คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
(2)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4658/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจผู้รับมอบอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความ – ผลกระทบต่อคำพิพากษา – การตีความหนังสือมอบอำนาจ
สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ฉ้อฉลโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้กระทำได้นั้น จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง (2)
การตีความหนังสือมอบอำนาจท้ายคำฟ้องโจทก์ว่าผู้รับมอบอำนาจโจทก์มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ โจทก์ก็มีสิทธิฎีกาได้
โจทก์อุทธรณ์และฎีกาขอให้พิพากษาว่า สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมตกเป็นโมฆะและขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีใหม่ เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาชั้นละ 200 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10010/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีรับประกันภัยและการรับช่วงสิทธิจากสัญญาจ้างรักษาความปลอดภัย ศาลต้องพิจารณาสิทธิเรียกร้องทั้งสอง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์รับประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิดไว้จากบริษัท อ. และบริษัท อ. ได้ตกลงว่าจ้างจำเลยเป็นผู้ดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของบริษัท ตามสำเนาสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยเอกสารท้ายคำฟ้อง เมื่อระหว่างวันที่ 25 ถึง 28 กรกฎาคม 2546 มีคนร้ายเข้าไปในอาคารแล้วลักทรัพย์รวมมูลค่า 152,166.32 บาท ของบริษัท อ. ไป โดยพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยไม่ใช้ความระมัดระวังดูแลป้องกัน ไม่ตรวจตราดูแลตามหน้าที่ โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้บริษัท อ. ไปจำนวน 147,166.32 บาท จึงเข้ารับช่วงสิทธิมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่มีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากมูลละเมิด และสิทธิเรียกร้องจากการเข้ารับช่วงสิทธิตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยรวมอยู่ด้วย แม้สิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดจะขาดอายุความ แต่สิทธิเรียกร้องตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยที่โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คดีนี้เหตุเกิดระหว่างวันที่ 25 ถึง 28 กรกฎาคม 2546 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามสิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่มูลละเมิดแล้วพิพากษายกฟ้อง โดยยังไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัย จึงเป็นการไม่ชอบ
เมื่อผลของคำพิพากษาศาลฎีกามีเพียงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ อุทธรณ์และฎีกาของโจทก์จึงเป็นการขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันมิอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท