คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 142 (5)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4,624 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 139/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขับรถเมาแล้วชนคนตาย ศาลลงโทษฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และปรับดอกเบี้ยค่าสินไหมทดแทน
ความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 โจทก์ร่วมทั้งสามไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานนี้โดยตรงจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยหนักกว่าโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามและศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับพิจารณาในข้อหานี้โดยกำหนดโทษใหม่เป็นจำคุก 4 ปี จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวแม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ออกมาจากค่ายสุรธรรมพิทักษ์ แล้วเปลี่ยนช่องเดินรถไปทางขวาที่มีรถยนต์กระบะของจำเลยแล่นอยู่ โดยผู้ตายไม่ตรวจตรารถที่วิ่งมาในทางตรงให้ปลอดภัยทำให้รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกัน ผู้ตายมิได้ใช้ความระมัดระวังในการเปลี่ยนช่องเดินรถถือว่าผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วย ส่วนจำเลยขับรถยนต์ในขณะมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 182 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ตามที่กฎหมายกำหนด อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มุ่งประสงค์จะเอาผิดและลงโทษผู้ขับขี่ที่เมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น เนื่องจากสุราหรือของมึนเมาทำให้สมรรถภาพในการควบคุมยานพาหนะด้อยประสิทธิภาพลง อันอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้โดยง่าย จำเลยขับรถผ่านที่เกิดเหตุซึ่งเป็นทางตรงและเป็นช่วงเวลากลางวัน หากจำเลยไม่อยู่ในอาการมึนเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น จำเลยก็น่าจะหักรถหลบหรือหยุดรถได้ทันก่อนที่จะเกิดการเฉี่ยวชนกันขึ้น เหตุเฉี่ยวชนจึงเกิดจากความประมาทของจำเลยด้วยเช่นกัน เมื่อจำเลยมีส่วนประมาท จำเลยจึงไม่หลุดพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด
เมื่อจำเลยและผู้ตายต่างเป็นฝ่ายประมาทก่อให้เกิดมูลหนี้ขึ้น กรณีจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ที่บัญญัติว่า ถ้าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และมาตรา 223 บัญญัติว่า ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ได้ความว่า จำเลยขับรถยนต์ในขณะมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 182 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ค่อนข้างมาก บ่งชี้ว่าจำเลยไม่แยแสต่อผลร้ายที่จะเกิดขึ้นจากการขับรถในขณะที่ตนเมาสุรา ทั้งจุดชนอยู่ในช่องเดินรถที่สองนับจากซ้ายมือแสดงว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยไม่ได้ขับรถในช่องเดินรถซ้ายสุดตามที่กฎหมายกำหนด บนพื้นถนนก็ไม่ปรากฏว่ามีรอยเบรคของรถยนต์คันที่จำเลยขับ ทั้งที่สถาพบริเวณถนนที่เกิดเหตุจำเลยสามารถมองเห็นรถที่แล่นอยู่ในทิศทางเดียวกับรถของตนได้โดยง่าย ตามพฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่า จำเลยมีส่วนประมาทเลินเล่อมากกว่าผู้ตาย จำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชำระแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดนั้น เป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว จึงกำหนดให้จำเลยรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 เท่ากับจำนวนที่ศาลชั้นต้นกำหนด
เมื่อลงโทษจำเลยฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 ตรี วรรคสี่แล้ว ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยฐานขับรถในขณะเมาสุราตามมาตรา 160 ตรี วรรคหนึ่งได้อีก และจำเลยยังมีความผิดฐานขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุรา และมิได้พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
สำหรับอัตราดอกเบี้ยของค่าสินไหมทดแทน ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีการประกาศใช้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไข ป.พ.พ. มาตรา 7 และมาตรา 224 เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 56/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่า, ค่าเสียหาย, ดอกเบี้ยผิดนัด, การปรับอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายใหม่, สิทธิของเจ้าหนี้
ตามสัญญาเช่าระบุว่า ในกรณีสัญญาสิ้นสุดไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ ผู้เช่าจะต้องขนย้ายทรัพย์สินและบริวารแล้วส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าคืนให้แก่ผู้ให้เช่าในสภาพเรียบร้อยที่ผู้ให้เช่าสามารถใช้ประโยชน์ได้ทันทีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สัญญาสิ้นสุดลง หากพ้นกำหนดนี้แล้วผู้เช่าต้องชดใช้ค่าปรับแก่ผู้ให้เช่าในอัตราวันละ 667 บาท สัญญาข้อนี้เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่าหากจำเลยผิดข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าว ยินยอมให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับรายวันจากจำเลยได้ เป็นการตกลงกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้า เมื่อจำเลยผิดสัญญา จำเลยจึงต้องรับผิดตามข้อตกลงดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลดค่าปรับโดยเห็นว่าเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนโดยพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างแล้วลดค่าปรับรายวันเหลือวันละ 450 บาท และศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย นับว่าเหมาะสมแล้ว เมื่อจำเลยมิได้ส่งมอบอาคารที่เช่าคืนโจทก์ภายในกำหนดระยะเวลาตามสัญญาเช่า อันเป็นการไม่ชําระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชําระค่าปรับรายวัน ตามสัญญาเช่าข้อ 17 ในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายและโจทก์มีสิทธิพิสูจน์ค่าเสียหายยิ่งกว่านั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรคสอง การที่จำเลยไม่ส่งมอบอาคารที่เช่าคืนแก่โจทก์เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายในส่วนที่ต้องดำเนินการให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากอาคารที่เช่าพร้อมกับส่งมอบอาคารที่เช่าคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย และการที่จำเลยยังคงอยู่ในอาคารที่เช่าต่อไปหลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วโดยไม่มีสิทธิ ย่อมเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดประโยชน์ที่จะได้รับจากทรัพย์สินของโจทก์อีกส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นค่าเสียหายคนละส่วนกับค่าปรับรายวันตามสัญญาเช่าข้อ 16
เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้ว จำเลยไม่ส่งมอบอาคารที่เช่าคืนโจทก์ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้ประโยชน์จากอาคารของโจทก์ได้ แม้อาคารของโจทก์มีสภาพผุกร่อนของคอนกรีต อันส่งผลให้อาคารมีสภาพที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรืออาจไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัยดังที่จำเลยฎีกา แต่ก็ยังสามารถใช้อยู่อาศัย หรือใช้ประโยชน์อื่นได้ โดยจำเลยเองก็ยังประสงค์จะขอให้โจทก์ต่อสัญญาเช่าให้อีก โจทก์จึงอาจนําอาคารของโจทก์ให้บุคคลอื่นเช่าได้ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชําระค่าเสียหายคิดเสมือนค่าเช่ารายเดือนในอัตราเดือนละ 2,000 บาท ต่อคูหาเท่ากับอัตราค่าเช่าตามสัญญาตามที่โจทก์ขอ และศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย นับว่าเหมาะสมแล้ว
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าบํารุงรายปีเนื่องจากจำเลยอยู่ในอาคารที่เช่าต่อไปหลังสัญญาเช่าสิ้นสุดแล้วโดยไม่มีสิทธิ โดยโจทก์นําอัตราค่าบํารุงรายปีที่จำเลยต้องชําระตามสัญญาเช่ามาเป็นเกณฑ์ในการเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้ เท่ากับโจทก์เรียกค่าเสียหายโดยอาศัยข้อสัญญาเช่า เมื่อสัญญาเช่ามีการบอกเลิกสัญญาทำให้สัญญาสิ้นสุดแล้ว โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้จำเลยชําระค่าบํารุงรายปีตามข้อสัญญาได้อีก คงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยผิดสัญญาเท่านั้น
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 และมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่ง ป.พ.พ. เดิม และบัญญัติให้ใช้ความใหม่ว่า ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ โดยนิติกรรมหรือโดยบทบัญญัติกฎหมายโดยชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี... และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 224 เดิม แห่ง ป.พ.พ. และบัญญัติให้ใช้ความใหม่ว่า หนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี... และพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 7 บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 224 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชําระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 การที่จำเลยผิดสัญญาต่อโจทก์จึงเป็นหนี้เงิน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชําระหนี้แก่โจทก์ แต่ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่ ส่วนอัตราดอกเบี้ยนับแต่วันผิดสัญญาถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 เดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4661/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายที่ดินโดยมีเจตนาลวงเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายจัดสรรที่ดิน ทำให้สัญญาเป็นโมฆะ และที่ดินต้องคืนแก่ผู้ขาย
โจทก์และจำเลยมีเจตนาซื้อขายที่ดินเนื้อที่เพียง 100 ตารางวา เท่านั้น แต่มีเจตนาลวงซื้อขายที่ดินพิพาทเนื้อที่ 58.2/10 ตารางวา รวมไปด้วยเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้มีการแบ่งแยกที่ดินตั้งแต่ 10 แปลง ขึ้นไป อันเป็นการจัดสรรที่ดินตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 4 โดยมีข้อตกลงให้โจทก์ชำระหนี้จำนองในส่วนที่ดินพิพาทและให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนโจทก์เมื่อพ้นกำหนด 3 ปี นิติกรรมการซื้อขายในส่วนที่ดินพิพาทจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยโจทก์และจำเลยสมรู้ร่วมกัน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องคืนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตามมาตรา 172 วรรคสอง อย่างไรก็ดีกรณีเป็นเรื่องที่โจทก์กระทำการหลีกเลี่ยงกฎหมายเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินโดยจัดสรรที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 21 การดำเนินการของโจทก์ยังคงต้องด้วยหลักเกณฑ์การจัดสรรที่ดินโดยอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายที่ให้ผู้จัดสรรที่ดินจัดให้มีสาธารณูปโภคขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการ ที่ดินพิพาทจึงเป็นสาธารณูปโภคตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และเป็นหน้าที่ของโจทก์ผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไปตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43 อันเป็นเหตุให้จำเลยไม่อาจเข้าขัดขวางหน้าที่ของโจทก์ดังกล่าว และไม่อาจขับไล่โจทก์กับห้ามโจทก์ยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท โดยให้โจทก์รื้อถอนหรือขนย้ายสิ่งของหรืออุปกรณ์ที่นำมาติดตั้งในที่ดินเพื่อจัดทำสาธารณูปโภคตามฟ้องแย้งได้ ปัญหาอำนาจฟ้องของจำเลยดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) แต่การกระทำการเพื่อชำระหนี้ของโจทก์ยังถือเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย โจทก์ไม่อาจเรียกคืนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4210/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าโมฆะเนื่องจากมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมาย (โรงแรมในที่ธรณีสงฆ์) คู่กรณีไม่ต้องรับผิดซึ่งกันและกัน
เมื่อโจทก์กับจำเลยทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทกันโดยมีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อจะประกอบธุรกิจโรงแรมในอาคารพิพาททั้ง ๆ ที่มีกฎหมายห้ามไว้เช่นนี้จึงเป็นการที่จำเลยทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทกับโจทก์โดยมีวัตถุประสงค์ในมูลเหตุชักจูงใจเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาเช่าจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 252
เมื่อสัญญาเช่าเป็นโมฆะโจทก์จะมาเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ และเรียกร้องค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจากจำเลยไม่ได้ ส่วนการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากสัญญาเช่าที่เป็นโมฆะจะต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แต่เมื่อโจทก์กับจำเลยทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทโดยมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายอันเป็นการผิดกฎหมาย จึงถือว่าการที่โจทก์จำเลยกระทำการชำระหนี้ตามสัญญาเช่าเป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ทั้งโจทก์และจำเลยหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 และเมื่อโจทก์กับจำเลยต่างก็กระทำการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายด้วยกันทั้งสองฝ่าย จำเลยจะมาฟ้องแย้งว่าโจทก์กระทำละเมิดหลอกลวงจำเลยด้วยการปกปิดความจริงในเหตุทั้งสาม ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างที่จำเลยนำสืบไม่ได้ ถือว่าเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4028/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประกันภัยเช่าซื้อ: การคุ้มครองทั้งรถยนต์และสิทธิของเจ้าหนี้เช่าซื้อ, การรับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิด
เหตุแห่งการทำสัญญาประกันภัยเป็นผลสืบเนื่องมาจากที่ ว. เช่าซื้อรถจักรยานยนต์จากบริษัท ก. ซึ่งตามกรมธรรม์ประกันภัยแนบท้าย หมวด 2 ข้อตกลงคุ้มครอง และหมวด 4 เงื่อนไขทั่วไป ข้อ 9 ระบุว่า หากทรัพย์สินที่เอาประกันภัยสูญหายจากการลักทรัพย์ โจทก์จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อไม่เกินมูลค่าหนี้ค่าเช่าซื้อที่เหลืออยู่ตามสัญญา ณ วันที่เกิดความสูญหาย ส่วนที่เหลือ (ถ้ามี) โจทก์จะจ่ายให้แก่ผู้เอาประกันภัย ทั้งนี้ สูงสุดไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย แสดงให้เห็นว่าภัยที่ผู้เอาประกันภัยยกขึ้นเอาประกันกับโจทก์คือสิทธิและความรับผิดที่เกิดมีขึ้นตามสัญญาเช่าซื้อ และตามข้อตกลงแห่งกรมธรรม์ยังชี้ให้เห็นถึงภัยซึ่งโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรับเสี่ยงมีลักษณะเป็นการคุ้มครองสิทธิและความรับผิดที่เกิดมีขึ้นตามสัญญาเช่าซื้อเช่นกัน เพราะนำมูลค่าหนี้ค่าเช่าซื้อที่เหลืออยู่ตามสัญญามาเป็นเงื่อนไขแห่งความรับผิดในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ผู้รับประกันภัยโดยมีบริษัท ก. ผู้ให้เช่าซื้อเป็นผู้รับประโยชน์ แต่ตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยนอกจากจะระบุรายละเอียดสัญญาเช่าซื้อไว้ยังได้ระบุถึงทรัพย์สินที่เอาประกันภัยและระบุความคุ้มครองถึงการสูญหายหรือเสียหายโดยสิ้นเชิงของรถจักรยานยนต์ อันเป็นการกำหนดรายการวัตถุที่เอาประกันภัย ถือได้ว่าเป็นการประกันภัยตัวรถจักรยานยนต์คันที่เช่าซื้อ อีกประการหนึ่งด้วย และเงื่อนไขแห่งความรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ตามสัญญาประกันภัยรวมถึง ภัยที่จะเกิดแก่รถจักรยานยนต์ด้วย หาใช่เพียงสิทธิหรือความรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อเท่านั้นไม่ บริษัท ก. ในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์และ ว. ในฐานะผู้ครอบครองจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในวัตถุที่เอาประกันภัย กรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวมีผลผูกพันคู่สัญญา เมื่อรถจักรยานยนต์ถูกโจรกรรมสูญหายไปโดยความประมาทของจำเลย และโจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยแล้ว โจทก์ย่อม เข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยเรียกให้จำเลยผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ได้
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีการประกาศใช้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไข ป.พ.พ. มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ ปัญหาการกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2809/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจถอนการยึดทรัพย์เอง ศาลต้องเป็นผู้ชี้ขาดสิทธิในทรัพย์สิน
เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำขอยึดอสังหาริมทรัพย์ ณ ที่ทำการเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2560 และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์ ณ ที่ทำการในวันดังกล่าวตามคำขอของโจทก์ การยึดทรัพย์ดังกล่าวย่อมมีผลตามกฎหมาย ส่วนที่จำเลยที่ 4 ได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านไปก่อนในวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ตามคำขอแบ่งทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส ผู้คัดค้านคงมีสิทธิเพียงขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 323 โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตน ดังนั้น ปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 4 หรือผู้คัดค้านซึ่งได้รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 4 ก่อนการยึดเพียง 2 วัน จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด หาใช่เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะวินิจฉัยเองว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้คัดค้านให้การยึดที่ดินพิพาทไม่มีผลตามกฎหมาย ทั้งในกรณีนี้ตามกฎหมายก็ไม่มีบทบัญญัติใดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจถอนการยึดทรัพย์ได้เองและเรียกให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายและค่าใช้จ่ายในชั้นบังคับคดีได้ ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้การยึดที่ดินพิพาทไม่มีผลเป็นการยึดตามกฎหมาย เรียกให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายและค่าใช้จ่ายในชั้นบังคับคดีมานั้น จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2588/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างทำของชำรุดบกพร่อง & การคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 7 ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบัญญัติหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี" และมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 224 หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี..." ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 และ พ.ร.ก. ดังกล่าว มาตรา 7 บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ก. นี้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่ พ.ร.ก. นี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่ พ.ร.ก. นี้ใช้บังคับ คดีนี้โจทก์ต้องชำระดอกเบี้ยของเงินที่ได้รับไว้นับแต่วันที่ 27 เมษายน 2560 ต่อมาจำเลยได้ทวงถามให้โจทก์ชำระเงินคืน และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 จำเลยฟ้องแย้งขอเรียกคืนเงินสำรองและค่าเสียหาย จึงมีการคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระก่อนที่ พ.ร.ก. นี้ใช้บังคับ กรณีต้องนำบทบัญญัติมาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับ โดยจำเลยมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละสามต่อปีตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปีเท่ากับร้อยละห้าต่อปีนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 อันเป็นวันที่ พ.ร.ก. นี้มีผลใช้บังคับเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่จำเลยยังคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่ พ.ร.ก. นี้ใช้บังคับในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 ทั้งนี้ปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลสามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2429/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทซื้อขายที่ดินพร้อมบ้าน และการแก้ไขอัตราดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมาย
ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 310,870 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาในปัญหานี้ ก็ปรากฏว่ามีประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไข ป.พ.พ. มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคแรก เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ปัญหาการกำหนดดอกเบี้ยตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองและกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2193/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ แม้ทุจริตก็ยังเป็นการปฏิบัติหน้าที่
จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ให้เป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีในการขายทอดตลาดหน่วยลงทุนพิพาท ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 กระทำโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือ คำสั่งของจำเลยที่ 2 ในการขายทอดตลาด หรือกระทำโดยทุจริต หรือแม้การกระทำของจำเลยที่ 1 จะเป็นความผิดอาญา ก็หามีผลทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 1 ขายทอดตลาดหน่วยลงทุนให้บุคคลภายนอกในราคาต่ำกว่าราคาซื้อขายที่แท้จริงและบุคคลภายนอกได้นำหน่วยลงทุนดังกล่าวขายคืนให้แก่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ไม่สามารถโอนหน่วยลงทุนพิพาทกลับมาเป็นของ ก. ลูกหนี้ของโจทก์ได้ เนื่องจากเป็นหน่วยลงทุนในกองทุนเปิดซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเสนอซื้อหรือเสนอขายได้ตลอด ทำให้ไม่มีหน่วยลงทุนพิพาทของลูกหนี้โจทก์หลงเหลืออยู่ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายจากการทำละเมิดที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 2 จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยให้ชดใช้เงินกลับคืนกองทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1682/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินมรดก: สิทธิเรียกร้องของผู้รับมรดก vs. บุคคลภายนอกที่ได้มาโดยสุจริต
จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ต. ผู้ตาย มีหน้าที่แบ่งปันทรัพย์มรดก แต่ยังไม่ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาท เนื่องจากโจทก์เป็นผู้เยาว์โดยจะรอให้บรรลุนิติภาวะเสียก่อน แต่ น. มารดาของโจทก์เดือดร้อนเรื่องเงินจึงมาขอแบ่งปันทรัพย์มรดก โดยยอมรับเอาบ้าน 1 หลัง เงิน 10,000 บาท และ วัว 4 ตัว เพื่อจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับที่ดินทรัพย์มรดกเป็นการใช้อำนาจปกครองโจทก์ผู้เป็นบุตรซึ่งไม่บรรลุนิติภาวะจำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะทายาทที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นนิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่มารดาของโจทก์ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (4) แต่มารดาของโจทก์ไปตกลงแบ่งทรัพย์มรดกโดยมิได้รับอนุญาตจากศาล ย่อมไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ในขณะที่ น. มารดาของโจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และ 252 และถือไม่ได้ว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลง เมื่อฟ้องโจทก์เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกจึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาท อันถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่สิทธิของโจทก์ผู้ได้มานั้นยังมิได้จดทะเบียน มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต โดยตามคำฟ้องของโจทก์มิได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในที่ดินทรัพย์มรดกมาโดยมิได้เสียค่าตอบแทนและโดยไม่สุจริต และมิได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ถือว่าคำฟ้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จะหักล้างบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 6 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ต้องรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในที่ดินทรัพย์มรดกมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต โจทก์จึงไม่อาจฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินพิพาทได้
of 463