คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 383 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3811/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับสัญญาเงินกู้: การไม่ลงนามสัญญาภายในกำหนด ทำให้จำเลยมีสิทธิริบเงินได้ ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย
การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาสินเชื่อ โดยกำหนดให้โจทก์ทั้งสามดำเนินการด้านนิติกรรมสัญญาและเบิกใช้วงเงินจำนวน 656,000,000 บาท กับจำเลยให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2557 โดยเสนอเงื่อนไขและข้อบังคับวงเงินสินเชื่อให้โจทก์ทั้งสามมีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อ (Front end Fee) จำนวน 13,120,000 บาท แก่จำเลยในวันลงนามในสัญญาสินเชื่อและดำเนินการด้านนิติกรรมสัญญากับเบิกใช้วงเงินกับค่าธรรมเนียมในวันที่ 31 ตุลาคม 2557 ข้อตกลงที่จำเลยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อ (Front end Fee) เป็นข้อตกลงที่แยกต่างหากจากการคิดดอกเบี้ยในการเบิกใช้วงเงินดังกล่าว ข้อตกลงชำระค่าธรรมเนียมเช่นนี้จึงมีลักษณะของการตอบแทนการใช้วงเงินสินเชื่อตามเอกสารสัญญาสินเชื่อที่โจทก์ทั้งสามกับจำเลยลงนาม ซึ่งหากมิได้มีการลงนามในสัญญาสินเชื่อแล้ว โจทก์ทั้งสามไม่อาจเบิกใช้วงเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยอันมีลักษณะเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน ทั้งแสดงว่าโจทก์ทั้งสามและจำเลยมีเจตนาถือเอาตามสัญญาสินเชื่อเป็นสำคัญตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ไม่สามารถดำเนินการให้ ป. จ. และ ว. กรรมการโจทก์ที่ 1 ในขณะนั้น มาลงนามในสัญญาดังกล่าวกับจำเลยภายในระยะเวลาที่กำหนด ดังนี้ สัญญากู้เงินหรือสัญญาสินเชื่อระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ โจทก์ทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิเบิกเงินสินเชื่อตามที่จำเลยเคยอนุมัติให้ และจำเลยย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อ (Front end Fee) จากโจทก์ทั้งสามตามที่ตกลงกันไว้ แต่การที่จำเลยระบุไว้ในเงื่อนไขและข้อบังคับวงเงินสินเชื่อให้โจทก์ทั้งสามชำระค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อบางส่วน 9,560,000 บาท ในวันที่โจทก์ทั้งสามลงนามตอบรับในหนังสือดังกล่าว และหากโจทก์ทั้งสามไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ จำเลยมีสิทธิริบเงินดังกล่าวโดยไม่ต้องคืนแก่โจทก์ทั้งสาม อันมีลักษณะของสัญญาอย่างหนึ่งที่โจทก์ทั้งสามสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอันหนึ่งอันใดนั้นด้วยดังที่บัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคสอง ซึ่งเบี้ยปรับนั้นหากสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ เมื่อโจทก์ทั้งสามเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ลงนามในสัญญาสินเชื่อกับจำเลย จำเลยย่อมมีสิทธิริบเงิน 9,560,000 บาท ที่ได้รับมาจากโจทก์ทั้งสามในฐานะเบี้ยปรับอันเป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงในสัญญาโดยชอบ จำเลยมีสิทธิปฏิเสธไม่คืนเงินแก่โจทก์ทั้งสามได้โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดนัด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสาม เมื่อต่อมาศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าเงินทั้งหมดที่จำเลยรับมาจากโจทก์ทั้งสามเป็นเบี้ยปรับแล้วใช้ดุลพินิจให้ลดเบี้ยปรับลงเหลือ 2,000,000 บาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคสอง เป็นผลให้จำเลยต้องคืนเบี้ยปรับบางส่วนแก่โจทก์ทั้งสามเป็นเงิน 7,560,000 บาท ซึ่งหาเป็นความผิดของจำเลยไม่ โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนเพราะการรับเงินดังกล่าวของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1095/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างแรงงาน: การกำหนดค่าเสียหายล่วงหน้า (เบี้ยปรับ) กรณีเลิกจ้างก่อนครบกำหนดสัญญา และการลดเบี้ยปรับโดยศาล
ตามสัญญาจ้างระบุว่า หากผู้ว่าจ้างให้ผู้รับจ้างพ้นจากการเป็นพนักงานของผู้ว่าจ้างก่อนสิ้นอายุของสัญญา โดยผู้รับจ้างไม่ได้กระทำความผิดและหรือผู้ว่าจ้างยังไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาที่จะมอบหุ้นให้แก่ผู้รับจ้าง ผู้ว่าจ้างจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างเป็นเงินจำนวนหนึ่งภายใน 60 วัน นับแต่ผู้ว่าจ้างให้ผู้รับจ้างพ้นจากความเป็นพนักงานของผู้ว่าจ้าง ข้อความดังกล่าวเป็นการตกลงจะชำระเงินให้ผู้รับจ้างหากเลิกจ้างก่อนครบกำหนดตามสัญญาโดยผู้รับจ้างไม่มีความผิด และหรือผู้ว่าจ้างยังไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญา จึงมีลักษณะเป็นการทำสัญญากำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า ในกรณีผู้ว่าจ้างไม่ชำระหนี้ หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร อันเป็นเบี้ยปรับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงได้ตามที่เห็นสมควร ตามมาตรา 383 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5480/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกัน - การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประกวดราคา - ความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
การที่บุคคลใดจะเข้าประกวดราคาตามใบแจ้งความประกวดราคาหรือไม่ ย่อมเป็นเรื่องที่บุคคลนั้นจะต้องพิจารณาเองว่าสมควรเข้าประกวดราคาเช่นนั้นหรือไม่ ใบแจ้งความประกวดราคาของโจทก์ระบุว่าโจทก์ไม่จำต้องสนองรับการเสนอราคาใดก็ตามที่ส่งมาโดยไม่จำเป็นต้องแสดงเหตุผลดังนั้นแม้จำเลยที่ 1 มีสิทธิเสนอราคางานเสาเข็มเจาะระบบอื่นนอกเหนือจากระบบตามใบแจ้งความประกวดราคาของโจทก์ โจทก์ก็มีสิทธิที่จะไม่พิจารณาและไม่สนองรับการเสนอราคาเสาเข็มเจาะระบบอื่นดังกล่าวของจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องให้เหตุผลแก่จำเลยที่ 1 แต่อย่างใด การแจ้งความประกวดราคาของโจทก์ดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดไม่ยอมทำสัญญาจ้างงานเสาเข็มเจาะตามที่ได้ตกลงในการประกวดราคา จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใด ๆ ในการประกวดราคาจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ผิดเงื่อนไขในการประกวดราคาโดยไม่ยอมเข้าทำสัญญากับโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเอาหลักประกันอันเป็นเบี้ยปรับตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบแจ้งความประกวดราคา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคสอง ส่วนความเสียหายของโจทก์ที่เกิดจากการที่โจทก์เริ่มงานเสาเข็มเจาะล่าช้าทำให้งานโครงการของโจทก์เสร็จช้าไปก็ดี ความเสียหายที่เกิดจากการที่โจทก์ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ผู้ควบคุมงานรายใหม่เพิ่มขึ้นก็ดีความเสียหายอันเกิดจากความล่าช้าเพราะเกิดอุปสรรคในการสร้างงานเสาเข็มเจาะของผู้รับจ้างรายใหม่ก็ดี การว่าจ้างผู้รับจ้างรายใหม่ทำให้โจทก์ต้องจ่ายเงินค่างวดเร็วขึ้นและทำให้โจทก์ต้องรับภาระในการจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารมากขึ้นก็ดี ค่าใช้จ่ายในการเตรียมเอกสารและค่าปรึกษาด้านกฎหมายและเอกสารในการทำสัญญาใหม่ก็ดี ต่างเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจ้างงานเสาเข็มเจาะกับโจทก์ทั้งสิ้น แต่ตามใบแจ้งความประกวดราคาได้ความว่าสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือตามแบบในการประกวดราคาฉะนั้น แม้จำเลยที่ 1 และโจทก์ได้แสดงเจตนาเสนอสนองถูกต้องตรงกันแต่จำเลยที่ 1 ยังมิได้ลงนามในสัญญาจ้างงานเสาเข็มเจาะ สัญญาจ้างงานเสาเข็มเจาะระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่เกิดขึ้นโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ อันเกิดจากการผิดสัญญานั้นได้ การต่อรองในเรื่องราคาและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการลดราคาค่าว่าจ้างลง มิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขในการประกวดราคาใหม่ เพราะโจทก์มีสิทธิต่อรองราคาเช่นนั้นตามใบแจ้งความประกวดราคา ข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 850/2532 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ประกันตามสัญญาประกันเมื่อจำเลยหลบหนีและไม่มาศาล แม้ศาลฎีกายกฟ้อง
การที่ผู้ประกันไม่สามารถส่งตัวจำเลยต่อศาลได้ภายในเวลาที่ศาลกำหนด จนศาลได้มีคำสั่งปรับนายประกันและออกหมายจับจำเลยไปแล้ว ครั้นเมื่อศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ผู้ประกันก็ไม่สามารถนำตัวจำเลยมาศาลได้ เป็นเหตุให้ศาลต้องเลื่อนการอ่านไปและออกหมายจับจำเลยอีก ต่อมาเมื่อศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาลับหลังจำเลยไปแล้ว โดยศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์ ผู้ประกันจึงเพิ่งนำตัวจำเลยมาส่งศาลและขอลดค่าปรับ พฤติการณ์เช่นนี้แสดงว่าจำเลยเจตนาหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา แม้ศาลฎีกาจะพิพากษายกฟ้องโจทก์ก็ไม่ทำให้ผู้ประกันพ้นความรับผิดตามสัญญาประกันไปได้ เพราะผลของคำพิพากษาไม่เป็นเหตุที่จะนำมาประกอบการพิจารณาว่าผู้ประกันผิดสัญญาประกันหรือไม่ ทั้งการไม่ได้ตัวผู้กระทำผิดมาพิจารณาพิพากษาไม่ว่าจำเลยจะต้องถูกลงโทษหรือไม่ก็ตาม ย่อมทำให้เสียหายแก่การยุติธรรม จึงไม่มีเหตุที่จะลดหย่อนค่าปรับให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1318/2529 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเกิดสัญญาและการริบเบี้ยปรับตามเงื่อนไขประกวดข้อเสนอ
เงื่อนไขในการประกวดข้อเสนอโครงการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟ ฯ มีว่า "ผู้ชนะการประกวดข้อเสนอจะต้องมาทำสัญญากับการรถไฟ ฯ ภายในระยะเวลา 15 วัน หากไม่มาทำสัญญาจะถือว่าสละสิทธิการรถไฟ ฯ จะริบเงินประกันซอง.........." ดังนี้แสดงว่าสัญญาที่คู่กรณีมุ่งจะทำ นั้นต้องทำเป็นหนังสือ แม้คู่กรณีตกลงกันได้แล้วก็ตาม ตราบใดที่คู่กรณียังไม่ทำสัญญา ต่อกัน ถือได้ว่าสัญญาระหว่างคู่กรณียังไม่เกิดขึ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง และเมื่อผู้ชนะการประกวดข้อเสนอไม่มาทำสัญญาตามกำหนดการรถไฟ ฯ มีสิทธิริบเงินประกันซองอันเป็นเบี้ยปรับตามเงื่อนไขในการประกวดข้อเสนอดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 183 วรรคสอง