คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 46

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 772 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6729/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาล, การให้สัตยาบันการผิดระเบียบ, และความรับผิดร่วมในคดีละเมิด
จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะโดยประมาทพยายามแซงรถยนต์บรรทุกพ่วงที่จำเลยที่ 3 ขับ แต่จำเลยที่ 3 ก็ขับในลักษณะไม่ยอมให้แซง จึงเป็นเหตุให้รถยนต์กระบะและรถยนต์บรรทุกพ่วงแล่นตีคู่กันไปข้างหน้าด้วยความเร็วโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของรถที่แล่นสวนมาในช่องเดินรถฝั่งตรงข้าม เมื่อโจทก์ที่ 2 ขับรถยนต์แล่นสวนทางมา รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขับเฉี่ยวชนกันแล้วเสียหลักไปชนกับรถยนต์ที่โจทก์ที่ 2 ขับ ดังนี้ จำเลยที่ 3 มีส่วนประมาททำให้เกิดเหตุในคดีนี้ไม่ยิ่งหย่อนกว่าจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีส่วนประมาททำให้เกิดความเสียหายอันเดียวกันจึงพิพากษาให้ร่วมกันรับผิดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 438
คำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ใช้บังคับเฉพาะคู่ความในคดีอาญาเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 3 มิได้ถูกฟ้องคดีอาญาจึงไม่อาจนำข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญามาฟังเป็นยุติในคดีส่วนแพ่ง
ค่าโลงศพเป็นสิ่งจำเป็นในการจัดงานศพ ส่วนอาหารก็เป็นเรื่องจำเป็นที่เจ้าภาพต้องจัดเตรียมไว้จึงไม่ใช่ค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคหนึ่ง
โจทก์ทั้งสี่ต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวของแต่ละคนฟ้องจำเลยทั้งหกให้รับผิดฐานละเมิดมาในคดีเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่หนี้ร่วมที่ไม่อาจแบ่งแยกกันได้ การคิดทุนทรัพย์ต้องแยกของโจทก์แต่ละคน เมื่อจำนวนเงินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องไม่เกิน 300,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา การที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยารับคดีไว้พิจารณาพิพากษาจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ คู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจยกกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นขึ้นว่ากล่าวได้ในเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้าง และต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากได้ทราบเรื่องผิดระเบียบแล้ว หรือมิได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 คดีนี้ โจทก์ทั้งสี่ยื่นฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งไม่มีอำนาจที่จะรับฟ้องไว้พิจารณา แต่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 กลับยินยอมให้ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาดำเนินกระบวนพิจารณา โดยสืบพยานโจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งหกจนทั้งสองฝ่ายแถลงหมดพยานและศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพิพากษาคดีแล้ว เท่ากับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ยอมปฏิบัติตามที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาดำเนินกระบวนพิจารณาจนเสร็จสิ้นอันเป็นการให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้นแล้ว จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จึงไม่อาจยกการผิดระเบียบดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างได้
อนึ่ง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้โจทก์แต่ละคนได้รับค่าสินไหมทดแทนแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 415,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ โดยให้จำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นเงิน 250,348 บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยมิได้แยกเป็นความรับผิดต่อโจทก์แต่ละคน ทั้งให้จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยของจำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนนั้น ไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5677/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวินิจฉัยคดีอาญาต้องใช้ดุลพินิจตามพยานหลักฐานในสำนวน ไม่ยึดข้อเท็จจริงจากคดีก่อน และความผิดฐานเบิกความเท็จ
ในการพิพากษาคดีอาญาหาได้มีบทบัญญัติของกฎหมาย ให้ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาในคดีอื่นดังเช่นที่บัญญัติไว้สำหรับคดีแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ไม่ แม้โจทก์ทั้งสามกับบริษัท ส. ซึ่งมีจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการ จะเป็นคู่ความเดียวกันและพยานหลักฐานของจำเลยจะเป็นชุดเดียวกันกับจำเลยเคยอ้างและนำสืบในคดีอาญาก่อนมาแล้วก็ตาม เพราะในคดีอาญาศาลจะต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง จะไม่พิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยคดีนี้โดยฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาญาก่อนซึ่งถึงที่สุด โดยมิได้วินิจฉัยตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนคดีนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ เป็นการขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (5) และมาตรา 227 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5249/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางแพ่งจากอุบัติเหตุทางรถยนต์: ผลผูกพันจากคำพิพากษาคดีอาญาและหลักประมาท
คดีนี้โจทก์เป็นมารดาของผู้ตายในคดีอาญาจึงต้องถือว่าพนักงานอัยการได้ดำเนินคดีอาญาแทนโจทก์ ข้อเท็จจริงในคดีอาญาย่อมมีผลผูกพันโจทก์ด้วย เมื่อคดีอาญาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาโดยเห็นว่า ผู้ตายเป็นฝ่ายก่อเหตุและมีส่วนประมาทมากกว่า คู่ความไม่ฎีกา คดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น คดีนี้ซึ่งเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ยุติในคดีอาญาว่าผู้ตายมีส่วนประมาทมากกว่าจำเลยที่ 1 และตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 มีส่วนประมาท การที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมากน้อยเพียงใดต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ เมื่อผู้ตายมีส่วนประมาทมากกว่าจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะฟ้องให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายผิดน้อยกว่าให้รับผิดในความเสียหายได้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4928/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวินิจฉัยสถานะผู้เสียหายในคดีอาญา: การพิจารณาจากพฤติการณ์การทะเลาะวิวาทและผลกระทบต่อสิทธิการเรียกร้องค่าสินไหม
ในการพิพากษาคดีอาญา หาได้มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาคดีอื่น เพราะคดีอาญาโจทก์ต้องมีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงที่กล่าวหานั้น จึงจะฟังลงโทษจำเลยได้ ข้อเท็จจริงในคดีอาญาจะมีผลผูกพันคดีอื่นได้ก็เฉพาะที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 46 เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นอื่นไม่ผูกพันในคดีนี้ ศาลก็ย่อมวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีนี้ตามที่ปรากฏในสำนวน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาของศาลชั้นต้นอื่นแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 สมัครใจทะเลาะวิวาทกัน โจทก์ร่วมทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1729/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชดใช้ค่าเสียหายจากการเลือกตั้งใหม่: ต้องพิสูจน์การกระทำผิดของผู้สมัครก่อน
การที่โจทก์สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรายใดและสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่แล้ว จะให้ผู้สมัครต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นค่าใช่จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ โดยไม่ต้องตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งให้ได้ความอย่างแน่ชัดว่าผู้สมัครนั้นกระทำการอันมีเหตุให้โจทก์สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ ย่อมไม่อาจเยียวยาความผิดพลาดอันเกิดจากการออกคำสั่งซึ่งย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้สมัคร หากข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าผู้สมัครกระทำการดังกล่าวแล้ว คำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครย่อมไม่มีผลผูกพันให้ผู้สมัครนั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 99 วรรคหนึ่ง ได้
ข้อความการกล่าวปราศรัยของ อ. ที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของจำเลยเข้ากับทีมงานการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดินว่ามีส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อการของบประมาณในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างไร หากจำเลยไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลงิ้ว ย่อมมีความหมายในทำนองให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลยโดยนำเรื่องงบประมาณในการพัฒนาท้องถิ่นมาเป็นข้อต่อรอง อันมีลักษณะเป็นการหลอกหลวงหรือจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลย เป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 เมื่อจำเลยมีส่วนในการก่อ หรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของ อ. จนโจทก์มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยและให้มีการเลือกตั้งใหม่ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตาม มาตรา 99 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
การฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่หาจำต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญา สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ศาลจะต้องถือข้อเท็จจริงตามคดีอาญาแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1365/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพยายามฆ่า จำเลยที่ 4 พยานหลักฐานไม่เพียงพอ ยกฟ้อง
แม้คดีในส่วนแพ่งที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้จำเลยที่ 4 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมจะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 4 ไม่ได้กระทำความผิด ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา ต้องรับฟังว่าจำเลยที่ 4 มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วม จึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้ยกคำขอดังกล่าว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9203/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับโอนทรัพย์มรดกจากคำพิพากษาคดีอาญา - ถือกรรมสิทธิ์แทนทายาท
ก. และ ส. เป็นทายาทของ ป. ผู้ตาย ได้ยื่นฟ้องโจทก์และจำเลยคดีนี้เป็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหายักยอกทรัพย์มรดกที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินเดียวกับที่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายนำมาฟ้องเป็นคดีนี้ขอให้บังคับจำเลยโอนให้แก่โจทก์เพื่อแบ่งปันทายาทอื่นต่อไป เมื่อความปรากฏแก่ศาลว่า ในคดีอาญาศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า การที่จำเลยที่ 2 (จำเลยคดีนี้) มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาท น่าเชื่อว่าเป็นเพียงผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนทายาทอื่น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ยอมโอนหรือแบ่งทรัพย์มรดกโดยอ้างว่าเป็นของตน จึงมีเจตนาทุจริต เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 เช่นนี้ ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 และแม้โจทก์และจำเลยจะเป็นจำเลยในคดีอาญาด้วยกันก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และจำเลยต่างเป็นทายาทของผู้ตาย ทั้งโจทก์ยังเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอีกด้วย คำพิพากษาคดีอาญาจึงย่อมผูกพันโจทก์และจำเลย เมื่อข้อเท็จจริงในคดีอาญาถึงที่สุดโดยฟังว่า จำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาทแทนทายาทอื่น ดังนี้ จำเลยจึงต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์พิพาทคืนแก่โจทก์ผู้จัดการมรดก เพื่อแบ่งปันทายาทอื่นต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6024/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์: ศาลแพ่งผูกพันตามข้อเท็จจริงคดีอาญา แต่ไม่ผูกพันประเด็นส่วนประมาทของผู้ตาย
คดีส่วนอาญาข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยขับรถด้วยความประมาทโดยขับเร็วล้ำเข้าไปเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายทั้งสองในช่องเดินรถของผู้ตายทั้งสอง คดีในส่วนแพ่งศาลจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา กล่าวคือต้องฟังว่าจำเลยขับรถด้วยความประมาท ที่ศาลในคดีส่วนอาญาฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่า ผู้ตายทั้งสองมีส่วนกระทำประมาทด้วย ไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสองเพราะไม่ใช่เป็นประเด็นโดยตรงในคดีส่วนอาญา เป็นเพียงการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษจำเลยให้เบาลง ดังนั้นในคดีส่วนแพ่งผู้ตายทั้งสองมีส่วนกระทำประมาทด้วยหรือไม่ และจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่เพียงใด จำเลยมีหน้าที่ต้องพิสูจน์
ผู้เสียหายที่มิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เฉพาะในคดีอาญาเท่านั้นไม่มีผลถึงอำนาจฟ้องคดีแพ่ง โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4410/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามในปัญหาข้อเท็จจริง และการบังคับตามคำพิพากษาคดีอาญาในคดีแพ่ง
คดีนี้ในส่วนอาญา ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะกำหนดโทษและเพียงแต่ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ถูกต้องโดยระบุวรรคของ มาตรา 290 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และบทบัญญัติที่อ้างอิงประกอบภายในวงเล็บ ถือเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และยังคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไม่เกินห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
เมื่อคดีส่วนอาญาต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาจึงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกใช้ไม้ ขวดสุรา และก้อนอิฐเป็นอาวุธทุบตีและร่วมกันชกต่อยทำร้ายผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตามฟ้อง ตามป.วิ.อ. มาตรา 46 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14383/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีแพ่งผิดสัญญา: ศาลแก้คำพิพากษาให้ชำระตามยอดหนี้ที่สอดคล้องกับเอกสารหลักฐาน และอำนาจฟ้องไม่ผูกพันกับคดีอาญา
คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหมายความถึงคดีแพ่งที่มีมูลมาจากการกระทำความผิดทางอาญา หรือความรับผิดในทางแพ่งเกิดขึ้นจากผลของการกระทำความผิดทางอาญาโดยตรง ซึ่งคดีอาญาที่จำเลยอ้าง แม้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกไม้เสาเข็มและไม้ฟืนอันเป็นทรัพย์รายเดียวกับทรัพย์ในคดีแพ่งคดีนี้และมีคำขอให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายแทนผู้เสียหายหรือโจทก์คดีนี้ก็ตาม แต่คดีแพ่งคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหายจากจำเลยที่ผิดสัญญา อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลจากการกระทำความผิดทางอาญาฐานยักยอกแต่อย่างใด คดีนี้จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาและไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาอันมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์จำเลยผู้เป็นคู่สัญญาตามกฎหมายแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
of 78