คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ม. 27 (6)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1461/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดิน: การแปลงหนี้ใหม่, ฝ่ายผิดสัญญา, และผลของการไม่ปฏิบัติตามสัญญา
การที่โจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทในระหว่างระยะเวลาห้ามโอนและจำเลยทั้งสองยังมิได้มีการส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครอง โดยมีข้อตกลงโอนกรรมสิทธิ์กันหลังพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน ถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมายหรือมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท จึงไม่ตกเป็นโมฆะและสามารถใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงต้องคืนเงินมัดจำค่าที่ดินที่รับไปจากโจทก์ให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5204/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดินขัดต่อกฎหมายนิคมสร้างตนเอง สัญญาเป็นโมฆะ และจำเลยหมดสิทธิฟ้องขับไล่
โจทก์และจำเลยต่างเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองและต่างได้รับจัดสรรที่ดินคนละหนึ่งแปลง ต่อมาจำเลย ขายที่ดินซึ่งได้รับการจัดสรรให้โจทก์แต่ไม่สามารถโอนสิทธิให้โจทก์ได้เนื่องจากติดเงื่อนไขข้อห้ามโอนตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 จำเลยจึงได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์เข้าครอบครองเพียงอย่างเดียวโดย มีข้อตกลงระหว่างกันเองว่าจำเลยจะจดทะเบียนโอนสิทธิให้โจทก์เมื่อมีกฎหมายหรือกฎระเบียบอนุญาตให้ทำได้ ดังนี้เมื่อโจทก์และจำเลยจงใจหลีกเลี่ยงข้อห้ามตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ข้อสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมี วัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะ แม้จำเลยจะไม่ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ก็ไม่อาจบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาได้ และในเมื่อจำเลยก็ปฏิบัติฝ่าฝืนพระราชบัญญัติดังกล่าวเช่นเดียวกับโจทก์ การที่จำเลยได้สละสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยย่อมหมดสิทธิทุกประการเหนือ ที่ดินพิพาท จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทเช่นกัน