คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชูเกียรติ ตันทวีวงศ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 396 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7051/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีประกันภัย: การตรวจสอบความถูกต้องของหนังสือมอบอำนาจและชื่อจำเลย
คดีนี้จำเลยให้การว่า ที่โจทก์มอบอำนาจให้ ก. หรือ ส. หรือ พ. เป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับลายมือชื่อตามหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 27 สิงหาคม 50 และหนังสือมอบอำนาจช่วง ลงวันที่ 16 มกราคม 51 ปรากฏว่าลายมือชื่อของ ส. ในหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับมีลักษณะช่องไฟและตัวอักษรต่างกัน ไม่น่าเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ จะเห็นได้ว่า ตามคำให้การจำเลยมุ่งเน้นให้การต่อสู้ลายมือชื่อของ ส. ส่วนที่จำเลยให้การว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีมิใช่ลายมือชื่อโจทก์ เป็นการปฏิเสธลอย ๆ ไม่ได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่เป็นประเด็นให้ศาลต้องวินิจฉัยว่าลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อกรรมการโจทก์หรือไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองฟังพยานหลักฐานของโจทก์ว่ายังฟังไม่ได้ว่า ส. และ อ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนโจทก์ในขณะฟ้องคดี โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ส่วนที่โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีขับรถยนต์กระบะชนรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ จำเลยให้การรับว่าเป็นคู่กรณีจริง การที่หนังสือมอบอำนาจ ระบุชื่อสกุล จำเลย ผิดพลาดเป็นคำว่ามั่นประเสริฐ ที่ถูกต้องคือ มั่นประสิทธิ์ จึงเป็นการพิมพ์ผิดพลาด มิใช่กรณีฟ้องผิดคน ถือว่าโจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยโดยชอบ แม้ว่าภายหลังโจทก์จะยื่นคำร้องขอเปลี่ยนหนังสือมอบอำนาจฉบับใหม่ ระบุชื่อ และชื่อสกุลจำเลยโดยถูกต้อง แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งอนุญาตตามคำร้อง ก็ไม่มีผลให้การมอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วเสียไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15204/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไล่เบี้ยค่าสินไหมทดแทนจากทายาทผู้ทำละเมิด และขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันหลังสัญญาสิ้นสุด
ศาลพิพากษาให้โจทก์และ ด. ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมแก่ผู้เสียหาย ตามคดีซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว เมื่อโจทก์ได้ใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายไปตามคำพิพากษาแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ในฐานะทายาทผู้สืบสิทธิของเจ้ามรดกผู้ทำละเมิดตามสัญญารถร่วมได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) กรณีมิใช่โจทก์ฟ้องร้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดก เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์เกิดขึ้นหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงนำอายุความตามมาตรา 1754 วรรคสาม มาใช้บังคับไม่ได้ สิทธิเรียกร้องนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงต้องถือว่ามีอายุความสิบปีตามมาตรา 193/30 เมื่อสิทธิไล่เบี้ยของโจทก์เพิ่งมีขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไป การนับอายุความจึงต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม มาตรา 193/12 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
หนังสือสัญญาค้ำประกันซึ่งจำเลยที่ 9 ทำไว้ให้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันสัญญารถร่วมระหว่างโจทก์กับผู้ตายอยู่ในเล่มเดียวกับหนังสือสัญญารถร่วม มีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 9 ยอมรับผิดต่อโจทก์กรณีผู้ตายทำสัญญารถร่วมไว้กับโจทก์ตามหนังสือสัญญาลงวันที่ 28 มิถุนายน 2526 ซึ่งกำหนดเวลาของสัญญารถร่วมระบุไว้ในข้อ 9 ว่า สัญญาฉบับดังกล่าวมีอายุจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2526 โดยไม่ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนดแล้วผู้ตายไปต่อสัญญารถร่วมในปีต่อมา หรือหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายและจำเลยที่ 1 ไปต่อสัญญารถร่วม จำเลยที่ 9 ได้ไปทำสัญญาค้ำประกันการต่อสัญญารถร่วมให้ไว้แก่โจทก์อีก หรือยินยอมให้หนังสือสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้มีผลต่อไป อีกทั้งในหนังสือสัญญาค้ำประกันก็ไม่มีข้อความระบุว่าหากมีการต่อสัญญารถร่วมให้ถือว่าการค้ำประกันของจำเลยที่ 9 มีผลต่อไปด้วย ซึ่งสัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันมีความรับผิดแต่เพียงฝ่ายเดียว การตีความจึงต้องเป็นไปโดยเคร่งครัด ความผูกพันตามสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 9 ย่อมสิ้นไปเมื่อสัญญารถร่วมครบกำหนดในวันที่ 31 ธันวาคม 2526 เมื่อเหตุรถคันพิพาทชนกับรถคันอื่น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2537 จำเลยที่ 9 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7904/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในคดีกล่าวหานายกรัฐมนตรีทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่: ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ มีอำนาจพิจารณาแต่เพียงผู้เดียว
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ มาตรา 275 กำหนดให้คดีที่กล่าวหานายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และข้าราชการการเมืองอื่น ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตาม ป.อ. หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาและพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยกำหนดหลักการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้ว่า ผู้เสียหายจากการกระทำความผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอาจยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทำความเห็นส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 4 บัญญัติว่า "นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ห้ามมิให้ศาลอื่นรับคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้พิจารณาพิพากษา" และมาตรา 9 บัญญัติว่า "ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ดังต่อไปนี้ (1) คดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี...กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น" เมื่อคดีนี้มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น หาอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2832/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์โดยไม่ชอบ แม้จะเชื่อโดยสุจริตในตอนแรก แต่เมื่อทราบคำพิพากษาแล้วยังคงครอบครองถือเป็นความผิด
แม้จำเลยทั้งสองเข้าไปไถดินทำนาในทางสาธารณประโยชน์ในตอนแรกด้วยเชื่อโดยสุจริตว่ามีสิทธิที่จะเข้าไปทำได้ก็ตาม แต่เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบแล้วว่า ศาลปกครองนครราชสีมาได้มีคำพิพากษาว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นทางสาธารณประโยชน์และให้ออกจากที่ดินพิพาทดังกล่าว จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้โต้แย้ง กลับเข้าไปครอบครองและไถดินทำนาบนที่ดินพิพาทสาธารณประโยชน์ภายหลังอีก จึงเป็นความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1572/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงลายมือชื่อแทนกันโดยไม่ชอบ และความเสียหายจากการปลอมเอกสาร
การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ล. ไม่มีกฎหมายให้อำนาจลงลายมือชื่อแทนกันได้ แม้ ล.จะอนุญาตหรือให้ความยินยอม และเจ้าหน้าที่ผู้จัดทำบันทึกแนะนำให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ล. ก็ลงลายมือชื่อแทนกันไม่ได้ การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ล. ในเอกสารหมาย จ. 2 ถึง จ. 4 จึงเป็นการลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร แต่ในความผิดฐานแจ้งความเท็จและความผิดฐานปลอมเอกสารนี้จะต้องได้ความด้วยว่าอยู่ในลักษณะที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนหรือไม่ เมื่อได้ความจากโจทก์ร่วมว่าโจทก์ร่วมลงลายมือชื่อโอนลอยในคำร้องโอนสิทธิการเช่าสัญญาเช่าอาคารดังกล่าวโดยไม่ได้สนใจว่าใครจะนำเอกสารดังกล่าวไปกรอกข้อความอย่างไร แสดงให้เห็นว่า โจทก์ร่วมพอใจในราคาค่าตอบแทนการโอนสิทธิการเช่าเสียมากกว่า หาใช่มีข้อตกลงโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเจาะจงแต่อย่างใดไม่ สอดคล้องกับที่ ส. เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลสตึก พยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับคำร้องโอนสิทธิการเช่าเบิกความว่า โจทก์ร่วมประสงค์จะโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทให้แก่ ล. ทั้งใบเสร็จรับเงินค่าคำร้องโอนสิทธิการเช่าอาคารตามเอกสารหมาย จ. 5 ก็ระบุว่าได้รับเงินจาก ล. จากพฤติการณ์ดังกล่าวโจทก์ร่วมและเทศบาลตำบลสตึกไม่อยู่ในฐานะที่จะอ้างว่าได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จและฐานปลอมเอกสารตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 400/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: ประเด็นการครอบครองที่ดินไม่เหมือนกัน แม้ขอแบ่งแยกที่ดินในลักษณะเดียวกัน
ในคดีก่อน คำฟ้องของโจทก์ยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า ส. ซึ่งเป็นภริยาของบุตร ท. สัญญายกที่ดินพิพาทให้โจทก์ ส่วนฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นการยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์แต่ต้นโดยได้รับการให้จาก ท. มารดาของโจทก์ ถึงแม้คำขอของโจทก์ในคดีก่อนและคดีนี้จะขอให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งเหมือนกันก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยในคดีก่อนกับประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยในคดีนี้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนและไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20106/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแสดงความคิดเห็นโต้ตอบเพื่อปกป้องชื่อเสียงและส่วนได้เสียของตนเอง ไม่เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท
จำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด โจทก์เคยเป็นประธานทอดกฐิน โจทก์ จำเลย บุคคลที่เกี่ยวข้องกับวัดและกรรมการของวัดขัดแย้งกันเกี่ยวกับเรื่องการเงินของวัดแยกออกเป็นหลายฝ่าย และกล่าวหาอีกฝ่ายยักยอกเงินของวัดจนมีการฟ้องคดีต่อศาล โจทก์เขียนข้อความกล่าวหาจำเลยว่าเคยบวชพระและมีประวัติเป็นอลัชชียักยอกเงินของวัด ไม่มีความละอายต่อบาป และเขียนป้ายประกาศติดไว้ที่หน้าวัดห้ามจำเลยเข้าบริเวณวัดและจำเลยยักยอกเงินของวัด ซึ่งเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยเป็นคนโกง เป็นคนไม่ดี การที่จำเลยเขียนหนังสือ และแจกจ่ายหนังสือถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวัดเป็นทำนองตอบโต้โจทก์ เนื่องจากจำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด และได้รับผลกระทบทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง การแสดงข้อความของจำเลยเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมที่จะป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2967/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งบรรจุยาเสพติดเพื่อจำหน่ายเข้าข่ายความผิดฐาน 'ผลิต' ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด
ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 บัญญัติว่า "ผลิต" หมายความว่า เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์และให้หมายความรวมถึง การแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุด้วย ดังนั้น การที่จำเลยแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนใส่หลอดกาแฟ 6 หลอด หลอดละ 10 เม็ด และยังเตรียมบรรจุอีก 2,600 เม็ด ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อความสะดวกแก่การจำหน่าย ทำให้ยาเสพติดให้โทษแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น อันเป็นอันตรายแก่สังคมอย่างร้ายแรง จึงเป็นความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18952/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิยึดถือโฉนดที่ดินเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้: สิทธิที่บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญา
โจทก์เป็นผู้ครอบครองโฉนดที่ดินพิพาททั้งสามฉบับโดยจำเลยที่ 2 มอบให้ยึดถือเป็นประกันเงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเงิน โจทก์จึงมีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้คืน อันเป็นบุคคลสิทธิบังคับกันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สัญญาต่อกัน แม้การที่โจทก์ยึดถือโฉนดที่ดินพิพาททั้งสามฉบับเป็นประกันเงินกู้ที่โจทก์จะได้รับคืนซึ่งไม่ได้เป็นคุณแก่โจทก์เกี่ยวด้วยโฉนดพิพาททั้งสามฉบับ กรณีจึงหาใช่สิทธิยึดหน่วงตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 ซึ่งหมายถึง การที่ผู้ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นคุณแก่ผู้ครอบครองเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครอบครองนั้นก็ตาม แต่โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินพิพาททั้งสามฉบับเป็นประกันจนกว่าจะได้รับชำระหนี้คืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15123/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างหย่าเป็นประโยชน์แก่บุตรผู้เยาว์ มีผลผูกพันแม้ไม่ได้จดทะเบียน และมีผลเหนือพินัยกรรม
บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่า มีข้อความระบุว่า ล. และ ก. ตกลงยกบ้านเลขที่ 2/12 ซึ่งเป็นทาวน์เฮาส์ชั้นเดียว 2 ห้องนอน ให้แก่บุตรทั้งสองคนคือ โจทก์และ ก. ซึ่งขณะนั้นยังเป็นผู้เยาว์ บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าดังกล่าว นอกจากมี ล. และ ก. เป็นคู่สัญญาซึ่งกันและกันแล้ว ยังมีบุตรผู้เยาว์ทั้งสองคนเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผู้รับประโยชน์แห่งสัญญาระหว่าง ล. และ ก. คือ แทนที่ ล. และ ก. จะแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาด้วยกันเอง กลับยอมให้บ้านเลขที่ 2/12 ตกเป็นของบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง หลังจาก ล. และ ก. จดทะเบียนหย่ากัน สัญญาจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 และเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 มิใช่สัญญาให้ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 525 แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ย่อมผูกพัน ล. ให้ต้องปฏิบัติตามข้อตกลง ล. ไม่มีสิทธิจะนำทรัพย์สินไปให้แก่ผู้อื่นโดยปราศจากความยินยอมของ ก.
of 40