คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชูเกียรติ ตันทวีวงศ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 396 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ผู้รับทั้งหมด โดยผู้รับมีสิทธิจัดการทรัพย์สินเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรม พินัยกรรมไม่เป็นโมฆะ
พินัยกรรมที่ระบุว่าเจ้ามรดกยกทรัพย์มรดกของตนทั้งหมดให้แก่จำเลยไว้ในพินัยกรรมเพียงผู้เดียว และระบุประเภทของทรัพย์สินที่ยกให้ไม่ว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์สินใดๆ รวมทั้งสิทธิเรียกร้องของเจ้ามรดกที่มีต่อลูกหนี้ให้ตกแก่จำเลย แม้จะมีข้อความในพินัยกรรมว่า จำเลยจะยกทรัพย์สินหรือแบ่งปันให้แก่ผู้ใดเมื่อเจ้ามรดกได้ถึงแก่กรรมไปแล้วก็สุดแต่ใจจะเห็นสมควร ข้อกำหนดดังกล่าวหาได้กำหนดให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่างๆ แทนเจ้ามรดกไม่ แต่มีความหมายว่า เมื่อเจ้ามรดกยกทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยจะดำเนินการอย่างไรต่อไปโดยจะยกทรัพย์มรดกหรือแบ่งปันให้แก่ผู้ใดหรือไม่ย่อมเป็นสิทธิของจำเลยตามแต่จะเห็นสมควร ไม่ใช่ให้จำเลยเป็นผู้กำหนดทรัพย์มรดกทั้งหมดให้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจของจำเลย ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2454/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าซ่อมรถยนต์: การจ้างซ่อมเพื่อกิจการประกันภัย เข้าข้อยกเว้นอายุความ 2 ปี ใช้ 5 ปี
โจทก์ประกอบกิจการให้บริการซ่อมแซมรถยนต์ โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้า ส่วนจำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการรับประกันวินาศภัย ได้ว่าจ้างโจทก์ให้ทำการซ่อมรถยนต์ผู้เอาประกันวินาศภัยกับจำเลยซึ่งเป็นธุรกิจการค้าของจำเลย การที่โจทก์เรียกเอาค่าจ้างซ่อมรถยนต์ของผู้เอาประกันวินาศภัยกับจำเลย จึงเป็นการเรียกเอาค่าจ้างหรือค่าแห่งการงานที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ กรณีต้องด้วยข้อยกเว้นไม่อยู่ในกำหนดอายุความ 2 ปี ตามความในตอนท้ายของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2184/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าขึ้นศาลอุทธรณ์: กรณีอุทธรณ์ดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นคดีมีทุนทรัพย์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 8,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันกู้เงินจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด คืออัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 ทั้งเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 จึงบังคับดอกเบี้ยได้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควร คืออัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ โดยให้จำเลยรับผิดในดอกเบี้ยเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควร ดังนี้ เป็นกรณีที่จำเลยอุทธรณ์คัดค้านจำนวนดอกเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ ซึ่งหากศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชนะคดีตามอุทธรณ์ ทุกข์ของจำเลยย่อมปลดเปลื้องไปเท่ากับจำนวนดอกเบี้ยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยไม่ต้องรับผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีมีทุนทรัพย์ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่จำเลยเรียกร้องให้รับผิดลดลง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคสอง ทั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2147/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจำกัดเฉพาะผลโดยตรง การทวงหนี้และดำเนินคดีไม่ใช่ค่าเสียหายโดยตรง
ค่าเสียหายเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นจากการไม่ชำระหนี้ซึ่งลูกหนี้ต้องรับผิดนั้นเป็นค่าเสียหายซึ่งเป็นผลธรรมดาหรือผลโดยตรงจากการไม่ชำระหนี้ แต่ค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้และฟ้องคดี รวมถึงค่าใช้จ่ายในการฟ้องอุทธรณ์ฎีกาและบังคับคดีมิใช่ผลเกิดขึ้นโดยตรงจากการผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ และไม่ใช่ความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษอันลูกหนี้อาจคาดเห็นหรือควรได้คาดเห็น ทั้งไม่มีกฎหมายบังคับให้ฝ่ายผิดนัดผิดสัญญาต้องรับผิดในค่าใช้จ่ายดังกล่าวด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายดังกล่าว
ป.วิ.พ. มาตรา 161 บัญญัติให้ความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีย่อมตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดี แต่อย่างไรก็ดีให้เป็นดุลพินิจของศาลโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง โจทก์เป็นผู้อุทธรณ์และเป็นฝ่ายแพ้คดีในชั้นอุทธรณ์การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์เป็นพับจึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2117/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินหลังการโอนสิทธิ - การกำหนดส่วนแบ่งต้องไม่กระทบสิทธิเจ้าของรวมอื่น
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเพื่อขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน เมื่อแบ่งแยกที่ดินเป็นของโจทก์ตามส่วนที่ได้ถือกรรมสิทธิ์ในฐานผู้จัดการมรดกของ ฉ. แล้ว ที่ดินส่วนที่เหลือจำเลยทั้งสามและเจ้าของรวมคนอื่นๆ ยังคงถือกรรมสิทธิ์รวมกันอยู่ การจะแบ่งที่ดินที่เหลือให้เป็นส่วนของจำเลยทั้งสามแยกต่างหากจากเจ้าของรวมคนอื่นอีกหรือไม่เพียงใด ย่อมเป็นสิทธิของจำเลยทั้งสามและเจ้าของรวมคนอื่นที่ต้องว่ากล่าวกันเอง โจทก์หามีสิทธิที่จะขอให้แบ่งแยกที่ดินในส่วนของจำเลยทั้งสามออกจากที่ดินที่เหลือดังกล่าวด้วยไม่ ทั้งการกำหนดส่วนแบ่งของจำเลยทั้งสามตามคำขอของโจทก์ย่อมกระทบต่อสิทธิของเจ้าของรวมคนอื่นที่มิได้เข้ามาเป็นคู่ความในคดีกับจำเลยทั้งสาม คำขอของโจทก์ที่ให้แบ่งแยกที่ดินเป็นของจำเลยทั้งสามจึงไม่อาจบังคับได้ เป็นผลให้ต้องยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1997/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์: กรณีคัดค้านมูลหนี้ร่วมรับผิด
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้กู้ยืมเงินของโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในโฉนดที่ดินที่จำนอง เมื่อสัญญากู้มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 2 มิได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ด้วย จึงไม่ต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 ทั้งมิได้อยู่ในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงไม่ต้องรับผิดตามตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 ขอให้ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นั้น เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คัดค้านมูลหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการพิพาทกันในเรื่องทรัพย์สิน จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ จำเลยที่ 2 จะต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1975/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้รับจำนองขอรับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น แม้ยังมิได้ฟ้องบังคับจำนอง หรือมีจดหมายบอกกล่าว
ผู้รับจำนองมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่นๆ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 โดยหาจำต้องฟ้องร้องขอบังคับจำนองก่อนหรือต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอยู่แล้วไม่เพราะกฎหมายมิได้มีข้อจำกัดสิทธิของผู้รับจำนองดังกล่าว และการยื่นคำร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ก็มิใช่การฟ้องบังคับจำนองโดยตรง ผู้รับจำนองจึงไม่ต้องมีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองให้ลูกหนี้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 ดังนั้น ผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองย่อมอาศัยอำนาจแห่งการจำนองยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองในทรัพย์จำนองที่มีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษารายอื่นยึดไว้แล้วได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1975/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้รับจำนองในการขอรับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่ถูกยึดโดยเจ้าหนี้อื่น แม้ยังมิได้บอกกล่าวลูกหนี้
ป.วิ.พ. มาตรา 289 ไม่มีข้อจำกัดสิทธิของผู้รับจำนองว่าจะต้องฟ้องร้องบังคับจำนองก่อนหรือจะต้องเป็นเจ้าหนี้จำนองตามคำพิพากษาจึงจะขอรับชำระหนี้ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองแล้วผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองย่อมยื่นคำร้องขอต่อศาลรับชำระหนี้จำนองตามมาตรา 289 ได้
การบอกกล่าวบังคับจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 ใช้สำหรับกรณีที่ผู้รับจำนองฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนอง แต่ในกรณีการยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ไม่ใช่การฟ้องคดีบังคับจำนองที่จะต้องยึดทรัพย์นั้นอีก ผู้ร้องอีกยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองได้โดยไม่จำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1854/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้รับรองบุตรนอกกฎหมาย: ไม่เป็นทายาทรับมรดก
ผู้ตายเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 แต่ผลของบทกฎหมายดังกล่าวเพียงแต่ให้ถือว่าบุตรนั้นเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบิดาเท่านั้น หาได้มีผลทำให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบุตรในฐานะทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 ด้วยไม่ ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบิดาผู้ตายจึงมิใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตาย ไม่มีสิทธิคัคค้านหรือร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ และปัญหาดังกล่าวมีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้อยู่แล้ว กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 4 ที่จะต้องวินิจฉัยคดีตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น หรืออาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง หรือวินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1854/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองสิทธิรับมรดกเฉพาะของบิดา ไม่ได้มีสิทธิในกองมรดกของบุตร
ผู้คัดค้านอยู่กินฉันสามีภริยากับมารดาของผู้ตายภายหลังจากที่มีการบังคับใช้ ป.พ.พ. บรรพ 5 โดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน ดังนั้น แม้ผู้คัดค้านจะอุปการะเลี้ยงดูผู้ตายตลอดมาซึ่งทำให้ผู้ตายเป็นบุตรนอกกฎหมายที่ผู้คัดค้านรับรองแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 ก็ตาม แต่ผลของบทบัญญัติดังกล่าวก็เพียงแต่ให้ถือว่าบุตรนั้นเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิรับมรดกของบิดาเท่านั้น หาได้มีผลทำให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกของบุตรในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 ด้วยไม่ ผู้คัดค้านจึงมิใช่ทายาทของผู้ตายหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตายที่จะมีสิทธิคัดค้านการขอจัดการมรดกหรือร้องขอให้ศาลตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้
of 40