จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27, 91 และ 94 ข้อเท็จจริงได้ความว่าศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.606/2556 แม้คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้แจ้งอายัดเงินค่าจ้างแปรสภาพหัวมันสำปะหลังไปยังผู้คัดค้านไว้ก่อนแล้วก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านยังไม่ได้ส่งเงินตามที่อายัดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี ย่อมถือไม่ได้ว่าการบังคับคดีสำเร็จบริบูรณ์ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ การบังคับคดีโดยการอายัดเงินดังกล่าวไม่อาจใช้ยันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 110 การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้งดการพิจารณาและจำหน่ายคดีนี้ตามมาตรา 25 จึงเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะได้ใช้อำนาจว่ากล่าวเอาความจากผู้คัดค้านต่อไปตามที่ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ให้อำนาจไว้ กรณีจึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลฎีกาจะพิจารณาฎีกาของผู้คัดค้านอีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15145/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย: ข้อจำกัดหนี้ที่เกิดขึ้นหลังมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
เมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อเนื่องจากลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้คงมีสิทธิริบบรรดาเงินค่าเช่าซื้อที่ลูกหนี้ได้ชำระไปแล้ว และกลับเข้าครอบครองรถที่เช่าซื้อ โดยลูกหนี้มีหน้าที่ส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าหนี้ในสภาพเรียบร้อยและใช้การได้ดี หากไม่คืนเจ้าหนี้ย่อมได้รับความเสียหายเพราะขาดประโยชน์เนื่องจากไม่ได้รับรถที่เช่าซื้อคืน เจ้าหนี้ไม่อาจเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระค่าปรับเพราะเหตุที่ลูกหนี้ชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าก่อนสัญญาเช่าซื้อเลิกกันได้อีก แต่เนื่องจากหนี้ที่เจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้นั้น ต้องเป็นหนี้เงินซึ่งมูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 การที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดโดยอ้างว่าเป็นค่าขาดราคารถ (ที่ถูก ค่าขาดประโยชน์) จึงเป็นการขอรับชำระหนี้ค่าเสียหายเพราะลูกหนี้ไม่ส่งมอบรถคืนแก่เจ้าหนี้อันถือได้ว่ามูลหนี้เกิดขึ้นภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามบทบัญญัติดังกล่าว สำหรับสิทธิของเจ้าหนี้ในการติดตามเอารถคืนจากลูกหนี้มิใช่หนี้เงินอันพึงขอรับชำระหนี้ได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 และมาตรา 91 ส่วนคำขอรับชำระหนี้กรณีหากคืนรถไม่ได้เจ้าหนี้เรียกร้องให้ลูกหนี้ชดใช้ราคาแทนเท่าจำนวนเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อนั้น ก็เกิดขึ้นภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด มิใช่หนี้อันพึงขอรับชำระในคดีล้มละลายได้เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12931/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย การหักหนี้ที่ได้รับชำระแล้วในชั้น ปรส. และข้อยกเว้นดอกเบี้ยตาม พรบ.ปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศหรือบรรษัทการเงินระหว่างประเทศหรือ International Finance Corporation หรือ IFC เป็นทบวงการชำนัญพิเศษ (Specialized Agencies) แห่งสหประชาชาติ และ พ.ร.ฎ.ระบุทบวงการชำนัญพิเศษ พ.ศ.2504 มาตรา 3 (4) ซึ่ง พ.ร.บ.คุ้มครองการดำเนินงานของสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษในประเทศไทย พ.ศ.2504 มาตรา 5 (1) ได้บัญญัติว่า "...ทบวงการชำนัญพิเศษนั้น ๆ เป็นนิติบุคคลและให้ถือว่ามีภูมิลำเนาในประเทศไทย..." ดังนั้น เจ้าหนี้จึงเป็นนิติบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในประเทศไทย ไม่ใช่เจ้าหนี้ต่างประเทศซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าหนี้จึงไม่จำต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 178 กำหนด
ในการขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 นั้น นอกจากเจ้าหนี้มีหน้าที่ต้องนำพยานมาแสดงให้เห็นว่าหนี้ที่ขอรับชำระเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงแล้ว จะต้องแสดงว่าลูกหนี้ต้องรับผิดใช้หนี้ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10207/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ค่าปรับจากการผิดสัญญาประกันหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ไม่สามารถนำมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้
เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 มาตรา 91 และมาตรา 94 นั้น ต้องเป็นเจ้าหนี้ในหนี้เงินที่มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม ผู้ร้องขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ที่ลูกหนี้ทำสัญญาประกันการปล่อยชั่วคราวจำเลยในคดีอาญา ซึ่งมีวัตถุแห่งหนี้เป็นกรณีให้ลูกหนี้กระทำการคือให้ลูกหนี้ผู้ประกันนำตัวจำเลยในคดีอาญามาศาลตามนัดหรือหมายเรียกของศาลแขวงชลบุรี และเมื่อลูกหนี้ยังมิได้ผิดสัญญาที่ต้องกระทำการดังกล่าว ลูกหนี้ก็ไม่มีความรับผิดใช้เงินค่าปรับตามที่ศาลมีอำนาจบังคับตามสัญญา หนี้ตามสัญญาประกันในส่วนที่ให้ลูกหนี้กระทำการและยังมิได้ผิดสัญญาจึงมิใช่หนี้เงินที่ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย เมื่อต่อมาหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ลูกหนี้ผิดสัญญาประกันและศาลแขวงชลบุรีมีคำสั่งปรับลูกหนี้ ถือว่ามูลหนี้ค่าปรับซึ่งเป็นหนี้เงินที่ลูกหนี้จะต้องชำระตามสัญญาประกันเกิดขึ้นเมื่อศาลมีคำสั่งปรับ แต่เป็นหนี้ที่มิได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ไม่อาจนำหนี้ค่าปรับมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ แม้ผู้ร้องจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในหนี้ค่าปรับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคสอง แต่ผู้ร้องก็ยังไม่อาจบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้จนกว่าลูกหนี้จะพ้นจากการล้มละลายแล้ว เพราะเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว อำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้
of 25