คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุนทร ทรงฤกษ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 186 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3184/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสวมสิทธิเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบางส่วน ไม่ใช่การแทนที่เจ้าหนี้เดิมทั้งหมด การขอเข้าเป็นเจ้าหนี้อีกคนหนึ่งในคดีไม่เป็นไปตามกฎหมาย
ตามคำร้องฉบับแรกผู้ร้องมีความประสงค์ขอเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิมทั้งหมด แต่คำร้องฉบับหลังเป็นการยื่นคำร้องเข้ามาโดยมีความประสงค์ขอเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิมเพียงบางส่วนคือขอเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 1 ข้อ 3 และข้อ 4 ส่วนสิทธิตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 ยังเป็นของโจทก์เดิม อันหมายความได้ว่า โจทก์เดิมยังคงเป็นคู่ความในคดีหรือยังคงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิบังคับชำระหนี้ตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 ได้ต่อไป คำร้องฉบับหลังของผู้ร้องดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการขอเข้ามาในลักษณะเป็นโจทก์อีกคนหนึ่งหรือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอีกคนหนึ่งโดยโจทก์เดิมก็ยังคงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเช่นเดียวกัน มิใช่เป็นการเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิมซึ่งมีผลทำให้โจทก์เดิมพ้นจากการเป็นคู่ความหรือพ้นจากการเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและทำให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นคู่ความหรือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้แทนอันเป็นการเข้าสวมสิทธิตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 แต่อย่างใด ซึ่งไม่มีกฎหมายใดอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาในคดีเพื่อเป็นโจทก์อีกคนหนึ่งหรือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอีกคนหนึ่งในลักษณะเช่นนี้ได้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้แก้ไขคำสั่งให้สวมสิทธิเดิมและยังคงคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิม
จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 962/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ร่วมกันมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย: การพิพากษาความผิดของตัวการและผู้สนับสนุน
เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 ขณะที่ขับรถกระบะมีจำเลยที่ 2 นั่งมาด้วย โดยยึดเมทแอมเฟตามีน 34,000 เม็ด ซึ่งวางอยู่ที่พื้นด้านหลังเบาะนั่งของจำเลยที่ 1 ขณะเข้าจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจขับรถยนต์แล่นปิดหน้ารถและท้ายรถของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1พยายามขับรถเดินหน้าและถ้อยหลังจนชนกับรถยนต์ของเจ้าพนักงานตำรวจ พฤติการณ์ชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 เข้าร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ในการมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แม้ไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนเป็นเจ้าของเมทแอมเฟตามีน และจำเลยที่ 2 ให้การในชั้นสอบสวนว่าตนรับจ้างขนเมทแอมเฟตามีนของกลางจากคนลาวในจังหวัดมุกดาหารให้ไปส่งลูกค้าในจังหวัดปทุมธานี จะถือหลักเกณฑ์ในทางแพ่งว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลาง จำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนหรือร่วมครอบครองด้วยหาเป็นการถูกต้องไม่ เพราะความรับผิดในทางอาญาต้องอาศัยเจตนาเป็นสำคัญ เมื่อจำเลยที่ 1 เจตนาเข้าร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนใดของการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเมทแอมเฟตามีนของกลางก็ต้องถือว่าร่วมเป็นตัวการกับจำเลยที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 83
ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยที่ 3 ใช้ในการติดต่อกับสายลับและจำเลยที่ 2 ในการขนเมทแอมเฟตามีนของกลางมายังที่เกิดเหตุอันเป็นการร่วมกันกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ซึ่งได้ใช้ในการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ อันพึงต้องริบ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 660/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดฐานพยายามจำหน่ายยาเสพติด: การแบ่งหน้าที่และความผิดฐานตัวการหรือผู้สนับสนุน
จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลาง ซึ่งมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 โดยลำพังไม่ใช่บทความผิดในตัวเองและมีระวางโทษของตัวเอง แต่บัญญัติให้ผู้พยายามกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จ การกระทำของจำเลยซึ่งต้องด้วยความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.อ. มาตรา 80, 83 จึงเป็นความผิดต่อกฎหมายบทเดียว ไม่ใช่ความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 432/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองทรัพย์สินมรดกโดยไม่ชอบ ศาลเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบ และให้เจ้าของเดิมได้กรรมสิทธิ์
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก ไม่ใช่ทรัพย์สินของผู้ร้องสอดทั้งสามที่ได้รับการยกให้ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ฉะนั้น เมื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้ขอออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) และจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตนเองแล้วโอนขายต่อไปยัง อ. ตั้งแต่ปี 2544 ที่ดินพิพาทจึงไม่ได้เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกอีกต่อไป ผู้ร้องสอดทั้งสามแม้จะเป็นทายาทของเจ้ามรดกก็ไม่มีสิทธิใดๆ ในที่ดินพิพาทแล้ว เพราะย่อมต้องมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันผู้จัดการมรดกได้ทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1724 วรรคหนึ่ง และการที่ในปี 2550 จำเลยยังใช้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ฉบับเจ้าของที่ดิน ที่เคยแจ้งสูญหายไปนำเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทในนามของเจ้ามรดก ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใดๆ แก่ทายาทของเจ้ามรดก การออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทในการนำเดินสำรวจของจำเลยในฐานะทายาทของเจ้ามรดกจึงเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์เป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทคนล่าสุดก็ย่อมเป็นเจ้าของมีสิทธิในที่ดินพิพาท
อนึ่ง ผู้ร้องสอดทั้งสามได้เข้ามาในคดีเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเป็นปฏิปักษ์ต่อโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) แม้โจทก์จะได้ถอนฟ้องจำเลยไปหลังจากนั้น แต่ศาลชั้นต้นก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาในฐานที่โจทก์กับผู้ร้องสอดทั้งสามพิพาทกันในที่ดินพิพาท ดังนี้ เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีและคำขอของโจทก์ที่เดิมขอให้บังคับจำเลยโดยขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทนั้นอยู่ในสภาพที่เปิดช่องให้บังคับแก่ผู้ร้องสอดทั้งสามผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดินพิพาทได้ จึงชอบที่จะบังคับให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์ มิใช่แต่เพียงยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดทั้งสามเท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9243/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลฎีกาชี้การวินิจฉัยนอกประเด็นคำร้องครอบครองปรปักษ์ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87(1)
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินเนื้อที่ 7 ไร่ 38 ตารางวา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 18296 ของผู้คัดค้านโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของอันเป็นการขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 18296 โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าและฟ้องแย้งขอให้ขับไล่ผู้ร้องออกจากที่ดิน แต่ในชั้นพิจารณาผู้ร้องกลับนำสืบอ้างว่าที่ดินที่ครอบครองอยู่นอกเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 18296 ที่เช่าจากผู้คัดค้านและเป็นที่ดินที่ตนเองครอบครองอย่างเป็นเจ้าของตลอดมา จึงเป็นการนำสืบนอกเหนือจากข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำร้องขอ การที่ศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานโดยนำข้อเท็จจริงตามที่ผู้ร้องนำสืบมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีว่า ที่ดินที่ผู้ร้องอ้างว่าครอบครองปรปักษ์อยู่นอกเขตที่ดินของผู้คัดค้านและมีการออกโฉนดที่ดินทับที่ดินที่ผู้ร้องครอบครอง แม้ผลแห่งคดีเป็นการยกคำร้องขอของผู้ร้อง ก็เป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงตามคำร้องขอ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (1) ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นเป็นการวินิจฉัยในปัญหาที่เกี่ยวพันกันว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องหรือผู้คัดค้าน เห็นว่า เมื่อปัญหาที่ผู้ร้องอ้างว่าครอบครองที่ดินของผู้คัดค้านเป็นอันตกไปเพราะไม่อาจรับฟังได้ตามคำร้องขอ จึงต้องรับฟังว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยไม่มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทอยู่นอกเขตโฉนดที่ดินเลขที่ 18296 ส่วนปัญหาที่ว่าการออกโฉนดที่ดินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แม้จะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่เมื่อคำร้องขอของผู้ร้องตกไปเพราะข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังได้ตามคำร้องขอ และปัญหาเรื่องการออกโฉนดที่ดินชอบหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี จึงไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทอยู่นอกเขตโฉนดที่ดินเลขที่ 18296 และการออกโฉนดทับที่ดินส่วนที่ผู้ร้องครอบครอง จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นตามคำร้องขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8311/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างทดลองงานที่ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมิน ไม่ถือเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123 มีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมและคุ้มครององค์กรของฝ่ายลูกจ้าง มิให้ถูกนายจ้างแทรกแซง ครอบงำ หรือใช้อำนาจบังคับบัญชาที่เหนือกว่าในฐานะนายจ้าง และใช้อำนาจทางเศรษฐกิจในการกดดันบีบคั้นมิให้ลูกจ้างหรือองค์กรของฝ่ายลูกจ้างใช้สิทธิโดยชอบตามกฎหมายในการยื่นข้อเรียกร้อง เจรจาต่อรองเพื่อปรับปรุงสภาพการจ้างให้ดีขึ้น โดยห้ามมิให้นายจ้างใช้วิธีการเลิกจ้างลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ดังนั้น การเลิกจ้างที่จะเป็นการฝ่าฝืนตามมาตรานี้ นายจ้างจะต้องมีมูลเหตุจูงใจที่จะขัดขวางการดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงานหรือขัดขวางมิให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์จากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการเจรจาตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างหรือจากคำชี้ขาด เมื่อโจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดเพราะไม่ผ่านการประเมินการทดลองงานเนื่องจากผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดมีผลการปฏิบัติงานไม่เป็นที่น่าพอใจ บางคนได้รับโอกาสให้ทำงานในตำแหน่งใหม่ก็ปฏิเสธไม่ไปทำงาน โจทก์ย่อมมีเหตุผลและความชอบธรรมที่จะเลิกจ้างลูกจ้างได้ตามเงื่อนไขข้อตกลงของสัญญาจ้างแรงงานที่ได้ทำไว้ขณะลูกจ้างเข้าทำงานโดยความสมัครใจของลูกจ้างและตามหลักการบริหารทรัพยากรมนุษย์และการบริหารงานบุคคลที่นายจ้างย่อมมีสิทธิคัดสรรแรงงานที่มีคุณภาพที่สุดแก่กิจการได้ แม้จะมิได้มีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งที่ระบุไว้ให้นายจ้างสามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้ตาม (1) ถึง (5) ของบทบัญญัติดังกล่าวก็ตาม นอกจากนั้น การที่โจทก์เลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่ผ่านการประเมินการทดลองงานและมิได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในคราวเดียวกันด้วยถึง 6 คน และรับลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่ร่วมนัดหยุดงานจำนวน 2 คน เข้าเป็นพนักงานประจำต่อไป ย่อมแสดงว่าโจทก์มิได้มีเจตนากลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติต่อผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดเพราะเหตุที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหรือเพราะไปร่วมนัดหยุดงาน การเลิกจ้างดังกล่าวเป็นเรื่องปกติในการบริหารงานบุคคล มิได้เกิดจากมูลเหตุจูงใจเพื่อขัดขวางการดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงานหรือเพื่อกลั่นแกล้งลูกจ้าง จึงไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6017/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: การมอบอำนาจที่ไม่สมบูรณ์ และการแก้ไขฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์มี ส. หรือนางฐิตาภา กรรมการคนใดคนหนึ่งลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัท มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ แม้ต่อมาจะบรรยายว่า โจทก์โดย นางฐิติภา มอบอำนาจให้ ด. ฟ้องและดำเนินคดีแทนก็ตาม แต่เมื่อ ด. เบิกความเป็นพยานชั้นไต่สวนมูลฟ้องในฐานะผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ได้อ้างส่งหนังสือมอบอำนาจดำเนินคดีเป็นหลักฐานว่า บริษัทโจทก์โดยนางฐิตาภา กรรมการผู้มีอำนาจ มอบอำนาจให้ ด. ดำเนินคดีแทน ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่านางฐิตาภา กับนางฐิติภา ที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องเป็นบุคคลคนเดียวกันนั่นเอง และเป็นกรณีที่เห็นได้ชัดแจ้งว่า โจทก์พิมพ์ชื่อ "นางฐิตาภา" ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปเป็น "นางฐิติภา" อันเป็นข้อบกพร่องเพียงเล็กน้อยถือว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ด. ฟ้องและดำเนินคดีแทนโดยชอบแล้ว ไม่ทำให้อำนาจฟ้องคดีของโจทก์เสียไป
ส่วนที่ท้ายฟ้องเดิมทนายโจทก์ลงชื่อไว้ในท้ายฟ้องในฐานะโจทก์ก็เป็นเพียงฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์เท่านั้น อันเป็นฟ้องที่มิชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ซึ่งโจทก์ชอบที่จะแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ไม่ถึงกับทำให้ฟ้องเดิมเสียไป โจทก์ยื่นคำร้องขอส่งคำขอท้ายฟ้องอาญาที่โจทก์โดย ด. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในฐานะโจทก์แทนคำขอท้ายฟ้องเดิม โดยอ้างว่าเป็นความผิดหลงเผอเรอของทนายโจทก์นั้นก็พอแปลได้ว่าเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ฟ้อง และกรณีถือว่ามีเหตุอันควรที่จะแก้ฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 โจทก์ยื่นคำร้องฉบับดังกล่าวเข้ามาในระหว่างการไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่งจำเลยยังไม่อยู่ในฐานะจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 165 วรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ย่อมไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ ถือว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13140/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าคอมมิสชันเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจสั่งจ่ายได้
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 คำว่า "ค่าจ้าง" หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนหรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้นค่าจ้างจึงเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างตามระยะเวลาการทำงานหรือเงินที่นายจ้างจ่ายโดยคำนวณตามผลงานก็ได้
ค่าคอมมิสชันเป็นเงินที่โจทก์จะจ่ายให้ลูกจ้างตามยอดของรถยนต์ที่ลูกจ้างจำหน่ายได้ ค่าคอมมิสชันจะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนรถยนต์ที่ลูกจ้างจะจำหน่ายได้ ค่าคอมมิสชันจึงเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานในการจำหน่ายรถยนต์ของลูกจ้าง โดยคำนวณจ่ายตามผลงานการขายรถยนต์แต่ละคันและมีกำหนดจ่ายทุกเดือน ค่าคอมมิสชันจึงเป็นค่าจ้าง เมื่อโจทก์ไม่จ่ายค่าคอมมิสชันของเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ให้แก่ น. และค่าคอมมิสชันนั้นเป็นค่าจ้างอันเป็นเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานจึงมีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินค่าคอมมิสชันให้แก่ น. ลูกจ้างได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง และมาตรา 124 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12622/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้รับประกันภัยในการบังคับคดี: ผู้รับประกันภัยไม่สามารถใช้สิทธิบังคับคดีแทนผู้เอาประกันภัยได้
ผู้ร้องเป็นผู้รับประกันภัยความซื่อสัตย์ของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกจ้างไว้จากโจทก์ผู้เป็นนายจ้างระหว่างปฏิบัติงานจำเลยที่ 1 รับชำระหนี้จากลูกค้าแล้วไม่นำส่งโจทก์และไม่ส่งเงินทดรองคืนโจทก์ เข้าเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ผู้ร้องจึงใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ผู้ร้องสามารถเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์เรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนที่ใช้ไปจากจำเลยทั้งสอง (จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์) ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่งและมาตรา 226 วรรคหนึ่ง ซึ่งหมายถึงการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลโดยผู้รับประกันภัยเป็นโจทก์ฟ้องในนามของผู้รับประกันภัยแทนผู้เอาประกันภัย ไม่ใช่การรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยในการบังคับคดี
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 การบังคับคดีเป็นสิทธิของคู่ความฝ่ายชนะคดีหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิให้ผู้รับประกันภัยเข้ารับช่วงสิทธิในการบังคับคดีของผู้เอาประกันภัยได้ ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงเข้ารับช่วงสิทธิในการบังคับคดีตามคำพิพากษาเอาแก่จำเลยทั้งสองไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12429/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิลูกจ้างได้รับค่าจ้างและเงินทดรองจ่าย แม้ลาออกและไม่ส่งมอบข้อมูล นายจ้างไม่มีสิทธิยึดหน่วง
ค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายที่จำเลยค้างจ่ายแก่โจทก์เป็นเพียงหนี้ที่นายจ้างจะต้องจ่ายแก่ลูกจ้าง ไม่ใช่ทรัพย์สินของลูกจ้างที่นายจ้างครองอยู่ ทั้งค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายกับข้ออ้างเรื่องความเสียหายจากการที่โจทก์ไม่ส่งมอบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับเอกสารการทำงานของสถานที่ก่อสร้าง 13 แห่ง เมื่อโจทก์ลาออกจากงานนั้นไม่เกี่ยวข้องกัน ค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของโจทก์ที่จำเลยครองอยู่โดยมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยเกี่ยวด้วยทรัพย์สินนั้น ดังนั้นจำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายแก่โจทก์
of 19