คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 46

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 772 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3390/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: คดีแพ่งอ้างเหตุฉ้อโกงที่ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องแล้ว ถือเป็นการรื้อฟ้องประเด็นเดิมที่เคยวินิจฉัยแล้ว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองสบคบกันหลอกลวงโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาเสนอขายฝากโจทก์ โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาขายฝากในราคา 1,500,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองกลับทำสัญญาและจดทะเบียนขายฝากในราคาเพียง 500,000 บาท แล้วหลอกลวงโจทก์ว่าทำสัญญาและจดทะเบียนขายฝากในราคา 1,500,000 บาท โจทก์หลงเชื่อมอบเงินให้จำเลยทั้งสองไป 1,500,000 บาท โจทก์ร้องทุกข์ดำเนินคดีจำเลยทั้งสองในความผิดฐานฉ้อโกง พนักงานอัยการฟ้องจำเลยทั้งสองและมีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินที่ฉ้อโกง โจทก์เข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญา ต่อมาคดีอาญาดังกล่าวศาลชั้นต้นเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดจริงหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยทั้งสองและพิพากษายกฟ้อง เท่ากับว่าได้มีการวินิจฉัยข้อเท็จจริงซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีแล้วว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเห็นว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง และในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งซึ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญา จึงเท่ากับยกฟ้องคดีในส่วนแพ่งไปแล้วด้วย ข้อเท็จจริงในคดีอาญานั้นจึงผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องคดีนี้กล่าวอ้างถึงคดีอาญาดังกล่าวไว้ชัดเจน และขอติดตามเอาทรัพย์คืน 1,000,000 บาท ปัญหาว่าจำเลยที่ 2 ได้รับเงิน 1,000,000 บาท ไปจากโจทก์หรือไม่ จึงเป็นประเด็นเดียวกับคดีอาญาดังกล่าว ที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องจำเลยทั้งสองในประเด็นที่ศาลในคดีอาญาได้วินิจฉัยมาแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8722/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดิน, ละเมิด, ค่าเสียหายจากการรื้อถอนและขาดประโยชน์จากทรัพย์สิน, อายุความฟ้องคดี
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยทั้งสามบุกรุกเข้าไปล้อมรั้วและรื้อบ้านของโจทก์ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท โจทก์ห้ามปรามแล้วแต่จำเลยทั้งสามไม่ฟัง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์และให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยทั้งสามให้การว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นของ ช. เป็นของจำเลยที่ 3 โดยซื้อมาจาก ช. ตามคำให้การของจำเลยทั้งสามจึงไม่มีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ จึงไม่มีการอ้างสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น การที่จำเลยทั้งสามยกเหตุเป็นข้อต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองเกิน 1 ปี หรือไม่
การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามโดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปในเขตที่ดินและรื้อบ้านพิพาทกับตัดโค่นทำลายพืชผลอาสินของโจทก์ที่ปลูกไว้รอบบ้านแล้วล้อมรั้วรอบเขตที่ดินและบ้านพิพาทไม่ให้โจทก์และครอบครัวอยู่อาศัยใช้ประโยชน์ในที่ดินและบ้านพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์ เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำผิดทางอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์กับความผิดทางแพ่งฐานละเมิดรวมกันมา โจทก์จึงอาศัยมูลคดีอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดทางแพ่งฐานละเมิดได้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และการที่โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์แล้วถอนฟ้องไปก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ ซึ่งมีผลให้คู่ความกลับสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องทางอาญาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 จึงไม่มีคดีอาญาค้างพิจารณาอยู่ในศาลและศาลยังมิได้มีคำพิพากษาในส่วนอาญา เมื่อมูลคดีนี้ถือว่ายังไม่มีผู้ใดฟ้องจำเลยทั้งสามทางอาญา สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่จะฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดทางอาญาย่อมต้องบังคับตามกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง
เมื่อความผิดทางอาญาที่โจทก์บรรยายฟ้องมาเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทและความผิดฐานบุกรุกที่ได้ร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปมีกำหนดโทษจำคุกสูงที่สุดไม่เกิน 5 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) อายุความฟ้องคดีอาญาจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) จึงต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดบังคับแก่คดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 90 และเมื่อคำนวณนับแต่วันกระทำผิดถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
กรณีไม่มีการฟ้องคดีอาญาย่อมไม่มีข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาอันถึงที่สุดที่จะให้นำไปถือตามในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งคดีนี้จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดทางอาญาหรือไม่ และในการพิพากษาคดี ข้อความรับผิดเพื่อละเมิดและกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้น ศาลไม่จำต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะอาญาอันว่าด้วยการที่จะต้องรับโทษ และไม่จำต้องพิเคราะห์ถึงการที่ผู้กระทำผิดต้องคำพิพากษาลงโทษทางอาญาหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง และ ป.พ.พ. มาตรา 424
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามสามารถอ้างสิทธิใดๆ ที่จะก้าวล่วงเข้าไปในเขตที่ดินและบ้านพิพาทเพื่อกระทำการใดอันเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิเหนือทรัพย์สินดังกล่าวของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ การที่จำเลยทั้งสามยอมรับตามฟ้องว่า ได้เข้าไปในเขตที่ดินและรื้อบ้านพิพาทแล้วล้อมรั้วที่ดินพิพาทไม่ให้โจทก์และครอบครัวอยู่อาศัย ใช้ประโยชน์จากผลผลิตที่จะได้จากยางพาราและปาล์มซึ่งโจทก์ปลูกไว้ในเขตที่ดินและบ้านพิพาท การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการจงใจกระทำการโดยไม่สุจริต ทั้งส่งผลโดยตรงให้ทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหายและไม่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น อันเป็นความผิดฐานละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8516/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อนุญาโตตุลาการมีอำนาจพิจารณาคดีได้ แม้คดีอาญาและแพ่งยังไม่สิ้นสุด ศาลไม่เพิกถอนคำชี้ขาด
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 45 บัญญัติว่า "คดีเรื่องใดถึงแม้ว่าได้ฟ้องในทางอาญาแล้ว ก็ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะฟ้องในทางแพ่งอีก" แม้มาตรา 46 บัญญัติว่า "ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา" อย่างไรก็ดี หากผลคดีอาญายังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเป็นประการใด ศาลในคดีส่วนแพ่งย่อมมีดุลพินิจดำเนินการะบวนพิจารณาและพิพากษาไปได้ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนโดยไม่ต้องรอคำพิพากษาคดีส่วนอาญา การใช้ดุลพินิจดังกล่าวไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ส่วนคดีแพ่งที่ น. ฟ้องผู้กระทำละเมิดและนายจ้างเรียกค่าสินไหมทดแทนนั้น ผลแห่งคดีจะเป็นอย่างไรย่อมไม่ผูกพันผู้คัดค้านคดีนี้เพราะไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว คำร้องของผู้ร้องเป็นการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจของอนุญาโตตุลาการ การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ข้ออุทธรณ์ประการอื่นที่ว่า อนุญาโตตุลาการไต่สวนพยานผู้คัดค้านเพียงปากเดียว ไม่ไต่สวนพยานอื่น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานและวินิจฉัยข้อเท็จจริงเช่นกัน ซึ่งไม่เป็นเหตุที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7386/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนใบแทนโฉนดและนิติกรรมซื้อขายที่ดิน กรณีเจ้าของทรัพย์ติดตามเอาทรัพย์คืนจากผู้รับโอน
ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาที่ถึงที่สุดแม้จะไม่ได้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมเนื่องจากฟังได้ว่าลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์ แต่ทางพิจารณากลับได้ความว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันนำหนังสือมอบอำนาจที่มีลายมือชื่อโจทก์และข้อความซึ่งไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ไปใช้อ้างแสดงซึ่งอาจเป็นการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารโดยการปลอมข้อความตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคสอง ได้ แต่เหตุที่ไม่ได้ลงโทษในความผิดฐานนี้เพราะข้อเท็จจริงที่ได้ในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงในคำฟ้อง ศาลจึงไม่อาจลงโทษในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง มิใช่ว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้เสียทีเดียวว่าไม่มีการปลอมเอกสาร ทั้งยังได้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ โดยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยที่ 1 ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อว่าโฉนดได้สูญหายไปจริง จึงออกใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ใช้ใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นหลักฐานในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 2 แปลงจากของโจทก์เป็นของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แก่บุคคลอื่นไปอีกทอดหนึ่ง ดังนี้ การออกใบแทนโฉนดที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดินจึงเป็นไปโดยผิดหลงเนื่องจากหลงเชื่อการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยที่ 1 และเมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีรับฟังได้ว่า โฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง ดังกล่าว อยู่ในความยึดถือครอบครองของโจทก์มาโดยตลอดและไม่ได้สูญหายไป ใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับที่จำเลยที่ 1 นำไปใช้จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์จึงเป็นใบแทนโฉนดที่ดินที่ออกมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และมีเหตุให้ต้องเพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2489/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา: ที่ดินเป็นสินส่วนตัวหรือไม่ การถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอาญา
คดีแพ่งเรื่องใดจะเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าความผิดในคดีแพ่งต้องอาศัยมูลมาจากการกระทำความผิดในทางอาญาหรือไม่ ถ้าต้องอาศัยก็เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทโดยตรง เป็นประเด็นเดียวกันว่าที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงเป็นสินส่วนตัวของ ก. หรือเป็นสินสมรสระหว่าง ก. กับพันเอก ก. ดังนี้ เมื่อคำพิพากษาคดีอาญาถึงที่สุด ประเด็นข้อพิพาทคดีนี้เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาโดยคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวได้วินิจฉัยโดยชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงเป็นสินส่วนตัวของ ก. และคู่ความในคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีนี้จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ปัญหาดังกล่าวแม้ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทและศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้วินิจฉัยทั้ง ๆ ที่โจทก์บรรยายฟ้อง และคู่ความนำสืบกับจำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งเจ็ดย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในฎีกาซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งใช้ขณะยื่นฟ้อง ดังนั้น เมื่อที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงเป็นสินส่วนตัวของ ก. แม้ต่อมาพันเอก ก. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงก็ไม่มีส่วนใดเป็นทรัพย์มรดกของพันเอก ก. ซึ่งตกทอดแก่โจทก์ การที่ ก. ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแต่ละแปลงให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน และจำเลยที่ 4 ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทบางแปลงที่ตนได้รับให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนเช่นกัน จึงเป็นสิทธิโดยชอบของ ก. และจำเลยที่ 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1285/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำร้ายร่างกายโดยบันดาลโทสะ การรอการลงโทษ และสิทธิการเรียกร้องค่าเสียหายของผู้เสียหาย
การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ มิใช่เป็นคดีที่ผู้เสียหายฟ้องเองโดยตรง จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่ผู้เสียหายเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ทั้งการพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา ฉะนั้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาในคดีส่วนแพ่งจึงเป็นการไม่ชอบ จึงให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวเสียและมีคำสั่งใหม่เป็นรับฎีกาในคดีส่วนแพ่งของจำเลยที่ว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยไว้พิจารณาและเมื่อสำนวนขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนลงไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ผู้ร้องแก้ฎีกาก่อน โดยเห็นว่าการพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในคดีอาญา เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมาบังคับใช้ และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 ใช้ไม้ตีจำเลยบริเวณท้ายทอยแล้วผู้ร้องเข้าไปช่วยเหลือผู้เสียหายที่ 1 โดยเข้าห้ามมิให้จำเลยใช้มีดฟันแทงผู้เสียหายที่ 1 ขณะผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ 2 เข้าแย่งและปัดมีดจากมือจำเลย ทำให้มีดพลาดแทงถูกบริเวณท้องด้านซ้ายของผู้ร้อง มีดปักคาอยู่ พฤติการณ์แห่งคดีถือไม่ได้ว่าผู้ร้องมีส่วนร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 ข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมแก่จำเลยด้วยการใช้ไม้ตีจำเลยที่บริเวณท้ายทอย ผู้ร้องจึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ เมื่อผู้ร้องได้มีส่วนทำความผิดก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดจำนวนค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8748/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟอกเงินจากค้ายาเสพติด: สันนิษฐานว่าทรัพย์สินเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดและต้องพิสูจน์ความสุจริต
แม้ว่าคดีหมายเลขแดงที่ 10521/2542 ของศาลอาญา ซึ่งผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2541 ว่าผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกอีก 1 คน ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 50,000 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 ในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และคดีหมายเลขดำที่ ย.5547/2546 คดีหมายเลขแดงที่ ย.3553/2548 ของศาลอาญา ซึ่งผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 ว่าสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและร่วมกันฟอกเงิน ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนให้ยกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้วก็ตาม แต่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน ซึ่งมีทั้งโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน โดยมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินดังกล่าว มิใช่ความรับผิดทางแพ่งตามความหมายของคำว่า "การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง" ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพียงแต่ในการพิจารณาและพิพากษาคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คือให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่านั้น ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าผู้คัดค้านหรือจำเลยในคดีอาญาจะได้กระทำความผิดดังที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างในฎีกาหรือศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยในคดีอาญาหรือไม่ คดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามความหมายของ ป.วิ.อ. มาตรา 46
เมื่อปรากฏว่าคดีที่ ว. กับพวกถูกฟ้องข้อหามียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลอาญาธนบุรีมีคำพิพากษาลงโทษ ว. โดยให้ประหารชีวิต ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 8870/2546 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับ ว. แต่ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาแก้ ให้ลงโทษ ว. โดยให้ประหารชีวิต ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20063/2555 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวว่า ว. กับพวกร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 500,000 เม็ด น้ำหนัก 46,284.590 กรัม คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธ์ได้ 10,685.239 กรัม และร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนลักษณะเป็นผงสีส้มจำนวน 1 ซอง น้ำหนัก 2.280 กรัม คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ได้ 0.739 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ว. จึงเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (1) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เมื่อพิจารณาประกอบกับพฤติการณ์การปิดบังซ่อนเร้นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งนำเงินไปฝากไว้ที่ธนาคารในนามของผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 หรือการนำทองคำแท่งไปฝังไว้ในสนามหญ้าหน้าบ้าน อันเป็นการผิดปกติวิสัยของบุคคลทั่วไป ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่า ผู้คัดค้านที่ 1 มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ โดยเป็นผู้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน มาตั้งแต่ปี 2541 ถึง 2546 และผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านที่ 1 ผู้กระทำความผิดมูลฐาน
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อปี 2541 ผู้คัดค้านที่ 1 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมข้อหามียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ขณะถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีในเรือนจำกลางคลองเปรม ผู้คัดค้านที่ 1 และ ว. ถูกคุมขังอยู่ด้วยกัน จึงมีความสนิทสนมและมีพฤติการณ์ค้าเมทแอมเฟตามีนร่วมกัน ต่อมา ว. พ้นโทษออกมาก่อน แต่ก็ยังมีการติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนเรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ 14 เมษายน 2546 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้คัดค้านที่ 1 โดยกล่าวหาว่าสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด มียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฟอกเงิน พร้อมทั้งยึดทรัพย์สินต่าง ๆ หลายรายการรวมทั้งทรัพย์สินตามคำร้องด้วย ซึ่งปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ดังนั้น ประเด็นว่าผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 หรือไม่ ย่อมเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงในการจับกุมผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2546 ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์นำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาพิจารณาวินิจฉัยด้วยจึงหาใช่เป็นการวินิจฉัยนอกคำร้องแต่อย่างใด
เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านที่ 1 ผู้กระทำความผิดมูลฐาน กรณีต้องบังคับตามมาตรา 51 ที่แก้ไขใหม่ แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 กล่าวคือ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ที่ถูกยึดไว้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 จึงมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8318/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่า: พยานหลักฐานหนักแน่น ศาลยืนตามอุทธรณ์และแก้ไขโทษจำคุก ส่วนค่าสินไหมทดแทนให้ร่วมรับผิด
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตาม ป.อ. มาตรา 295 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่กระทำต่อผู้เสียหายที่ 4 และยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ที่กระทำต่อผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ความผิดฐานนี้มีอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ตามฟ้อง เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ในฐานนี้ และศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์โดยพิพากษาแก้เป็นลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 4 ลงโทษจำเลยที่ 2, ที่ 3, ที่ 5, ที่ 6 และที่ 8 ว่ากระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 นั้นเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในส่วนนี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 อ. ก. ว. เป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า เห็นจำเลยคนนั้น คนนี้ โดยบรรยายการกระทำของจำเลยแต่ละคน ซึ่งเหตุการณ์กลุ่มนักเรียนวิ่งไล่รุมทำร้ายกันย่อมมีคนร้ายจำนวนมาก วิ่งไล่กันไปมา ประจักษ์พยานแต่ละคนอาจเห็นเหตุการณ์โดยเบิกความเท่าที่ตนเห็นไม่มีพิรุธหรือน่าสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งจำเลย และผู้เสียหายที่ 2 ยืนยันว่า จำเลยที่ 1 และที่ 5 อยู่ในกลุ่มคนร้าย ผู้เสียหายที่ 3 เห็นจำเลยที่ 5 ถืออาวุธมีดวิ่งมาพร้อมจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยบางคนแทงผู้ตายและผู้เสียหาย หากจำเลยที่ 5 ไม่มีเจตนาร่วมกับจำเลยอื่น ก็ไม่น่าจะวิ่งตามไป แม้จะมิได้ใช้อาวุธมีดฟันทำร้ายผู้ใดก็ตาม แต่ย่อมเล็งเห็นได้ว่า พวกอาจทำร้ายผู้อื่นได้ และหลบหนีไปด้วยกัน จำเลยที่ 5 จึงเป็นตัวการร่วมกับพวกในการฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1
เมื่อจำเลยที่ 1, ที่ 2, ที่ 3, ที่ 6 ถอนฎีกา จึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ร่วมกันกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1
ในส่วนของค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 3 และผู้ร้องที่ 1 จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 แม้ผู้ร้องที่ 3 และผู้ร้องที่ 1 มิได้อุทธรณ์ฎีกาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 รับผิดในส่วนแพ่ง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นไปตามผลแห่งคดีอาญาได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่วินิจฉัยให้ร่วมรับผิดนั้นไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7799-7800/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟอกเงิน: การพิสูจน์เจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริง และผลของการโอนกรรมสิทธิ์โดยมิชอบ
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การดำเนินการทางศาลตามหมวดนี้ ให้ยื่นต่อศาลแพ่งและให้นำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม" และวรรคสอง บัญญัติว่า "ในการนี้ให้พนักงานอัยการได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง" จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า ต้องนำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับแก่กรณีนี้รวมถึงหมวด 3 ว่าด้วยค่าฤชาธรรมเนียมด้วย ซึ่งในมาตรา 150 แห่ง ป.วิ.พ. บัญญัติให้ผู้อุทธรณ์เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ตามราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ที่ดินทั้งเก้าแปลงตกเป็นของแผ่นดิน ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้คืนที่ดินทั้งเก้าแปลงดังกล่าวแก่ผู้คัดค้าน อุทธรณ์ของผู้คัดค้านจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ผู้คัดค้านต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 150 ข้างต้น เพราะ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคสอง ยกเว้นให้เฉพาะพนักงานอัยการที่ไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม ส่วนผู้คัดค้านไม่ได้รับการยกเว้นด้วย คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ผู้คัดค้านเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์จึงชอบแล้ว
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน ซึ่งมีทั้งโทษอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน โดยมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินดังกล่าวมิใช่ความรับผิดทางแพ่งตามความหมายของคำว่า "การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง" ใน ป.วิ.อ. เพียงแต่ในการพิจารณาและพิพากษาคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 59 แพ่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว คือให้นำ ป.วิ.พ. มาใช้โดยอนุโลมเท่านั้น ทั้งนี้โดยไม่คำนึงว่าผู้คัดค้านหรือจำเลยในคดีอาญาจะได้กระทำความผิดหรือศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยในคดีอาญาหรือไม่ คดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามความหมายของ ป.วิ.อ. มาตรา 46

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7403/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลคำพิพากษาคดีอาญาถึงที่สุดมีผลผูกพันคดีแพ่งที่เกี่ยวข้อง การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
คดีนี้ ในส่วนอาญา ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์มิได้ฎีกา ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายมิได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ อันจะใช้สิทธิฎีกาในคดีส่วนอาญาดังกล่าวได้ คดีส่วนอาญาย่อมยุติและถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลชั้นอุทธรณ์จึงถือได้ว่า จำเลยมิได้ร่วมกระทำความผิดกับพวก แม้คดีส่วนแพ่งของผู้ร้องจะมีทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาเกินสองแสนบาท และไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญารับฟังเป็นยุติแล้วว่า จำเลยมิได้ร่วมกระทำความผิด ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ข้อเท็จจริงในส่วนคดีแพ่งจึงต้องฟังว่า จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อผู้ตายอันจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหาย
of 78