คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เฉลิมเกียรติ ชาญศิลป์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 309 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4639/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง กรณีพิพาทเรื่องค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์แก้ไขจำนวนเงิน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 144,000 บาท โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 240,520 บาท จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้จำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเท่านั้น ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงมีเพียงส่วนต่างระหว่างจำนวนเงินที่ศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระแก่โจทก์ซึ่งมีจำนวนไม่เกิน 200,000 บาท คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้น เป็นการฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4001/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินเชื่อส่วนบุคคลเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด: โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม
ข้อกำหนดซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 8 แห่ง ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาต ตาม ข้อ 5 แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ ไว้ในข้อ 4.4 (1) ให้ผู้ประกอบธุรกิจอาจเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ เกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ทั้งนี้ดอกเบี้ยที่เรียกเก็บต้องไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ (ร้อยละ 15 ต่อปี) โดยอัตรารวมสูงสุดของดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ ดังกล่าว รวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี (Effective rate) โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ โดยอัตรารวมสูงสุดไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี แต่ข้อเท็จจริงตามหนังสือแจ้งผลการพิจารณาสินเชื่อบุคคลปรากฏว่า ในการที่โจทก์อนุมัติเงินกู้ให้แก่จำเลยจำนวน 18,900 บาท นั้น โจทก์เรียกเก็บดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 1.25 ต่อปี หรือร้อยละ 15 ต่อปี และค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของวงเงินกู้ที่โจทก์อนุมัติ กับค่าดำเนินการอนุมัติเงินกู้ซึ่งเป็นค่าบริการจำนวน 1,000 บาท ซึ่งสามารถคำนวณเป็นร้อยละได้อัตราร้อยละ 5.29 ของวงเงินกู้ที่โจทก์อนุมัติ เมื่อรวมอัตราดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินและค่าดำเนินการ การอนุมัติเงินกู้ซึ่งเป็นค่าบริการเข้าด้วยกันแล้วจะเป็นอัตราร้อยละ 30.29 เกินกว่าอัตราร้อยละ 28 ต่อปี ที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมในอัตราดังกล่าว การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยค่าบริการและค่าธรรมเนียมในอัตราดังกล่าว จึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3969/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตเลื่อนคดีและยกคำร้องคนอนาถา ผู้ร้องอุทธรณ์ภายในกำหนด 1 เดือน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226(2)
การที่ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและถือว่าผู้ร้องไม่มีพยานมาศาลเพื่อให้ศาลทำการไต่สวน ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นคนยากจนจริงโดยผู้ร้องขอให้พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น และมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลื่อนการพิจารณาคดีในวันนัดไต่สวนออกไป ถือไม่ได้ว่าเป็นการอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาซึ่งจะต้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งภายในกำหนดเวลา 7 วัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคท้าย ผู้ร้องจึงชอบที่จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นได้ภายในกำหนดเวลา 1 เดือน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2)
แม้ทนายผู้ร้องจะอ้างความเจ็บป่วยของบิดาเป็นเหตุให้มาศาลตามกำหนดนัดไม่ได้ แต่ก็เป็นการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยไม่ปรากฏเหตุสมควรที่จะทำให้เห็นได้ว่าทนายผู้ร้องต้องไปเฝ้าดูแลด้วยตนเองถึงขนาดที่จะมาศาลตามกำหนดนัดไม่ได้แต่อย่างใด ประกอบกับผู้ร้องและพยานมิได้มาศาล พฤติการณ์ของทนายผู้ร้องและผู้ร้องส่อไปในทางประวิงคดี ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและถือว่าผู้ร้องไม่มีพยานเข้าทำการไต่สวนให้น่าเชื่อว่าผู้ร้องมีฐานะยากจนและยกคำร้องของผู้ร้องจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3800/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการเพิกถอนการขายทอดตลาด: การบังคับคดีไม่เสร็จสิ้นและหน้าที่เจ้าพนักงานบังคับคดี
การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งหมายแจ้งวันประกาศขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 2 ทราบ การขายทอดตลาดจึงไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง และมาตรา 306 จำเลยที่ 2 มิได้ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอ้างว่าราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินมีจำนวนต่ำเกินสมควร และการขายทอดตลาดทรัพย์สินในราคาต่ำเกินสมควรนั้นเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคาหรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง อันจะทำให้คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นที่สุด ตามมาตรา 309 ทวิ วรรคท้าย ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาแล้ว ป.วิ.พ. มาตรา 296 มิได้บัญญัติให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นที่สุด จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 หาได้ถึงที่สุดไม่
ตามบทบัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสี่ (2) และมาตรา 316 วรรคหนึ่ง เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อไปคือการจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ - จ่าย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 316 วรรคหนึ่ง และการจ่ายเงินแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตรา 318 หากเจ้าพนักงานบังคับคดียังปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวไม่เสร็จสิ้น จะถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้วไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเจ้าพนักงานบังคับคดียังไม่ได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์เนื่องจากยังไม่ได้ทำบัญชีแสดงรายการรับ - จ่าย ดังนี้ จึงถือว่าการบังคับคดียังไม่เสร็จลง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสี่ (2) จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์นี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3798/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการแจ้งการขายทอดตลาด: ผู้มีส่วนได้เสียและขอบเขตหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี
เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 3 ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่แจ้งคำสั่งของศาลที่อนุญาตให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดและวันขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดซึ่งทราบได้ตามทะเบียนซึ่งก็คือจำเลยที่ 3 เท่านั้น จำเลยที่ 1 มิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดดังกล่าว เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่จำต้องแจ้งวันขายทอดตลาดแก่จำเลยที่ 1 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินตามวันเวลาและสถานที่ที่กำหนดไว้ในประกาศที่ได้แจ้งแก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการขายทอดตลาดโดยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3796/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อัตราค่าธรรมเนียมบังคับคดี: การใช้ตาราง 5 ป.วิ.พ. เดิมสำหรับคดีที่ฟ้องก่อน พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2548
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2548 มาตรา 9 ระบุให้ยกเลิกความในตาราง 5 ท้าย ป.วิ.พ. เดิม และให้ใช้ตาราง 5 ใหม่แทน แต่ตามมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้ระบุว่า บทบัญญัติมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การบังคับคดีของบรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้ใช้ตาราง 5 ท้าย ป.วิ.พ. ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่มีการฟ้องคดีบังคับแก่การบังคับคดีดังกล่าว เมื่อคดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 ก่อนที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 22) พ.ศ.2548 ใช้บังคับ จึงต้องใช้ตาราง 5 ท้าย ป.วิ.พ. เดิม ซึ่งระบุให้เสียค่าธรรมเนียมการยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงิน แล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายในอัตราร้อยละ 3 ครึ่ง ของราคาทรัพย์ที่ยึด ไม่ใช่คิดอัตราค่าธรรมเนียมตามตาราง 5 ที่แก้ไขใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3720/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานที่เกิดมูลคดีสัญญาซื้อขาย: การส่งมอบสินค้าถึงจำเลยที่ภูมิลำเนาเป็นสถานที่เกิดสัญญา
จำเลยทั้งสองสั่งซื้อสินค้าผ่านพนักงานของโจทก์ที่จังหวัดนครปฐมซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสอง จากนั้นพนักงานของโจทก์ส่งใบสั่งซื้อสินค้ามายังโจทก์ที่จังหวัดสมุทรปราการในเขตศาลชั้นต้นเพื่อพิจารณาอนุมัติ เมื่อโจทก์มีคำสั่งอนุมัติก็จะจัดส่งสินค้าไปให้จำเลยทั้งสองที่จังหวัดนครปฐม ดังนี้ เป็นการที่จำเลยทั้งสองทำคำเสนอต่อโจทก์ที่ไม่ได้อยู่เฉพาะหน้า หากโจทก์ประสงค์ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยทั้งสองก็ต้องแสดงเจตนาบอกกล่าวสนองรับไปถึงจำเลยทั้งสอง อย่างไรตามการที่โจทก์จัดส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อไปให้จำเลยทั้งสองที่จังหวัดนครปฐมและจำเลยทั้งสองได้รับมอบสินค้าไว้แทนการบอกกล่าวสนองรับก็ถือว่าสถานที่รับมอบสินค้าเป็นสถานที่ที่มูลแห่งคดีได้เกิดขึ้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)
จำเลยทั้งสองมิได้แสดงเจตนาให้ถือว่าการกระทำของโจทก์ที่อนุมัติและดำเนินการจัดส่งสินค้าแก่จำเลยทั้งสองเป็นการบอกกล่าวสนองรับ ทั้งไม่ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายมีประเพณีปฏิบัติเช่นนั้นที่จะทำให้ก่อเกิดสัญญาในอันจะทำให้เกิดมูลคดี ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น
แม้โจทก์จะอ้างว่าคู่สัญญาอาจตกลงทำสัญญากันทางโทรศัพท์หรือเครื่องโทรสารก็ตาม แต่คดีนี้เป็นสัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง มิใช่เรื่องสัญญาระหว่างบุคคลที่อยู่เฉพาะหน้า ที่คู่สัญญาอาจเสนอและสนองรับกัน ณ สถานที่และในเวลาเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 168 และ 356

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3663/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การรับฟังข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาอาญาที่ถึงที่สุด
คดีแพ่งเรื่องใดจะเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหรือไม่ต้องพิจารณาว่าความรับผิดในคดีแพ่งต้องอาศัยมูลมาจากการกระทำความผิดในทางอาญาหรือไม่ ถ้าต้องอาศัยก็เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา มิใช่พิจารณาว่าโจทก์ต้องฟ้องคดีแพ่งก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีอาญาเสร็จเด็ดขาด การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องทางแพ่งอันสืบเนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาฐานบุกรุกของจำเลย จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
การนำข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาส่วนอาญามารับฟังในคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ กล่าวคือ คำพิพากษาคดีอาญาต้องถึงที่สุด ข้อเท็จจริงนั้นเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาและได้วินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้ง และผู้ที่ถูกข้อเท็จจริงในคดีอาญามาผูกพันต้องเป็นคู่ความเดียวกับในคดีอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3005/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่า, การปรับปรุงอาคาร, ค่าเสียหายจากการผิดสัญญา, และข้อจำกัดการฎีกาในคดีที่มีทุนทรัพย์น้อย
จำเลยเช่าอาคารจากโจทก์เป็นเวลา 10 ปี การที่จำเลยเปลี่ยนลักษณะการใช้อาคารจากร้านขายของเป็นร้านอาหารประเภทบาร์เบียร์เป็นการกระทำเพื่อความสะดวกสบายในการใช้สอยทรัพย์สินที่เช่าจากโจทก์เท่านั้น ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาที่จะทำให้จำเลยมีสิทธิยิ่งไปกว่าสัญญาเช่าธรรมดา
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยพร้อมกับเรียกค่าเสียหายจากจำเลยถือได้ว่าเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์อีกส่วนหนึ่ง ดังนี้ จะฎีกาข้อเท็จจริงได้หรือไม่ต้องแยกจากกัน กล่าวคือ ถ้าหากฎีกาประเด็นเรื่องขับไล่ก็ต้องพิจารณาว่าค่าเช่าเกินเดือนละ 10,000 บาท หรือไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยมีอัตราค่าเช่าเดือนละ 14,000 บาท ฎีกาของจำเลยในส่วนเรื่องขับไล่จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง ส่วนในเรื่องค่าเสียหายซึ่งทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกามีจำนวนเพียง 42,000 บาท ไม่เกิน 200,000 บาท ย่อมต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามมาตรา 248 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2579/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายทอดตลาดโดยปกปิดข้อเท็จจริงเรื่องที่ดินตาบอด ผู้ซื้อมีสิทธิเพิกถอนได้
โจทก์จัดทำแผนที่ที่ตั้งของที่ดินและมอบรูปภาพทรัพย์แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีว่าที่ดินที่จะขายทอดตลาดทั้งสองแปลงเป็นที่ดินที่อยู่ติดทางสาธารณะ โดยไม่แจ้งแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีว่าที่ดินที่จะขายทอดตลาดมีที่ดินแปลงอื่นขวางกั้นอยู่ทำให้รถยนต์และบุคคลไม่สามารถเข้าไปสู่ที่ดินได้ เป็นการจงใจปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์อันเป็นการฉ้อฉลผู้ซื้อทรัพย์ และการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ปรากฏอย่างชัดเจนในสำเนาโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงที่จะขาย เป็นผลทำให้ประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ระบุข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์ที่จะขายไม่ตรงกับความเป็นจริง การกระทำของโจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีทำให้ผู้ซื้อทรัพย์สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ จากที่ดินไม่ได้อยู่ติดทางสาธารณะ กลายเป็นที่ดินที่อยู่ติดทางสาธารณะ จึงฟังได้ว่าการขายทอดตลาดดังกล่าวเป็นไปโดยไม่ชอบ ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีย่อมมีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่มิชอบเสียได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง
of 31