คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พีรพล พิชยวัฒน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 576 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5204/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ค่าเสียหายจากการฝึกอบรมและการโต้แย้งดุลพินิจศาลชั้นต้นในคดีแรงงาน
เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไม่สามารถแสดงให้ศาลเห็นได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นค่าฝึกอบรมที่จ่ายให้ พ. และได้จ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงไปจริง และพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังนั้น จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4957/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิดฐานพาอาวุธ การบรรยายฟ้องที่ถูกต้อง และอำนาจศาลฎีกาในการแก้ไขคำพิพากษา
แม้คำขอท้ายฟ้องจะระบุอ้าง ป.อ. มาตรา 371 ไว้ด้วย แต่โจทก์ไม่ได้กล่าวบรรยายในฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดดังกล่าวว่าเป็นการพาอาวุธโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรมาด้วย ดังนั้น ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรานี้มิได้เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4899/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระค่าปรับทางอาญา: ศาลมีอำนาจบังคับชำระได้แม้คดีไม่ถึงที่สุดตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลย จำเลยจะต้องชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตาม ป.อ. มาตรา 29 จำเลยจะขอชำระค่าปรับเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคหนึ่ง หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4897/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีค่าปรับ: ศาลมีอำนาจกักขังแทนค่าปรับได้ทันทีหลังพิพากษา แม้คดียังไม่ถึงที่สุด
แม้ ป.วิ.อ.มาตรา 245 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้าก็ตาม แต่ตาม ป.อ.มาตรา 29 วรรคแรก ได้บัญญัติถึงวิธีการบังคับชำระค่าปรับไว้โดยเฉพาะแล้ว โดยบัญญัติว่า ผู้ใดต้องโทษปรับ และไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งกักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้ และตาม ป.วิ.อ.มาตรา 188 บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป ดังนั้น หากการบังคับชำระค่าปรับจะกระทำได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว กฎหมายย่อมบัญญัติไว้เช่นนั้นโดยตรง นอกจากนี้ ป.อ.มาตรา 29 วรรคแรก ได้บัญญัติถึงมาตรการชั่วคราวก่อนการบังคับชำระค่าปรับ ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งกักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้ จึงมีผลว่าศาลอาจมีคำสั่งให้กักขังแทนค่าปรับได้ทันทีตั้งแต่มีคำพิพากษา แต่การกักขังแทนค่าปรับไปพลางก่อนนั้นกฎหมายยังให้เวลาผู้ต้องโทษปรับจัดการให้ได้เงินมาชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา เมื่อครบกำหนดสามสิบวันแล้ว แม้จะมีอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษานั้นก็ไม่เป็นเหตุขัดขวางการที่ศาลจะบังคับคดีไปตาม ป.อ.มาตรา 29

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4895/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าปรับบังคับคดีได้แม้คดีไม่ถึงที่สุด ตามป.อ. มาตรา 29
แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้าก็ตาม แต่ตาม ป.อ. มาตรา 29 วรรคแรก ได้บัญญัติถึงวิธีการบังคับชำระค่าปรับไว้โดยเฉพาะแล้ว โดยบัญญัติว่าผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือสั่งกักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้ และตาม ป.วิ.อ. มาตรา 188 บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป จึงมีผลว่าศาลอาจมีคำสั่งให้กักขังแทนค่าปรับได้ทันทีตั้งแต่มีคำพิพากษา และกฎหมายให้เวลาผู้ต้องโทษปรับจัดการให้ได้เงินมาชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา เมื่อครบกำหนดสามสิบวันแล้วแม้จะมีการอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษานั้นก็ไม่เป็นเหตุขัดขวางการที่ศาลจะบังคับคดี เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2546 จำเลยจะต้องชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษา จำเลยจะขอชำระค่าปรับเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4814/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูกิจการล้มละลายไม่กระทบสิทธิผู้รับประกันภัยต่อผู้รับประกันอื่น โจทก์มีอำนาจฟ้องได้
พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/60 วรรคสอง บัญญัติว่า คำสั่งของศาลซึ่งเห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกันหรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน... ดังนั้นการที่โจทก์มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 จึงมีผลให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากหนี้ที่โจทก์อาจขอรับชำระหนี้ได้ในการฟื้นฟูกิจการ แต่คงมีผลเฉพาะจำเลยที่ 1 เท่านั้น ที่โจทก์หมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ และหนี้นั้นหาได้ระงับหมดสิ้นไปไม่ ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ซึ่งอาจต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในมูลละเมิดต้องเป็นไปตามสัญญาประกันภัย และบทบัญญัติใน ป.พ.พ.ว่าด้วยเรื่องประกันภัยค้ำจุน การที่จำเลยที่ 1 หลุดพ้น ไม่กระทบถึงสิทธิของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 2 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยได้
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์และพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์จึงอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ต่อไป จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ดังนั้น ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 2 ต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ (2) (ก) ท้าย ป.วิ.พ.แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มา 113,450 บาท เกินไป 113,250 บาทและจำเลยที่ 2 เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามา 113,451 บาท เกินไป 113,251 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4707/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งระงับเลี้ยงกุ้งฯ ชอบด้วยกฎหมาย แม้ไม่มีนิยามความเค็มชัดเจน การกระทำผิดต้องพิสูจน์ได้
คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นคำสั่งที่ออกตามคำสั่งที่ได้รับมอบอำนาจจากนายรัฐมนตรีตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 2/2541 ทั้งสองคำสั่งมีใจความสำคัญสอดคล้องต้องกันว่า การเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเกษตรกรรม เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ เป็นเหตุให้เกิดภาวะมลพิษทั้งทางน้ำและในดิน...ฯลฯ เกิดภาวะขาดความสมดุลตามธรรมชาติผลตอบแทนที่ได้รับจากการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่น้ำจืดไม่คุ้มกับความเสียหายต่อทรัพยากร จึงให้ระงับการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่น้ำจืด และผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้ระงับการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่น้ำจืดในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี ตามคำสั่งดังกล่าวแม้ไม่ได้ให้คำนิยามหรือให้ความหมายว่าการเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำ คือ ความเค็มอัตราส่วนเท่าใด แต่ตามข้อเท็จจริงย่อมเป็นที่เข้าใจอยู่แล้วว่า คือ การเลี้ยงกุ้งกุลาดำในน้ำซึ่งนำน้ำทะเลพอประมาณมาเติมผสมลงในน้ำจืดโดยกุ้งกุลาดำมีชีวิตและเจริญเติบโตได้ ซึ่งจำเลยก็เข้าใจความหมายดังกล่าวดี จึงนำสืบต่อสู้ไว้ตรงประเด็นว่า ช่วงวันเวลาเกิดเหตุตามคำฟ้องจำเลยไม่ได้นำน้ำทะเลมาเติมผสมลงในน้ำในบ่อที่ใช้เลี้ยงกุ้งกุลาดำของจำเลยแต่อย่างใด คำสั่งของนายกรัฐมนตรีและคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4303/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับใช้กฎหมายน้ำมันเชื้อเพลิงที่เปลี่ยนแปลง และการปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิง การแจ้งประกอบกิจการแทนใบอนุญาต
พ.ร.บ.น้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 มาตรา 25 ตรี วรรคสอง วางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับตั้งแต่ 4,000 บาท ถึง 200,000 บาท แต่ พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 49 วรรคสอง วางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ต้องถือว่า พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 49 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ แต่โทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายฐานนี้ให้ถูกต้องได้
ความผิดฐานเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดน่ากลัวอันตรายไว้เพื่อจำหน่ายขาย และทำการจำหน่ายขายในสถานที่ที่มิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2474 มาตรา 48 นั้นปรากฏว่าขณะคดีนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มี พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 มาตรา 7 (1) บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีอำนาจออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับการเก็บรักษา และการควบคุมอื่นเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง ต่อมาได้มีกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2546 ข้อที่ 2 (3) กำหนดให้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีจุดวาบไฟต่ำกว่า 37.8 องศาเซลเซียส เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไวไฟมาก ดังนั้น น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วออกเทน 95 ซึ่งมีจุดวาบไฟต่ำกว่า 23 องศาเซลเซียส อันเป็นเชื้อเพลิงชนิดน่ากลัวอันตรายตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2474 มาตรา 4 (3) ถือว่าเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไวไฟมากตาม พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 เมื่อสถานีบริการน้ำมันของจำเลยเป็นสถานีบริการน้ำมันที่เก็บรักษาน้ำมันชนิดไวไฟมากไว้ในถังน้ำมันเชื้อเพลิง สถานีบริการน้ำมันของจำเลยจึงเป็นสถานีบริการน้ำมันประเภท ง ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2546 ข้อ 15 ซึ่งแก้ไขโดยกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2546 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2547 ข้อ 2 อันเป็นกิจการควบคุมประเภทที่ 2 ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2546 ข้อ 19 (3) ซึ่งกฎกระทรวงข้อที่ 21 กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบกิจการต้องแจ้งการประกอบกิจการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบ ธฑ.น. ท้ายกฎกระทรวง โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการ การที่จำเลยประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 การกระทำของจำเลยแม้เป็นความผิดดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้อง จำเลยก็พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4294/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: การควบคุมตัวผู้ต้องหาและการหมดระยะฝากขังไม่ทำให้โจทก์ขาดอำนาจฟ้อง หากฟ้องภายในอายุความ
การควบคุมตัวจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวนจะต้องขออำนาจศาลฝากขังจำเลยที่ 1 หากพนักงานสอบสวนมิได้ขอฝากขังต่อศาลภายในกำหนด เมื่อพ้นอำนาจการควบคุมตัวผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานสอบสวนต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาไป หาใช่เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายในอายุความ โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีอาญามาฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4279/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค ต้องระบุหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 บัญญัติว่า "ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯลฯ เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิด ฯลฯ" ตามบทบัญญัติดังกล่าวการออกเช็คที่จะเป็นความผิดนั้น จะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายด้วย อันเป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดการที่โจทก์บรรยายฟ้องมีสาระสำคัญว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสองฉบับซึ่งจำเลยทั้งสองออกเพื่อชำระหนี้ค่าอะไหล่และอุปกรณ์เครื่องทำความเย็นให้แก่โจทก์ เมื่อเช็คทั้งสองฉบับถึงกำหนดโจทก์ได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า "โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย" เป็นที่เห็นได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพื่อชำระหนี้ค่าอะไหล่และอุปกรณ์เครื่องทำความเย็นอันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 158 (5)
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกด้วยแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) โดยยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่าสมควรลงโทษจำเลยทั้งสองสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกหรือไม่ เพื่อให้การวินิจฉัยกำหนดโทษของจำเลยทั้งสองเป็นไปตามลำดับศาล เพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้ จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4
of 58