คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุนทร ทรงฤกษ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 186 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2754/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดโทษใหม่ตามกฎหมายยาเสพติดที่แก้ไข กรณีโทษเดิมหนักกว่าโทษใหม่
ความผิดฐานผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายตาม พ.รบ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคสอง (เดิม) ต้องระวางโทษประหารชีวิตสถานเดียว ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงจำคุก 25 ปี เช่นนี้ต้องถือว่าโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 กำหนดตามคำพิพากษาคือโทษประหารชีวิต มิใช่โทษจำคุก 25 ปี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว เมื่อปรากฏว่าระหว่างที่จำเลยกำลังรับโทษตามคำพิพากษาซึ่งคดีถึงที่สุดแล้วนั้น ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 9 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 65 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งเฮโรอีนที่จำเลยผลิตโดยการแบ่งบรรจุมีน้ำหนัก 0.30 กรัม เป็นที่เข้าใจว่าหากคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์คงไม่ถึง 3 กรัม เมื่อจำเลยผลิตเฮโรอีนของกลางโดยการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่าย การกระทำของจำเลยจึงต้องด้วยมาตรา 65 วรรคสี่ ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท อันเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ากฎหมายเดิม เมื่อโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 กำหนดคือโทษประหารชีวิต หนักกว่าโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาทตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ศาลต้องกำหนดโทษให้จำเลยใหม่ตามโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) มิใช่ถือเอาโทษจำคุก 25 ปี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ลดโทษให้แล้วมาเป็นหลักในการเปรียบเทียบกับโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2416/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนหุ้นเพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดทางอาญา ถือเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทำให้ไม่มีอำนาจฟ้อง
บริษัท ร. ประกอบธุรกิจส่งวิทยุโทรทัศน์เพื่อให้บริการแก่สาธารณะหรือชุมชนโดยไม่ได้รับอนุญาต พ. ทราบว่าตนในฐานะผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท จะต้องถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย จึงโอนหุ้นของตนให้แก่จำเลยและจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้จำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัท เพื่อหลีกเลี่ยงให้ตนเองพ้นความรับผิดทางอาญาโดยให้จำเลยเป็นผู้รับโทษในทางอาญาแทนตน ต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องบริษัท ร. และจำเลยเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น ฐานร่วมกันส่งวิทยุโทรทัศน์เพื่อให้บริการแก่สาธารณะหรือชุมชนโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย คดีถึงที่สุด นิติกรรมการโอนหุ้นระหว่าง พ. กับจำเลยจึงมีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พ. ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีสิทธิร้องทุกข์ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานยักยอกซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนคดีนี้และพนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2033/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทในการขับรถทางร่วมแยกทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ผู้ขับมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์กระบะมาถึงสี่แยกหนองขาหยั่งขณะนั้นสัญญาณจราจรไฟซึ่งติดตั้งไว้บนทางที่จำเลยที่ 2 ขับมาขึ้นเป็นไฟสีแดงซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องชะลอความเร็วของรถลงและหยุดรอจนกว่าสัญญาณจราจรไฟจะเปลี่ยนเป็นไฟสีเขียวจึงจะขับรถแล่นเข้าบริเวณสี่แยกนั้นได้ จำเลยที่ 2 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ จำเลยที่ 2 กลับขับรถแล่นตรงเข้าสี่แยกดังกล่าวทันที เป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 แม้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดง แต่ข้อแตกต่างดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียด ทั้งการที่จำเลยที่ 2 ขับรถแล่นเข้าไปในสี่แยกที่เกิดเหตุด้วยความเร็วโดยมิได้ลดความเร็วลงและให้รถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับซึ่งแล่นมาทางด้านขวาผ่านไปก่อน เป็นการขาดความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์อันเป็นการกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้เกิดเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำโดยประมาทตามที่กล่าวไว้ในฟ้องแล้ว ศาลชั้นต้นจึงลงโทษจำเลยที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 300 ได้
จำเลยที่ 2 ไม่ชะลอรถก่อนเข้าทางร่วมแยกและให้รถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 แล่นผ่านไปก่อนโดยประมาททำให้รถยนต์กระบะของจำเลยที่ 2 ชนเข้ากับรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส แม้เหตุที่จำเลยที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสเกิดจากมีพลเมืองดีขึ้นไปสตาร์ตรถทำให้น้ำในหม้อน้ำรถยนต์กระบะแตกลวกตัวจำเลยที่ 1 ซึ่งนอนอยู่ใต้รถ แต่การที่จำเลยที่ 1 ถูกน้ำร้อนลวกบริเวณหน้าอกและหน้าท้องเป็นผลโดยตรงจากความประมาทของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 333-339/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทำลายบัตรเลือกตั้ง: ความผิดเฉพาะตามกฎหมายเลือกตั้ง ไม่ต้องปรับบทความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
การที่จำเลยทั้งเจ็ดทำลายบัตรเลือกตั้งเป็นการกระทำในคราวเดียวด้วยเจตนาเดียวที่จะทำลายบัตรเลือกตั้ง การกระทำดังกล่าวจึงเป็นกรรมเดียว แต่การกระทำดังกล่าวแม้จะกระทำในคราวเดียววาระเดียวกันต้องด้วยองค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 และเป็นความผิดฐานทำลายบัตรเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 108 ก็ตาม แต่เมื่อความผิดฐานทำลายบัตรเลือกตั้งเป็นความผิดเฉพาะตามบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องที่บัญญัติใช้เป็นพิเศษ การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่จำต้องปรับบทความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์อันเป็นบทกฎหมายทั่วไปอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22779/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินหลังศาลพิพากษา บสท. ต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด
บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยหรือ บสท. ประสงค์จะบังคับจำนองทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน สำหรับทรัพย์สินด้อยคุณภาพในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้จำนองตามมาตรา 74 เมื่อผู้จำนองไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา บสท. มีอำนาจดำเนินการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันนั้นได้ โดยวิธีการขายทอดตลาด เว้นแต่ บสท. เห็นว่า การจำหน่ายโดยวิธีอื่นจะเป็นประโยชน์กับ บสท. และลูกหนี้มากกว่า ก็ให้จำหน่ายโดยวิธีอื่นได้ หรือจะรับโอนทรัพย์สินนั้นไว้ในราคาไม่น้อยกว่าราคาที่จะพึงได้รับจากการขายทอดตลาดแทนการจำหน่ายก็ได้ แต่สำหรับกรณีที่ บสท. ดำเนินการยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเข้าเป็นโจทก์แทนเจ้าหนี้เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 วรรคหก ซึ่งมาตรา 41 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ได้กำหนดว่า ภายใต้บังคับมาตรา 30 ในคดีที่สถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ฟ้องเป็นคดีต่อศาลเกี่ยวกับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ บสท. รับโอนมาตามพระราชกำหนดนี้ให้ บสท. เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน ในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับคดีตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ บสท. เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น ดังนั้นเมื่อ บสท. เลือกที่จะเข้าสวมสิทธิเป็นโจทก์แทนเจ้าหนี้ แทนที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความจนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาแล้ว บสท. จึงต้องดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปตามมาตรา 41 เมื่อในคดีเดิมศาลชั้นต้นพิพากษาให้ บสท. เป็นฝ่ายชนะคดี บสท. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำขอต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดีแล้วจึงต้องดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาว่า หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้จนครบ การที่ บสท. ไปขอรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ทั้งสามต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกอกน้อย จึงเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อ พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 41

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20446/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละประเด็นอำนาจศาลแรงงานจากพฤติการณ์ในกระบวนพิจารณา และผลของการไม่วินิจฉัยปัญหาความสงบเรียบร้อย
แม้จำเลยจะให้การว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน แต่ในรายงานกระบวนพิจารณาจำเลยยอมรับว่าเป็นลูกจ้างโจทก์จริง และศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับเดียวกันนั้นโดยไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องอำนาจศาลไว้ด้วย จำเลยไม่โต้แย้งคัดค้าน ถือว่าจำเลยสละประเด็นข้อนี้แล้ว การที่จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวแม้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรไม่วินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20145/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนฟ้องและการยอมความในคดีอาญา ศาลฎีกาแก้ไขคำสั่งให้จำหน่ายคดีฐานยักยอกและฉ้อโกง
ระหว่างกำหนดระยะเวลาฎีกาก่อนจำเลยยื่นฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์แปลความได้ว่าเป็นการยอมความโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องในส่วนความผิดฐานยักยอก ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ส่วนความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมมิใช่ความผิดอันยอมความกันได้ จึงไม่ระงับ โดยศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและให้จำหน่ายคดีโจทก์ในส่วนความผิดต่อส่วนตัวฐานยักยอกและฐานฉ้อโกงที่โจทก์ขอถอนฟ้อง จึงยังไม่ถูกต้อง เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขโดยสั่งคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสั่ง จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและให้จำหน่ายคดีโจทก์ในส่วนความผิดฐานยักยอกและฉ้อโกงตาม ป.อ.มาตรา 341 และมาตรา 352 วรรคแรก จากสารบบความ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองเกี่ยวกับความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวเป็นอันระงับไปในตัว รวมทั้งที่ให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19513-19514/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ร่วมกันพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจากความขัดแย้งและโทสะ ศาลยืนตามคำพิพากษาเดิม
พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 กับพวกตระเตรียมอาวุธปืนมาแก้แค้นทำร้าย บ. พวกของโจทก์ร่วม แต่เมื่อไม่พบ บ. ก็ไปสอบถามและนำโจทก์ร่วมนั่งรถกระบะให้พาไปตามหา บ. โดยขับรถจากเขตเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานีไปถึงอำเภอเคียนซา แล้วย้อนกลับมาตามถนนสายกระบี่ - ขนอม เป็นเวลาหลายชั่วโมง ครั้นไม่พบ บ. จึงขับไปหยุดรถบนสะพานข้ามแม่น้ำตาปี หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองกับพวกทั้งหมดก็ลงจากรถและพาโจทก์ร่วมไปยังท้ายรถให้จำเลยที่ 2 กับพวกอีก 2 คน ใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมคนละนัดติดต่อกันรวม 3 นัด แล้วร่วมกันจับโจทก์ร่วมโยนทิ้งลงในแม่น้ำตาปีเช่นนี้ แม้ทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมจะไม่ได้ความว่ามีการตกลงสมคบกันวางแผนล่วงหน้าที่จะฆ่าโจทก์ร่วมมาก่อน แต่การทำร้ายโจทก์ร่วมก็เห็นได้ว่ามิได้เกิดขึ้นจากโทสะที่พลุ่งขึ้นเฉพาะหน้าแล้วทำร้ายในทันทีทันใด แต่น่าจะเป็นการเกิดโทสะขึ้นก่อนจากการที่โจทก์ร่วมไม่บอกที่อยู่และไม่สามารถพาไปตามหา บ. ได้ จึงเกิดความคิดร่วมกันที่จะทำร้ายและฆ่าโจทก์ร่วมขึ้นในภายหลัง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่จำเลยทั้งสองกับพวกจะต้องใช้เวลาไตร่ตรองและตัดสินใจอยู่เป็นเวลานานในการตกลงใจกระทำผิดในครั้งนี้ จึงเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17116/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการอุทธรณ์คดีอาญา: ความผิดฐานเข้า-ออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์
ความผิดฐานออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ออกตามช่องทางและความผิดฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่เข้าตามช่องทางตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11 ประกอบด้วยมาตรา 62 วรรคสอง บัญญัติให้ระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยในความผิดดังกล่าวกระทงละ 800 บาท นั้น เป็นความผิดที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ที่จำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นขอให้ยกฟ้องโจทก์โดยโต้เถียงดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการรับฟังพยานหลักฐานในสำนวน เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งรวมความผิดทั้งสองฐานนี้ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ ดังนั้น ฎีกาของจำเลยที่คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 และขอให้ยกฟ้องในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวโดยโต้เถียงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานดังกล่าว จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17058/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลฎีกายกประเด็นเพิ่มเติมโทษจากศาลอุทธรณ์ แม้โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ และลดโทษจำเลยตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, วรรคสาม (2), 66 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 19 ปี ลดโทษมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 76 ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี 4 เดือน และปรับ 140,000 บาท จำเลยอุทธรณ์การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 และลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 20,000 บาท โดยไม่ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 76 นั้นถือได้ว่าเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย โดยที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้ไม่ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งแก่จำเลย เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ มาตรา 212 แม้จำเลยไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง
of 19