พบผลลัพธ์ทั้งหมด 13 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2345/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญา Brand Ambassador: การพิพากษาความผิดสัญญา, ค่าเสียหาย, และการคืนเงินจากการทำงานที่ยังไม่เสร็จ
ผลิตภัณฑ์สินค้ายี่ห้อ ค. กับสินค้ายี่ห้อ ช. เป็นสินค้าประเภทนาฬิกาและเครื่องประดับเช่นเดียวกัน ในการพิจารณาว่าคู่แข่งทางการค้าของโจทก์หมายถึงบริษัทใดเป็นเรื่องที่ศาลต้องตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 ซึ่งโดยปกติของการดำเนินธุรกิจย่อมนับว่าบริษัทที่ประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีสภาพดุจเดียวกัน จำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าประเภทเดียวกันสามารถใช้ทดแทนกันได้เป็นคู่แข่งทางการค้าไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งวัตถุประสงค์ของสัญญาว่าจ้างซึ่งโจทก์ตกลงจ่ายค่าจ้างแก่จำเลยที่ 2 เป็นจำนวนเงินสูง ก็เพื่อให้จำเลยที่ 2 มีส่วนในการส่งเสริมการขายและยกภาพลักษณ์ยี่ห้อ ช. ให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้นเป็นยี่ห้อชั้นนำในท้องตลาด ดังนั้น การที่จะนับว่ายี่ห้อ ค. ซึ่งมีผลิตภัณฑ์สินค้าประเภทเดียวกับสินค้ายี่ห้อ ช. เป็นคู่แข่งทางการค้ากันจึงเป็นเจตนาที่คาดหมายได้ในทางสุจริต และเกณฑ์การพิจารณาในเรื่องนี้ต้องถือเอาความเข้าใจของวิญญูชนดังที่ได้วินิจฉัยข้างต้นเป็นเกณฑ์กำหนดความประสงค์ในทางสุจริต ไม่อาจรับฟังเฉพาะความรู้สึกหรือความเข้าใจของจำเลยที่ 2 เพียงฝ่ายเดียวหรือยึดข้อมูลการจัดอันดับสินค้าดังกล่าวมาเป็นข้อพิจารณา จึงฟังได้ว่า สินค้ายี่ห้อ ค. เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่เป็นคู่แข่งของโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 ลงภาพที่ตนสวมใส่เครื่องประดับยี่ห้อ ค. ในอินสตาแกรมส่วนตัวจึงเป็นการประพฤติผิดสัญญาข้อ 6.6 ต่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมจำเลยที่ 2 ให้ปฏิบัติตามสัญญาว่าจ้างจึงตกเป็นผู้ผิดสัญญาต่อโจทก์ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองได้ เมื่อจำเลยทั้งสองประพฤติผิดสัญญา การกระทำของจำเลยทั้งสองย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยข้อสัญญาในส่วนของค่าเสียหาย เป็นการกำหนดความรับผิดในการที่ไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลอาจพิจารณาปรับลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383
เมื่อโจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว สัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชำระค่าจ้างตามข้อตกลงในสัญญาได้อีก แต่อย่างไรก็ดีเมื่อสัญญาเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนที่เป็นค่าการงานอันได้กระทำให้ ให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสาม จำเลยทั้งสองคงมีสิทธิได้รับการใช้เงินตามควรค่าแห่งงานที่จำเลยทั้งสองได้กระทำไปแล้วเท่านั้น
เมื่อโจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว สัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชำระค่าจ้างตามข้อตกลงในสัญญาได้อีก แต่อย่างไรก็ดีเมื่อสัญญาเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนที่เป็นค่าการงานอันได้กระทำให้ ให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสาม จำเลยทั้งสองคงมีสิทธิได้รับการใช้เงินตามควรค่าแห่งงานที่จำเลยทั้งสองได้กระทำไปแล้วเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 626/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญา กรณีกลุ่มออมทรัพย์และการมอบอำนาจ
กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตฯ จัดตั้งขึ้นตามแนวทางที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนด โดยมีคณะกรรมการที่ได้รับคัดเลือกโดยมติที่ประชุมสมาชิก เงินฝากที่สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ฝากมาเพื่อให้สมาชิกกู้ยืมถือเป็นกิจการของกลุ่มออมทรัพย์ และคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในเงินส่วนนี้ การที่คณะกรรมการเลือกให้จำเลยทั้งสามเป็นตัวแทนดูแลเงินฝากของสมาชิก ก็มีวัตถุประสงค์ให้จำเลยทั้งสามเป็นตัวแทนของคณะกรรมการในการเก็บรักษาเงิน เมื่อเงินที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสามหายไป คณะกรรมการย่อมเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำทุจริตเงินดังกล่าว และมีอำนาจทำหนังสือมอบอำนาจแต่งตั้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นตัวแทนร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดได้ ธ. ผู้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการจึงมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสาม เมื่อ ธ. เป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ที่นำฝากเงินกับกลุ่มออมทรัพย์ดังกล่าวด้วยคนหนึ่ง เมื่อมีผู้ยักยอกเงินที่นำฝากไป ธ. ย่อมได้รับความเสียหาย ธ. จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากสมาชิกอื่นหรือจากคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ การที่คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์มอบอำนาจให้ ธ. ไปร้องทุกข์ถือได้ว่า ธ. ร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหายด้วย การแจ้งความร้องทุกข์ของ ธ. จึงเป็นไปโดยชอบ และไม่จำต้องให้สมาชิกทุกคนร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6101/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิการเข้าร่วมเป็นโจทก์ของผู้เสียหายและทายาทในคดีอาญา และการพิจารณาโทษจำคุกโดยรอการลงโทษ
เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157 ป.อ. มาตรา 291, 300, 390 แล้วโจทก์ร่วมทั้งสามยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการโดยระบุคำร้องว่า บ. และ ป. บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของดาบตำรวจ ร. โดย น. มารดา และ น. ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของดาบตำรวจ ร. จึงเป็นกรณีที่โจทก์ร่วมทั้งสามในฐานะผู้สืบสันดานและภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายซึ่งเป็นผู้เสียหายและเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ร่วมทั้งสามเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการเฉพาะข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสและอันตรายแก่กาย จึงไม่ถูกต้อง และเมื่อโจทก์ร่วมทั้งสามสามารถเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท โจทก์ร่วมทั้งสามจึงมีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงให้ไม่รอการลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ และเมื่อคดีขึ้นมาที่ศาลฎีกาแล้วจึงเห็นสมควรสั่งให้ถูกต้องโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่