พบผลลัพธ์ทั้งหมด 9 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4107/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบังคับคดีอาญา: ศาลไม่รับคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีและฎีกา กรณีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำลำน้ำ
คดีนี้เป็นคดีอาญาที่ถึงที่สุดแล้ว ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษปรับกับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและอาคารที่ก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตภายใน 60 วัน นับแต่มีคำพิพากษา โทษที่ลงแก่จำเลยเป็นโทษทางอาญาและเมื่อคดีถึงที่สุด ต้องมีการบังคับตามคำพิพากษาดังที่บัญญัติไว้ในภาค 6 แห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้า การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้งดการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและอาคารที่ก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำโดยอ้างถึงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 32/2560 มีผลเท่ากับเป็นการของดการบังคับโทษทางอาญาอันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้น จำเลยไม่มีอำนาจยื่นคำร้องดังกล่าว ทั้งกรณีมิใช่เป็นเรื่องของการบังคับคดีส่วนแพ่ง จึงไม่อยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 247 ที่ต้องขออนุญาตฎีกา ประกอบกับไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้สิทธิจำเลยยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีในกรณีเช่นนี้ได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องขออนุญาตฎีกาและคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีของจำเลยมานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3328/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์แก้ไขคำพิพากษาเฉพาะบางฐานความผิด คดีถึงที่สุดแล้ว
คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) (6) (7) 339 วรรคท้าย เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) (6) (7) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ริบของกลาง โจทก์และจำเลยต่างไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นด้วยเฉพาะความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 (6) (7) 339 วรรคท้าย และโทษที่ลงแก่จำเลย แต่ไม่เห็นพ้องด้วยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในข้อหาตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งมีผลเท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนทุกฐานความผิด คดีเป็นอันถึงที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสองแล้ว จำเลยย่อมฎีกาไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5252/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าปรับคดีอาญาไม่เป็นหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ศาลและอัยการมีอำนาจบังคับคดีได้โดยไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้
การบังคับโทษปรับเป็นการใช้อำนาจรัฐเกี่ยวกับการลงโทษทางอาญาแก่จำเลยที่ 1 เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วเป็นอำนาจของศาลที่จะบังคับโทษปรับแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องในฐานะพนักงานอัยการมีอำนาจบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับเต็มจำนวนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา
การที่จำเลยที่ 1 ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และบรรดาเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 จะต้องขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ต่อผู้คัดค้านตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2583 มาตรา 27, 91 วรรคหนึ่ง และมาตรา 94 แต่คดีนี้ศาลและผู้ร้องมิใช่เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 อีกทั้งค่าปรับก็มิใช่หนี้ตามที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย แต่การชำระเงินค่าปรับหรือการบังคับโทษปรับเป็นการใช้อำนาจรัฐเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยศาลและพนักงานอัยการเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 29 โดยไม่จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้คัดค้านเช่นเดียวกับหนี้เงินในคดีแพ่ง มิฉะนั้นแล้วการลงโทษทางอาญาจะไม่ต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะกฎหมายอาญาจัดเป็นกฎหมายมหาชนว่าด้วยความผิดและโทษทางอาญาเป็นบทบัญญัติถึงความเกี่ยวพันระหว่างเอกชนกับรัฐ ทั้งการกระทำความผิดนั้นยังได้ชื่อว่ากระทบกระเทือนต่อมหาชนเป็นส่วนรวม จึงไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติล้มละลายซึ่งผู้ร้องจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้
การที่จำเลยที่ 1 ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และบรรดาเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 จะต้องขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ต่อผู้คัดค้านตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2583 มาตรา 27, 91 วรรคหนึ่ง และมาตรา 94 แต่คดีนี้ศาลและผู้ร้องมิใช่เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 อีกทั้งค่าปรับก็มิใช่หนี้ตามที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย แต่การชำระเงินค่าปรับหรือการบังคับโทษปรับเป็นการใช้อำนาจรัฐเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยศาลและพนักงานอัยการเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 29 โดยไม่จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้คัดค้านเช่นเดียวกับหนี้เงินในคดีแพ่ง มิฉะนั้นแล้วการลงโทษทางอาญาจะไม่ต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะกฎหมายอาญาจัดเป็นกฎหมายมหาชนว่าด้วยความผิดและโทษทางอาญาเป็นบทบัญญัติถึงความเกี่ยวพันระหว่างเอกชนกับรัฐ ทั้งการกระทำความผิดนั้นยังได้ชื่อว่ากระทบกระเทือนต่อมหาชนเป็นส่วนรวม จึงไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติล้มละลายซึ่งผู้ร้องจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6874/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความหมายจับและการสิ้นผลของหมายจับเมื่อความผิดขาดอายุความ
ป.วิ.อ. มาตรา 68 บัญญัติว่า "หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้ เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความหรือศาลซึ่งออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน" เช่นนี้ เมื่อความผิดอาญาตามหมายจับจำเลยขาดอายุความแล้ว หมายจับย่อมสิ้นผลไปในตัวโดยไม่ต้องเพิกถอนหมายจับอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3659/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบังคับคดีในคดีอาญาต้องรอคดีถึงที่สุด แม้คำพิพากษาจะมีผลทันที
แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 188 จะบัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป แต่คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 3 คืนหรือชดใช้เงินแก่โจทก์ร่วมทั้งสาม ก็ยังไม่มีผลให้โจทก์ร่วมทั้งสามซึ่งเป็นผู้เสียหายสามารถบังคับคดีได้ทันที เพราะคำพิพากษาในส่วนเรียกทรัพย์สินหรือราคาที่ยังไม่ได้คืนเนื่องจากการกระทำความผิดเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44 วรรคสอง ซึ่งการบังคับคดีต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. ว่าด้วยเรื่องการบังคับตามคำพิพากษา เมื่อ ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคหนึ่ง กำหนดให้การบังคับตามคำพิพากษาในคดีอาญาจะกระทำได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ดังนั้นในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุด โจทก์ร่วมทั้งสามจึงยังไม่อาจบังคับตามคำพิพากษาในส่วนเรียกทรัพย์สินหรือราคาที่ยังไม่ได้คืนเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ได้ การออกหมายบังคับคดีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11216/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบังคับคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ต้องรอคดีอาญาถึงที่สุดก่อน
คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ถือคดีอาญาเป็นหลัก จึงจะฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งให้แตกต่างไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาที่ฟังเป็นยุติแล้วไม่ได้ ทั้งมาตรา 44 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการฟ้องคดีอาญาและเรียกค่าสินไหมทดแทน คดีส่วนแพ่งย่อมรวมเป็นส่วนหนึ่งของคดีส่วนอาญา เมื่อ ป.วิ.อ. ภาค 6 หมวด 1 การบังคับตามคำพิพากษา มาตรา 245 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้า ซึ่งมีความหมายว่าการบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีอาญาจะกระทำได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น คดีส่วนแพ่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคดีส่วนอาญาจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วยเช่นเดียวกัน จำเลยอุทธรณ์และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 คดียังไม่ถึงที่สุด โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายจึงไม่อาจขอให้ออกคำบังคับและหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้เพิกถอนคำสั่งออกคำบังคับและหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้นชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิจารณาคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีของจำเลยระหว่างอุทธรณ์นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งยกคำร้อง อำนาจในการสั่งให้ทุเลาการบังคับหรือไม่เป็นอำนาจเฉพาะของศาลแต่ละชั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งในเรื่องนี้อย่างไรแล้ว โจทก์ร่วมจะฎีกาคำสั่งดังกล่าวไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4897/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบังคับคดีค่าปรับ: ศาลมีอำนาจกักขังแทนค่าปรับได้ทันทีหลังพิพากษา แม้คดียังไม่ถึงที่สุด
แม้ ป.วิ.อ.มาตรา 245 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้าก็ตาม แต่ตาม ป.อ.มาตรา 29 วรรคแรก ได้บัญญัติถึงวิธีการบังคับชำระค่าปรับไว้โดยเฉพาะแล้ว โดยบัญญัติว่า ผู้ใดต้องโทษปรับ และไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งกักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้ และตาม ป.วิ.อ.มาตรา 188 บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป ดังนั้น หากการบังคับชำระค่าปรับจะกระทำได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว กฎหมายย่อมบัญญัติไว้เช่นนั้นโดยตรง นอกจากนี้ ป.อ.มาตรา 29 วรรคแรก ได้บัญญัติถึงมาตรการชั่วคราวก่อนการบังคับชำระค่าปรับ ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งกักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้ จึงมีผลว่าศาลอาจมีคำสั่งให้กักขังแทนค่าปรับได้ทันทีตั้งแต่มีคำพิพากษา แต่การกักขังแทนค่าปรับไปพลางก่อนนั้นกฎหมายยังให้เวลาผู้ต้องโทษปรับจัดการให้ได้เงินมาชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา เมื่อครบกำหนดสามสิบวันแล้ว แม้จะมีอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษานั้นก็ไม่เป็นเหตุขัดขวางการที่ศาลจะบังคับคดีไปตาม ป.อ.มาตรา 29
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4895/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าปรับบังคับคดีได้แม้คดีไม่ถึงที่สุด ตามป.อ. มาตรา 29
แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้าก็ตาม แต่ตาม ป.อ. มาตรา 29 วรรคแรก ได้บัญญัติถึงวิธีการบังคับชำระค่าปรับไว้โดยเฉพาะแล้ว โดยบัญญัติว่าผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือสั่งกักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้ และตาม ป.วิ.อ. มาตรา 188 บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป จึงมีผลว่าศาลอาจมีคำสั่งให้กักขังแทนค่าปรับได้ทันทีตั้งแต่มีคำพิพากษา และกฎหมายให้เวลาผู้ต้องโทษปรับจัดการให้ได้เงินมาชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา เมื่อครบกำหนดสามสิบวันแล้วแม้จะมีการอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษานั้นก็ไม่เป็นเหตุขัดขวางการที่ศาลจะบังคับคดี เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2546 จำเลยจะต้องชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษา จำเลยจะขอชำระค่าปรับเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1958/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจบังคับคดีของพนักงานอัยการในส่วนแพ่งของคำพิพากษาคดีอาญา กรณีให้จำเลยออกจากพื้นที่ป่าสงวน
คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยทั้งสาม คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวาร ออกจากป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ เป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีอาญา เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วศาลชั้นต้นชอบที่จะบังคับคดีให้จำเลยทั้งสามปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยไม่ชักช้าตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นยังไม่ได้ออกคำบังคับให้จำเลยทั้งสามปฏิบัติตามคำพิพากษา พนักงานอัยการโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีชอบที่จะขอให้บังคับจำเลยทั้งสามให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ การบังคับคดีของพนักงานอัยการโจทก์นอกจากที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 249 (เดิม) แล้ว กรณีที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้บัญญัติเกี่ยวกับการบังคับคดีไว้โดยเฉพาะ พนักงานอัยการโจทก์ก็อาจดำเนินการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ได้ด้วย ทั้งนี้มิต้องคำนึงว่าพนักงานอัยการโจทก์จะเป็นคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 หรือไม่ มิฉะนั้นแล้วคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็จะไร้ผลบังคับ