คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วัฒนชัย โชติชูตระกูล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 435 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1497/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาจ้างก่อสร้าง การผ่อนปรนค่าปรับ และการมีส่วนทำให้เกิดความเสียหายจากความล่าช้า
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ ข้อ 138 ที่โจทก์อ้างเป็นเหตุผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาระบุว่า หากจำนวนเงินค่าปรับจะเกินร้อยละสิบของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้าง ให้ส่วนราชการพิจารณาดำเนินการบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง เว้นแต่คู่สัญญาจะได้ยินยอมเสียค่าปรับให้แก่ทางราชการโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ให้หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาได้เท่าที่จำเป็น ร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างเป็นเงิน 370,000 บาท สัญญากำหนดค่าปรับตามสัญญาไว้วันละ 3,700 บาท จึงเท่ากับค่าปรับจำนวน 100 วัน เท่านั้น ที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ผ่อนปรนให้ถึง 190 วัน เพราะจำเลยที่ 1 เคยยินยอมให้ปรับได้มาก่อนแล้ว ทั้งที่จำเลยที่ 1 ทิ้งงานไปเนิ่นนานแล้วมิใช่จำเลยที่ 1 กำลังดำเนินการก่อสร้างแต่ไม่อาจแล้วเสร็จได้ทันตามสัญญา จึงไม่มีเหตุให้โจทก์ต้องผ่อนปรนให้ถึง 190 วัน การที่โจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาเสียภายในเวลาอันสมควร แต่ปล่อยปละละเลยไว้จนค่าปรับมีจำนวนสูงเกินสมควรเช่นนี้ ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควร เพราะโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยการละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหายนั้นด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 223

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 694/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องล้มละลายซ้ำซ้อน: การฟ้องคดีล้มละลายที่มีสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับเดียวกันกับคดีที่อยู่ระหว่างพิจารณา ถือเป็นฟ้องซ้ำ
การฟ้องคดีล้มละลายมิใช่เป็นการฟ้องเพื่อบังคับเอาทรัพย์สินของลูกหนี้ไปชำระแก่เจ้าหนี้ดังเช่นคดีแพ่งทั่วไป แต่เป็นการฟ้องเพื่อจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ดังนี้ การที่โจทก์ยื่นคำฟ้องคดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ศาลก็ต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 14 เช่นเดียวกับการพิจารณาเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในคดีหมายเลขดำที่ 556/2547 สภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับก็เป็นอย่างเดียวกัน ถือได้ว่าเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน ในขณะที่คดีหมายเลขดำที่ 556/2547 อยู่ในระหว่างการพิจารณา ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 653-655/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ล้มละลาย: การอุทธรณ์คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด - เหตุหนี้สินล้นพ้นตัว - อำนาจฟ้อง - อายุความ - การส่งหมายเรียก
จำเลยโต้แย้งว่า ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคสาม, 33 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 8 (4) (9) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฯ ขอให้ศาลล้มละลายกลางส่งคำร้องของจำเลยไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฯ มาตรา 264 การที่ศาลล้มละลายกลางสั่งในคำร้องของจำเลยเป็นคำสั่งก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี แม้เป็นคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฯ มาตรา 264 ก็เป็นคำสั่งในขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรม จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226, 247 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28
จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำร้องขอแก้ไขคำให้การภายหลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว จึงต้องนำบทบัญญัติตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้มาใช้บังคับ อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลาย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะอุทธรณ์ได้เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 วรรคสอง (1) ถึง (5) คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ทั้งไม่มีกรณีจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาดตามมาตรา 26 วรรคสี่ จึงไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณา
ปัญหาที่ว่าหนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่โจทก์หมดสิทธิบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 หรือไม่ เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้น จำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 จำเลยอุทธรณ์การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมิน โจทก์ส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยโดยวิธีปิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2539 ซึ่งถือว่าจำเลยได้รับแล้วในวันปิดนั้นเองตาม ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคสอง และวรรคสาม จำเลยมิได้ฟ้องคดีต่อศาลเพื่อโต้แย้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หนี้ภาษีอากรตามคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงเด็ดขาดและเป็นหนี้ภาษีอากรค้างตามกฎหมาย ระยะเวลาที่โจทก์มีอำนาจใช้วิธีการยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยผู้ค้างชำระหนี้ภาษีอากรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 วรรคสี่ ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 271 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 เริ่มตั้งแต่วันถัดจากวันที่จำเลยได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์คือวันที่ 23 มีนาคม 2539 นับถึงวันฟ้องคดีนี้คือวันที่ 21 มีนาคม 2546 ยังไม่พ้น 10 ปี หนี้ตามฟ้องไม่ใช่หนี้ที่โจทก์หมดสิทธิบังคับคดี
เจ้าพนักงานของโจทก์ได้ปิดหมายเรียก ณ ที่อยู่หรือสำนักงานของจำเลยตาม ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคสอง และถือว่าจำเลยได้รับหมายโดยชอบแล้วตาม ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงไม่นำหลักการนับระยะเวลาปิดหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง มาใช้บังคับ เจ้าพนักงานของโจทก์ปิดหมายเรียกวันที่ 16 พฤษภาคม 2538 หมายเรียกกำหนดให้จำเลยไปพบคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วันที่ 6 มิถุนายน 2538 เป็นการให้เวลาจำเลยล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 32 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 528/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับชำระหนี้ภาษีอากรล่าช้าในคดีฟื้นฟูกิจการ: เหตุสุดวิสัยและพฤติการณ์พิเศษ
ขณะลูกหนี้ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2546 ลูกหนี้ได้รับสิทธิและประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฯ มาตรา 28 ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนอนุมัติ ต่อมาเมื่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีคำสั่ง ณ วันที่ 25 ธันวาคม ให้เพิกถอนสิทธิและประโยชน์ทั้งหมดที่ให้แก่ลูกหนี้แล้ว กรณีจึงถือได้ว่าลูกหนี้ไม่เคยได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรมาแต่ต้นและต้องเสียภาษีอากรโดยถือสภาพของราคาและอัตราภาษีอากรที่เป็นอยู่ในวันนำเข้าเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีอากรตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฯ มาตรา 55 ดังนั้น มูลค่าหนี้ภาษีอากรที่เจ้าหนี้ทั้งสองแจ้งการประเมินให้ลูกหนี้ชำระและนำมาขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการนั้นจึงเป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เจ้าหนี้ทั้งสองอาจนำมาขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ และเมื่อศาลล้มละลายมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งลูกหนี้เป็นผู้ทำแผนแล้ว เจ้าหนี้ทั้งสองมิได้รับแจ้งคำสั่งตั้งผู้ทำแผนจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เนื่องจากไม่ปรากฏชื่อเจ้าหนี้ทั้งสองในบัญชีเจ้าหนี้ กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าวถือได้แล้วว่า เป็นพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุสุดวิสัยที่เจ้าหนี้ทั้งสองไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/36 และเจ้าหนี้ทั้งสองได้เร่งดำเนินการไปตามขั้นตอนปฏิบัติราชการเพื่อยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการภายในเวลาอันสมควรภายหลังจากทราบว่าลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแล้ว กรณีจึงมีเหตุผลสมควรที่จะรับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งสองไว้พิจารณาต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 44/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับระยะเวลาการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย: วันที่โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาหรือหนังสือพิมพ์รายวัน
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 28 บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่า 1 ฉบับ และมาตรา 91 กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น หากวันโฆษณาคำสั่งในราชกิจจานุเบกษากับหนังสือพิมพ์รายวันไม่ตรงกัน การนับวันโฆษณาตามมาตรา 91 ต้องนับวันโฆษณาในฉบับหลัง และคำว่า "วันโฆษณา" ตามมาตรา 91 หมายถึงวันที่มีการเผยแพร่หนังสือออกไปยังสาธารณชน คดีนี้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดได้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันก่อนแล้วจึงลงในราชกิจจานุเบกษา การนับวันโฆษณาจึงต้องนับจากวันโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา เมื่อคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดได้ลงประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป ซึ่งจัดพิมพ์แล้วเสร็จและนำออกเผยแพร่ให้กับสมาชิกที่ไปรับหนังสือราชกิจจานุเบกษาที่ส่วนงานราชกิจจานุเบกษาด้วยตนเองเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2545 ดังนี้ จึงฟังได้ว่าวันที่ 14 สิงหาคม 2545 เป็นวันที่มีการเผยแพร่หนังสือราชกิจจานุเบกษาที่ลงประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดไปยังสาธารณชน กำหนดเวลา 2 เดือน จึงเริ่มต้นนับแต่วันดังกล่าวโดยจะครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 14 ตุลาคม 2545 เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในวันที่ 27 สิงหาคม 2545 จึงยังอยู่ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 91
คดีนี้เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 91 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังมิได้สอบสวนพยานหลักฐานของเจ้าหนี้ตามมาตรา 105 แต่มีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้โดยอ้างว่าเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกำหนดระยะเวลา ตามมาตรา 91 การที่เจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ต่อศาลชั้นต้นเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 146 เมื่อศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องของเจ้าหนี้ เจ้าหนี้จึงอ้างส่งหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต่อศาลชั้นต้นเพื่อแสดงว่าเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายได้ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวแล้วนำมาวินิจฉัยจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 44/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับวันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเพื่อยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย
พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 28 กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่า 1 ฉบับ และมาตรา 91 กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น หากวันโฆษณาคำสั่งในราชกิจจานุเบกษากับในหนังสือพิมพ์รายวันไม่ตรงกัน การนับวันโฆษณาตามมาตรา 91 ต้องนับวันโฆษณาในฉบับหลัง และคำว่าวันโฆษณาตามมาตรา 91 หมายถึงวันที่มีการเผยแพร่หนังสือออกไปยังสาธารณชน คดีนี้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดได้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันก่อนแล้วจึงลงในราชกิจจานุเบกษา การนับวันโฆษณาต้องนับจากวันโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา เมื่อคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจัดพิมพ์แล้วเสร็จและนำออกเผยแพร่ให้แก่สมาชิกที่ได้รับด้วยตนเองเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2545 วันดังกล่าวจึงเป็นวันที่มีการเผยแพร่หนังสือออกไปยังสาธารณชน และเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันดังกล่าว การที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในวันที่ 27 สิงหาคม 2545 จึงอยู่ภายในกำหนดเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
การที่เจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ต่อศาลชั้นต้นเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 146 เมื่อศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องของเจ้าหนี้ เจ้าหนี้ย่อมอ้างส่งเอกสารต่อศาลชั้นต้นเพื่อแสดงว่าเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายได้ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับฟังเอกสารดังกล่าวแล้วนำมาวินิจฉัยจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8235/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้ซื้อสิทธิเรียกร้องในคดีล้มละลาย: การร้องสอดเพื่อคุ้มครองและบังคับสิทธิ
ผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อได้ซึ่งสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้เดิมบุคคลล้มละลายในคดีของศาลชั้นต้นหมายเลขแดงที่ 1139/2544 มีต่อจำเลยที่ 2 ในคดีนี้จากการประกาศขายของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 123 สิทธิของเจ้าหนี้เดิมที่จะได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ตกเป็นของผู้ร้องแล้ว ทั้งผู้ร้องยื่นคำร้องสอดเมื่อจำเลยที่ 2 ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหมายเรียกจำเลยที่ 2 ไปให้การเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินอันถือได้ว่าเป็นการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีล้มละลายแล้ว ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีล้มละลายมีสิทธิร้องสอดขอเข้าเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดีเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองและบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 153 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6645-6646/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน: พิจารณาจากเจตนาหลอกลวง ไม่จำกัดจำนวนผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายถอนฟ้องก็ยังดำเนินคดีได้
การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน้อย แต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญโดยจะพิจารณาจากวิธีการในการหลอกลวง จำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงมาประกอบด้วยเท่านั้น คดีนี้แม้ผู้เสียหายตามฟ้องจะมีเพียง 11 คน แต่ตามบันทึกการตกลงชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งมีผู้เสียหายที่ตกลงกับจำเลยทั้งสองถึง 35 คน แสดงว่าจำเลยทั้งสองมิได้ติดต่อชักชวนเฉพาะผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดในคดีนี้เท่านั้น ทั้งพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองไปพบผู้เสียหายแต่ละคนที่บ้านแล้วแจ้งเงื่อนไขการไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียซึ่งจะได้รับเงินเดือนตั้งแต่ 8,000 บาท ถึง 11,000 บาท โดยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางรวมคนละ 17,000 บาท แต่ต้องจ่ายเงิน 5,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อน เหมือนกันทุกคน ลักษณะการชักชวนเป็นการชักชวนทั่วไป มิได้มุ่งเจาะจงชักชวนคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษโดยเฉพาะหากผู้ใดปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวได้ก็สามารถสมัครไปทำงานได้ ขึ้นอยู่กับข้อที่ว่าจะจ่ายเงินให้ตามเงื่อนไขที่แจ้งไปหรือไม่เป็นสำคัญ การหลอกลวงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ แม้จะมิได้มีการป่าวประกาศหรือแจ้งให้ผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนไปชักชวนต่อ แต่ลักษณะการชักชวนอย่างเดียวกันโดยผู้ถูกชักชวนย่อมบอกต่อกันไปได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 แล้ว
ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดถอนคำร้องทุกข์แล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานนี้ก็ยังไม่ระงับไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6217/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำกัดสิทธิเจ้าหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ: ความจำเป็นและหลักความเท่าเทียม
มูลหนี้ของผู้ร้องเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการผู้ร้องจึงได้รับการคุ้มครองสิทธิด้วยการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/27 อยู่แล้ว ทั้งหนี้ของผู้ร้องเกิดจากการชำระเงินซื้อบ้านพร้อมที่ดินจากการประกาศขายของลูกหนี้ แต่ไม่มีการส่งมอบหรือโอนกรรมสิทธิ์ให้ซึ่งเป็นมูลหนี้ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจของลูกหนี้ โดยมีเจ้าหนี้อีกหลายรายที่อยู่ในฐานะเดียวกับผู้ร้องที่ต้องจัดอยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้เดียวกันและตามมาตรา 90/42 ทวิ และมาตรา 90/42 ตรี สิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน การยกเลิกข้อจำกัดสิทธิให้แก่ผู้ร้องจึงก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันและไม่เป็นธรรมต่อเจ้าหนี้รายอื่นในกลุ่มเดียวกัน การจำกัดสิทธิของผู้ร้องจึงยังมีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6153/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาคดีล้มละลายเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเมื่อมีการประนอมหนี้
คดีล้มละลายเรื่องนี้เสร็จการพิจารณาแล้ว อยู่ระหว่างนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งในวันที่ 27 ตุลาคม 2547 ในวันนัด ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นครั้งแรกโดยแนบหนังสือแจ้งผลการอนุมัติของโจทก์ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2547 ที่อนุมัติให้นายชนัฏ เรืองกฤติยากรรมการบริษัทจำเลยชำระหนี้จำนวน 5,000,000 บาท ภายในวันที่ 20 ธันวาคม 2547 โดยผ่อนชำระรวม 3 งวด เมื่อชำระหนี้ดังกล่าวแล้วให้ตัดภาระหนี้ที่เหลือพร้อมกับถอนฟ้องคดีนี้ รวมทั้งได้แนบหลักฐานการชำระหนี้แล้วจำนวน 500,000 บาท มาด้วย การที่จำเลยจะสามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้และชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นมิได้ขึ้นอยู่กับจำเลยเพียงฝ่ายเดียวแต่ขึ้นอยู่กับโจทก์ด้วย เมื่อโจทก์เพิ่งประชุมและมีมติก่อนวันนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลายกลางเพียง 12 วัน และฝ่ายจำเลยได้ชำระหนี้ตามที่โจทก์อนุมัติบางส่วนแล้ว ทั้งกำหนดเวลาชำระหนี้ตามที่โจทก์อนุมัติก็ไม่นานเกินสมควรและโจทก์มิได้คัดค้านการขอเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่ง ถือได้ว่ากรณีมีเหตุสมควรที่จะเลื่อนการพิพากษาหรือการทำคำสั่งออกไปได้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 133 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14
of 44