คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พีรพล พิชยวัฒน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 576 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6428/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่ารถยนต์และประกันภัย: ความรับผิดของเจ้าของรถยนต์ต่อบุคคลภายนอกเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
การขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายจะขอได้เฉพาะในคดีที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จะมาขอในชั้นฎีกาไม่ได้
จำเลยที่ 2 มีข้อตกลงตามสัญญาเช่ารถยนต์คันเกิดเหตุกับโจทก์ที่ 3 ที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เกี่ยวข้องกรณีรถยนต์คันดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุทุกกรณีด้วย ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นความคุ้มครองแก่ผู้เกี่ยวข้องหรือโจทก์ที่ 3 ตามสัญญาเช่ารถยนต์
ตามสัญญาเช่ารถยนต์ ข้อ 12 ระบุไว้ว่า ผู้ให้เช่ารถยนต์ตกลงว่ารถยนต์จะได้รับความคุ้มครองโดยการประกันภัยแบบครบวงจรด้วยค่าใช้จ่ายของผู้ให้เช่าเอง และได้กำหนดตารางรายละเอียดความคุ้มครองและขีดจำกัดการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไว้ สัญญาเช่ารถยนต์ ข้อ 12 ดังกล่าว คือข้อตกลงที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์ที่ 3 เป็นสัญญาต่างตอบแทนเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 จึงต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวคือจัดทำสัญญาประกันภัยตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน ข้อ 12
จำเลยที่ 2 ได้จัดทำสัญญาประกันภัยรถยนต์ที่เช่าไว้กับบริษัท ธ. และบริษัทผู้รับประกันภัยดังกล่าวได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 แต่ยังไม่ครบตามเงื่อนไขข้อตกลงที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์ที่ 3 โจทก์ที่ 3 จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สัญญารับผิดชดใช้เงินตามข้อตกลงข้อ 12 ส่วนที่เกินจากที่บริษัท ธ. จ่ายแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10237/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดเจ้าพนักงานทุจริต-สนับสนุนการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างเทศบาล - พยานหลักฐานรับฟังได้
จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต อนุมัติและดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่าง ๆ ของเทศบาลตำบลสว่างแดนดิน 16 โครงการ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำการโดยใช้อุบายหลอกลวงหรือกระทำการโดยวิธีอื่นใดเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าเสนอราคาอย่างเป็นธรรมอันทำให้เกิดความเสียหายแก่เทศบาลตำบลสว่างแดนดิน ราชการ เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลสว่างแดนดิน บริษัทห้างร้านที่มีอาชีพรับเหมาก่อสร้างทั่วไปหรือบุคคลอื่นและประชาชน ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ลงลายมือชื่อรับบันทึกรับส่งประกาศสอบราคา บันทึกรับเอกสารสอบราคาและบันทึกการยื่นซองสอบราคาซึ่งเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการทุจริตทั้ง 16 โครงการโดยที่ไม่มีการปิดประกาศเผยแพร่ไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการสำนักงานเทศบาล ตำบลสว่างแดนดินหรือให้มีการประชาสัมพันธ์การสอบราคาให้ประชาชนทั่วไปทราบ ทั้งเจ้าหน้าที่ของเทศบาลตำบลสว่างแดนดินบางส่วนก็ไม่ทราบ ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างทั่วไปไม่มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม มีแต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับจำเลยอื่นเท่านั้นที่รู้และยื่นซองเสนอราคา พฤติกรรมของจำเลยที่ 3 และที่ 4 บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประกอบกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2
แม้ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151, 157, 162 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 กฎหมายมุ่งประสงค์เอาผิดกับผู้กระทำความผิดที่เป็นเจ้าพนักงานแต่เอกชนก็ร่วมกระทำความผิดกับเจ้าพนักงานได้โดยต้องลงโทษเอกชนผู้ร่วมกระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นเอกชน ร่วมกระทำความผิดกับเจ้าพนักงานคือจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าพนักงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9751/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายเวลาอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย และอำนาจศาลฎีกาในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาวันที่ 20 มิถุนายน 2556 โจทก์ที่ 1 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 18 กันยายน 2556 ต่อมาโจทก์ที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ฉบับเดียวกับโจทก์ที่ 2 จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์มาภายในกำหนดที่ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวแม้โจทก์ที่ 1 ไม่ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1), (2) ประกอบมาตรา 247 แต่เนื่องจากโจทก์ทั้งสองมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี จึงให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยถึงโจทก์ที่ 2 ใหม่ด้วยตามรูปคดี ศาลฎีกาจึงไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9704/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน: คดีเพิกถอนพินัยกรรมซ้ำกับคดีตั้งผู้จัดการมรดก
คดีก่อนโจทก์ซึ่งเป็นผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องในฐานะทายาทโดยธรรมเป็นผู้จัดการมรดกของ ช. ผู้ตายโดยไม่มีพินัยกรรม จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่าผู้คัดค้านทั้งสองเป็นบุตรของ ช. ซึ่ง ช. ให้การรับรองว่าเป็นบุตร ช. ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองแต่งตั้งให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกและยกทรัพย์มรดกของ ช. ทั้งหมดให้ผู้คัดค้านทั้งสอง ขอให้ยกคำร้องขอ และมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของ ช. ผู้ตาย คดีดังกล่าวจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่าสมควรตั้งผู้ร้องหรือผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และมีประเด็นต้องวินิจฉัยถึงความสมบูรณ์ของพินัยกรรมตามคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสอง ขณะที่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองที่ ช. ทำขึ้นที่สำนักงานเขตวัฒนา โดยอ้างว่า ช. สำคัญผิดหรือถูกจำเลยทั้งสองกับพวกใช้กลฉ้อฉล เนื่องจากขณะทำพินัยกรรมไม่มีแพทย์ตรวจสอบร่างกายและจิตใจของ ช. ซึ่งมีอายุ 92 ปี ระหว่างป่วยเป็นโรคหัวใจและโรคทางสมองผิดปกติ ช. มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์และไม่เข้าใจภาษาไทย ล่ามไม่ได้แปลพินัยกรรมให้ถูกต้อง พินัยกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะ จึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า มีเหตุจะต้องเพิกถอนพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองที่ ช. ทำไว้หรือไม่ ซึ่งต้องวินิจฉัยถึงความสมบูรณ์ของพินัยกรรมเช่นเดียวกัน ประเด็นของคดีทั้งสองจึงเป็นเรื่องเดียวกัน และเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9487/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ, ประกันภัย, ล้มละลาย: สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายยังคงอยู่แม้มีการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย
การยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายเป็นเพียงการปฏิบัติตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27, 91 เพื่อเป็นการรักษาสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันภัยไว้เท่านั้น และเป็นการไม่แน่นอนว่าจะได้รับชำระหนี้เพราะคำขออาจถูกยกหรืออนุญาตทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ตาม มาตรา 107 การถือเอาประโยชน์ของโจทก์ตามสัญญาประกันภัยด้วยการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจึงมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชดใช้ค่าเสียหาย โจทก์จึงชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อได้ไม่เป็นการซ้ำซ้อนกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8808/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาโตตุลาการมีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญา การเรียกร้องค่าเสียหายจากบุคคลภายนอกสัญญายังคงดำเนินคดีในศาลได้
สัญญาการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ สมาคมประกันวินาศภัย ที่โจทก์และจำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่สัญญานั้น ย่อมมีผลผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยและเข้าทำสัญญาผูกพันระหว่างกันเท่านั้น สำหรับจำเลยที่ 1 นั้นเป็นบุคคลธรรมดา หาใช่บุคคลที่เป็นคู่สัญญาการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างบทบัญญัติมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาเพื่อขอให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 โจทก์มีสิทธิดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 ในชั้นศาลต่อไป
ศาลล่างทั้งสองพิพากษาตรงกันว่าให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นไปตามคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 2 ประกอบกับ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 กำหนดให้สิทธิเฉพาะคู่กรณีที่มีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการต่อกันเท่านั้น อันถือเป็นสัญญาอย่างหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้เป็นคู่สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอาศัยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวขอให้ศาลจำหน่ายคดีในส่วนของตนได้ แม้จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดต่อเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ต้องรับผิดด้วยและเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ก็ตาม แต่ผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีผลกระทบโดยตรงกับจำเลยที่ 2 ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีข้อโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6384/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากเรือชนท่าเทียบเรือ: ความรับผิดชอบของผู้กระทำละเมิดและผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ
เมื่อจำเลยที่ 4 ผู้ควบคุมเรือเพ็นนินซูล่าซึ่งมีหน้าที่ตรวจนับสินค้าและผูกโยงเชือกเรือไม่สามารถบังคับทิศทางการเคลื่อนที่ของเรือดังกล่าวได้เองต้องแล่นไปตามที่เรือยนต์จินดา 95 ลากจูงไปที่มี น. เป็นผู้ควบคุม จำเลยที่ 4 จึงไม่ใช่ผู้ควบคุมเรืออันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 437 ผู้ควบคุมเรืออันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลขณะเกิดเหตุคือ น. ซึ่งขับเรือยนต์จินดา 95 ลากเรือลำเลียงเพ็นนินซูล่า เข้าไปในระยะกระชั้นชิดใกล้กับสะพานของท่าเทียบเรือ และเลี้ยวกลับเป็นเหตุให้เรือลำเลียงเพ็นนินซูล่ากระแทกเสาและคานของท่าเรือ จึงเป็นการกระทำประมาทเลินเล่อของ น. โดยตรง และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทันที จำเลยที่ 4 ไม่อาจช่วยเหลือหรือป้องกันไม่ให้เกิดเหตุได้ จำเลยที่ 4 มิได้มีส่วนประมาท จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลละเมิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3951/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีละเมิด: เจ้าของรถที่เสียหายมีสิทธิฟ้อง ไม่ใช่ผู้ครอบครองรถต่อมา
เมื่อการโอนกิจการระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด ฟ. กับโจทก์ไม่มีหลักฐานจึงรับฟังไม่ได้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ฟ. กับโจทก์มีการควบรวมกิจการกันตามกฎหมาย แต่เป็นเรื่องห้างหุ้นส่วนจำกัด ฟ. เลิกกิจการและมีการโอนทรัพย์สินรวมทั้งรถยนต์คันเกิดเหตุให้โจทก์ เมื่อขณะเกิดเหตุรถยนต์คันเกิดเหตุเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฟ. ผู้มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองรับผิดฐานละเมิดคือห้างหุ้นส่วนจำกัด ฟ. โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย และการกระทำละเมิดเป็นเรื่องทำให้เจ้าของรถได้รับความเสียหายมิใช่ความเสียหายจะตกติดไปกับตัวรถ ผู้ใดที่ครอบครองรถต่อมาจึงไม่มีสิทธิฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3203/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องกระทรวงกลาโหมจากละเมิดของทหาร: ความรับผิดของต้นสังกัด
กองทัพบกเป็นส่วนราชการ สังกัดกองบัญชาการทหารสูงสุด และกองบัญชาการทหารสูงสุดเป็นส่วนราชการ สังกัดกระทรวงกลาโหม ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2503 มาตรา 8 ซึ่งใช้บังคับในขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ กระทรวงกลาโหมจึงมีอำนาจควบคุมดูแลกิจการในกองบัญชาการทหารสูงสุดตลอดไปถึงกิจการในกองทัพบก สิบเอก ต. เป็นทหารสังกัดกองทัพบก จึงถือว่าเป็นทหารในสังกัดของกองบัญชาการทหารสูงสุดซึ่งเป็นส่วนราชการของกระทรวงกลาโหมจำเลยด้วย เมื่อสิบเอก ต. ขับรถบรรทุกน้ำคันเกิดเหตุตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ ซึ่งทั้งกองทัพบกและกระทรวงกลาโหมจำเลยต่างเป็นนิติบุคคล โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องทั้งกองทัพบกซึ่งเป็นต้นสังกัดโดยตรง และฟ้องกระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นต้นสังกัดในลำดับสูงขึ้นไปได้ด้วย การที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องกระทรวงกลาโหมให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่สิบเอก ต. ซึ่งถือเป็นผู้แทนของจำเลยผู้กระทำละเมิดตาม ป.พ.พ.มาตรา 76 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3193/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของผู้ถือหุ้นกรณีกรรมการทำละเมิด - การฟ้องเพิกถอนนิติกรรมไม่ใช่การเรียกค่าเสียหาย
ป.พ.พ. มาตรา 1169 บัญญัติว่า "ถ้ากรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท บริษัทจะฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ หรือในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้ ..." ตามบทบัญญัติดังกล่าว บริษัทย่อมเป็นผู้ฟ้องเรียกให้กรรมการผู้ทำให้บริษัทเสียหายชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัท ส่วนผู้ถือหุ้นจะเป็นผู้ฟ้องได้ต้องฟ้องแทนหรือฟ้องเพื่อประโยชน์ของบริษัทเฉพาะกรณีที่บริษัทไม่ฟ้องและเป็นการฟ้องเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ส. ฟ้องขอให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างบริษัท ส. กับจำเลย หาใช่เป็นการฟ้องเพื่อเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการผู้ทำให้บริษัทเสียหายไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง นอกจากนี้จำเลยเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นกรรมการบริษัทจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว
of 58