คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชาลี ทัพภวิมล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 566 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1427/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้บริการขนส่งทางบกได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 81 (1) (ณ) และประเด็นการงดลดเบี้ยปรับ
โจทก์ประกอบกิจการรถยนต์บริการรับ - ส่งผู้โดยสาร ณ อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานกรุงเทพ ผู้โดยสารจะติดต่อว่าจ้างโจทก์และโจทก์ได้รับค่าโดยสารจากผู้โดยสารตามอัตราที่การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำหนด โดยรถยนต์ที่ใช้มีทั้งที่เป็นของโจทก์เอง เช่าจากบุคคลอื่น และรถร่วม รถยนต์ที่เป็นของโจทก์ พนักงานขับรถจะได้รับค่าตอบแทนร้อยละ 12 ของค่าโดยสาร ส่วนรถยนต์ที่เช่าจากบุคคลอื่น พนักงานขับรถจะได้ค่าตอบแทนร้อยละ 80 และ ร้อยละ 77 ของค่าโดยสาร เนื่องจากพนักงานขับรถจะต้องรับผิดชอบค่าเช่า ค่าซ่อม ค่าทางด่วน ค่าน้ำมัน ค่าแบตเตอรี่และค่ายางรถยนต์เอง สำหรับรถร่วมนั้นเป็นรถยนต์ของบุคคลอื่นที่นำมาวิ่งรับ - ส่งผู้โดยสารในนามของโจทก์ ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทนร้อยละ 75 ของค่าโดยสาร โดยจะคำนวณและจ่ายค่าตอบแทนให้ทุก 15 วัน เมื่อการรับ - ส่งผู้โดยสารกระทำในนามของโจทก์ และโจทก์เป็นผู้รับค่าโดยสารแล้วแบ่งให้แก่พนักงานขับรถและเจ้าของรถร่วมในอัตราร้อยละที่ตกลงกันไว้ การให้บริการของโจทก์จึงเป็นการให้บริการขนส่ง และเมื่อเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 81 (1) (ณ)
คำฟ้องของโจทก์มิได้ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า กรณีมีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับหรือไม่ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 830/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน: ตู้โทรศัพท์สาธารณะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเสียภาษี แม้เคลื่อนย้ายได้
อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลภาษีอากรกลางในเรื่องการมอบอำนาจให้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ อันเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน 6,600 บาท แก่โจทก์ จึงเป็นคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 25
มติคณะรัฐมนตรีในเรื่องการยุติการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 ไม่ใช่กฎหมายที่จะตัดอำนาจฟ้องของผู้ถูกโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายแพ่ง
ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับการประเมินและคำชี้ขาด เพราะเป็นการประเมินและคำชี้ขาดโดยไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยโจทก์เห็นว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือใช้ในกิจการสาธารณะซึ่งมีไว้เพื่อประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ย่อมได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาด เป็นการฟ้องว่า ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ไม่ใช่กรณีที่โจทก์เห็นว่าจำนวนเงินที่ประเมินและตามคำชี้ขาดสูงเกินสมควร โจทก์จึงไม่ต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลดหย่อนค่ารายปีตามมาตรา 31 วรรคท้าย
ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างหนึ่งแม้จะวางอยู่บนแท่นคอนกรีตและสามารถยกเคลื่อนย้ายได้ไม่ยากเพราะไม่ได้เชื่อมติดกับทางสาธารณะหรือพื้นดินเป็นการถาวรและไม่มีลักษณะเป็นส่วนควบกับที่ดิน ทั้งไม่มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่เข้าอยู่อาศัยได้หรือใช้เป็นที่ไว้สินค้า แต่ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มิได้กำหนดให้จัดเก็บภาษีเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะติดอยู่กับที่ดินเป็นการถาวรหรือเป็นส่วนควบกับที่ดินเท่านั้น และในขณะที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินภาษีนั้น ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์มิได้มีการเคลื่อนย้ายแต่ได้ใช้คุ้มครองป้องกันมิให้เครื่องโทรศัพท์เสียหาย และให้บริการประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์ให้มีความปลอดภัย สะดวกสบาย จึงเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบกิจการก่อให้เกิดประโยชน์และรายได้แก่โจทก์และถือเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5
ทรัพย์สินที่จะได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (2) จะต้องเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือสาธารณะ เมื่อบริษัทโจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจและกฎหมายมิได้บัญญัติให้ยกเว้นภาษีดังเช่นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการรถไฟโดยตรง ตู้โทรศัพท์สาธารณะซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์จึงไม่ได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 797/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้รับโอนจากการประนีประนอมยอมความ: สิทธิเด็ดขาดก่อนเจ้าหนี้เดิม แม้ยังไม่ชำระเงินทั้งหมด
ตาม ป.พ.พ.มาตรา 6 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่า ผู้ร้องและจำเลยสมคบกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้นโดยเจตนาไม่สุจริต เพื่อให้ทรัพย์สินพ้นจากการบังคับดคีและทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์จึงต้องมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว เมื่อจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้ผู้ร้องตามมูลหนี้สัญญาจะซื้อจะขายและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมจนคดีถึงที่สุดแล้ว สิทธิของผู้ร้องตามคำพิพากษาที่จะเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่ตนย่อมเกิดขึ้นทันทีแม้ผู้ร้องจะต้องชำระเงินที่เหลือจำนวนหนึ่งให้แก่จำเลยตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยก็ตาม การที่ผู้ร้องยังไม่ชำระเงินที่เหลือจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยมีผลเพียงทำให้ผู้ร้องยังไม่อาจจะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตอบแทนเท่านั้นหามีผลทำให้สิทธิของผู้ร้องที่จะเรียกให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาหมดไปไม่ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิของตนเหนือที่ดินพิพาททั้งสองแปลงได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1300 โจทก์ทั้งสองหามีสิทธิขอให้บังคับยึดที่ดินพิพาททั้งสองเพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้อันเป็นการกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องตาม ป.วิ.พ.มาตรา 287 ได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 744/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำร้องขอพิจารณาภาษีต้องมีผู้รับประเมินลงนาม หรือมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษร มิฉะนั้นถือว่าไม่มีอำนาจฟ้อง
คำร้องขอพิจารณาการประเมินใหม่ต้องเขียนลงในแบบพิมพ์และผู้รับประเมินต้องลงนามตามที่ พ.ร.พ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 26 กำหนด และหากผู้รับประเมินต้องการให้ตัวแทนลงนามแทนก็ต้องมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 37 เมื่อฟังไม่ได้ว่า ส.ได้รับมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้มีอำนาจให้กระทำการแทนในการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ทั้งเป็นกรณีที่โจทก์ไม่อาจให้สัตยาบันภายหลังได้ จึงเป็นการยื่นคำร้องที่โจทก์ผู้รับประเมินไม่ได้ลงนามหรือมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรให้ตัวแทนลงนามแทน ไม่ชอบตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินนมาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 37 ถือว่าโจทก์ยังไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ จึงไม่มีอำนาจฟ้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 7(1) และมาตรา 8

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 743/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีผู้ค้ำประกันหนี้ภาษี หลังผู้ค้างชำระถึงแก่ความตาย
กรมสรรพากรโจทก์รู้ถึงความตายของ อ. แล้ว การที่โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้ภาษีอากร พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงความตายของ อ. สิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อกองมรดกของ อ. จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมยกข้อต่อสู้ดังกล่าวได้ตามมาตรา 694

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 743/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีเรียกร้องจากกองมรดกของผู้ค้ำประกัน การรู้ถึงการตายของผู้ตาย
เมื่อโจทก์ทราบการตายของ อ. ตั้งแต่วันที่โจทก์ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีหมายเลขแดงที่ 1215/2545 ของศาลจังหวัดพัทลุง แม้ทางพิจารณาจะไม่ปรากฏว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เมื่อใด แต่ปรากฎจากหนังสือแจ้งผลคดีของอัยการจังหวัดพัทลุงว่า วันที่ 10 พฤษภาคม 2547 ศาลจังหวัดพัทลุงมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์เฉลี่ยทรัพย์ในคดีดังกล่าวได้ จึงถือได้ว่าอย่างช้าในวันที่ 10 พฤษภาคม 2547 โจทก์รู้ถึงความตายของ อ.แล้ว การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2549 ซึ่งพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงความตายของ อ. สิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อกรองมรดกของ อ.จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754 วรรคสาม จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นอ้างได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 694

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 740/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษี, การมอบอำนาจ, ข้อจำกัดการอุทธรณ์, และข้อยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน
จำเลยอุทธรณ์ว่า ว. ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่โดยไม่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง ถือว่าเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลภาษีอากรกลางในเรื่องการมอบอำนาจให้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ อันเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯมาตรา 25

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 702/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีจากราคาประเมินและดอกเบี้ยรับ กรณีผู้ขายที่ดินแบ่งแยกโฉนดและถือเงินสดไว้โดยไม่หาประโยชน์
ที่ดินที่โจทก์ขายไปเป็นที่ดินแยกจากโฉนดแปลงเดียวกันคือโฉนดเลขที่ 184 เมื่อบางแปลงขายได้ราคาต่ำกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินราคาดังกล่าวตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินโดยถือเป็นราคาตลาดในวันที่โอนได้ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร มิใช่การใช้อำนาจตามมาตรา 49 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ตามที่โจทก์อ้างในคำฟ้องว่าเจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใด
กรณีโจทก์ลงบัญชีรับเงินสดจากการขายที่ดินจำนวน 66,492,563 บาท ไม่ปรากฏว่าโจทก์นำเงินดังกล่าวไปชำระหนี้ที่โจทก์กู้ยืมมาซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยหรือนำไปฝากธนาคารเพื่อให้เกิดดอกเบี้ย เจ้าพนักงานประเมินถือว่าเป็นการให้กรรมการนำเงินดังกล่าวไปใช้ เข้าลักษณะเป็นการให้กู้ยืมเงินโดยไม่มีเหตุอันสมควรที่โจทก์จะไม่คิดดอกเบี้ย เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินดอกเบี้ยรับจากเงินดังกล่าวได้ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร มิใช่เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดรายรับขึ้นเองโดยผิดข้อเท็จจริงและผิดหลักการบัญชีตามที่โจทก์อ้าง
มาตรา 91/2 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า "...การประกอบกิจการดังต่อไปนี้ในราชอาณาจักร ให้อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามบทบัญญัติในหมวดนี้...(5) การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เช่น การให้กู้ยืมเงิน ค้ำประกัน แลกเปลี่ยนเงินตรา ออก ซื้อ หรือขายตั๋วเงิน หรือรับส่งเงินไปต่างประเทศด้วยวิธีต่าง ๆ" การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ที่จะเข้าข่ายต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจะต้องมีลักษณะทำนองเดียวกับธนาคารและจะต้องประกอบกิจการดังกล่าวโดยปกติด้วย คำว่า "โดยปกติ"ย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่าได้ประกอบกิจการดังกล่าวเช่นที่เคยปฏิบัติมา ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนการตรวจสอบภาษีอากรสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทไม่ปรากฏว่าโจทก์ให้กู้ยืมเงินโดยเรียกเอาดอกเบี้ยเป็นการหาประโยชน์จากการให้กู้ยืมเงินแต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่าโจทก์ประกอบกิจการดังกล่าวโดยปกติในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนๆ ดังนั้นกรณีโจทก์รับเงินจากการขายที่ดินเป็นจำนวนมาก แต่ไม่นำไปแสวงหาประโยชน์หรือไม่นำไปใช้หนี้เงินกู้ ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจะกำหนดดอกเบี้ยจากเงินดังกล่าวถือเป็นรายรับต้องนำมาคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะหาได้ไม่ จึงต้องเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินในส่วนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 637/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทางจำยอมโดยการใช้ต่อเนื่อง และการรับโอนสิทธิพร้อมที่ดิน
โจทก์เป็นบุตรของ ท. เมื่อ ท. ถึงแก่กรรม ทรัพย์มรดกของ ท. ย่อมตกทอดแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 ดังนั้น ที่ดินโฉนดเลขที่ 18488 ซึ่งมี ท. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมตกทอดเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ แม้โฉนดที่ดินดังกล่าวยังไม่ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อในโฉนดที่ดินจาก ท. มาเป็นชื่อโจทก์ก็ตามโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ และปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้
ที่ดินของโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นที่ดินแปลงเดียวกันมาก่อนโดยมีชื่อ ท. บิดาโจทก์ และ ป. บิดาของจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ตามโฉนดเลขที่ 18488 ต่อมาในปี 2529 ได้มีการแบ่งแยกที่ดินเป็นโฉนดเลขที่ 17055 มีชื่อ ป. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วน ท. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 18488 ในส่วนที่เหลือเมื่อแบ่งแยกที่ดินกันแล้วทำให้ที่ดินแปลงของ ท. ไม่มีทางออกสู่สาธารณะ ป. ยินยอมให้ ท. ใช้ทางพิพาทเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ ท. จึงใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะตั้งแต่ปี 2529 และ ท. ถึงแก่กรรม ดังนั้น ท. จึงใช้ทางพิพาทมานานเกินกว่า 10 ปีแล้ว โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ห้ามปรามหรือขัดขวางทางพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 18488 และเมื่อ ท. ตายที่ดินโฉนดเลขที่ 18488 จึกตกเป็นกรรมสิทธิ์โจทก์ โจทก์จึงรับโอนมาทั้งสิทธิและหน้าที่และโจทก์ก็ได้ใช้ทางพิพาทตลอดมา ดังนั้น ทางพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 18488

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 632/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกต้องตามกฎหมาย แม้จะขัดต่อระเบียบภายในกรมสรรพากร
แม้โจทก์จะมอบอำนาจให้ น. ไปสละประเด็นที่ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว คงติดใจเฉพาะกรณีขอให้ลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม แต่คำฟ้องของโจทก์ในประเด็นที่ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ได้กระทำภายใน 2 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีนั้นเป็นการกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินโดยฝ่าฝืนมาตรา 88/6 (1) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่มีอำนาจประเมิน ดังนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลในประเด็นดังกล่าวได้โดยไม่ต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน ข้อที่โจทก์สละสิทธิการอุทธรณ์เฉพาะในประเด็นขอยกเลิกการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องศาลแต่อย่างใด
โจทก์ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย แต่ใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่มีสิทธิดังกล่าวก็มีมูลค่าที่โจทก์พึงได้รับอันเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงต้องรับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษีนั้นเสมือนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 86/13 วรรคสอง สำหรับกรณีโจทก์ขายสินค้าให้ผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการอยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออก โจทก์จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 เฉพาะการขายสินค้าที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด เมื่อโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโจทก์จึงไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 โดยต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราปกติตาม ป.รัษฎากร มาตรา 80 ส่วนกรณีโจทก์ยกเลิกใบกำกับภาษีโดยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม ป.รัษฎากร โจทก์ต้องรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษีเสมือนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 86/13 วรรคสอง ใบกำกับภาษีที่โจทก์ยกเลิกโดยไม่ถูกต้องจึงมีมูลค่าที่โจทก์พึงได้รับ และเป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีโดยแสดงฐานภาษีต่ำกว่ามูลค่าที่โจทก์พึงได้รับตามความหมายของมาตรา 88/6 (1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อนำยอดขายตามแบบแสดงรายการภาษีที่โจทก์ยื่นไว้เปรียบเทียบกับยอดขายตามผลการตรวจสอบอันถือว่าเป็นมูลค่าที่โจทก์พึงได้รับแล้ว ปรากฏว่าโจทก์แสดงฐานภาษีต่ำกว่ามูลค่าที่พึงได้รับเป็นจำนวนเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของยอดขายที่แสดงไว้ในแบบแสดงรายการภาษี กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 88/6 (1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินได้ภายในกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี
ระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการตรวจปฏิบัติการภาษีมูลค่าเพิ่ม พ.ศ.2539 มิใช่กฎหมาย เมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินปฏิบัติฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ย่อมเป็นการประเมินที่ชอบด้วยกฎหมาย การประเมินที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบแต่เป็นไปตาม ป.รัษฎากร มิได้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ประเด็นนี้โจทก์มิได้กล่าวอ้างไว้ในคำฟ้องจึงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29
of 57