คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 40

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 10 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8670/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเครื่องหมายการค้า การเพิกถอนคำสั่งรับจดทะเบียน และการแก้ไขคำพิพากษา
คดีนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 3 ยื่นคำขอจดทะเบียน โจทก์บรรยายคำฟ้องว่าโจทก์ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนดังกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิดีกว่า แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยยกคำคัดค้านของโจทก์ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ อันเป็นการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คดีจึงมีประเด็นให้ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 3 ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 3 แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ไม่มีสิทธิจดทะเบียนอันมีผลให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่อาจมีคำสั่งรับจดทะเบียนเครื่องหมายดังกล่าวให้จำเลยที่ 3 ตามคำขอจดทะเบียนได้ และแสดงว่าคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ให้ยกคำคัดค้านของโจทก์และดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของจำเลยที่ 3 ต่อไป กับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ยืนตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบ ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนคำวินิจฉัยทั้งสองได้โดยไม่ถือเป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็น
สำหรับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวของโจทก์นั้น เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังเป็นยุติแล้วว่า ภายหลังนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวของโจทก์เป็นทะเบียนเลขที่ บ49734 แต่ต่อมานายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้เพิกถอนคำสั่งรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวไปแล้ว และมีหนังสือถึงโจทก์โดยแจ้งเหตุผลทำนองว่าเป็นการรับจดทะเบียนโดยผิดหลง และอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 เพิกถอนคำสั่งรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2554 เป็นต้นไป หากโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวมีสิทธิอุทธรณ์ได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนี้ คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เพิกถอนคำสั่งรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของโจทก์จึงถึงที่สุดแล้ว ไม่อาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการตามคำขอดังกล่าวได้อีก หากโจทก์ยังประสงค์จะจดทะเบียนเครื่องหมายบริการในลักษณะเช่นเดียวกับเครื่องหมายบริการตามคำขอเลขที่ 748789 ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปดำเนินการขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการกันใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2179/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้า - การใช้เครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกัน จนอาจทำให้สาธารณชนสับสน
เมื่อพิจารณาภาพรวมของเครื่องหมายการค้าของจำเลยและของโจทก์แล้วปรากฏว่าเครื่องหมายการค้า ที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 7 ประกอบด้วยรูปสุนัขพันธุ์บูลด็อก และคำว่า "BULLDOG" ที่ด้านล่างของรูปสุนัข ส่วนเครื่องหมายการค้า ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของก็เป็นรูปสุนัขพันธุ์บูลด็อก เครื่องหมายการค้าทั้งสองจึงต่างมีรูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกเป็นสาระสำคัญและเป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมาย และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบในส่วนรูปสุนัขของทั้งสองเครื่องหมายเห็นได้ว่าเป็นรูปร่างลักษณะของสุนัขพันธุ์เดียวกันคือพันธุ์บูลด็อก ยืนหันหน้าในท่าเดียวกัน ขาทั้งสี่ข้างล้วนอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน และมีรายละเอียดต่าง ๆ ตรงกันจนไม่อาจสังเกตเห็นความแตกต่างของรูปสุนัขของทั้งสองเครื่องหมายได้อย่างชัดเจน และมีลักษณะคล้ายกับการลอกเลียนกันมา คงมีข้อแตกต่างกันเพียงแต่ในรายละเอียดอื่นที่ไม่ใช่รูปสุนัข โดยในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนไว้มีเส้นตรงในแนวนอนลากผ่านด้านหลังขาทั้งสี่ช่วงล่างซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าสุนัขยืนอยู่บนพื้นราบ แต่รูปสุนัขในเครื่องหมายการค้าที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของไม่มีเส้นตรงเช่นนั้นประกอบอยู่ด้วยเท่านั้น ซึ่งหากไม่สังเกตให้ดีก็จะไม่พบความแตกต่างนี้ และแม้เครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนไว้จะมีคำว่า "BULLDOG" ประกอบอยู่ด้วยโดยที่เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขที่โจทก์กล่าวอ้างถึงไม่มีคำดังกล่าวประกอบหรือในบางครั้งก็มีคำว่า "MIRKA" ประกอบอยู่ด้วยอันเป็นความแตกต่างอีกข้อหนึ่ง แต่เป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่าภาคส่วนรูปสุนัขในเครื่องหมายการค้าเป็นสาระสำคัญและมีลักษณะโดดเด่นยิ่งกว่าคำประกอบเหล่านั้น การที่เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยมีรูปลักษณะของรูปสุนัขซึ่งปรากฏชัดเจนว่าเป็นสุนัขพันธุ์เดียวกันคือพันธุ์บูลด็อกในลักษณะที่คล้ายกับลอกเลียนกันมาดังกล่าว ย่อมทำให้สาธารณชนผู้ซื้อสินค้าอาจเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยเช่นเดียวกันว่า "ตราสุนัข" หรือ "ตราหมา" หรือ "ตราหมาบูลด็อก" ได้ ด้วยความคล้ายกันอย่างมากโดยคล้ายกับลอกเลียนกันมาของรูปสุนัขดังกล่าว ประกอบกับความเป็นสาระสำคัญและลักษณะเด่นของรูปสุนัขในเครื่องหมายการค้าทั้งสองเช่นนี้ แม้จำเลยจะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของจำเลยไว้สำหรับใช้กับสินค้าต่างจำพวกกับสินค้าที่โจทก์ส่งมาขายในประเทศไทยก็ตาม แต่สินค้าของโจทก์และของจำเลยต่างก็เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการก่อสร้าง ย่อมอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นสินค้าของเจ้าของเดียวกันหรือมีแหล่งกำเนิดของสินค้ามาจากแหล่งกำเนิดเดียวกัน เครื่องหมายการค้า ที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับใช้กับสินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค227964 จึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้า ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของและใช้กับสินค้าเครื่องมือที่ใช้ในการขัดถู ผ้าทรายและกระดาษทรายจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้
โจทก์มีหลักฐานสำเนาหนังสือโต้ตอบ สำเนาใบสั่งซื้อสินค้า และสำเนาสัญญาตัวแทนจำหน่ายมาแสดงให้เห็นว่ามีการใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกกับสินค้าจำพวกกระดาษทราย ผ้าทราย และวัสดุที่ใช้ในการขัดถูในประเทศไทยผ่านทางตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ตั้งแต่ปี 2532 ในขณะที่จำเลยนอกจากจะไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานเกี่ยวกับการใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของโจทก์ผ่านตัวแทนจำหน่ายของโจทก์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2532 แล้ว ยังปรากฏว่าบริษัทที่จำเลยเคยเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการได้สั่งซื้อสินค้ากระดาษทรายของโจทก์มาจำหน่าย การที่โจทก์ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้ากระดาษทรายและเครื่องมือเครื่องใช้ในการขัดถูโดยใช้เครื่องหมายการค้า มาตั้งแต่ปี 2486 การได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกในประเทศต่าง ๆ สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 3 และที่ 7 รวมทั้งจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งในเรื่องความเป็นเจ้าของสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกและการที่จำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องกับสินค้าของโจทก์ดังกล่าว และจำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้า มาก่อนที่โจทก์จะส่งสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของโจทก์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยโดยบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่าย คงนำสืบเพียงว่าจำเลยเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด ล. ซึ่งจดทะเบียนก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2527 โดยประกอบกิจการขายปลีกเครื่องมือช่างและเครื่องมือเกษตร รวมทั้งไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้อง กระดาษทราย และผ้าทราย แต่หลักฐานที่จำเลยอ้างว่าจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ที่มีลักษณะเป็นเอกสารที่พิมพ์จากหน้าเว็บไซต์โฆษณาสินค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุวันเวลาลงโฆษณา ส่วนพยานหลักฐานอื่นก็เป็นหลักฐานการสั่งซื้อสินค้าอันเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของโจทก์ในประเทศไทยแล้วทั้งสิ้น โจทก์จึงเป็นผู้ใช้เครื่องหมายการค้ารูปพันธุ์สุนัขบูลด็อกก่อนที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปพันธุ์สุนัขบูลด็อก ทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค227964 แม้โจทก์จะยังไม่เคยนำสินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องที่ใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของโจทก์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยแต่สินค้าที่โจทก์นำมาจำหน่ายในประเทศไทยและสินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องต่างก็เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการก่อสร้าง จึงเป็นสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน และการที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกกับสินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่าโจทก์เป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเป็นแหล่งเดียว กับสินค้าของโจทก์ นอกจากนี้ เมื่อจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ที่ใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่จำเลยเริ่มยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 3 ทะเบียนเลขที่ ค4208 อีกทั้งยังปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยขอจดทะเบียนดังกล่าวและที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค227964 คล้ายกับเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อก ที่โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศสาธารณรัฐฟินแลนด์ ประกอบกับจำเลยอยู่ในวงการค้าขายสินค้าเครื่องมือช่างก่อสร้างจำพวกกระดาษทราย ผ้าทราย และไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้อง จำเลยย่อมรู้จักเครื่องหมายการค้าและสินค้าของโจทก์อยู่แล้วตั้งแต่ก่อนไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าครั้งแรกในปี 2535 กรณีมีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยจงใจนำเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของโจทก์ไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค227964 ที่พิพาทในคดีนี้ดีกว่าจำเลย กรณีมีเหตุสมควรให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค227964 ของจำเลย
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดระยะเวลาให้ผู้มีส่วนได้เสียฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จึงเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง และเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยไม่ได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้ในคำให้การ จำเลยมีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นกล่าวในชั้นอุทธรณ์ได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง กำหนดระยะเวลาห้าปีตามมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ต้องนับแต่วันที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 40 มิใช่นับแต่วันที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียน เมื่อจำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2548 มีการประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าววันที่ 15 มิถุนายน 2548 และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 40 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2548 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2551 จึงไม่เกินกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 40 ส่วนระยะเวลาที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์เป็นกรณีของการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2535 ซึ่งจำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 3 ไม่ใช่การยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 7 ที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นคดีนี้ อีกทั้งจำเลยขาดต่ออายุทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว แม้จำเลยจะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกและรายการเดิม แต่ก็ปรากฏว่ายังไม่ได้รับการจดทะเบียน กรณีดังกล่าวจึงไม่เกี่ยวข้องกับการนับระยะเวลาฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่พิพาทในคดีนี้ โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค227964 ภายในกำหนดระยะเวลา 5 ปี ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67
เมื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกดีกว่าจำเลย การที่จำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับการใช้สินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องของจำเลย และนำสินค้านั้นออกขาย ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยไม่ชอบ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะขอให้ห้ามจำเลยมิให้ใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขของโจทก์กับสินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องและสินค้าอื่นของจำเลย
รูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกและคำว่า "BULLDOG" ไม่ใช่สิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าเครื่องมือที่ใช้ในการขัดถู ผ้าทราย กระดาทราย และไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้อง ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 17 เพราะสินค้าดังกล่าวมิใช่สินค้าสุนัขพันธุ์บูลด็อก แต่รูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกเป็นรูปที่มีลักษณะบ่งเฉพาะเพราะเป็นภาพที่ประดิษฐ์ขึ้นตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (6) ส่วนคำว่า "BULLDOG" ก็ไม่ใช่คำที่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าเครื่องมือที่ใช้ในการขัดถู ผ้าทราย กระดาษทราย และไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องโดยตรง จึงเป็นคำที่มิได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรงอันมีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) รูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกและคำว่า "BULLDOG" ย่อมมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนสำหรับใช้กับสินค้าเครื่องมือที่ใช้ในการขัดถู ผ้าทราย กระดาษทราย และไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องได้ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5214/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: ความเหมือน/คล้ายคลึง, การใช้ก่อน, และสิทธิในการจดทะเบียน
โจทก์ประดิษฐ์และใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า SUNGARD ในสินค้าของโจทก์เป็นที่แพร่หลายทั่วไปก่อนที่จำเลยจะใช้คำว่า SUN เป็นคำนำหน้าของเครื่องหมายการค้าของจำเลย แม้สินค้าของจำเลยจะใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า SUN นำหน้าจำนวนมากมาย แต่เป็นการใช้ภายหลังเครื่องหมายการค้าคำว่า SUNGARD ของโจทก์ โจทก์ไม่ได้ใช้เครื่องหมายการค้า SUNGARD เลียนแบบหรือเหมือนกับเครื่องหมายการค้าภายใต้คำว่า SUN นำหน้าของจำเลย
การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและให้นายทะเบียนดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เมื่อไม่มีการคัดค้าน โจทก์จึงยื่นฟ้องได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 40 โดยไม่จำต้องฟ้องคณะกรรมการและนายทะเบียนมาพร้อมกับจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5214/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เครื่องหมายการค้า 'SUNGARD' ก่อน 'SUN' ไม่ทำให้สับสน ศาลฎีกาพิพากษากลับให้จดทะเบียนได้
โจทก์ประดิษฐ์และใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า SUNGARD ในสินค้าของโจทก์เป็นที่แพร่หลายทั่วไปก่อนที่จำเลยจะใช้คำว่า SUN เป็นคำนำหน้าของเครื่องหมายการค้าของจำเลย แม้สินค้าของจำเลยจะใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า SUN นำหน้าจำนวนมากมาย แต่เป็นการใช้ภายหลังเครื่องหมายการค้าคำว่า SUNGARD ของโจทก์ โจทก์ไม่ได้ใช้เครื่องหมายการค้า SUNGARD เลียนแบบหรือเหมือนกับเครื่องหมายการค้าภายใต้คำว่า SUN นำหน้าของจำเลย
การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและให้นายทะเบียนดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เมื่อไม่มีการคัดค้าน โจทก์จึงยื่นฟ้องได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 40 โดยไม่จำต้องฟ้องคณะกรรมการและนายทะเบียนมาพร้อมกับจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6765/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเครื่องหมายการค้า: โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมาย 'LAUFEN' ดีกว่าจำเลย แม้ยังมิได้จดทะเบียนในไทย ศาลยืนเพิกถอนเครื่องหมาย 'UMI-LAUFEN'
พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 67 ที่บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าภายใน 5 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 40 นั้น เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง มิใช่บทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องและเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนั้น แม้จำเลยจะไม่ได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นกล่าวในชั้นอุทธรณ์ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 38ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง
กำหนดระยะเวลา 5 ปี ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 67 ให้นับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ตามมาตรา 40 มิใช่นับแต่วันที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอันจะมีผลให้ถือเอาวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นวันที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า LAUFEN และเครื่องหมายการค้าคำว่า UMILAUFEN เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2537 และวันที่ 19 เมษายน 2539 ตามลำดับ โจทก์ฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 เมษายน2542 จึงเป็นการฟ้องภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า LAUFEN ดีกว่าจำเลย และขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า LAUFEN ที่จำเลยได้รับโอนจากบริษัท ส. และเครื่องหมายการค้าคำว่า UMI-LAUFEN ที่จำเลยได้จดทะเบียนไว้ โจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามสัญญาผู้ถือหุ้น และมิได้ฟ้องขอให้ห้ามจำเลยใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า LAUFEN ที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้ตามสัญญาให้ใช้เครื่องหมายการค้า ทั้งมิได้ขอให้บังคับตามสิทธิในสัญญาให้ความช่วยเหลือและบริการทั่วไปทางเทคนิค คำฟ้องของโจทก์จึงมิได้เกิดจากกรณีพิพาทกันตามข้อสัญญาข้อใดข้อหนึ่งหรืออาศัยสิทธิตามสัญญาข้อใดข้อหนึ่งตามสัญญาทั้งสามฉบับดังกล่าวอันจะต้องเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดก่อน โจทก์จึงจะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า LAUFEN และ UMI-LAUFEN สำหรับสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์โดยอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า LAUFEN และใช้กับสินค้าสุขภัณฑ์มาก่อนจำเลยจึงมีสิทธิดีกว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าทั้งสองที่ได้จดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าสุขภัณฑ์ ดังนี้ โจทก์ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียซึ่งมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ทั้งนี้ตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนปัญหาว่าจำเลยมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า LAUFEN ตามสัญญาที่โจทก์ให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าหรือไม่ เป็นอีกปัญหาหนึ่งและเป็นคนละเรื่องกับการฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสอง ทั้งโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาให้ใช้เครื่องหมายการค้า และห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า LAUFEN ตามสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้
โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า LAUFEN โดยใช้กับสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์มาก่อนที่จำเลยจะใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์ของจำเลย แม้โจทก์จะยังมิได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย โจทก์ก็เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "LAUFEN" สำหรับสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์ดีกว่าจำเลย ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า UMI-LAUFEN ที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์นั้นเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า LAUFENของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เมื่อโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า LAUFEN กับสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์มาก่อนจำเลยแม้ยังมิได้จดทะเบียนไว้สำหรับสินค้านั้นในประเทศไทยโจทก์ย่อมมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า UMI-LAUFEN ใช้กับสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์ดีกว่าจำเลย
โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า LAUFEN และคำว่า UMI-LAUFEN ซึ่งใช้กับสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์ดีกว่าจำเลย และเครื่องหมายการค้าคำว่า UMI-LAUFEN ก็มีคำว่า LAUFEN อันเป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมายเหมือนกับเครื่องหมายการค้าคำว่าLAUFEN ของโจทก์อันอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ ดังนั้น แม้คำว่า UMI-LAUFEN จะเป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยซึ่งประกอบกิจการผลิตและขายสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์ แต่เมื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า UMI-LAUFEN ซึ่งใช้กับสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์ดีกว่าจำเลย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่าUMI-LAUFEN ของจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3344/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลอกเลียนเครื่องหมายการค้า: ศาลพิพากษาเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสน
จำเลยอุทธรณ์โดยยกข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเรื่องการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 38 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 35 เป็นบทบัญญัติที่ให้บุคคลอื่นซึ่งอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิดีกว่าผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือเจ้าของเครื่องหมายการค้า ซึ่งจดทะเบียนไว้ก่อนแล้วมีสิทธิที่จะยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ภายในกำหนด 90 วัน หากไม่ยื่นภายในกำหนดดังกล่าวนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีอำนาจที่จะดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้ขอต่อไปได้ตามมาตรา 40 ส่วนเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งได้จดทะเบียนไว้ก่อนหากได้รับผลกระทบจากการรับจดทะเบียนของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็ยังคงมีสิทธิที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้ภายใน5 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นตามมาตรา 40ทั้งนี้ตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง เพราะตามบทบัญญัติดังกล่าวหาได้มีข้อกำหนดจำกัดสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งได้จดทะเบียนไว้ก่อนว่าจะต้องยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ก่อนฟ้องคดีไม่
โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ARROW ที่ได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว การที่จำเลยไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า MARROW ไว้สำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันกับโจทก์และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนให้ตามคำขอของจำเลยมีผลกระทบต่อสิทธิในเครื่องหมายการค้า ARROW ที่โจทก์จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว โดยเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีส่วนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้กระทำการอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตั้งแต่จำเลยไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ตามมาตรา 67 วรรคหนึ่งไม่ว่าโจทก์จะได้ยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 35 ไว้หรือไม่
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทุกเครื่องหมายมีสาระสำคัญอยู่ที่คำว่า ARROWส่วนคำอื่นหรือรูปลูกศรที่ประกอบคำว่า ARROW เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น และความสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์อยู่ที่เสียงเรียนขานคำว่า ARROW ซึ่งอ่านออกเสียงว่า "แอโร่"ยิ่งกว่าความหมายของคำที่แปลว่าลูกศร เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทคำในภาษาต่างประเทศเช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ในส่วนที่เป็นคำและใช้อักษรโรมันมี 2 พยางค์ เท่ากัน โดยเฉพาะพยางค์หลังจะอ่านออกเสียงว่า "โร่"เหมือนกันส่วนพยางค์ต้นของโจทก์อ่านออกเสียงว่า"แอ"พยางค์ต้นของจำเลยอ่านออกเสียงว่า "แม" จึงนับได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะพึงรับจดทะเบียนให้ได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 6(3) และ 13(2)จำเลยย่อมไม่มีสิทธิใช้และขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า MARROW ได้ โจทก์ซึ่งใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ARROW มาก่อน มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยและมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้
โจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า MARROW ดีกว่าจำเลย ชอบที่ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเสียได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง จึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะต้องพิพากษาให้จำเลยไปเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่าMARROW หรือให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยอีก และที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาตามคำขอของโจทก์โดยห้ามจำเลยใช้หรือเข้าเกี่ยวข้องในทางใด ๆ กับเครื่องหมายการค้า MARROW อีกต่อไปนั้น เป็นคำขอบังคับที่มุ่งบังคับถึงการกระทำในอนาคตซึ่งครอบคลุมถึงการกระทำของจำเลยที่เกินไปกว่าที่ปรากฏในคดีนี้ ศาลฎีกาจึงให้จำกัดข้อห้ามการกระทำของจำเลยเฉพาะในลักษณะเดียวกับที่ปรากฏในคดีนี้เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1422/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าและการปรับบทกฎหมาย แม้ไม่มีคำขอเพิกถอนโดยตรง ศาลสามารถพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของฟ้องแย้งได้
ฟ้องแย้งของจำเลยไม่ได้ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่จำเลยมีคำขอให้โจทก์โอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ให้แก่จำเลย กับห้ามโจทก์ใช้หรือขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อให้เกิดผลให้โจทก์สิ้นสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่โจทก์จดทะเบียนไว้ตามวัตถุประสงค์ในคำขอของจำเลยดังกล่าวตามที่จำเลยมีสิทธิที่จะขอให้ศาลบังคับได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 67จึงเป็นการพิพากษาปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องและตรงตามวัตถุประสงค์ที่เข้าใจได้จากรายละเอียดของฟ้องแย้งไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอในฟ้องแย้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่งประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26
จำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกตามที่โจทก์จดทะเบียนไว้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้องเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของจำเลยสำหรับสินค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนนั้นได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 46 วรรคหนึ่งเพราะสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวของบุคคลซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ตามมาตรา 44 เท่านั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาห้ามโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5269/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดเครื่องหมายการค้า การลวงขายสินค้า และสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่จดทะเบียน
++ เรื่อง เครื่องหมายการค้า ++
++ ทดสอบตัดต่องานในเครื่องเท่านั้น ++
++ การฟ้องคดีขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วโดยอ้างว่ามีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่านั้น เป็นการฟ้องร้องตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง
จำเลยซึ่งเคยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทในประเทศไทยตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง แต่หลังจากครบกำหนดอายุ 10 ปี จำเลยมิได้ต่ออายุทะเบียนเครื่องหมายการค้า จำเลยเพิ่งขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวใหม่ และได้รับจดทะเบียนเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2537 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2539 จึงยังไม่เกิน 5 ปี คดีไม่ขาดอายุความ
จำเลยมิได้นำสืบให้ปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำสามัญที่มีความหมายหรือคำแปลหรือเป็นคำที่ใช้โดยทั่วไป ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันจะทำให้จำเลยมีสิทธิที่จะนำไปใช้ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าของจำเลยและนำไปยื่นขอจดทะเบียนได้ การที่โจทก์อนุญาตให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด บ.ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และอนุญาตให้ดัดแปลงเครื่องหมายการค้าและรูปแบบซองบรรจุสินค้าได้นั้น เป็นสิทธิที่โจทก์ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าจะทำได้ มิได้เป็นการแสดงว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ++
++ เครื่องหมายการค้าชุดแรกของโจทก์และโจทก์ร่วมกับของจำเลยมีอักษรภาษรญี่ปุ่นเหมือนกัน คงมีแตกต่างกันคือ อักษรตัวแรกของเครื่องหมายการค้า โดยของโจทก์และโจทก์ร่วมตัวแรกมีขีดเฉียงด้านบน 1 เส้น ส่วนของจำเลยไม่มีขีด ส่วนคำอักษรโรมันเครื่องหมายการค้าของโจทก์และโจทก์ร่วมใช้คำว่า "cha" ของจำเลยใช้คำว่า "Na" ซึ่งอยู่ในวงกลมพื้นสีดำ ส่วนเครื่องหมายการค้าชุดหลังของจำเลยมีรูปภาพประกอบคือสตรีกำลังวาดรูปดอกไม้ ส่วนของโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นรูปสตรีกำลังวาดแบบเสื้อ เมื่อพิจารณาข้อความภาษาญี่ปุ่นกับการวางรูปของเครื่องหมายการค้าทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นได้ว่าคล้ายคลึงกันมาก คงแตกต่างเฉพาะอักษรภาษาญี่ปุ่นตัวแรก ย่อมทำให้ประชาชนผู้พบเห็นหลงผิดได้ว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเดียวกัน ทั้งเมื่อนำมาใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันแล้ว ถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์และโจทก์ร่วม อาจทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนและหลงผิดในความเป็นเจ้าของได้ ++
++ โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทเพื่อใช้กับสินค้าประเภทกระดาษและกระดาษลอกลายที่ประเทศญี่ปุ่น และได้ใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าดังกล่าวเรื่อยมาเป็นเวลาประมาณ 30 ปี รวมทั้งได้โฆษณาในหนังสือพิมพ์ที่ประเทศญี่ปุ่นจนแพร่หลาย คนทั่วไปรู้จักสินค้าของโจทก์ดี และในประเทศไทยก็มีผู้ส่งสินค้าของโจทก์เข้ามาจำหน่ายจนเป็นที่นิยม ต่อมาในปี 2512 โจทก์ร่วมได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของร่วมในสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ส่วนจำเลยแม้จะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทในประเทศไทยเมื่อปี 2522 ก็ตาม แต่โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อนจำเลย ทั้งเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์และโจทก์ร่วมจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าได้ จึงเป็นการที่จำเลยเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์และโจทก์ร่วม โจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีสิทธิดีกว่าจำเลยในการใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทสำหรับสินค้าประเภทกระดาษลอกลาย
++ สินค้ากระดาษลอกลายของโจทก์มีผู้สั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นเวลาประมาณ 30 ปีแล้ว ปัจจุบันยังมีผู้นิยมใช้สินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าว ส่วนจำเลยเริ่มใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวในนามบริษัทของจำเลยเมื่อปี 2535 ลักษณะสีสันและเครื่องหมายการค้าที่พิมพ์อยู่บนซองบรรจุสินค้าก็เหมือนหรือคล้ายกับของโจทก์มาก ย่อมทำให้ผู้ซื้อหลงเข้าใจผิดได้ว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการลวงขายสินค้า ทำให้โจทก์และโจทก์ร่วมเสียหาย แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทในประเทศไทย โจทก์และโจทก์ร่วมก็มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในฐานเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้าได้ และมีสิทธิฟ้องขอให้ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทเฉพาะในลักษณะที่เป็นการลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์และโจทก์ร่วมตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 46 วรรคสอง ++ แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทนั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนในประเทศไทย จึงมีสิทธิฟ้องขอให้ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทเฉพาะในลักษณะที่เป็นการลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์และโจทก์ร่วมเท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นพิจารณาและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ++

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 333/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้า และอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนในการจดทะเบียน
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ขอจดทะเบียน เป็นอักษรโรมัน ตัวพิมพ์ใหญ่ธรรมดาคำว่า "GIANFERRENTE" อ่านว่า "เจียนเฟอร์รองเต้" หรือ"จิอองเฟอร์รองเต้" ส่วนเครื่องหมายการค้าของบริษัทจ.ซึ่งจดทะเบียนไว้แล้วเป็นอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่คำว่า "GIANFRANCOFERRE" อ่านว่า "จิอองฟรังโก้เฟอร์รี่"แม้เครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายจะเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีตัวอักษรโรมันสองคำเช่นเดียวกัน และในภาคส่วนแรกประกอบด้วยอักษรโรมัน 4 ตัวแรก เหมือนกันก็ตามแต่อักษรโรมันคำอื่นที่ประกอบเป็นคำแตกต่างกัน โดย เครื่องหมายการค้าของโจทก์คือคำว่า "GIAN" ประกอบด้วย อักษรโรมัน 4 ตัว ส่วนของบริษัทจ. ผู้คัดค้านคือคำว่า"GIANFRANCO" ประกอบด้วยอักษรโรมัน 10 ตัวและภาคส่วนท้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ใช้คำว่า "FERRENTE" ประกอบด้วยอักษรโรมัน 8 ตัวส่วนของผู้คัดค้านใช้คำว่า "FERRE" ประกอบด้วยอักษรโรมัน5 ตัว รูปลักษณะเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายจึงแตกต่างกัน การเรียกขานเครื่องหมายการค้าของทั้งสองเครื่องหมายแตกต่างกัน คือของโจทก์เรียกขานว่า"จิอองเฟอร์รองเต้" ส่วนของผู้คัดค้านเรียกขานว่า"จิอองฟรังโก้เฟอรี่" รูปลักษณะของตัวอักษรที่ประกอบเป็นคำ จำนวนตัวอักษรโรมันทั้งหมด กับการวางรูปคำเสียงเรียกขานเครื่องหมายของทั้งสองฝ่ายแตกต่างกันเป็นส่วนมาก โดยเฉพาะเครื่องหมายการค้า "GIANFRANCOFERRE"มีคำว่า "FRANCO" แต่ของโจทก์ไม่มีคำนี้ จึงจะทำให้ลักษณะของคำและการเรียกขานเครื่องหมายการค้าทั้งสองมีจุด สังเกตุ ข้อแตกต่างได้ชัด ซึ่งสาธารณชนมองเห็น ความแตกต่างกันได้ เช่นนี้จึงยังถือไม่ได้ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า ของบริษัทจ.จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าโจทก์ย่อมมีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า "GIANFERRENTE" ได้ จึงชอบที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า พึงดำเนินการตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ต่อไป ตามคำบรรยายฟ้องและคำขอท้ายฟ้องโจทก์ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า จึงเป็นกรณีที่โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าโดยฟ้องคดีต่อศาล ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 มาตรา 38 วรรคสอง เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิจดทะเบียนแล้วให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ แล้วมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบและให้ชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน ถ้าผู้ขอจดทะเบียนไม่ชำระค่าธรรมเนียมให้ถือว่าละทิ้งคำขอจดทะเบียนและการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้เป็นไปตาม วิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ตามที่บัญญัติไว้ ในมาตรา 40 ดังนี้ เมื่อศาลวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิ จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและให้เพิกถอน คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามฟ้องแล้วขั้นตอนดำเนินการต่อไปมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะดังกล่าวแล้ว ซึ่งในที่สุดนายทะเบียน จะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับขั้นตอนและเงื่อนไขตามที่กฎหมายบัญญัติ ไว้ต่อไป มิใช่จะรับจดทะเบียนให้ได้โดยทันที และกรณียังไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์เกี่ยวกับ การปฏิบัติในขั้นตอนดังกล่าวโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ ศาลบังคับให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ไปเลย และปัญหานี้เป็นปัญหาอำนาจฟ้องซึ่งเกี่ยวกับ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความ ฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษาว่าให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ต่อไปนั้น ยังไม่ถูกต้อง จึงควรแก้ไขให้ถูกต้องเป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 333/2542 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดและความถูกต้องของคำพิพากษา
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ขอจดทะเบียนเป็นอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ธรรมดาคำว่า "GIAN FERRENTE" อ่านว่า "เจียนเฟอร์รองเต้" หรือ"จิอองเฟอร์รองเต้" ส่วนเครื่องหมายการค้าของบริษัท จ. ซึ่งจดทะเบียนไว้แล้วเป็นอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ คำว่า " GIANFRANCO FERRE' " อ่านว่า "จิอองฟรังโก้เฟอร์รี่" แม้เครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายจะเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีตัวอักษรโรมันสองคำเช่นเดียวกัน และในภาคส่วนแรกประกอบด้วยอักษรโรมัน4 ตัวแรก เหมือนกันก็ตาม แต่อักษรโรมันคำอื่นที่ประกอบเป็นคำแตกต่างกัน โดยเครื่องหมายการค้าของโจทก์คือคำว่า "GIAN" ประกอบด้วยอักษรโรมัน 4 ตัว ส่วนของบริษัท จ. ผู้คัดค้านคือคำว่า "GIANFRANCO" ประกอบด้วยอักษรโรมัน 10 ตัวและภาคส่วนท้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ใช้คำว่า "FERRENTE" ประกอบด้วยอักษรโรมัน 8 ตัว ส่วนของผู้คัดค้านใช้คำว่า "FERRE" ประกอบด้วยอักษรโรมัน5 ตัว รูปลักษณะเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายจึงแตกต่างกัน การเรียกขานเครื่องหมายการค้าของทั้งสองเครื่องหมายแตกต่างกัน คือของโจทก์เรียกขานว่า"จิอองเฟอร์รองเต้" ส่วนของผู้คัดค้านเรียกขานว่า "จิอองฟรังโก้เฟอรี่" รูปลักษณะของตัวอักษรที่ประกอบเป็นคำ จำนวนตัวอักษรโรมันทั้งหมด กับการวางรูปคำเสียงเรียกขานเครื่องหมายของทั้งสองฝ่ายแตกต่างกันเป็นส่วนมาก โดยเฉพาะเครื่องหมายการค้า " GIANFRANCO FERRE' "มีคำว่า "FRANCO" แต่ของโจทก์ไม่มีคำนี้ จึงจะทำให้ลักษณะของคำและการเรียกขานเครื่องหมายการค้าทั้งสองมีจุดสังเกตข้อแตกต่างได้ชัด ซึ่งสาธารณชนมองเห็นความแตกต่างกันได้ เช่นนี้จึงยังถือไม่ได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบริษัท จ.จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้า โจทก์ย่อมมีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า "GIAN FERRENTE"ได้ จึงชอบที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพึงดำเนินการตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อไป
ตามคำบรรยายฟ้องและคำขอท้ายฟ้องโจทก์ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า จึงเป็นกรณีที่โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าโดยฟ้องคดีต่อศาล ตามพ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 38 วรรคสอง เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิจดทะเบียนแล้ว ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ แล้วมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบ และให้ชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน ถ้าผู้ขอจดทะเบียนไม่ชำระค่าธรรมเนียมให้ถือว่าละทิ้งคำขอจดทะเบียน และการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 ดังนี้ เมื่อศาลวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามฟ้องแล้วขั้นตอนดำเนินการต่อไปมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะดังกล่าวแล้ว ซึ่งในที่สุดนายทะเบียนจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับขั้นตอนและเงื่อนไขตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ต่อไป มิใช่จะรับจดทะเบียนให้ได้โดยทันที และกรณียังไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์เกี่ยวกับการปฏิบัติในขั้นตอนดังกล่าวโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ศาลบังคับให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไปเลย และปัญหานี้เป็นปัญหาอำนาจฟ้องซึ่งเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษาว่าให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ต่อไปนั้น ยังไม่ถูกต้อง จึงควรแก้ไขให้ถูกต้องเป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์