คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ม. 58

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4824/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การอายัดทรัพย์ และการพิจารณาความเห็นแย้งของพนักงานอัยการ
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐรับผิดในผลแห่งละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของตน โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้โดยตรงตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
กรณีที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 แล้ว แต่โจทก์ที่ 4 หลบหนีและยังไม่ได้ตัวมา ซึ่งคดีจะขาดอายุความ อันทำให้คำสั่งอายัดทรัพย์สินนั้นสิ้นผลลง จำเลยที่ 1 จึงแจ้งจำเลยที่ 2 ดำเนินการกับทรัพย์สินของโจทก์ที่ 4 ให้ตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงเกิดประโยชน์แก่ทางราชการมากกว่า ตามมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 หาใช่เป็นการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ดังที่โจทก์ทั้งสี่อ้าง
จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือความเห็นแย้งจากพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557 ว่าคดียังไม่มีเหตุผลที่จะยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน วันที่ 18 เมษายน 2557 คณะกรรมการธุรกรรมประชุมและมีมติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินวินิจฉัยชี้ขาดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคสาม วันที่ 29 พฤษภาคม 2557 คณะอนุกรรมการวินิจฉัยที่ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุพอที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินและมีมติควรเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด และส่งเรื่องกลับไปให้เลขาธิการฯ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 มีการประชุมคณะกรรมการแต่ไม่มีการเสนอความเห็นแย้งของพนักงานอัยการให้คณะกรรมการพิจารณา เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบางส่วนลาออกทำให้มีจำนวนไม่ครบ 9 คน วันที่ 6 มีนาคม 2558 มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิครบ 9 คน วันที่ 25 มีนาคม 2558 เลขาธิการฯ เสนอเรื่องความเห็นแย้งของพนักงานอัยการให้คณะกรรมการพิจารณา วันที่ 30 มีนาคม 2558 คณะกรรมการได้พิจารณาความเห็นแย้งดังกล่าว โดยมีมติให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินโจทก์ทั้งสี่ตกเป็นของแผ่นดิน กรณีถือได้ว่าคณะกรรมการได้พิจารณาชี้ขาดความเห็นแย้งของพนักงานอัยการภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากเลขาธิการฯ ตามมาตรา 49 วรรคสาม แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10322/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน แม้เคยยื่นคำร้องตามกฎหมายอื่นแล้วแต่ไม่เป็นผล ไม่ถือเป็นร้องซ้ำ
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง มีความหมายว่า ในกรณีที่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเป็นทรัพย์สินที่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นตามกฎหมายอื่น หากการดำเนินการนั้นไม่เป็นผล ก็ให้ดำเนินการกับทรัพย์สินนั้นต่อไปโดยขอให้ตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 ที่บัญญัติให้ประเทศไทยอาจให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศผู้ร้องขอในเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินการริบหรือยึดทรัพย์สิน ตามคำร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ก็เป็นการดำเนินการตามกฎหมายอื่น แม้ผู้ร้องเคยร้องขอให้ยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่มาก่อน แต่ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษาให้ยกคำร้องและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน คดีถึงที่สุด ก็เป็นกรณีที่การดำเนินการตามกฎหมายอื่นไม่เป็นผล ผู้ร้องจึงมีอำนาจร้องขอให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านตกเป็นของแผ่นดินได้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 58 ดังกล่าว ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจผู้ร้องไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น การยื่นคำร้องคดีนี้จึงไม่เป็นร้องซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4175/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการใช้กฎหมายฟอกเงินย้อนหลัง: ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน มีทั้งโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานโดยมิต้องคำนึงว่าทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินจะได้มาก่อนพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมีผลใช้บังคับหรือไม่ก็ตาม เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญาหรือเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้และไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในคำวินิจฉัยที่ 40-41/2546