คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ม. 19

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7486/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจลงโทษทางวินัยย้อนหลังของเจ้าหน้าที่รัฐที่ลาออกแล้ว: ป.ป.ช.มีอำนาจจำกัดเฉพาะความผิดทุจริต
บทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19 มาตรา 88 มาตรา 91 และมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้ในขณะเกิดเหตุ ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและพิจารณาความผิดทางวินัย เฉพาะข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 เท่านั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัยในข้อที่มีการกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่การงานอย่างร้ายแรง การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัยโจทก์ว่า การกระทำของโจทก์มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่การงานอย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย ตามข้อบังคับของจำเลย ส่วนข้อกล่าวหาทางอาญาไม่มีมูลให้ตกไป จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจ ไม่เข้ากรณีตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์จะถือเอารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาเป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของจำเลย จำเลยต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นทำการสอบสวนโจทก์ตามข้อบังคับของจำเลยเพื่อดำเนินการทางวินัยเสียก่อน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ดำเนินการทางวินัยแก่โจทก์ตามข้อบังคับของจำเลย จึงไม่ชอบด้วยข้อบังคับของจำเลยและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลใช้บังคับแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1766-1767/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับเงินจากผู้เสนอขายที่ดินเพื่อเอื้อประโยชน์ในการจัดซื้อ ที่ดินของ กทม.
ขณะที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 8 กับพวก เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2542 ซึ่งขณะนั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ยังไม่มีผลใช้บังคับ แต่จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2542 การร้องทุกข์กล่าวโทษดังกล่าวจึงไม่อยู่ในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 43 ประกอบมาตรา 84 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และไม่มีมาตราใดของบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้พนักงานสอบสวนซึ่งรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษไว้ก่อนต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่ในระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวนดังกล่าว ม. ยื่นคำกล่าวหาเป็นหนังสือ กล่าวหาจำเลยที่ 1 กับพวก ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2543 ภายหลังจากที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับแล้ว การที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนไปให้พนักงานอัยการ และพนักงานอัยการส่งสำนวนการสอบสวนคืนพนักงานสอบสวนเพื่อให้ส่งไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. อันเป็นการปฏิบัติตามระเบียบการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 ข้อ 60 เมื่อพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. รับสำนวนการสอบสวนกับการไต่สวนข้อเท็จจริงตามที่ ม. ยื่นคำกล่าวหาไว้ ซึ่งในขณะที่ ม. ยื่นคำกล่าวหานั้นจำเลยที่ 4 ยังดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมมีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19, 43, 84 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 ส่วนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนที่ทำการสอบสวนจำเลยที่ 8 ในคดีนี้แล้วต่อมาได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ไม่มีผลทำให้การสอบสวนและการฟ้องคดีนี้ของโจทก์เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 8