พบผลลัพธ์ทั้งหมด 109 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15039/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความมรดกและการครอบครองทรัพย์สินโดยเจตนา: สิทธิการรับมรดกสิ้นสุดเมื่อเลยกำหนดอายุความ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างเป็นทายาทและบุตรของผู้ตายเจ้ามรดก ผู้ร้องได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ก่อนเจ้ามรดกมีชีวิตอยู่เรื่อยมาเพียงผู้เดียวกระทั่งเจ้ามรดกถึงแก่ความตายและได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก การครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องดังกล่าวจึงเป็นการครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตน และไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า การที่ทายาทคนหนึ่งคนใดครอบครองทรัพย์มรดกเพียงผู้เดียวเป็นสัดส่วนชัดเจนจะถือว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น และภายหลังเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ผู้คัดค้านก็ไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาทและไม่เคยร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกภายในอายุความมรดก 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านเพิ่งมาขอแบ่งทรัพย์มรดกหลังผู้ร้องได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้วเกิน 1 ปี ฉะนั้นสิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านที่จะเรียกร้องให้ผู้ร้องแบ่งทรัพย์มรดกจึงต้องห้ามตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่งดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกย่อมตกเป็นของผู้ร้องโดยสมบูรณ์ และการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วเกือบ 3 ปี โดยมิได้ระบุในคำร้องว่าจะนำที่ดินพิพาทมาแบ่งปันแก่ทายาทก็เป็นเพียงการที่ผู้ร้องดำเนินการให้ตนมีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนได้เท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่ผู้คัดค้านและทายาทอื่นที่สิ้นสิทธิในการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกโดยอายุความไปแล้วตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด ทั้งการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกก็ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องสละประโยชน์แห่งอายุความตามมาตรา 193/24 ดังนั้น การครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ร้องที่กล่าวข้างต้นจึงมิใช่เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นและแทนผู้คัดค้านที่สิ้นสิทธิในการรับมรดกโดยอายุความไปแล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะยื่นคัดค้านการตั้งผู้จัดการมรดก และขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1713 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14426/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องละเมิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ แม้มีสัญญาข้อกำหนดความรับผิดชอบร่วมกัน ก็ไม่อาจขยายอายุความได้
แม้ระหว่างโจทก์กับจำเลยจะมีสัญญากำหนดความรับผิดต่อกันไว้โดยระบุว่า ในกรณีที่พนักงานประจำรถและหรือรถตามสัญญานี้ ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ ขึ้นแก่ผู้ให้สัญญาหรือบุคคลใด ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นบนเส้นทาง หรือนอกเส้นทางที่กำหนดไว้ ผู้รับสัญญายินยอมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งสิ้นนั้น ข้อสัญญาดังกล่าวก็เป็นการแสดงเจตนาของคู่สัญญาที่กล่าวถึงความรับผิดของจำเลยผู้รับสัญญา ในกรณีที่พนักงานประจำรถของจำเลยไปก่อให้เกิดความเสียหายอันทำให้โจทก์จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยตรงไม่ เมื่อความเสียหายดังกล่าวมาจากเหตุละเมิด อายุความในการฟ้องร้องดำเนินคดีนี้จึงมีกำหนด 1 ปี และไม่อาจนำข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวมาขยายอายุความละเมิดออกไป เพราะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/11 เมื่อได้ความว่าผู้แทนของโจทก์ลงนามในช่องผู้จัดการใหญ่ อนุมัติจ่ายค่าลากรถยนต์ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2544 จึงเป็นวันที่โจทก์รู้ถึงเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อ วันที่ 8 กันยายน 2548 พ้นกำหนด 1 ปี คดีจึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12054/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และการเพิ่มเติมโทษโดยศาลอุทธรณ์ที่ขัดต่อกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนลงโทษจำคุก 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ยกฟ้องข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยเฉพาะข้อหาที่ศาลชั้นต้นยกฟ้อง โดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน จึงต้องถือว่าโจทก์พอใจคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำเลยในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีนแล้ว ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษจำเลยในข้อหาดังกล่าวเป็นไม่รอการลงโทษ และลงโทษปรับด้วย จึงเป็นการไม่ชอบเพราะเป็นการเพิ่มโทษจำเลย อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11632/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ละเมิดจากการโอนสิทธิเรียกร้องและการมอบอำนาจโดยไม่มีสิทธิ จำเลยต้องร่วมกันรับผิดคืนเงิน
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2539 โจทก์ตรวจรับมอบผ้างวดที่ 1 ตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบไว้เรียบร้อยแล้ว ครั้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2539 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้แทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวได้ร่วมกันหลอกลวงฉ้อโกงและจงใจทำละเมิดต่อโจทก์โดยแสดงข้อความเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง กล่าวคือจำเลยทั้งสองร่วมกันทำหนังสือมอบอำนาจให้พนักงานของจำเลยที่ 1 ไปขอรับค่าสินค้างวดที่ 1 จากโจทก์โดยแจ้งต่อโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิรับเงินค่าสินค้างวดที่ 1 ซึ่งเป็นความเท็จ เพราะความจริงแล้วจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องค่าสินค้านั้นไปให้ผู้อื่นก่อนแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ค่าสินค้าจากโจทก์อีก การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. และเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินค่าสินค้าผ้างวดที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ดังนี้ จึงเป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดฐานละเมิด และให้คืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ประกอบมาตรา 438
พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ร่วมเดินทางไปกับหัวหน้างานบัญชีของบริษัทสยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้อง เพื่อไปส่งมอบหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่กองพลาธิการ กรมตำรวจ ย่อมบ่งชี้ชัดว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่า การโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าสินค้าจากโจทก์ของจำเลยที่ 1 ให้แก่บริษัทสยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) มีผลสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง อันเป็นผลให้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในการรับเงินค่าสินค้าผ้าจากโจทก์ตกเป็นของบริษัทสยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) และจำเลยที่ 1 หมดสิทธิที่จะรับเงินดังกล่าวจากโจทก์แล้ว ดังนั้นต่อมาเมื่อโจทก์ตรวจรับมอบสินค้างวดที่ 1 จากจำเลยที่1 แล้ว เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบเพื่อให้ไปรับเงินค่าผ้าในงวดที่ 1 อีก ไม่ว่าจะเป็นเพราะความผิดพลาดในการตรวจสอบเอกสาร หรือความเข้าใจผิดใดก็ตาม การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้พนักงานของจำเลยที่ 1 ไปรับเงินจากกองพลาธิการ กรมตำรวจ แทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะรับเงินจำนวนดังกล่าวจากโจทก์ได้อีก การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวย่อมเป็นการกระทำในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โดยมีเจตนาที่ไม่สุจริตอันถือได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์เสียหาย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ทำละเมิดจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 นิติบุคคลเจ้าของกิจการที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำการแทนรับผิดคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 1167 ประกอบมาตรา 427
พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ร่วมเดินทางไปกับหัวหน้างานบัญชีของบริษัทสยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้อง เพื่อไปส่งมอบหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่กองพลาธิการ กรมตำรวจ ย่อมบ่งชี้ชัดว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่า การโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าสินค้าจากโจทก์ของจำเลยที่ 1 ให้แก่บริษัทสยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) มีผลสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง อันเป็นผลให้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในการรับเงินค่าสินค้าผ้าจากโจทก์ตกเป็นของบริษัทสยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) และจำเลยที่ 1 หมดสิทธิที่จะรับเงินดังกล่าวจากโจทก์แล้ว ดังนั้นต่อมาเมื่อโจทก์ตรวจรับมอบสินค้างวดที่ 1 จากจำเลยที่1 แล้ว เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบเพื่อให้ไปรับเงินค่าผ้าในงวดที่ 1 อีก ไม่ว่าจะเป็นเพราะความผิดพลาดในการตรวจสอบเอกสาร หรือความเข้าใจผิดใดก็ตาม การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้พนักงานของจำเลยที่ 1 ไปรับเงินจากกองพลาธิการ กรมตำรวจ แทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะรับเงินจำนวนดังกล่าวจากโจทก์ได้อีก การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวย่อมเป็นการกระทำในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โดยมีเจตนาที่ไม่สุจริตอันถือได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์เสียหาย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ทำละเมิดจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 นิติบุคคลเจ้าของกิจการที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำการแทนรับผิดคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 1167 ประกอบมาตรา 427
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10521/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การคำนวณปริมาณสารบริสุทธิ์ยาเสพติดจากส่วนหนึ่งของยาเสพติดของกลาง และการลงโทษปรับตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด
แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าเมทแอมเฟตามีน 30 เม็ด ที่จำหน่ายให้แก่สายลับมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เท่าใด แต่โจทก์บรรยายฟ้องมาแล้วว่า เมทแอมเฟตามีนของกลาง 160 เม็ด ที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีน้ำหนัก 14.86 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 2.847 กรัม ซึ่งคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป อันเป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง และเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 จำหน่ายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่โจทก์บรรยายฟ้อง และเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนของกลาง จึงคำนวณสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีน 30 เม็ด ดังกล่าวได้เช่นเดียวกันว่าคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.5338 กรัม ซึ่งเป็นปริมาณตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป กรณีจึงลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง ได้ ซึ่งตามมาตรา 100/1 บัญญัติว่า ตามผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษจำคุกและปรับ ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ โดยคำนึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สินเพื่อป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ปรับด้วยนั้น จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษปรับได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7245/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นเหตุบรรเทาโทษได้ แม้ห้ามใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณา
แม้ว่ากฎหมายจะห้ามมิให้ศาลรับฟังคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาพิพากษาคดี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคท้าย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 มาตรา 19 แต่กฎหมายก็ไม่ได้ห้ามมิให้ศาลนำมาเป็นเหตุบรรเทาโทษแก่จำเลย ซึ่งถือได้ว่าคำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมดังกล่าวเป็นเหตุบรรเทาโทษโดยเหตุอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับเหตุบรรเทาโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ใน ป.อ. มาตรา 78 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6568/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องที่ไม่ชัดเจนถึงจำนวนกรรมความผิด ทำให้ศาลต้องยกฟ้อง แม้จะมีหลักฐาน
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างต้นเดือนตุลาคม 2545 ถึงวันที่ 23 ตุลาคม 2545 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 1 และผู้เสียหายที่ 2 ด้วยการใช้มือจับหน้าอกและอวัยวะเพศของผู้เสียหายทั้งสองจำนวนหลายครั้ง และใช้อวัยวะเพศถูไถที่อวัยะเพศของผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายทั้งสองยินยอมต่างกรรมต่างวาระกัน รวมจำนวน 10 ครั้ง การกระทำอนาจารผู้เสียหายแต่ละคนแต่ละคราวย่อมเป็นความผิดแต่ละกรรมแยกต่างหากจากกัน ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหาย 2 คน ต่างกรรมต่างวาระกัน รวม 10 ครั้ง จึงไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายแต่ละคน คนละกี่กรรม จึงเป็นฟ้องที่ไม่บรรยายให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ซึ่งศาลต้องยกฟ้อง ไม่อาจลงโทษจำเลยได้แม้แต่กรรมเดียว ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2570/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องแย้งซื้อขายและครอบครองที่ดิน ไม่เป็นฟ้องซ้ำ หากประเด็นต่างจากคดีก่อน
คดีแพ่งเดิมของศาลชั้นต้น ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วและคู่ความในคดีดังกล่าวกับคู่ความในคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกัน แต่ประเด็นในเรื่องก่อนมีว่า จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ซึ่งศาลในคดีก่อนได้พิพากษายกคำร้องขอโดยวินิจฉัยว่าผู้ร้องซึ่งหมายถึงจำเลยที่ 1 ในคดีนี้อ้างว่าซื้อที่ดินพิพาทจากผู้คัดค้านที่ 1 และมีการส่งมอบการครอบครองให้แก่ผู้ร้องแล้วขณะนั้นที่ดินพิพาทมีเอกสารสิทธิเป็น ส.ค.1 เท่ากับผู้ร้องอ้างการซื้อขายสมบูรณ์โดยการส่งมอบการครอบครองแล้ว การที่ผู้ร้องอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนมาตั้งแต่มีการซื้อขายกันโดยมิได้อ้างว่าเป็นของผู้อื่น ย่อมไม่เข้าองค์ประกอบในเรื่องครอบครองปรปักษ์ ครั้นเมื่อผู้คัดค้านที่ 2 ในคดีก่อนกลับมาเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีก่อนกับบริวารในคดีนี้ จำเลยทั้งสองก็ต่อสู้คดีและฟ้องแย้งโดยอาศัยเหตุเรื่องที่จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินจากมารดาโจทก์และได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอันเป็นเหตุผลเดียวกันกับคำร้องในคดีก่อน ย่อมเท่ากับจำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทและการซื้อขายสมบูรณ์โดยการส่งมอบการครอบครอง จำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของที่ดินโดยการครอบครองแล้วดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในคดีก่อนจำเลยที่ 1 จึงฟ้องแย้งขอให้โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์มาด้วย ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงมีว่า จำเลยที่ 1 ซื้อและครอบครองที่ดินพิพาทจนได้สิทธิครอบครองก่อนออกโฉนดที่ดินแล้วหรือไม่หรืออีกนัยหนึ่งประเด็นข้อพิพาทมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลยที่ 1 ซึ่งต่างกับประเด็นวินิจฉัยในเรื่องก่อน ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 กรณีจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งเดิมของศาลชั้นต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13045/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากฎีกาเกินขอบเขตและคดีถึงที่สุดแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กหญิงนั้นยินยอม ส่วนความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารให้ยกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานพรากเด็ก ฯ ด้วย ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ต่อมาจำเลยขอถอนอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตแล้ว ย่อมมีผลทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นฐานกระทำชำเราเด็กหญิง ฯ เด็ดขาดเฉพาะจำเลย ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานพรากเด็ก ฯ ตามอุทธรณ์ของโจทก์ด้วย จำเลยมีสิทธิฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะในความผิดฐานพรากเด็ก ฯ ได้เท่านั้น ดังนั้น เมื่อจำเลยยื่นฎีกาโดยขอให้ศาลฎีกาใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยสถานเบาหรือลดโทษแก่จำเลย ซึ่งหมายถึงขอให้ศาลฎีกาใช้ดุลพินิจกำหนดโทษให้จำเลยเสียใหม่ทั้งสองฐานความผิด การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยในข้อหากระทำชำเราเด็กหญิง ฯ ซึ่งเด็ดขาดไปแล้ว จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนในความผิดฐานพรากเด็ก ฯ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา เมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกา มีผลทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในความผิดฐานนี้เป็นอันถึงที่สุดไปด้วย ศาลฎีกาย่อมไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้เช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11298/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ตัวการร่วมปล้นทรัพย์: การกระทำที่แสดงเจตนาคบคิดแบ่งหน้าที่ชัดเจนบ่งชี้ถึงการเป็นตัวการร่วม
จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ให้จำเลยที่ 2 และ ฉ. นั่งซ้อนท้าย เมื่อพบผู้เสียหายและ พ. ขับรถจักรยานยนต์แล่นสวนทางมา จำเลยที่ 1 เลี้ยวกลับรถจักรยานยนต์ขับไล่ติดตามรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายพร้อมทั้งมีการตะโกนบอกให้ผู้เสียหายหยุดรถ เมื่อผู้เสียหายไม่ยอมหยุดรถ ฉ. ใช้อาวุธปืนยิงถูกกระจกมองข้างรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายจนแตก แล้วจอดรถให้ ฉ. ลงจากรถไปใช้อาวุธปืนจี้เอาเงินสดและรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย โดยในระหว่างนั้น จำเลยที่ 1 ก็ยังคงจอดรถจักรยานยนต์รออยู่ในบริเวณใกล้เคียงในลักษณะที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือ ฉ. ได้ทันที หากมีเหตุที่จะต้องให้ความช่วยเหลือ เมื่อ ฉ. ได้ทรัพย์ของผู้เสียหายและขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายออกไปจากที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ก็ขับรถจักรยานยนต์พาจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายหลบหนีตาม ฉ. ไปด้วยกัน ย่อมแสดงให้เห็นว่ามีการคบคิดกันมาแต่แรกโดยมีการแบ่งหน้าที่กันทำ พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 2 และ ฉ. ปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย