คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชูเกียรติ ตันทวีวงศ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 396 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9693/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำโดยประมาทเล็งเห็นผลถึงอันตรายถึงแก่ชีวิตของเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่
เมื่อสายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนได้แล้ว ผู้เสียหายกับพวกเข้าไปจับกุมจำเลยทั้งสาม โดยใช้รถยนต์ 2 คัน คันหนึ่งขับไปขวางหน้ารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เป็นคนขับ และรถยนต์อีกคันหนึ่งที่มีผู้เสียหายนั่งมาด้วยขับไปขวางทางด้านหลัง ผู้เสียหายลงจากรถยนต์มายืนด้านหลังรถยนต์ของจำเลยที่ 1 พร้อมพูดแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจับกุมด้วยเสียงดัง จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ถอยหลังพุ่งตรงไปทางผู้เสียหาย ผู้เสียหายกระโดดหลบ รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับชนทางด้านหน้าของรถยนต์ พันตำรวจโท ฉ. ที่ขวางอยู่ด้านหลังได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ถอยหลังดังกล่าวย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าหากผู้เสียหายไม่กระโดดหลบรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับอาจชนผู้เสียหายซึ่งยืนอยู่ทางด้านหลังในระยะห่างเพียง 5 เมตร ถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระทำตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 289 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9046/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาเรียกค่าไถ่ต้องชัดเจน การเรียกร้องเงินและทองคำเพื่อชำระหนี้ ไม่ถือเป็นความผิดฐานเรียกค่าไถ่
การที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ไปจากผู้เสียหาย จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทรัพย์สินจากผู้เสียหายและ อ. เพื่อเป็นค่าไถ่มาตั้งแต่แรก จำเลยเรียกร้องเอาทองคำเท่ากับที่มอบให้ผู้เสียหายไปจำนำ ส่วนเงินที่เรียกร้องเอาจาก อ. ได้ความว่าเป็นค่าที่ดินที่ อ. จะต้องคืนให้จำเลย ทั้งไม่ได้ความว่า อ. เป็นญาติหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้เสียหายหรือเด็กหญิง ฟ. ที่จำเลยจะใช้เป็นเงื่อนไขในการเรียกร้องเงินจาก อ. จำเลยมีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทองคำและเงินที่จำเลยเชื่อว่าจำเลยควรจะได้ ดังนั้น ทองคำและเงินที่จำเลยเรียกร้องจากผู้เสียหายและ อ. จึงมิใช่ค่าไถ่ตาม ป.อ. มาตรา 1 (13) การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 313 (1) (3) วรรคแรก
การที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ไป และไม่ยอมคืนให้แก่ผู้เสียหาย เป็นการหน่วงเหนี่ยวเด็กหญิง ฟ. เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานเรียกค่าไถ่ตาม ป.อ. มาตรา 313 (3) วรรคแรก ที่โจทก์ฟ้อง ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8686/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิใช้ทางผ่านที่ดินของผู้อื่นในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยมีค่าตอบแทน และผลผูกพันต่อทายาท
ทางพิพาทอยู่บนที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประชาชนที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์มีเพียงสิทธิครอบครอง ดังนั้น ผู้ครอบครองจึงไม่อาจนำที่ดินออกขาย แต่เมื่อพิเคราะห์สัญญาซื้อขายที่ดินเพื่อทำทางพิพาท ก็พอจะแปลเจตนาของคู่สัญญาได้ว่า เป็นการจ่ายเงินเพื่อตอบแทนในการอนุญาตให้ใช้ทางพิพาท โดยได้รับค่าตอบแทน 2,000 บาท สัญญาดังกล่าวจึงเป็นบุคคลสิทธิผูกพันให้คู่สัญญาต้องปฏิบัติตาม โจทก์เป็นบุตรของ อ. ผู้ซื้อ ส่วนจำเลยเป็นบุตรของ ผ. ซึ่งเป็นผู้ทำประโยชน์ที่ดินดังกล่าว ขณะ ห. รับเงินค่าตอบแทนการใช้ทางพิพาท ผ. ยังเป็นผู้ครอบครองอยู่ ปัจจุบันโจทก์และจำเลยต่างเป็นทายาทผู้สืบสิทธิของ อ. และ ผ. ในที่ดินในเขตปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม จึงต้องผูกพันตามข้อตกลงที่อนุญาตให้ใช้ทางพิพาทตามที่สัญญาไว้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิปิดกั้นไม่ให้โจทก์ใช้ทางพิพาท ส่วนโจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว จึงไม่มีสิทธิจะขอให้ศาลพิพากษาว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7724/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการฎีกาประเด็นใหม่ที่มิได้ยกขึ้นในศาลอุทธรณ์ และการบังคับคดีเอาคืนการครอบครอง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทบริเวณที่ระบายด้วยสีเขียวตามแผนที่พิพาทซึ่งเจ้าหน้าที่ศาลได้ทำขึ้นตามคำสั่งศาลชั้นต้น เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 1/24 ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ที่โจทก์เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครอง จำเลยได้เข้าไปยึดถือแย่งการครอบครอง แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีเอาคืนภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีเอาคืนการครอบครอง โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องคดีภายในกำหนดเวลาปีหนึ่ง จึงมีสิทธิฟ้องคดี จำเลยไม่ได้แก้อุทธรณ์ตั้งเป็นประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ ปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ จึงเป็นอันยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7246/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบของกลางและการคืนของกลางแก่เจ้าของ เมื่อคดีถึงที่สุดและไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น
โจทก์มีคำขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยยกคำขอของโจทก์ โจทก์มิได้อุทธรณ์ ปัญหาเรื่องการริบของกลางย่อมยุติต้องคืนของกลางแก่เจ้าของตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) ประกอบมาตรา 215 และ 225 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้ริบของกลางจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกามีคำสั่งแก้ไขให้ถูกต้องโดยให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่เจ้าของ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6816/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเรา ต้องมีการกระทำใกล้ชิดถึงขั้นพยายามสอดใส่ มิใช่แค่การลวนลาม
ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำความผิด และต้องใช้บังคับแก่คดี เนื่องจากกฎหมายที่แก้ไขในภายหลังไม่เป็นคุณแก่จำเลยนั้น มิได้ให้คำนิยามของการกระทำชำเราไว้ แต่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง ที่แก้ไขในภายหลัง ให้คำนิยามของการกระทำชำเราไว้ว่า หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำ กระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือ ช่องปากของผู้อื่น หรือ การใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น ซึ่งเป็นเพียงการขยายความแต่ก็ยังคงเทียบเคียงการกระทำชำเราหญิงตามกฎหมายเดิมได้
ความผิดฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเราหญิงนั้น ผู้กระทำจะต้องใช้อวัยวะเพศของตนกระทำในลักษณะใกล้ชิดพร้อมที่จะใช้อวัยวะเพศสอดใส่กับอวัยวะเพศของหญิงผู้ถูกกระทำ การกระทำของจำเลยที่ใช้แรงกายบังคับฉุดกระชากลากตัวผู้เสียหายเข้าไปในห้องน้ำ ล๊อกประตูห้องน้ำ ถอดกางเกงชั้นนอกและกางเกงในของผู้เสียหายออก แล้วจับนมและอวัยวะเพศของผู้เสียหาย ซึ่งถือเป็นการกระทำการลวนลามผู้เสียหายแล้ว แต่จำเลยยังไม่ได้ถอดกางเกงที่ตนเองสวมใส่ออก การกระทำของจำเลยจึงยังไม่ถึงขั้นที่พยายามใช้อวัยวะเพศของตนเองสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย จึงถือว่าลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยยังไม่อยู่ในวิสัยที่จะกระทำการข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดเพียงฐานกระทำอนาจารผู้เสียหายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6024/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์: ศาลแพ่งผูกพันตามข้อเท็จจริงคดีอาญา แต่ไม่ผูกพันประเด็นส่วนประมาทของผู้ตาย
คดีส่วนอาญาข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยขับรถด้วยความประมาทโดยขับเร็วล้ำเข้าไปเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายทั้งสองในช่องเดินรถของผู้ตายทั้งสอง คดีในส่วนแพ่งศาลจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา กล่าวคือต้องฟังว่าจำเลยขับรถด้วยความประมาท ที่ศาลในคดีส่วนอาญาฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่า ผู้ตายทั้งสองมีส่วนกระทำประมาทด้วย ไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสองเพราะไม่ใช่เป็นประเด็นโดยตรงในคดีส่วนอาญา เป็นเพียงการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษจำเลยให้เบาลง ดังนั้นในคดีส่วนแพ่งผู้ตายทั้งสองมีส่วนกระทำประมาทด้วยหรือไม่ และจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่เพียงใด จำเลยมีหน้าที่ต้องพิสูจน์
ผู้เสียหายที่มิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เฉพาะในคดีอาญาเท่านั้นไม่มีผลถึงอำนาจฟ้องคดีแพ่ง โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4667/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวการร่วมข่มขืนกระทำชำเรา: การกระทำที่สนับสนุนการข่มขืนแม้ไม่ได้ลงมือเอง
ตามพฤติการณ์ที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์ไปส่งผู้เสียหายกลับบ้านหลังจากที่จำเลยร่วมประเวณีกับผู้เสียหายแล้วระหว่างทางพบ ต. กับพวก จำเลยจึงให้ ต. ไปส่งผู้เสียหายแทนโดยอ้างว่ามีธุระ แต่ ต. กลับพาผู้เสียหายไปข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง โดยจำเลยไปอยู่ในที่เกิดเหตุในขณะที่ผู้เสียหายถูก ต. กับพวกข่มขืนกระทำชำเราด้วยในลักษณะที่พร้อมจะช่วยเหลือได้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวเชื่อว่าเป็นแผนการที่จำเลยกับพวกร่วมกันคบคิดพาผู้เสียหายไปข่มขืนกระทำชำเราในที่เกิดเหตุ แม้จำเลยจะไม่ได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายในขณะนั้นด้วย การกระทำของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าเป็นตัวการร่วมกับพวกข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4444/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ล่าช้าและการใช้มาตรา 182 วรรคสอง ป.วิ.อ. โดยอนุโลม
การอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ของศาลชั้นต้นต้องนำมาตรา 182 วรรคสอง มาใช้โดยอนุโลมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 215 และ 209 เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ส่งคำพิพากษาไปให้ศาลชั้นต้นอ่านแทนศาลอุทธรณ์ภาค 2 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2550 ประกอบกับจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องหมายนัดโจทก์ จำเลย และ ป. มาฟังคำพิพากษา การที่ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 แม้จะเกินกว่า 3 วัน และไม่ได้จดรายงานเหตุไว้นั้น ก็เป็นการชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 182 ประกอบมาตรา 225 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4239/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ค้ำประกันหลังการฟื้นฟูกิจการ, การโอนสิทธิเรียกร้อง, และดอกเบี้ยทบต้น
การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจำเลยที่ 1 ก็เพื่อให้จำเลยที่ 1 มีโอกาสฟื้นฟูกิจการหรือปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้กิจการของจำเลยที่ 1 กลับคืนสู่สภาพที่สามารถดำเนินกิจการตามปกติต่อไปได้ อันเป็นเรื่องที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 บัญญัติให้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้โดยเฉพาะ หาได้มีผลต่อความรับผิดของจำเลยที่ 4 ผู้ค้ำประกันที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องในคดีนี้แต่อย่างใด ทั้งการที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เด็ดขาด ก็มีผลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามามีอำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับความรับผิดของจำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 59 (2) ที่ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 4 ด้วย
การโอนสิทธิเรียกร้องคดีนี้เป็นการโอนอันเนื่องมาจากการรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์กับสถาบันการเงิน ระหว่างธนาคาร ส. โจทก์ กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. และบริษัทเงินทุน 12 บริษัท ตามที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันแถลงแผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน โดยกำหนดให้โจทก์รับโอนกิจการจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ดังนี้ กรณีจึงต้องด้วย พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 38 ตรี วรรคสอง ที่บัญญัติยกเว้นไว้ให้ไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ตามมาตรา 306 แห่ง ป.พ.พ.
คำสั่งศาลที่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง การที่โจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวใช้สิทธิขอรับชำระหนี้หรือได้รับชำระหนี้บางส่วนในระหว่างดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ หาได้ทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นความรับผิดไม่ คงมีผลทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ลดลงตามจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับชำระหนี้แล้ว ซึ่งมีผลทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 4 ลดลงตามจำนวนที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น
การฟ้องเรียกให้ชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยเป็นการฟ้องให้ผู้กู้ปฏิบัติตามสัญญา ทั้งนี้โดยไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาก่อน ตามหนังสือขอให้ชำระหนี้นั้นมีเนื้อหาระบุไว้เพียงว่า จำเลยทั้งสี่เป็นหนี้อยู่จำนวนเท่าใดและขอให้จัดการชำระหนี้ทั้งหมด ไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการบอกเลิกสัญญา หนังสือดังกล่าวจึงเป็นเพียงแต่การทวงถามหรือเตือนให้ชำระหนี้เท่านั้น ไม่อาจแปลหรือถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญา ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่ตกลงในสัญญาและนำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่า 1 ปี ทบเข้ากับต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ตามข้อตกลงแม้ลูกหนี้ผิดนัดแล้วก็ตาม เมื่อโจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกิน 1 ปี มาทบรวมกับยอดเงินต้นแล้วดอกเบี้ยที่ทบนั้นก็กลายเป็นต้นเงินไม่เป็นดอกเบี้ยที่ค้างอีกต่อไป ข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่อยู่ในบังคับข้อห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง
of 40