คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุนทร ทรงฤกษ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 186 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4039/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างซ่อมรถยนต์ล่าช้า จำเลยผิดสัญญา ชดใช้ค่าเสียหาย
แม้สัญญาจ้างซ่อมรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าจะต้องซ่อมเสร็จเมื่อใด แต่จำเลยก็มีหน้าที่ต้องซ่อมรถยนต์ดังกล่าวให้แล้วเสร็จตามสัญญา จำเลยได้รับรถยนต์คันพิพาทไว้ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2549 ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 โจทก์ได้นำรถยนต์ดังกล่าวไปให้อู่ น. ซ่อมต่อ รวมเวลาที่รถยนต์คันพิพาทอยู่ที่อู่ซ่อมรถของจำเลยเป็นเวลา 7 เดือนเศษ ซึ่งน่าจะเพียงพอแก่การซ่อมรถยนต์ดังกล่าวให้แล้วเสร็จ โดยเทียบเคียงกับที่หลังจากนำรถยนต์คันพิพาทไปซ่อมที่อู่แห่งใหม่ ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนก็ซ่อมเสร็จ นอกจากนี้จำเลยซ่อมรถยนต์ได้เพียงประมาณร้อยละ 30 โจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยระบุให้เวลาจำเลยซ่อมรถยนต์คันพิพาทให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 และเมื่อโจทก์ไปขอรับรถในวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ถึงเวลาตามที่กำหนด จำเลยก็ยอมให้รับรถไปโดยมิได้โต้แย้งแต่อย่างใด ถือได้ว่าจำเลยสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาที่โจทก์ให้แก่จำเลย พฤติการณ์แสดงให้เห็นได้ว่า จำเลยไม่สามารถซ่อมรถยนต์คันพิพาทให้แล้วเสร็จตามสัญญาและไม่ประสงค์จะปฏิบัติตามสัญญาแล้ว ทั้งถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญาต่อโจทก์ โจทก์จึงชอบที่จะเลิกสัญญาโดยไม่จำต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยซ่อมรถยนต์คันพิพาทให้แล้วเสร็จก่อน การบอกเลิกสัญญาของโจทก์ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1984/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติสัมพันธ์นายจ้างลูกจ้าง: การจ่ายเงินผ่านโจทก์ไม่ใช่ค่าจ้าง หากไม่มีอำนาจสั่งการ ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ประกันสังคม
ลักษณะงานของโจทก์ที่เกี่ยวกับแพทย์และพยาบาลที่โจทก์จัดหาเข้าไปดูแลยังสถานประกอบกิจการนั้น โจทก์ไม่มีอำนาจสั่งการเกี่ยวกับการทำงานของแพทย์และพยาบาล แพทย์และพยาบาลจะไปหรือไม่ก็ได้ ไม่มีระเบียบเกี่ยวกับการลา เงินที่โจทก์จ่ายให้แก่แพทย์และพยาบาลนั้นสถานประกอบการเป็นผู้จ่ายโดยจ่ายผ่านโจทก์ซึ่งจะหักเป็นค่าติดต่อแล้วจึงจ่ายส่วนที่เหลือให้แก่แพทย์และพยาบาล เงินดังกล่าวไม่ใช่ค่าจ้างที่โจทก์จ่ายให้ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับแพทย์และพยาบาลจึงไม่มีลักษณะเป็นนายจ้างลูกจ้างตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1847/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจร้องทุกข์ในความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายที่แท้จริงคือผู้มีอำนาจฟ้อง
เมื่อความผิดที่โจทก์ร่วมกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิด เป็นความผิดอันยอมความได้ ผู้มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจร้องทุกข์ เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงไม่ได้ร้องทุกข์โดยชอบ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1666/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจรัฐสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หลังปิดงานกระทบเศรษฐกิจและความสงบเรียบร้อย
ก่อนที่จำเลยทั้งสองออกคำสั่งที่ 94/2550 สั่งให้โจทก์รับลูกจ้างในส่วนที่โจทก์ปิดงานกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้างให้ตามอัตราที่เคยจ่าย จำเลยทั้งสองให้โอกาสโจทก์และสหภาพแรงงานอัลมอนด์ดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาโดยตลอดจนถึงขั้นตอนที่โจทก์ใช้สิทธิปิดงานสำหรับลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานประมาณ 150 คน และหลังจากนั้นจำเลยทั้งสองยังคงควบคุมดูแลข้อพิพาทแรงงานอย่างใกล้ชิดตลอดมาโดยให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้าไกล่เกลี่ยอีกหลายครั้ง แต่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ และมีทีท่าจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ฝ่ายลูกจ้างจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนจากการปิดงานพากันไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล สถานทูตสหรัฐอเมริกา และไปพบคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติที่กองทัพบก ปรากฏว่าแต่ละหน่วยงานไม่สามารถแก้ปัญหาข้อพิพาทแรงงานนี้ได้ ทั้งพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าหากปล่อยเวลาให้เนิ่นนานออกไปอีกเหตุการณ์อันเนื่องมาจากข้อพิพาทแรงงานอาจเกิดเหตุร้ายแรงขึ้นได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน หรืออาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้กิจการของโจทก์เป็นการผลิตและส่งออกสินค้าประเภทเครื่องประดับ และโจทก์ปิดงานโดยถูกขั้นตอนตามกฎหมายก็ตาม ก็ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 35 ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้นายจ้างซึ่งปิดงานรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามเดิมโดยจ่ายค่าจ้างตามอัตราที่เคยจ่ายเพื่อรอการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ คำสั่งที่ 94/2550 ของจำเลยทั้งสองจึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุเพิกถอน
มาตรา 24 เป็นบทบัญญัติให้นำมาใช้แก่ข้อพิพาทแรงงานที่อยู่ในขั้นตอนที่เป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ แต่ขณะที่จำเลยทั้งสองออกคำสั่งที่ 94/2550 ข้อพิพาทแรงงานรายนี้ได้ล่วงเลยขั้นตอนข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้จนถึงขั้นตอนการปิดงานแล้ว จึงนำมาตรา 24 มาใช้บังคับไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 599/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างฐานประพฤติชั่วและกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัท แม้กระทำนอกเวลางานก็เป็นเหตุเลิกจ้างได้
การที่โจทก์นำภาพถ่ายเปลือยของหญิงและการร่วมประเวณีระหว่างหญิงดังกล่าวกับโจทก์ที่โจทก์บันทึกไว้ออกเผยแพร่เพื่อประจานหญิงนั้นจนปรากฏเป็นข่าวทางหนังสือพิมพ์รายวันซึ่งระบุว่าโจทก์เป็นพนักงานฝ่ายช่างของจำเลยย่อมกระทบต่อเกียรติและชื่อเสียงของจำเลย ถือว่าโจทก์ไม่รักษาเกียรติและชื่อเสียงของจำเลย เป็นการประพฤติชั่ว เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและศีลธรรมอันดี แม้โจทก์กระทำนอกสถานที่ทำงานและนอกเวลาทำงานก็เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20031/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลอุทธรณ์จำกัดในคดีที่ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และข้อจำกัดในการฎีกาประเด็นใหม่
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง บัญญัติว่า คดีที่พิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตนั้น หมายถึงโทษประหารชีวิตหรือโทษจำคุกตลอดชีวิตที่ศาลชั้นต้นลงโทษจริง ๆ แก่จำเลย หาใช่โทษที่ศาลชั้นต้นวางไว้ก่อนลดโทษให้แก่จำเลยไม่ เมื่อนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละตลอดชีวิต จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 25 ปี ดังนั้น เมื่อโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้อุทธรณ์ในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานและความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน อีกทั้งไม่ปรากฏว่าความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานและความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน กับความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกันอันศาลอุทธรณ์จะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 ความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานและความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจหยิบยกคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานและความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานขึ้นพิจารณาได้ การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกความผิดฐานดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 จึงเป็นการไม่ชอบ และฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ ขอให้ยกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานและความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานเช่นเดียวกับจำเลยที่ 3 นั้น จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ในส่วนความผิดดังกล่าวเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16104/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสืบพยานในคดีแพ่งหลังคดีอาญาถึงที่สุด ศาลต้องเปิดโอกาสให้สืบพยานเพื่อพิสูจน์ความประมาทของจำเลยร่วม แม้คำพิพากษาอาญาจะยังไม่ยุติ
ในคดีส่วนอาญา พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ก. และจำเลยที่ 1 ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 และข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 โจทก์คดีนี้เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเหตุที่เกิดขึ้นเพราะความประมาทของ ก. เพียงฝ่ายเดียว จึงลงโทษ ก. และยกฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย โจทก์และโจทก์ร่วมในคดีอาญาอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 โดยไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ส่วน ก. อุทธรณ์ว่าตนไม่มีความผิด ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลชั้นต้นทราบว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย จึงจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาแต่อุทธรณ์ของ ก. แล้ววินิจฉัยว่า ก. เป็นฝ่ายขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
ดังนี้ แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาว่าเหตุที่เกิดขึ้นเพราะความประมาทของ ก. เพียงฝ่ายเดียว แต่โจทก์และโจทก์ร่วมในคดีอาญายังอุทธรณ์อยู่ จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายเสียก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะได้วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นในคดีส่วนอาญาพิพากษาจึงยังไม่ยุติ ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งสำหรับจำเลยที่ 1 ศาลจึงไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลชั้นต้น และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาก็เป็นการพิพากษาในส่วนของ ก. เท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือร่วมกับ ก. ทำละเมิด แม้ ก. ขับรถโดยประมาทเลินเล่อก็ไม่ทำให้โจทก์หมดสิทธิที่จะสืบพยานให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14621/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำสืบพยานบุคคลเกี่ยวกับตัวแทนทำสัญญาเช่าซื้อ ไม่เป็นการขัดต่อข้อห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
การนำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยเป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อรถทั้งสองคันแทนโจทก์ เป็นการนำสืบข้อเท็จจริงระหว่างตัวการกับตัวแทน ไม่เกี่ยวกับการนำสืบเพื่อให้มีการบังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาเช่าซื้อแต่อย่างใด โจทก์ย่อมนำสืบพยานบุคคลได้ และไม่ต้องห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลที่โจทก์นำสืบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13298/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งกรณีทุจริตของคนขับรถและอายุความฟ้องร้อง
พยานโจทก์ที่นำสืบมาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขนส่งนำน้ำมันเตาตามใบส่งของไปให้แก่บริษัท ท. จากการกระทำทุจริตของคนขับรถของจำเลยที่ 1 และโดยที่สัญญารับขนให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในการกระทำของคนขับรถ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ และเมื่อคดีฟังได้ว่าเป็นกรณีที่มีการทุจริตกันจึงเข้าข้อยกเว้นของบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 624 ซึ่งไม่ได้บัญญัติเรื่องอายุความการฟ้องเรียกร้องตามข้อยกเว้นดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ ดังนั้นจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 624 ประกอบมาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12128/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดโทษจำเลยที่ 2 จากการรับสารภาพ และข้อผิดพลาดในการรวมโทษของศาลชั้นต้น
การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง จำคุก 6 เดือน ฐานเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 2,000,000 บาท ฐานร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี รวมโทษจำเลยที่ 1 ทุกกระทงแล้วให้จำคุกตลอดชีวิตและปรับ 2,000,000 บาท แล้วลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี และปรับ 1,000,000 บาท และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน เป็นการไม่ชอบเพราะไม่ได้ลดโทษก่อนตามมาตรา 78 แล้วจึงรวมโทษตามมาตรา 91 แต่อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้องได้ เนื่องจากเป็นการเพิ่มเติมโทษ ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
of 19