คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 24

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 335 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1527/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทประกันภัยรถยนต์: อายุความ, อนุญาโตตุลาการ, และการดำเนินการพิจารณาที่ชอบ
เมื่อข้อตกลงตามกรมธรรม์ประกันภัย 2 ฉบับนี้เป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการที่ผู้รับประกันภัยค้ำจุนทำกับผู้เอาประกันภัยให้สิทธิผู้มีสิทธิเรียกร้องซึ่งก็คือ ผู้เอาประกันภัย หรือบุคคลผู้ต้องเสียหายจากวินาศภัยมีสิทธิใช้วิธีอนุญาโตตุลาการระงับข้อพิพาทได้ถ้าประสงค์หรือเห็นควร กรณีย่อมแตกต่างจากการที่คู่สัญญาอนุญาโตตุลาการตกลงกันไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการว่าหากเกิดข้อพิพาทระหว่างกันให้ระงับข้อพิพาทนั้นโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งหากมีข้อตกลงนี้คู่สัญญาย่อมไม่อาจใช้สิทธิทางศาลได้ ฉะนั้น ตามข้อตกลงในกรมธรรม์ผู้ร้องจึงอาจเลือกใช้วิธีอนุญาโตตุลาการยื่นคำเสนอข้อพิพาทตามสัญญาประกันภัยระหว่างตนกับผู้คัดค้านที่ 1 ผู้รับประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และกับผู้คัดค้านที่ 2 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนต่ออนุญาโตตุลาการของสำนักงานคณะกรรมการดังกล่าวได้ แม้ตนจะยื่นฟ้องคดีแพ่งผู้ขับรถคันที่เอาประกันภัยไว้กับผู้คัดค้านทั้งสองเรียกร้องให้รับผิดทางละเมิดแล้วก็ตาม การใช้สิทธิยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการของผู้ร้องจึงไม่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต
ผู้ร้องเป็นผู้ประสบภัยจากรถ และเป็นบุคคลผู้ต้องเสียหายตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนเป็นการเรียกจากผู้รับประกันภัยตรงตามกฎหมาย ซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกับการที่เจ้าหนี้ฟ้องคดีให้ศาลเป็นผู้พิจารณาชี้ขาดข้อพิพาท จึงต้องเรียกภายใน 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย และการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเสนอข้อพิพาทเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ดังกล่าวไม่เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ย่อมไม่ทำให้อายุความเรียกร้องทางแพ่งหรือฟ้องคดีแพ่งสะดุดหยุดลง ซึ่งวันวินาศภัยก็คือวันเกิดเหตุรถเฉี่ยวชนเป็นเหตุให้บุตรของผู้ร้องถึงแก่ความตาย หาใช่วันที่ยื่นฟ้องคดีแพ่งเพราะเป็นวันที่มีการคำนวณค่าเสียหายเพื่อเรียกร้องแล้วไม่ ทั้งก็ไม่ได้มีอายุความ 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด เพราะเหตุผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนซึ่งรับค้ำจุนในบรรดาหนี้ทั้งปวงที่มีต่อผู้เสียหายซึ่งก็คือผู้ร้อง เนื่องจากแม้มีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน แต่กำหนดอายุความหรือการที่อายุความสะดุดหยุดลงย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น
กรณีที่คู่พิพาทมิได้กำหนดกฎหมายที่จะใช้บังคับกับข้อพิพาท ก็ต้องใช้กฎหมายไทยบังคับ รวมถึง ป.วิ.พ. ด้วย ซึ่งก่อนมีคำวินิจฉัยชี้ขาดอนุญาโตตุลาการก็ให้โอกาสผู้ร้องยื่นคำคัดค้านคำร้องขอชี้ขาดเบื้องต้นนั้นแล้ว จากนั้นจึงสั่งงดการชี้สองสถานและปิดการพิจารณา ไม่นำสืบพยานหลักฐานและเสนอข้ออ้างข้อต่อสู้ของผู้ร้องต่อไป ซึ่งก็สั่งเช่นนี้ได้เพราะเป็นการวินิจฉัยข้อกฎหมายไม่ต้องอาศัยข้อเท็จจริงอื่นจากพยานหลักฐานใดของทั้งสองฝ่ายมานำสืบอีก การพิจารณาดังกล่าวของอนุญาโตตุลาการจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควรในอำนาจของตน เป็นการพิจารณาข้อพิพาทโดยชอบและปฏิบัติต่อผู้ร้องซึ่งเป็นคู่พิพาทอีกฝ่ายอย่างเท่าเทียมเสมอภาคกันกับฝ่ายผู้คัดค้าน และให้โอกาสผู้ร้องเสนอข้ออ้างข้อต่อสู้ของตนได้ตามพฤติการณ์แห่งข้อพิพาทแล้ว ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวของอนุญาโตตุลาการไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่มีสาเหตุที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 91/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องซ้ำ – สัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพราง – การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนอกประเด็น
ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 หรือไม่นั้น เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ถึงแม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ในปัญหาข้อนี้ไว้ แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 ได้ ไม่ถือเป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำให้การ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7990/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องละเมิด/ผิดสัญญาจ้างแรงงาน: กฎหมายพิเศษ (พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่) ไม่กระทบอายุความทั่วไป (ป.พ.พ.)
จำเลยให้การต่อสู้เพียงว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ระงับการจำหน่ายน้ำนมดิบให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. จึงไม่มีประเด็นแห่งคดีว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 หรือไม่ ทั้งไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดได้เอง จำเลยจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานภาค 1 วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว และแม้ศาลแรงงานภาค 1 จะวินิจฉัยให้ ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดี ดังนั้น จำเลยอุทธรณ์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานภาค 1 ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
โจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์อย่างเดียว แต่โจทก์บรรยายฟ้องด้วยว่าขณะจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานผลิตและจำหน่ายพันธุ์โคนมและรักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานส่งเสริมกิจการโคนม มีหน้าที่รับผิดชอบบริหารจัดการตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ และควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา จำเลยไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ซึ่งเป็นผู้ซื้อได้ จึงเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับผิดทั้งมูลละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้คือวันที่จำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 และ 193/30
มาตรา 10 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เป็นกฎหมายพิเศษที่บัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นการเฉพาะซึ่งขัดหรือแย้งกับมาตรา 448 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไป จึงมีผลยกเว้นมาตรา 448 วรรคหนึ่งเฉพาะในส่วนที่กำหนดให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดขาดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น แต่ไม่มีผลยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 448 วรรคหนึ่งในส่วนที่กำหนดว่าสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายขาดอายุความเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด
จำเลยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับของโจทก์ในช่วงเวลานับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2544 และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือว่ามูลเหตุผิดสัญญาจ้างแรงงานและละเมิดเกิดขึ้นระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งอายุความในมูลหนี้ผิดสัญญาจ้างแรงงานและละเมิดเริ่มนับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2544 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 25 ตุลาคม 2554 จึงเกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6428/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่ารถยนต์และประกันภัย: ความรับผิดของเจ้าของรถยนต์ต่อบุคคลภายนอกเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
การขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายจะขอได้เฉพาะในคดีที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จะมาขอในชั้นฎีกาไม่ได้
จำเลยที่ 2 มีข้อตกลงตามสัญญาเช่ารถยนต์คันเกิดเหตุกับโจทก์ที่ 3 ที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เกี่ยวข้องกรณีรถยนต์คันดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุทุกกรณีด้วย ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นความคุ้มครองแก่ผู้เกี่ยวข้องหรือโจทก์ที่ 3 ตามสัญญาเช่ารถยนต์
ตามสัญญาเช่ารถยนต์ ข้อ 12 ระบุไว้ว่า ผู้ให้เช่ารถยนต์ตกลงว่ารถยนต์จะได้รับความคุ้มครองโดยการประกันภัยแบบครบวงจรด้วยค่าใช้จ่ายของผู้ให้เช่าเอง และได้กำหนดตารางรายละเอียดความคุ้มครองและขีดจำกัดการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไว้ สัญญาเช่ารถยนต์ ข้อ 12 ดังกล่าว คือข้อตกลงที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์ที่ 3 เป็นสัญญาต่างตอบแทนเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 จึงต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวคือจัดทำสัญญาประกันภัยตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน ข้อ 12
จำเลยที่ 2 ได้จัดทำสัญญาประกันภัยรถยนต์ที่เช่าไว้กับบริษัท ธ. และบริษัทผู้รับประกันภัยดังกล่าวได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 แต่ยังไม่ครบตามเงื่อนไขข้อตกลงที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์ที่ 3 โจทก์ที่ 3 จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สัญญารับผิดชดใช้เงินตามข้อตกลงข้อ 12 ส่วนที่เกินจากที่บริษัท ธ. จ่ายแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2673/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละมรดก, อำนาจฟ้อง, ประเด็นนอกฟ้อง: ศาลฎีกาวินิจฉัยประเด็นการสละมรดกและอำนาจฟ้องโจทก์
ประเด็นหรือข้อเท็จจริงที่โจทก์จะยกขึ้นอุทธรณ์ได้นั้น จะต้องเป็นประเด็นหรือข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นเป็นข้ออ้างแห่งข้อหาในคำฟ้อง จะเพียงแต่ยกขึ้นกล่าวอ้างในคำคัดค้านหาได้ไม่ ดังนั้น เมื่อตามคำฟ้องโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ถูกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 หลอกลวงให้โอนที่ดินพิพาทให้ โจทก์จึงไม่อาจยกประเด็นหรือข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้
ปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการสละมรดกหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยกขึ้นอ้างในคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งหากศาลได้วินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็จะทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะสั่งงดการพิจารณาคดีและยกปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 เมื่อศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะงดการพิจารณาคดีได้ดังกล่าว ก็ย่อมที่จะทำการพิพากษาคดีไปได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอเลื่อนการไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษารวมทั้งคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14252/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: ฎีกาคัดค้านคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 หลังมีคำสั่งให้แก้ไขฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 24 เมื่อศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 แล้ว จึงต้องถือว่าคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะวินิจฉัยคำร้องของจำเลยดังกล่าวในรูปแบบของคำพิพากษาก็ตาม แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งคำร้องขอให้ชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นของจำเลยดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ทั้งการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ก็ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวนไปจากศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพราะศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยังต้องพิจารณาต่อไป เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ลงชื่อผู้อุทธรณ์ให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อนแล้วมีคำสั่งใหม่ จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นแห่งคดีแล้ว การที่จำเลยฎีกาขอให้ชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้นอีก จึงเป็นฎีกาคัดค้านคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 196

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10010/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีรับประกันภัยและการรับช่วงสิทธิจากสัญญาจ้างรักษาความปลอดภัย ศาลต้องพิจารณาสิทธิเรียกร้องทั้งสอง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์รับประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิดไว้จากบริษัท อ. และบริษัท อ. ได้ตกลงว่าจ้างจำเลยเป็นผู้ดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของบริษัท ตามสำเนาสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยเอกสารท้ายคำฟ้อง เมื่อระหว่างวันที่ 25 ถึง 28 กรกฎาคม 2546 มีคนร้ายเข้าไปในอาคารแล้วลักทรัพย์รวมมูลค่า 152,166.32 บาท ของบริษัท อ. ไป โดยพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยไม่ใช้ความระมัดระวังดูแลป้องกัน ไม่ตรวจตราดูแลตามหน้าที่ โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้บริษัท อ. ไปจำนวน 147,166.32 บาท จึงเข้ารับช่วงสิทธิมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่มีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากมูลละเมิด และสิทธิเรียกร้องจากการเข้ารับช่วงสิทธิตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยรวมอยู่ด้วย แม้สิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดจะขาดอายุความ แต่สิทธิเรียกร้องตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยที่โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คดีนี้เหตุเกิดระหว่างวันที่ 25 ถึง 28 กรกฎาคม 2546 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามสิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่มูลละเมิดแล้วพิพากษายกฟ้อง โดยยังไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัย จึงเป็นการไม่ชอบ
เมื่อผลของคำพิพากษาศาลฎีกามีเพียงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ อุทธรณ์และฎีกาของโจทก์จึงเป็นการขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันมิอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2046/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีจัดการมรดก: อำนาจศาลในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายและการดำเนินกระบวนการพิจารณาซ้ำ
ป.วิ.พ. มาตรา 24 มิใช่บทบังคับให้ศาลต้องวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามคำขอของคู่ความทุกเรื่อง ถ้าเห็นว่าการวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าวไม่เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายที่ขอหรือคดีจำเป็นต้องดำเนินการพิจารณาต่อไป ศาลชั้นต้นมีอำนาจใช้ดุลพินิจและมีคำสั่งให้รอไว้วินิจฉัยในคำพิพากษาได้
ในการพิจารณาคำร้องขอของผู้ร้องครั้งแรกในศาลชั้นต้น ผู้คัดค้านมิได้เป็นคู่ความในคดีและประเด็นในการวินิจฉัยของศาลชั้นต้นครั้งแรกเป็นเรื่องผู้ร้องเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นว่าพินัยกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ส่วนประเด็นครั้งหลังเป็นเรื่องสมควรถอดถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ทั้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 ว่า เมื่อมีเหตุอันสมควร ศาลมีอำนาจถอนผู้จัดการมรดกเสียได้ เมื่อผู้คัดค้านร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอ้างว่าพินัยกรรมปลอมแต่ผู้ร้องคัดค้านคำร้องขอของผู้คัดค้าน ดังนี้ คำร้องขอของผู้คัดค้านและคำคัดค้านของผู้ร้อง จึงเป็นคำคู่ความที่จะก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท ซึ่งแตกต่างจากประเด็นในการพิจารณาครั้งแรก จึงถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8985/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีมรดก: ต้องฟังข้อเท็จจริงการจัดการมรดกเสร็จสิ้นก่อน
ในการวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง นั้น จำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงให้เป็นยุติเสียก่อนว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ และเสร็จสิ้นลงเมื่อใด เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การว่าได้เรียกประชุมทายาทเพื่อจัดการมรดกและทายาทตกลงกันว่าให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้แก่บริษัท ท. ทั้งหมด โดยทายาทอื่นไม่ต้องรับผิดชอบ และต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองที่ดินจากบริษัท ท. และจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมรดกแล้ว อันเป็นการให้การต่อสู้ว่าโจทก์ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกตามที่โจทก์และทายาทอื่นได้ตกลงกันไว้ ซึ่งหากเป็นความจริงตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ก็ถือได้ว่าการจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นลงนับแต่จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองทรัพย์มรดกและโอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 เข้าถือกรรมสิทธิ์รวม อันเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาท จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ยุติเสียก่อนว่า ได้มีการตกลงกันเช่นนั้นจริงหรือไม่ เพราะหากไม่มีการตกลงกันดังกล่าวไว้ การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินอันเป็นมรดกมาเป็นของตัวเองและจำเลยที่ 2 และโอนไปยังจำเลยที่ 3 นั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยชอบ การครอบครองที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกจึงถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นและถือไม่ได้ว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นด่วนงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งสามกับจำเลยร่วมทั้งสิบเอ็ด และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง และฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดอายุความตามมาตรา 1754 และพิพากษายกฟ้องจึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13180/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งงดชี้สองสถานไม่ใช่คำสั่งชี้ขาดเบื้องต้น โจทก์ไม่โต้แย้งเสียสิทธิอุทธรณ์
ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดชี้สองสถาน ศาลได้สอบถามข้อเท็จจริงจากโจทก์จำเลยแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้และนัดฟังคำพิพากษา เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งก่อนที่จะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) และมิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา 24 เพราะศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่า กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 988/2547 ของศาลชั้นต้น และจำเลยก็อ้างว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความเช่นกันข้อโต้เถียงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบังคับคดี ต้องไปว่ากล่าวกันในคดีเดิม จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีโดยวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ได้ความจากการสอบถามโจทก์จำเลย มิได้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายที่พิพาทกันในคดี ดังนั้น เมื่อนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นเวลา 14 วัน โจทก์ย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะโต้แย้งคำสั่งนั้นได้ แต่มิได้โต้แย้ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว
of 34