คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อิศเรศ ชัยรัตน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 200 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7993/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้รับพินัยกรรม vs. ผู้ปลูกสร้างบนที่ดินมรดก: ผู้รับพินัยกรรมมีสิทธิเหนือกว่า
ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่มีสิทธิรับมรดกของ ป. แต่ที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกที่ผู้คัดค้านที่ 2 ขอเป็นผู้จัดการมรดก ป. ได้ทำพินัยกรรมยกให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 แล้ว ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกดังกล่าว การที่ ป. อนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ 2 ปลูกสร้างบ้านลงในที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกไม่มีผลผูกพันผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรม ถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 จึงไม่มีสิทธิคัดค้านและขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7895/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีไม่มีทุนทรัพย์: ประเด็นกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ได้เป็นข้อพิพาทโดยตรง ศาลจังหวัดมีอำนาจพิจารณา
โจทก์ฟ้องคดีไม่มีทุนทรัพย์ต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัด จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นสินสมรสของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2 เป็นหนี้เงินกู้ ส. และได้โอนที่ดินพิพาทใช้หนี้เงินกู้ต่ำกว่าราคาท้องตลาดแห่งทรัพย์สินในเวลาและสถานที่ส่งมอบ ทำให้การโอนตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 จึงฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาท ส. ตกลงจะโอนที่ดินพิพาทคืนให้แก่จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง จึงมีการถอนฟ้อง แต่ ส. กลับโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ และโจทก์รับโอนไว้โดยไม่สุจริจ ดังนี้ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง คดีย่อมไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่าเป็นของจำเลยทั้งสองหรือไม่ ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองให้การกล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์และอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 17 และมาตรา 25 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7656/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แจ้งความเท็จเพื่อเอื้อประโยชน์ผู้อื่นในการทำบัตรประชาชนและทะเบียนบ้าน ศาลฎีกาปรับบทและลดโทษ
การที่จำเลยแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการเพื่อสนับสนุนให้ผู้อื่นมีชื่อในทะเบียนบ้านโดยมิชอบ และแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อสนับสนุนผู้อื่นในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชน เป็นการก่อให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการและสังคมส่วนรวมและยังกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของประเทศชาติ นับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว ก็ไม่เป็นเหตุที่จะรอการโทษให้แก่จำเลย แต่เนื่องจากขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุมากถึง 62 ปี และไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนประกอบกับเป็นโทษจำคุกระยะสั้นเห็นสมควรเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังแทน
การที่จำเลยแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนให้ผู้อื่นมีชื่อในทะเบียนบ้านโดยมิชอบและการแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อสนับสนุนผู้อื่นในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชน ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมานั้น หาใช่เป็นตัวการตามที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137, 267 พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 14 (1) วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.อ. มาตรา 86 และ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรฯ มาตรา 50 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.อ. มาตรา 86 ซึ่งการกระทำดังกล่าวก็ล้วนแล้วแต่มีความมุ่งหมายเพียงประการเดียวคือเพื่อให้เจ้าพนักงานออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้อื่นเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 14 (1) วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.อ. มาตรา 86 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยมิได้ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7188/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายสินค้าทางธุรกิจ: อายุความ 5 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33(5) และการรับรองการชำระหนี้จากการส่งมอบสินค้า
จำเลยสั่งซื้อสินค้าและได้รับสินค้าจากโจทก์แล้ว ถือได้ว่า การซื้อขายสินค้ารายนี้โจทก์ผู้ขายได้ชำระหนี้ให้แก่จำเลยผู้ซื้อแล้ว โจทก์ไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือและมีลายมือชื่อของจำเลยมาแสดง การซื้อขายชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม จำเลยต้องชำระค่าสินค้าพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์เพื่อนำไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าอันเป็นการประกอบธุรกิจของจำเลย การที่โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้ค่าสินค้า จึงเป็นกรณีที่โจทก์ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินค้าจากจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ที่สั่งซื้อมาเพื่อนำมาใช้ในการประกอบธุรกิจของจำเลยอีกต่อหนึ่ง เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง จึงอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) ประกอบมาตรา 193/34 (1) สิทธิเรียกร้องตามฟ้องโจทก์จึงมีอายุความ 5 ปี มิใช่อายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (1) เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกินกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6813/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาเช่าซื้อรถยนต์: การคิดค่าเสียหาย ค่าขาดราคา ค่าขาดประโยชน์ และข้อจำกัดการฎีกาเรื่องดอกเบี้ย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นลดค่าเสียหายลงนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายเพิ่มขึ้นและชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนั้น ฎีกาในส่วนดอกเบี้ยโจทก์เพิ่งยกเป็นประเด็นขึ้นว่าในชั้นฎีกาจึงไม่ใช่ข้อที่ว่ากันมาในชั้นอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 247 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยประเด็นข้อนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6306/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ร่วมจากการกู้ยืมระหว่างสมรส แม้หย่าแล้วเจ้าหนี้ยังบังคับคดีได้
สัญญากู้ยืมเงินเป็นหนี้ที่จำเลยซึ่งเป็นภริยาผู้ร้องก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรส และเป็นหนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ ถือได้ว่าเป็นหนี้ร่วมกันระหว่างผู้ร้องและจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (1) แม้ภายหลังจำเลยกับผู้ร้องได้จดทะเบียนหย่าและแบ่งสินสมรสกันก็ไม่กระทบสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะดำเนินการบังคับคดีแก่เงินในบัญชีเงินฝากของผู้ร้อง โจทก์จึงมีสิทธิอายัดเงินในบัญชีเงินฝากของผู้ร้องเพื่อนำมาชำระหนี้ให้โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6239/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่า: การบอกเลิกสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสิทธิเรียกร้องค่าเช่าค้างชำระ
จำเลยเช่าพื้นที่ชั้นล่างของอาคารจากโจทก์มีกำหนด 3 ปี โดยสัญญาเช่ามิได้มีข้อความระบุว่า จำเลยจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์เมื่อไรก็ได้ การที่จำเลยจะบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดระยะเวลาการเช่าจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ถึง 389
จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา จำเลยจึงตกเป็นผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเช่าตามสัญญาเช่าแก่โจทก์ตามมาตรา 213 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างชำระก่อนสัญญาเช่าครบกำหนดโดยมิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ทั้งการที่โจทก์ฟัองจำเลยก็ไม่เป็นการบอกเลิกสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับค่าเช่าที่ค้างชำระ แม้จำเลยได้ขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่เช่าไปก่อนครบกำหนดเวลาการเช่าก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6239/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าเช่าเมื่อผู้เช่าบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ และผู้ให้เช่าไม่ยินยอม
การที่จำเลย (ผู้เช่า) บอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ (ผู้ให้เช่า) ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 387 ถึงมาตรา 389 กล่าวคือ โจทก์ต้องเป็นฝ่ายผิดนัดไม่สามารถส่งมอบพื้นที่เช่าให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ หรือการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ส่วนนั้นเป็นอันพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นความผิดของโจทก์ จำเลยจึงจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าแก่โจทก์ได้ แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่ส่งมอบพื้นที่เช่าให้จำเลยเข้าอยู่อาศัย ตรงกันข้ามกลับได้ความว่า หลังจากที่จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์แล้ว โจทก์ได้มีหนังสือไปถึงจำเลย แจ้งให้จำเลยใช้ประโยชน์ในพื้นที่เช่าต่อไปและชำระค่าเช่าแก่โจทก์ด้วย อันเป็นการทักท้วงจำเลยแล้วว่าการบอกเลิกสัญญาเช่าของจำเลยเป็นไปโดยมิชอบ ทั้งยังยืนยันให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาเช่าและชำระค่าเช่าที่ค้างชำระแก่โจทก์ด้วย แต่จำเลยยังเพิกเฉยไม่ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเช่าตามสัญญาเช่าแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างชำระโดยมิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ทั้งหนังสือโต้แย้งของโจทก์ก็ยืนยันว่าไม่ยินยอมให้จำเลยเลิกสัญญา การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าและเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้จากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6137/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาจ้างก่อสร้างเนื่องจากผิดแบบ และผลของการยอมสละค่าแห่งการงานเป็นเบี้ยปรับ
ในปัญหาที่ว่าโจทก์ก่อสร้างบ้านพักที่พิพาทผิดไปจากแบบแปลนตามสัญญาจ้างหรือไม่ ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าโจทก์ก่อสร้างงานงวดที่สามผิดไปจากแบบแปลนตามสัญญาจ้าง โจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในข้อนี้ ทั้งเมื่อจำเลยอุทธรณ์ โจทก์ก็ยื่นคำแก้อุทธรณ์ยอมรับว่ามีการก่อสร้างงวดที่สามผิดไปจากแบบแปลนจริง แต่เป็นการผิดไปเพียงเล็กน้อย ดังนั้น ปัญหาว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างหรือไม่ จึงไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องวินิจฉัย การที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อนี้เป็นการยกเอาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นอุทธรณ์ขึ้นคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฎีกาของโจทก์ในปัญหาดังกล่าวจึงต้องห้าม ตาม ป.วิ.พ. ตาม 249 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาข้อนี้มาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ในการก่อสร้างบ้านพักที่พิพาทโจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาจ้างไว้มีข้อความว่าหากโจทก์ก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนตามสัญญา จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและไม่ชำระค่าจ้างส่วนที่ค้างแก่โจทก์ได้ ข้อสัญญาดังกล่าวมีผลเป็นการที่โจทก์ยอมสละค่าแห่งการงานที่โจทก์เสียไปในการก่อสร้างบ้านพักงวดที่สามให้แก่จำเลยเพื่อเป็นค่าสินไหมทดแทนในการที่โจทก์ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง ค่าใช้จ่ายดังกล่าวย่อมเป็นเบี้ยปรับซึ่งจำเลยมีสิทธิได้รับตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน จึงไม่มีเหตุที่จะให้จำเลยคืนเบี้ยปรับบางส่วนแก่โจทก์ โจทก์ไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ได้
การพิจารณาว่าเมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว จำเลยยังต้องรับผิดชำระเงินค่าจ้างแก่โจทก์หรือไม่ ต้องอาศัยข้อความในสัญญาจ้างเป็นสำคัญ เมื่อสัญญาจ้างมีข้อความระบุว่า หากโจทก์ก่อสร้างผิดไปจากรูปแบบตามสัญญาจ้าง โจทก์ยอมให้จำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างได้ โดยจำเลยไม่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างที่ค้างอยู่ให้แก่โจทก์ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 นำสัญญาดังกล่าวมาวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องเสียไปในงานก่อสร้างงวดที่สามจากจำเลย จึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้ว ไม่เป็นการพิพากษานอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6137/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างก่อสร้าง: การบอกเลิกสัญญาจากความผิดของผู้รับจ้างและการสละค่าแห่งการงานเป็นเบี้ยปรับ
โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจ้างก่อสร้างบ้านพักไว้มีข้อความว่าหากโจทก์ก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนตามสัญญา จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและไม่ชำระค่าจ้างส่วนที่ค้างแก่โจทก์ได้ มีผลเป็นการที่โจทก์ยอมสละค่าแห่งการงานที่โจทก์เสียไปในการก่อสร้างบ้านพักงวดที่สามให้แก่จำเลยเพื่อเป็นค่าสินไหมทดแทนในการที่โจทก์ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง ค่าใช้จ่ายดังกล่าวย่อมเป็นเบี้ยปรับซึ่งจำเลยมีสิทธิได้รับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381
การพิจารณาว่าเมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว จำเลยยังต้องรับผิดชำระเงินค่าจ้างแก่โจทก์หรือไม่ ต้องอาศัยข้อความในสัญญาจ้างเป็นสำคัญ เมื่อสัญญาจ้างระบุว่าหากโจทก์ก่อสร้างผิดไปจากรูปแบบตามสัญญาจ้าง โจทก์ยอมให้จำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างได้ โดยจำเลยไม่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างที่ค้างอยู่ให้แก่โจทก์ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 นำข้อสัญญาดังกล่าวมาวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องเสียไปในงานก่อสร้างงวดที่สามจากจำเลย จึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด
of 20