คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1747

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 430/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการมรดกโดยผู้จัดการมรดก การเพิกถอนนิติกรรมการโอนมรดก และการกำจัดทายาทบางส่วนออกจากกองมรดก
จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โดยมีบุตรด้วยกัน 7 คน รวมทั้งโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 การที่โจทก์ได้รับเงิน 6,000,000 บาท จากผู้ตายโดยเสน่หาในระหว่างเวลาที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ หาทำให้สิทธิในการแบ่งปันทรัพย์มรดกของโจทก์ต้องเสื่อมเสียไปไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1747 และแม้จะมีข้อตกลงในการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว แต่เมื่อไม่ได้ทำสัญญาโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมิอาจบังคับได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคสอง กรณีจึงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายแก่ทายาทโดยธรรมทุกคนตามสัดส่วน
ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ โดยมีทรัพย์มรดกหลายรายการ ได้แก่ เงินสดที่ฝากไว้กับธนาคารต่าง ๆ หุ้นในบริษัท และที่ดินอีกหลายแปลง ต่อมาศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยจำเลยที่ 1 เปลี่ยนชื่อผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดก แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้เปลี่ยนแปลงชื่อในการครอบครองทรัพย์มรดกและเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้นหลายรายการมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้โอนทรัพย์มรดกดังกล่าวต่อให้บุคคลอื่นอีก จึงไม่เป็นพฤติการณ์ที่ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยักย้ายโดยฉ้อฉล หรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทายาทอื่น ไม่เป็นเหตุให้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 วรรคหนึ่ง แต่การที่จำเลยที่ 2 นำที่ดินบางโฉนดที่เป็นทรัพย์มรดกซึ่งรับโอนมาแล้ว โอนขายแก่จำเลยที่ 4 ในราคา 11,100,000 บาท ย่อมเป็นการกระทำที่ทำให้โจทก์และทายาทอื่นเสื่อมประโยชน์ในการได้รับการแบ่งปัน จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย เมื่อพิจารณาถึงราคาที่ดินซึ่งขายสูงกว่าราคาประเมินตามที่โจทก์และฝ่ายจำเลยรับกันว่ามีราคา 9,950,000 บาท หากแบ่งเป็นสินสมรสในส่วนของจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งคิดเป็นเงินเพียง 5,550,000 บาท เมื่อแบ่งเป็น 8 ส่วน ทายาทจะได้รับคนละ 693,750 บาท แต่จำเลยที่ 2 ยังมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายส่วนอื่นอีก อันมีมูลค่ามากกว่าที่ดินโฉนดที่โอนขายไป จำเลยที่ 2 จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกเฉพาะส่วนที่ยักย้าย คิดเป็นเงิน 5,550,000 บาท เมื่อแบ่งเป็น 7 ส่วน ทายาทอื่นได้รับคนละ 792,857 บาท และจำเลยที่ 2 ยังคงเหลือส่วนที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกอยู่อีกคิดเป็นเงิน 4,856,250 บาท ส่วนการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนหุ้นซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งมิใช่ทายาท จำนวน 16,000 หุ้น จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกส่วนนี้คนละ 8,000 หุ้น เพราะน้อยกว่าหุ้นซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 พึงจะได้รับหลังแบ่งแก่จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งแล้ว คนละ 11,875 หุ้น ดังนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตายเพียงบางส่วน