คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 24

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 335 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3900/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องขอให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจำกัดเฉพาะคู่สัญญาหรือผู้เกี่ยวข้องโดยตรง มิอาจฟ้องจำเลยที่ไม่มีหน้าที่ตามสัญญา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งแยกและโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ย่อมมีอำนาจพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) มิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโดยมิได้สอบถามข้อเท็จจริงใด ๆ จากคู่ความแล้วพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์จากข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำฟ้องเท่านั้น จึงเป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องมิให้ถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 227 ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นไว้ อุทธรณ์ของโจทก์ก็ไม่เป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้าม โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ตามมาตรา 24 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 227
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจาก ท. โจทก์ชำระราคาและเข้าครอบครองตลอดมา แต่ ท. ยังมิได้จดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์ ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่ง ท. และทายาทอื่นรวม 4 คน ร่วมกันรับมรดกมาจาก อ. เจ้ามรดก ต่อมา ม. ทายาทคนหนึ่งของ อ. จดทะเบียนให้จำเลยเข้าร่วมเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในส่วนของตน และที่ดินดังกล่าวได้ออกเป็นโฉนดที่ดิน ที่ดินที่จำเลยได้รับมาจากการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมนั้นรวมที่ดินพิพาทกับที่ดินอื่นอีกส่วนหนึ่งที่จำเลยได้รับสิทธิมาจาก ม. ต่อมา ท. ถึงแก่ความตาย โจทก์จึงมาฟ้องจำเลย ดังนี้ หากโจทก์ได้รับความเสียหายเพราะ ท. ไม่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ก็ชอบที่จะว่ากล่าวเอากับ ท. หรือทายาทของ ท. หรือหากโจทก์เห็นว่าสิทธิของโจทก์ถูกกระทบกระเทือนอันเนื่องมาจากมีการออกโฉนดที่ดินและแบ่งแยกโฉนดที่ดินทับที่ดินพิพาทที่โจทก์ครอบครองก็ชอบที่จะฟ้องผู้เกี่ยวข้องเพื่อขอให้เพิกถอนการกระทำดังกล่าว แต่โจทก์จะมาฟ้องเพื่อขอให้จดทะเบียนแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในส่วนที่เป็นที่ดินพิพาทให้แก่โจท์หาได้ไม่ เพราะจำเลยไม่มีหน้าที่ในทางนิติกรรมหรือสัญญาใด ๆ ที่จะต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์ได้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 การที่โจทก์อุทธรณ์และจำเลยฎีกาต่อมาเป็นการอุทธรณ์และฎีกาตามมาตรา 227 ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียงชั้นละ 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 ข. ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมิใช่เสียตามทุนทรัพย์ที่พิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1681/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องรวมคดีมูลหนี้หลายราย การจำหน่ายคดี และสิทธิในการฟ้องใหม่
มูลหนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้ง 7 ข้อหา เป็นมูลหนี้ที่โจทก์ได้ซื้อและรับโอนสิทธิเรียกร้องรวมทั้งหนี้สินที่จำเลยทั้งสี่มีอยู่กับเจ้าหนี้เดิมจำนวน 7 ราย แต่เจ้าหนี้เดิมของจำเลยทั้งสี่เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน มูลหนี้ที่จำเลยทั้งสี่จะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้เดิมแต่ละรายไม่มีความเกี่ยวข้องกัน และมีจำนวนเงินที่แยกออกจากกันได้ จึงมีสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับแตกต่างกัน ไม่เกี่ยวข้องกันและสามารถแยกจากกันได้ การที่โจทก์รวมข้อหาทั้ง 7 ข้อหาเป็นคดีเดียว และเสียค่าขึ้นศาลในอัตราสูงสุดเพียงจำนวนเดียว จึงไม่ถูกต้อง ศาลล่างชอบที่จะจำหน่ายคดีโดยให้โจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ในมูลหนี้แต่ละรายได้ และการที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีดังกล่าวเป็นอำนาจทั่วไปของศาล เมื่อเห็นว่าฟ้องของโจทก์ไม่ชอบที่จะฟ้องรวมกัน ศาลก็มีอำนาจที่จะสั่งให้จำหน่ายคดีเสียได้ เพื่อให้โจทก์นำคดีไปฟ้องใหม่ให้ถูกต้องภายในอายุความ มิใช่ต้องยกฟ้องโจทก์ และการที่ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโจทก์มีผลเท่ากับศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา มิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นถึงอำนาจฟ้องของโจทก์หรือเป็นการวินิจฉัยในเนื้อหาของคดี โจทก์ย่อมสามารถนำคดีมาฟ้องใหม่ได้โดยเสียค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 464/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าขึ้นศาลอุทธรณ์และการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องของศาลล่าง ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขได้
คดีนี้ก่อนสืบพยานศาลชั้นต้นเห็นว่า ตามคำฟ้องและคำให้การคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิ์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งหกรับผิดตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ได้ พิพากษายกฟ้อง เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายอันทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 การที่โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าว แม้จะมีคำขอท้ายอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้โจทก์ทั้งสี่ชนะคดีตามฟ้องก็ตาม แต่ถ้าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่แล้ว เห็นว่า อุทธรณ์ดังกล่าวฟังขึ้น ศาลอุทธรณ์ก็ไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ทั้งสี่ชนะคดีได้ เพราะยังไม่มีข้อเท็จจริงในสำนวนที่จะให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งหกจะต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่เพียงใด เนื่องจากศาลชั้นต้นงดสืบพยาน กรณีจึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานจนสิ้นกระแสความแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป ดังนั้น การอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ในกรณีเช่นนี้เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 (ก.) ท้าย ป.วิ.พ. มิใช่เสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสี่เรียกร้องแต่ปรากฏว่าในการยื่นอุทธรณ์โจทก์ทั้งสี่สำคัญผิดว่าจะต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสี่เรียกร้อง จึงได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียม ทั้งที่ในวันยื่นอุทธรณ์โจทก์ทั้งสี่ได้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์มาวางต่อศาลแล้วบางส่วนจำนวน 19,000 บาท ต่อมามีการวางเงินค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมอีกสองครั้งรวมค่าธรรมเนียมที่โจทก์ทั้งสี่ชำระมา 82,000 บาท ซึ่งเกินกว่าเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์กับเงินค่าธรรมเนียมที่โจทก์ทั้งสี่จะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 เสียอีก กรณีไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมฉบับดังกล่าวและมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ เพราะเหตุว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่ชำระค่าขึ้นศาลให้ครบถ้วน และเมื่อโจทก์ทั้งสี่ยื่นอุทธรณ์คำสั่งที่ขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียม ศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่อีกโดยอ้างเหตุว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่วางเงินค่าธรรมเนียมตามมาตรา 229 และการที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ในเวลาต่อมา เป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองดำเนินกระบวนพิจารณาไปโดยผิดหลงและไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์ทั้งสี่มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3933/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องและการวินิจฉัยข้อกฎหมายเบื้องต้น: คำสั่งศาลที่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย ไม่อุทธรณ์ได้
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้วินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 เนื่องจากจำเลยที่ 3 มิใช่บุคคลหรือนิติบุคคล ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 และให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่เป็นคุณแก่จำเลยผู้ขอ จึงไม่เป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 และถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวในระหว่างพิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9018/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเพิกถอนการจัดการมรดก: เริ่มนับเมื่อการจัดการมรดกสิ้นสุด
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งตามคำฟ้องและจากการตรวจสอบของโจทก์ทั้งสามว่าเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 1 แปลง ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนให้แก่ตนเองเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2535 ไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์มรดกอื่นอีก ดังนี้ ย่อมเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 182 (4) โดยไม่จำต้องทำการชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทก์จำเลยก่อน และการที่ทรัพย์มรดกมีเพียงที่ดินพิพาท 1 แปลง ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมรดกตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2535 ถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงในวันดังกล่าวแล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสามซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกเห็นว่าการจัดการมรดกไม่ชอบโจทก์ทั้งสามก็ฟ้องภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง คือภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2540 แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2544 สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6651/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดี หากข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการไม่ครอบคลุมคู่สัญญาโดยตรง ศาลมีอำนาจพิจารณาได้
การขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 หากศาลมีคำวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นเป็นคุณแก่ฝ่ายที่ขอแล้ว แม้จะมีการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปก็ตาม แต่ข้อกฎหมายตามคำร้องขอนั้น ศาลก็ไม่ต้องพิจารณาประเด็นสำคัญแห่งคดีในข้อนี้อีก การวินิจฉัยและสั่งเช่นนี้มิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง หากเสร็จไปเฉพาะประเด็นบางข้อ ตามคำร้องของโจทก์ทั้งสอง (ที่ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น) เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญแห่งคดี ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวได้
สัญญาข้อตกลง ข้อ 18 เรื่องการระงับข้อพิพาทและอนุญาโตตุลาการระบุให้นำข้อพิพาทหรือความขัดแย้งระหว่างผู้รับเหมากับวิศวกร หรือผู้แทนของเจ้าของ โดยเกี่ยวข้องกับหรือเกิดขึ้นจากสัญญาหรือการปฏิบัติงาน ให้เสนอต่อวิศวกรและอนุญาโตตุลาการก่อน แต่ข้อพิพาทคดีนี้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้รับเหมาเป็นคู่สัญญากับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของ จึงไม่ตกอยู่ในเงื่อนไขของข้อสัญญา ข้อ 18 ที่ต้องเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดเสียก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 274/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน ค่าทดแทน การสร้างทางออก และสิทธิเรียกร้องของเจ้าของที่ดิน
จำเลยไม่ได้ร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายว่าการที่เจ้าหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ทำการวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในกำหนด 60 วัน เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่และโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยจัดทางเข้าออกที่ดินให้แก่โจทก์หรือไม่แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในสำนวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 และมาตรา 142(5)
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 26 วรรคหนึ่งบัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนนำคดีมาฟ้องต่อศาลภายในเวลาที่กำหนดไว้เป็น 2 กรณี กรณีแรกเป็นกรณีที่รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี กรณีที่สองเมื่อรัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวัน มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีเมื่อล่วงพ้นหกสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีได้รับคำอุทธรณ์โจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2540 แต่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ซึ่งครบกำหนดวันสุดท้ายในวันที่ 6พฤษภาคม 2540 โจทก์จึงต้องฟ้องขอเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดหกสิบวันดังกล่าวคือภายในวันที่ 6 พฤษภาคม 2541
โจทก์ยื่นอุทธรณ์ฉบับเดียวกล่าวถึงที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวของข้าพเจ้าผู้อุทธรณ์ทั้งเจ็ดมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 35 ไร่ 3 งาน 64 ตารางวา แต่ถูกเวนคืนไป 6 ไร่ 1 งาน 13 ตารางวา ทำให้ที่ดินที่ไม่ถูกเวนคืนเหลืออยู่อีก 29 ไร่ 2 งาน 51ตารางวา จะต้องเสียหายเป็นอย่างมาก ที่ดินแปลงดังกล่าวเปรียบเสมือนเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินทั้งหกแปลงที่อยู่ด้านหน้าติดถนนหมายเลข 346 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของข้าพเจ้า ซึ่งได้ถูกเวนคืนไปแล้วพร้อม ๆ กัน จึงเป็นเหตุให้ที่ดินแปลงที่เหลือไม่สามารถออกสู่ถนนสาธารณะได้ จึงใคร่ขอความกรุณาต่อฯพณฯ เพื่อเปิดทางให้แก่ที่ดินแปลงที่เหลือดังกล่าว อุทธรณ์ของโจทก์ไม่มีข้อความส่วนใดที่ขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงและราคาลดลงเป็นจำนวนเงินเท่าใด จึงถือไม่ได้ว่ามีการอุทธรณ์ขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลง
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนนำคดีมาฟ้องต่อศาลภายในเวลาที่กำหนดไว้ 2 กรณี เมื่อรัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลขอเงินค่าทดแทนเพิ่มภายในหนึ่งปีนับแต่วันพ้นหกสิบวันที่รัฐมนตรีได้รับคำอุทธรณ์ของโจทก์ หาจำเป็นต้องรอให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ก่อนไม่ โจทก์ปล่อยให้ล่วงเลยกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วค่อยมาฟ้องอันเป็นเหตุให้โจทก์สิ้นสิทธิที่จะฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มซึ่งเป็นการกระทำของโจทก์เอง มิใช่เกิดจากการที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันรับคำอุทธรณ์ของโจทก์ จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่ถูกเวนคืน โจทก์จะมีสิทธิได้รับค่าทดแทนเพียงใดต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 กำหนดไว้ ซึ่งพระราชบัญญัตินี้บัญญัติเรื่องค่าทดแทนไว้ในหมวด 2 เงินค่าทดแทน ไม่มีบทบัญญัติที่บังคับให้จำเลยต้องสร้างทางออกให้โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้จำเลยสร้างทางซึ่งจะต้องสร้างขึ้นในเขตทางพิเศษเพื่อให้ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมีทางออกสู่ถนนสาธารณะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 274/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องค่าทดแทนเวนคืน & สิทธิทางออกที่ดิน - กรณีเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษ
ปัญหาว่าเจ้าหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ทำการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยจัดทางเข้าออกที่ดินให้แก่โจทก์หรือไม่ เป็นปัญหาเรื่องโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในฐานละเมิดหรือไม่และมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยจัดทางเข้าออกที่ดินให้แก่โจทก์หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในสำนวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวได้ ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 และมาตรา 142 (5) โดยไม่จำเป็นต้องมีคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดร้องขอให้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวเสียก่อน
ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง เมื่อรัฐมนตรี ฯ มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลขอเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มภายในหนึ่งปีนับแต่วันพ้นหกสิบวันที่รัฐมนตรี ฯ ได้รับคำอุทธรณ์ของโจทก์ หาจำเป็นต้องรอให้รัฐมนตรี ฯ วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ก่อนไม่ โจทก์ปล่อยให้ล่วงเลยกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วค่อยมาฟ้องเป็นคดีนี้อันเป็นเหตุให้โจทก์สิ้นสิทธิที่จะฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มซึ่งเป็นการกระทำของโจทก์เอง มิใช่เกิดจากการที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ฯ ไม่พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันรับคำอุทธรณ์ของโจทก์ จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่จะต้องเวนคืนจะมีสิทธิได้รับค่าทดแทนเพียงใดต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 กำหนดไว้ ซึ่ง พ.ร.บ. นี้บัญญัติเรื่องค่าทดแทนไว้ในหมวด 2 เงินค่าทดแทน ไม่มีบทบัญญัติที่บังคับให้จำเลยต้องสร้างทางออกให้สำหรับที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนสู่ทางสาธารณะ และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ข้อ 2 ข้อ 6 (3) ข้อ 29 วรรคหนึ่ง ข้อ 30 และข้อ 31 ให้จำเลยเป็นผู้มีอำนาจในการวางแผน สำรวจ ออกแบบเกี่ยวกับการสร้างหรือขยายทางพิเศษสายนี้ และบำรุงรักษาทางพิเศษสายนี้ในที่ดินของโจทก์และของผู้อื่นที่ถูกเวนคืนมานั้น โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะขอให้จำเลยสร้างทางซึ่งจะต้องสร้างขึ้นในเขตทางพิเศษสายนี้เพื่อให้ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมีทางออกสู่ถนนสาธารณะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 818/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกล้างสัญญาให้ที่ดินระหว่างสมรส: ใช้ ม.1469 พ.ร.บ.แพ่งฯ เพราะเป็นนิติกรรมระหว่างสามีภรรยา
การที่ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องและคำให้การแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยชี้ขาดให้เสร็จไปทั้งเรื่องโดยไม่ต้องสืบพยานศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งงดสืบพยานและให้คู่ความรอฟังคำพิพากษาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 และมาตรา 182(4)
โจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินแก่จำเลยซึ่งเป็นภรรยาระหว่างสมรสซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 ได้บัญญัติถึงการบอกล้างสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภรรยาทำไว้ต่อกันในช่วงเวลาดังกล่าวไว้โดยเฉพาะแล้ว ดังนั้นเมื่อโจทก์ต้องการบอกล้างสัญญาการให้ที่ดินต่อจำเลย จึงต้องนำบทบัญญัติมาตรา 1469มาใช้บังคับ หาใช่นำบทบัญญัติมาตรา 535 อันเป็นบทบัญญัติทั่วไปมาใช้บังคับไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 818/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกล้างสัญญาให้ที่ดินระหว่างสมรส: ใช้ ม.1469 เกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา
การที่ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องและคำให้การจำเลยแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยชี้ขาดให้เสร็จไปทั้งเรื่องโดยไม่ต้องสืบพยาน จึงให้งดสืบพยานและให้คู่ความรอฟังคำพิพากษานั้นเป็นการสั่งที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24และมาตรา 182(4)
โจทก์จดทะเบียนให้ที่ดิน 7 แปลง แก่จำเลยซึ่งเป็นภริยาระหว่างสมรสนิติกรรมการให้จึงเป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่โจทก์จำเลยได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยา ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 ได้บัญญัติถึงการบอกล้างสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาทำไว้ต่อกันในช่วงเวลาดังกล่าวไว้โดยเฉพาะแล้วดังนั้น เมื่อโจทก์ต้องการบอกล้างสัญญาการให้ที่ดินทั้งหมดต่อจำเลย กรณีต้องนำบทบัญญัติตามมาตรา 1469 มาใช้บังคับ หาใช่ต้องนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 535 อันเป็นบทบัญญัติทั่วไปมาใช้บังคับไม่
of 34