คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุนทร ทรงฤกษ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 186 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13937/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างทางพฤติการณ์ และสิทธิการรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อมีการเลิกจ้าง
การวินิจฉัยว่ามีการเลิกจ้างแล้วหรือไม่ต้องพิจารณาถึงการกระทำของนายจ้างประกอบด้วย จะพิจารณาเพียงว่ามีการบอกกล่าวเลิกจ้างด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือแล้วหรือไม่ย่อมไม่ได้ แม้ในการประชุม ธ. ประธานกรรมการบริหารบริษัทในกลุ่มแพนจะขอให้โจทก์ลาออกโดยจะให้เวลาโจทก์ปรึกษากับครอบครัวก่อน 3 วัน แต่ในวันดังกล่าว ธ. ขอรถยนต์ประจำตำแหน่งที่โจทก์ใช้อยู่คืน และในช่วงระยะเวลา 3 วันนี้โจทก์ไม่ต้องไปทำงาน การกระทำของ ธ. มีลักษณะไม่ยอมให้โจทก์ทำงานให้จำเลยที่ 1 อีกต่อไป ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2545 อันเป็นวันที่เรียกเอารถยนต์ประจำตำแหน่งคืนจากโจทก์ ไม่ใช่เลิกจ้างในวันที่ 1 ตุลาคม 2545 ซึ่งเป็นวันที่คัดชื่อโจทก์ออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1
เมื่อพิจารณารายงานการสิ้นสุดสมาชิกภาพของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วโจทก์มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบรวม 164,101.10 บาท แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยทั้งสามจ่ายเงินดังกล่าวเพียง 162,851.24 บาท แต่เพื่อให้โจทก์ได้รับเงินตามสิทธิของโจทก์และเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความเห็นสมควรพิพากษาเกินคำขอให้โจทก์
พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 บัญญัติว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคล และมาตรา 23 บัญญัติว่าเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้ลูกจ้าง กองทุนที่ดำเนินการให้แก่จำเลยที่ 1 คือ จำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่บริหารจัดการจ่ายเงินจากจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 3 จึงไม่จำต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้าง ไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการกองทุน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินสมทบของนายจ้างแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13530/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันในสัญญาจ้างงานตามประกาศกระทรวงแรงงาน แม้ทำสัญญาค้ำก่อนประกาศมีผล
ตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 ที่ออกโดยอาศัยมาตรา 6 และมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2551 ในข้อ 10 กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันโดยการค้ำประกันด้วยบุคคล วงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ แม้ประกาศดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ภายหลังจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อโจทก์ก็ตาม แต่ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันจะเกิดขึ้นต่อเมื่อจำเลยที่ 1 กระทำความเสียหายแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์ของโจทก์ไปประมาณต้นปี 2552 และโจทก์ทราบการกระทำของจำเลยที่ 1 ประมาณต้นเดือนมีนาคม 2552 กรณีความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันย่อมเกิดหลังจากประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว จึงต้องใช้ประกาศดังกล่าวอันเป็นกฎหมายที่มีผลในขณะนั้นใช้บังคับ แม้ตามข้อตกลงในสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อต้องรับผิดตามประกาศดังกล่าวไม่เกินกว่าหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่จำเลยที่ 1 ได้รับ ส่วนที่ต้องรับผิดตามข้อตกลงเกินกว่านั้นถือว่าขัดต่อประกาศดังกล่าวซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีผลให้ข้อตกลงในส่วนที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดเสียเปล่าไป จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์หกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่จำเลยที่ 1 ได้รับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13103/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องละเมิดสัญญาจ้างแรงงาน: การปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าของกรรมการสอบสวน
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2532 โจทก์มีคำสั่งที่ 388/2532 แต่งตั้งจำเลยเป็นประธานกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมกรณีผลิตภัณฑ์นมของโจทก์สูญหาย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของโจทก์ที่กำหนดให้ทำการสอบสวนให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ประธานกรรมการสอบสวนรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ ถ้ายังสอบสวนไม่เสร็จต้องขออนุมัติขยายเวลาสอบสวนจากผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอีกคราวละไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องมิให้คดีขาดอายุความ และให้คณะกรรมการสอบสวนเสนอผลการสอบสวนต่อผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพร้อมเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นซึ่งต้องระบุด้วยว่าผู้ใดเป็นผู้รับผิดโดยตรงและผู้ใดร่วมรับผิด จำเลยสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเสนอผู้อำนวยการของโจทก์เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2537 อันเป็นเวลาหลังจากที่ได้รับแต่งตั้งถึง 4 ปีเศษ โดยไม่ปรากฏว่ามีการขอขยายระยะเวลาการสอบสวน และจำเลยไม่ได้ระบุว่าผู้ใดเป็นผู้ที่ต้องรับผิดโดยตรง ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามข้อบังคับของโจทก์ การที่ผู้อำนวยการของโจทก์ได้รับสำนวนสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากจำเลยย่อมเห็นเป็นประจักษ์ว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า เนิ่นนานเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อบังคับซึ่งเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการสอบสวน จึงต้องถือว่าการทำผิดหน้าที่ของจำเลยเกิดขึ้นอย่างช้าในวันที่ 4 พฤษภาคม 2537 อันเป็นเวลาที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ข้ออ้างของโจทก์ที่ให้จำเลยรับผิดมีมูลฐานมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในฐานะที่เป็นประธานกรรมการสอบสวน อันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 พ้นระยะเวลา 10 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10570/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของห้างสรรพสินค้าต่อการโจรกรรมรถในลานจอด – ไม่มีภาระหน้าที่หากเจ้าของรถประมาท
ผู้ได้รับอนุญาตให้นำรถเข้ามาจอดจะต้องหาสถานที่จอดเอง เก็บกุญแจรถไว้เอง และจะต้องดูแลรถกับทรัพย์สินภายในรถเอง ทั้งนี้ จำเลยไม่ได้เรียกเก็บค่าบริการในการนำรถเข้าจอด ดังนั้นความครอบครองในรถยังคงอยู่กับเจ้าของรถหรือผู้ที่นำรถเข้ามาจอด จำเลยจึงไม่ใช่ผู้รับฝากรถและไม่ได้รับประโยชน์อันเนื่องจากการที่มีผู้นำรถเข้าไปจอดในห้างสรรพสินค้าที่เกิดเหตุแต่อย่างใด เพียงแต่ได้รับประโยชน์จากผลกำไรที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าและการบริการซึ่งเป็นปกติทางการค้าเท่านั้น
พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยร่วมไม่ได้กระทำประมาทปราศจากความระมัดระวังปล่อยให้คนร้ายลักรถกระบะคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ออกไปโดยไม่ตรวจสอบบัตรอนุญาตจอดรถให้ถูกต้อง และจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ได้ระมัดระวังดูแลรักษาความปลอดภัยสำหรับรถที่มีผู้นำมาจอดในห้างสรรพสินค้าของจำเลยตามสมควรแล้ว การที่รถสูญหายมิใช่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำหรือละเว้นกระทำของจำเลยและจำเลยร่วม ดังนั้นจำเลยและจำเลยร่วม จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9120/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิของทายาทในการฟ้องเรียกหนี้สินของกองมรดกเมื่อผู้จัดการมรดกละเลยหน้าที่
ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง คือจำเลยกู้ยืมเงินของ ท. มารดาบุญธรรมของโจทก์ แล้วผิดนัดไม่ชำระ ทั้งผู้จัดการมรดกของ ท. ก็เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยและโจทก์ผู้เป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกจาก ท. ผู้ตาย โจทก์ย่อมเสียหายเพราะถูกโต้แย้งสิทธิ เมื่อประกอบกับไม่มีกฎหมายห้ามโดยตรงไม่ให้โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องในกรณีดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเป็นคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7724/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการแข่งขันหลังพ้นสภาพการจ้างงาน: สัญญาไม่เป็นโมฆะ หากจำกัดเฉพาะเจาะจงและมีระยะเวลา
ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่กำหนดว่า ภายในระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์ จำเลยที่ 1 จะไม่ไปประกอบธุรกิจประเภทเดียวกับธุรกิจของโจทก์ หรือมีส่วนร่วมส่งเสริมหรือสนับสนุนบุคคลอื่นในการประกอบธุรกิจประเภทเดียวกับธุรกิจของโจทก์ เป็นเพียงข้อจำกัดห้ามประกอบอาชีพอันเป็นการแข่งขันกับโจทก์โดยระบุจำกัดประเภทธุรกิจไว้อย่างชัดเจน ไม่ได้ห้ามประกอบอาชีพอันเป็นการปิดทางทำมาหาได้ของจำเลยที่ 1 อย่างเด็ดขาด โดยยังสามารถประกอบอาชีพหรือทำงานในด้านอื่นที่อยู่นอกเหนือข้อตกลงได้ ทั้งข้อห้ามดังกล่าวก็มีผลเพียง 3 ปีเท่านั้น จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบในเชิงการประกอบธุรกิจ ไม่เป็นการปิดทางทำมาหาได้ของฝ่ายใดโดยเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ และเป็นธรรมแก่คู่กรณีแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7346/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข่มขืนกระทำชำเราโดยสมคบกันและมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ผู้เสียหายให้การสอดคล้องกับพฤติการณ์
การที่ ต. กระชากมือดึงผู้เสียหายเข้าไปในห้องทำการข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย เมื่อ ต. ออกจากห้อง จำเลยก็เข้าไปในห้องทำการข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายต่อ และเมื่อจำเลยออกจากห้อง ต. กับ ป. พวกของจำเลยก็พากันเข้าไปในห้องร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอีก พฤติการณ์การข่มขืนกระทำชำเราเช่นนี้ แม้ว่าผู้กระทำมิได้อยู่ในห้องในขณะที่คนหนึ่งข่มขืนกระทำชำเราอยู่ แต่จำเลยกับพวกได้กระทำในลักษณะติดต่อกัน จึงเป็นการสมคบกันกระทำความผิด อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6947/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมอบหมายงานข้ามประเภทหน้าที่ ไม่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง และการปฏิบัติตามคำสั่งนายจ้าง
ผู้ร้องประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าที่เป็นวัตถุอันตรายและสินค้าทั่วไป แม้ผู้คัดค้านทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถบรรทุกน้ำมันเคมีซึ่งเป็นวัตถุอันตราย แต่ก็ไม่มีข้อตกลงว่าผู้ร้องจะมอบหมายงานให้ผู้คัดค้านขับรถบรรทุกสินค้าทั่วไปไม่ได้ ทั้งผู้คัดค้านมีใบอนุญาตขับรถที่สามารถขับรถบรรทุกได้ทุกประเภท เมื่องานด้านบรรทุกสารเคมีลดลง การที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายให้ผู้คัดค้านขับรถบรรทุกหัวลากนำสินค้าจากบริษัทไปส่งที่ท่าเรือแหลมฉบัง จากนั้นให้ไปรับสารเคมีที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเพื่อเตรียมนำส่งให้แก่ลูกค้า จึงไม่ใช่การเพิ่มหน้าที่และเพิ่มงาน แต่เป็นการใช้อำนาจบริหารงานภายในบริษัทให้เหมาะสมเท่านั้น มิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ทั้งมิใช่เป็นการกลั่นแกล้งผู้คัดค้านเนื่องจากผู้คัดค้านไม่ได้รับมอบหมายจากสหภาพแรงงานให้เข้าร่วมฟังผลการสอบสวนพนักงานที่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน และไม่ปรากฏว่ามีความจำเป็นอย่างไรที่ผู้คัดค้านจะต้องอยู่รอฟังผลการสอบสวน ผู้คัดค้านจึงต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาดังกล่าว การที่ผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามจึงเป็นการฝ่าฝืนวินัย ต้องถูกพิจารณาโทษตามลักษณะแห่งความผิดตามข้อบังคับการทำงานของผู้ร้อง ที่ศาลแรงงานภาค ๒ อนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านโดยตักเตือนเป็นหนังสือจึงเหมาะสมแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6586/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่าย: การปรับบทลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ มาตรา 65 วรรคสี่
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผลิตเมทแอมเฟตามีนด้วยการแบ่งบรรจุเป็นถุงย่อย ๆ ถุงละ 20 เม็ด 8 ถุง 10 เม็ด 5 ถุง 8 เม็ด 1 ถุง 4 เม็ด 1 ถุง 1 เม็ด 1 ถุง และมีอีก 10 เม็ด รวม 223 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 4.905 กรัม จำเลยให้การรับสารภาพ จึงต้องฟังว่า จำเลยแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนใส่ในถุงตามฟ้อง จำเลยจะฎีกาโต้เถียงว่า ไม่ได้แบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนหาได้ไม่ เพราะขัดกับคำรับสารภาพของจำเลยและเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยให้การปฏิเสธข้อหาดังกล่าวในศาลชั้นต้น เป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 65 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยบัญญัติเพิ่มเติมให้มีวรรคสามและวรรคสี่ ซึ่งวุฒิสภาให้เหตุผลในการแก้ไขไว้ชัดเจนอันแสดงให้เห็นว่าเป็นการแก้ไขโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดให้มีบทความผิดและบทลงโทษสำหรับการกระทำความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุไว้เป็นกรณีเฉพาะ แยกต่างหากจากบทความผิดและบทลงโทษ ฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ในกรณีทั่วไปตามมาตรา 65 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (ผลิตโดยการ เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูปสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์) ซึ่งมีสภาพแห่งความผิดเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมมากกว่าการกระทำความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษ โดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุ ยิ่งกว่านั้นยังได้บัญญัติแก้ไขใหม่ไว้เป็น 2 กรณี กล่าวคือ มาตรา 65 วรรคสาม มุ่งใช้บังคับสำหรับการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ที่มีปริมาณไม่ถึงบทสันนิษฐานของมาตรา 15 วรรคสาม ส่วนวรรคสี่มุ่งใช้บังคับสำหรับการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุยาเสพติดที่มีปริมาณเกินบทสันนิษฐานตามมาตรา 15 วรรคสาม ส่วนการที่มาตรา 65 วรรคสี่ บัญญัติว่า "ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสาม เป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย..." นั้น หมายถึง การกระทำความผิดฐานผลิตโดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุเท่านั้น ไม่ได้หมายความรวมไปถึงว่า จะต้องมีปริมาณไม่ถึงด้วยบทสันนิษฐานตามมาตรา 15 วรรคสาม ด้วยการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด ฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายและต้องได้รับโทษตามมาตรา 65 วรรคสี่
ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยมีความผิดตามมาตรา 65 วรรคใด เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ฎีกาศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2557)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4697/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลือกตั้งสหภาพแรงงานต้องลงคะแนนลับ หากมีช่องทางตรวจสอบได้ว่าใครเลือกใคร ถือไม่ชอบด้วยข้อบังคับ
การเลือกตั้งกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยต้องลงคะแนนเสียงโดยวิธีลับมีความหมายว่าในการเลือกตั้งต้องใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนที่ไม่มีผู้ใดทราบว่าสมาชิกสหภาพแรงงานผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งได้ออกเสียงลงคะแนนเลือกผู้ใดเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน เพื่อให้โอกาสแก่ผู้ใช้สิทธิอย่างอิสรเสรี ไม่ต้องตกอยู่ในความเกรงกลัว ความเกรงใจหรืออิทธิพลของใคร ด้วยเหตุนี้หากมีการกระทำใดที่เป็นช่องทางให้ทราบได้ว่าสมาชิกสหภาพแรงงานผู้มาใช้สิทธิเลือกผู้ใดเป็นกรรมการสหภาพแรงงานถือได้ว่าไม่ใช่เป็นการลงคะแนนเสียงโดยวิธีลับ
การที่คู่มือเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยประจำปี 2547 กำหนดให้ทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยมีเลขประจำตัวพนักงานและเลขสมาชิกสหภาพแรงงานของพนักงานผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นปรากฏอยู่ กับทำบัตรเลือกตั้งซึ่งมีเลขที่บัตรปรากฏอยู่ ในวันเลือกตั้งเมื่อสมาชิกสหภาพแรงงานไปแสดงตัวที่หน่วยเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งระบุเลขที่บัตรเลือกตั้งลงในช่องว่างตรงกับชื่อสมาชิกสหภาพแรงงานผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งนั้นในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้วให้สหภาพแรงงานนั้นลงลายมือชื่อ จากนั้นจึงมอบบัตรเลือกตั้งให้ไปลงคะแนนต่อไป การปฏิบัติดังกล่าวเป็นช่องทางให้ตรวจสอบทราบได้ว่าสมาชิกสหภาพแรงงานผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ลงคะแนนเลือกผู้ใดเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน จึงไม่ใช่การลงคะแนนเสียงโดยวิธีลับ ไม่ชอบด้วยข้อบังคับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย พ.ศ.2545 ข้อ 26 ที่กำหนดให้การเลือกตั้งกรรมการต้องลงคะแนนเสียงโดยวิธีลับ ที่จำเลยที่ 1 ไม่รับจดทะเบียนกรรมการสหภาพแรงงานที่ได้มาจากการเลือกตั้งดังกล่าว และจำเลยที่ 2 มีคำวินิจฉัยเห็นด้วยกับจำเลยที่ 1 จึงชอบแล้ว
of 19