คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 57 (ก)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2628/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดเจ้าหน้าที่ - ความรับผิดร่วม - ประมาท - เจตนาทุจริต - ค่าเสียหาย - สิทธิไล่เบี้ย
ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จะต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิมของโจทก์ด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม แต่กรณีที่จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามโดยอ้างว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้ เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทนนั้น จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ร้องสอดตามมาตรา 57 (3) (ก) มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ตามมาตรา 58 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามมาตรา 57 (3) (ก) แล้ว จำเลยร่วมมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าจำเลยร่วมได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การ ฟ้องแย้งโจทก์และจำเลยร่วมมาในฉบับเดียวกัน จึงต้องแยกพิจารณาว่าคำร้องดังกล่าวโต้แย้งสิทธิของโจทก์เดิมหรือจำเลยร่วม เมื่อคำร้องดังกล่าวจำเลยที่ 1 มีคำขอให้บังคับจำเลยร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จึงถือคำขอบังคับของจำเลยที่ 1 ส่วนนี้เป็นคำฟ้องเริ่มต้นคดีที่บังคับเอาแก่จำเลยร่วมเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทนซึ่งชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) และ 58 แล้ว มิใช่คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ขอบังคับแก่โจทก์เดิมที่จะต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิมตามมาตรา 177 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4567/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดุลพินิจศาลในการเรียกบุคคลภายนอกเข้าเป็นจำเลยร่วม: พิจารณาความสะดวกในการพิจารณาคดี
แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) จะเป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่คู่ความในคดีที่จะขอให้ศาลหมายเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ถ้าหากศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดี แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ใช่บทบังคับเด็ดขาดว่า ศาลจะต้องอนุญาตตามคำร้องขอในทุกกรณี ศาลย่อมมีดุลพินิจที่จะพิจารณาว่า สมควรให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี หรือไม่เรียกเข้ามาในคดี หากจะไม่เป็นการสะดวกแก่การพิจารณา หากศาลไม่อนุญาตให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี คู่ความที่ยื่นคำร้องขอก็ยังมีสิทธิที่จะฟ้องบุคคลภายนอกดังกล่าวเป็นคดีใหม่ต่างหากจากคดีนี้ได้
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมรับผิดตามมูลหนี้สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียก ศ. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมเพื่อให้รับผิดต่อโจทก์ เนื่องจาก ศ. เป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อในสัญญาเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ตัวแทนทำไว้กับโจทก์ ย่อมเห็นได้ชัดแจ้งว่าไม่สะดวกแก่การพิจารณาเพราะต้องตั้งเป็นประเด็นข้อพิพาทขึ้นใหม่ ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นเดิม จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ต้องว่ากล่าวกับ ศ. โดยเฉพาะ ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องจึงเป็นดุลพินิจในการพิจารณาสั่งคดีของศาลชั้นต้นที่มีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย ไม่มีเหตุให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10749/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิอุทธรณ์ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในคดีรับขน และความคุ้มครองประกันภัยความเสียหายจากการขนส่ง
โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดชำระค่าเสียหายตามสัญญารับขน จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ว่าจ้างจำเลยร่วมที่ 2 เป็นผู้ขนส่งอีกทอดหนึ่ง จำเลยร่วมที่ 2 ใช้รถโฟร์กลิฟยกเครื่องขัดเรียบลงจากรถยนต์บรรทุกโดยเครื่องขัดเรียบหล่นกระแทกพื้นได้รับความเสียหาย และยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยต่อไปในภายหลังหากศาลพิจารณาให้ตนเป็นฝ่ายแพ้คดี การเรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาในคดีก็เพื่อให้ผูกพันในผลแห่งคดี จำเลยที่ 2 มิได้อยู่ในฐานะเป็นคู่ความคนละฝ่ายกับจำเลยร่วมที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาในปัญหาเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยร่วมที่ 2 โดยที่โจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกาแม้จำเลยร่วมที่ 2 จะยื่นคำแก้อุทธรณ์และคำแก้ฎีกา คดีก็ไม่มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยร่วมที่ 2 ในชั้นอุทธรณ์และฎีกา คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบ การที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในปัญหาดังกล่าวและที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ก็ไม่ชอบเช่นกัน