คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5,846 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6231-6250/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ไม่ถือเป็นการละเมิดสัญญาจ้าง หรือเลือกปฏิบัติ
การส่งความเห็นเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2550) มาตรา 211 จะต้องเป็นกรณีที่มีข้อโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่ข้อโต้แย้งของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 21 เป็นกรณีที่เห็นว่าคำสั่งของจำเลยทั้งสามขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงมิใช่กรณีที่ศาลแรงงานกลางจะต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแต่อย่างใด เมื่อโจทก์แต่ละคนฟ้องว่าจำเลยทั้งสามปฏิบัติต่อโจทก์แต่ละคนโดยนำเอาความแตกต่างในเรื่องรูปร่าง น้ำหนักมาใช้ให้แตกต่างจากพนักงานอื่น ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาว่าคำสั่งและการปฏิบัติของจำเลยทั้งสามเป็นการเลือกปฏิบัติต่อโจทก์ดังกล่าวโดยผิดกฎหมายให้แตกต่างจากพนักงานอื่นหรือไม่ มิได้เป็นการพิพากษาเกินอำนาจแต่อย่างใด
เมื่อศาลแรงงานกลางได้พิจารณาพยานหลักฐานทุกฝ่ายและวินิจฉัยแล้วว่า คำสั่งของจำเลยทั้งสามที่กำหนดให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินต้องมีค่า Body Mass Index และค่าวัดรอบเอวไม่เกินค่าที่กำหนดไว้ กำหนดระยะเวลาให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่มีค่าเกินกำหนดปรับปรุงบุคลิกภาพ และมาตรการที่มอบหมายให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่ไม่สามารถปรับปรุงบุคลิกภาพได้ตามเกณฑ์และระยะเวลาที่กำหนดปฏิบัติงานบินในเส้นทางในประเทศหรือเส้นทางที่ไปและกลับภายในวันเดียวกัน หรือปฏิบัติงานภาคพื้นดินจนกว่าจะมีค่า Body Mass Index และค่าวัดรอบเอวตามเกณฑ์ที่กำหนด เป็นคำสั่งที่ชอบด้วย ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 6 จ้างแรงาน ไม่เป็นการผิดสัญญาจ้างแรงาน คำสั่งดังกล่าวเป็นเพียงการประกาศปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์และมาตรการบางส่วนที่จำเลยเคยใช้บังคับแก่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ไม่ขัดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และมาตรการที่กำหนดก็มิได้เป็นโทษแก่โจทก์แต่ละคนเมื่อเปรียบเทียบกับหลักเกณฑ์เดิมหากโจทก์แต่ละคนสามารถปรับปรุงบุคลิกภาพได้ตามเกณฑ์ ทั้งยังเป็นสิทธิในการบริหารจัดการที่จำเลยในฐานะนายจ้างมีอำนาจกระทำได้ตามสัญญาจ้างแรงงานและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน คำสั่งดังกล่าวแม้จะใช้บังคับเฉพาะแก่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินแต่ก็ใช้บังคับเป็นการทั่วไปทุกคน มิใช่ใช้บังคับแก่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเฉพาะบุคคลหรือเป็นรายๆไป จึงไม่ใช่การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมและมิได้ไม่ชอบด้วยกฎหมายอื่น แม้คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางจะมิได้กล่าวโดยตรงว่าคำสั่งของจำเลยทั้งสามเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของโจทก์ทั้งหมดหรือไม่ แต่ถือได้ว่าศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยโดยรวมแล้วว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยชอบด้วยกฎหมายจึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของโจทก์ทั้งหมดนั่นเอง คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางจึงกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและแสดงคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยนั้นโดยชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่งแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2362/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองทรัพย์สินในระหว่างฟื้นฟูกิจการ: ข้อจำกัดสิทธิเจ้าหนี้บังคับคดีต่อทรัพย์สินเช่า
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับของมาตรา 90/13 และมาตรา 90/14 นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอ หรือจำหน่ายคดี หรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ หรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด... (5) ห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้..." เป็นบทกฎหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่มีการฟื้นฟูกิจการให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ หาได้มีผลต่อบุคคลอื่นที่มิได้เป็นลูกหนี้ที่มีการฟื้นฟูกิจการด้วยไม่ จึงมีข้อจำกัดสิทธิเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาห้ามบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ เมื่อปรากฏว่าระหว่างฟื้นฟูกิจการนั้นผู้ร้องเป็นเพียงผู้เช่าที่ครอบครองเครื่องจักรซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลย เครื่องจักรดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่อยู่ในกองทรัพย์สินของผู้ร้องที่จะได้รับความคุ้มครองเพื่อการฟื้นฟูกิจการ ดังนั้นโจทก์ทั้งเจ็ดร้อยห้าสิบเจ็ดซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา จึงมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเครื่องจักรอันเป็นทรัพย์สินของจำเลยตามหมายบังคับคดีได้ กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนการยึดทรัพย์สินตามคำร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15620/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานี้วินิจฉัยประเด็นการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ และอำนาจศาลแรงงานในการพิจารณาคดี
การที่โจทก์ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป มีหน้าที่จัดทำคำสั่งลงโทษทางวินัยบุคคลเสนอต่ออธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้จัดทำคำสั่งสำนักงานธนานุเคราะห์ ที่ 68/2550 เรื่อง ลงโทษตัดเงินเดือน สั่ง ณ วันที่ 9 พฤษภาคม 2550 อันเป็นคำสั่งลงโทษโจทก์และลงนามรับรองสำเนาถูกต้องนั้น เป็นการรับทราบในฐานะที่ตนมีหน้าที่จัดทำเอกสารดังกล่าว ซึ่งถือเป็นเพียงการดำเนินการภายในของฝ่ายปกครองที่มิได้มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ในขณะนั้น โจทก์จึงยังมิใช่พนักงานผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการถูกผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษ กระทั่งวันที่ 21 พฤษภาคม 2550 โจทก์จึงได้รับคำสั่งลงโทษทางวินัยดังกล่าวและได้ลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งลงโทษทางวินัยในวันเดียวกัน โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งตามระเบียบสำนักงานธนานุเคราะห์ ว่าด้วยการแบ่งส่วนงานและการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2543 ข้อ 69 โดยนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2550 ดังนั้น เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องทุกข์ต่อประธานกรรมการอำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์ในวันที่ 4 มิถุนายน 2550 จึงอยู่ในระยะเวลา 15 วัน ที่มีสิทธิอุทธรณ์ได้
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษโจทก์และคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ตามหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ พม 0202/24546 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2550 เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษตัดเงินเดือน กับขอให้บังคับจำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคืนเงินเดือนที่ถูกตัดแก่โจทก์ หากไม่ดำเนินการให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เป็นเงินพร้อมดอกเบี้ย และให้พิจารณาขึ้นเงินเดือนประจำปีงบประมาณ 2551 พร้อมคืนสิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีว่าโจทก์ร่วมกระทำความผิดกับ ช. และโจทก์ไม่รีบดำเนินการตามคำสั่งของผู้อำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์ เป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและปฏิบัติงานล่าช้า จึงลงโทษตามคำสั่งพิพาท คดีจึงมีประเด็นแห่งคดีว่า โจทก์กระทำความผิดตามข้อต่อสู้ในคำให้การของจำเลยทั้งสอง คำสั่งลงโทษโจทก์ของจำเลยทั้งสองที่พิพาทชอบด้วยกฎหมาย มีเหตุเพิกถอนและต้องคืนเงินและสิทธิตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ อันเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองโดยอาศัยสิทธิในทางแพ่ง เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ได้โต้แย้งเกี่ยวกับอำนาจในการนำคดีมาสู่ศาลของโจทก์หรืออำนาจในการออกคำสั่งของจำเลยที่ 1 และอำนาจในการพิจารณาชั้นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเหลือปัญหาที่โต้แย้งกันเฉพาะเนื้อหาของการกระทำความผิดของโจทก์เท่านั้น คำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่วินิจฉัยโดยยกเหตุเฉพาะที่จำเลยที่ 2 ยกคำร้องทุกข์ในการอุทธรณ์ว่าโจทก์อุทธรณ์เกิน 15 วัน ตามระเบียบ เป็นการไม่ชอบด้วยระเบียบ แล้วพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ พม 0202/24546 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2550 แล้วให้จำเลยที่ 2 รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไปโดยยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีจึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15401/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านย้อนหลังตามข้อบังคับกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ.2548 แม้มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงสภาพการจ้าง
ข้อบังคับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2533 (ข้อบังคับเดิม) ข้อ 15 (1) มีข้อความว่า "ในกรณีที่ผู้ซึ่งมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามข้อบังคับนี้ ได้เช่าซื้อบ้านหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ค้างชำระอยู่ในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่ เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและได้อาศัยอยู่จริงในบ้านนั้น ให้ผู้นั้นมีสิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้ดังกล่าวมาเบิกค่าเช่าบ้านได้ไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านท้ายข้อบังคับนี้ ตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (1) ตนเอง และสามีหรือภริยา ได้ทำการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านอยู่เพียงหลังเดียวในท้องที่นั้น" เป็นการกำหนดให้การใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านเพื่อชำระราคาบ้านจะต้องอยู่ในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่ เบิกได้ไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านท้ายข้อบังคับ โดยตนเองและสามีหรือภริยาได้ทำการผ่อนชำระอยู่เพียงหลังเดียวในท้องที่นั้น แต่ในข้อบังคับใหม่ ข้อ 15 (1) กำหนดว่า "ในกรณีที่พนักงานซึ่งมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามข้อบังคับนี้ ได้เช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ค้างชำระอยู่ในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่สามารถเดินทางไปปฏิบัติงานประจำสำนักงานใหม่ได้ตามหลักเกณฑ์ที่ผู้อำนวยการกำหนดเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและได้อาศัยอยู่จริงในบ้านนั้น ให้พนักงานผู้นั้นมีสิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้ดังกล่าวมาเบิกค่าเช่าบ้านได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกินอัตราร้อยละ 20 ของเงินเดือนและอย่างสูงไม่เกินจำนวนเงินที่คณะกรรมการกำหนดตาม ข้อ 6 ตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ (1) ตนเองหรือคู่สมรส ได้ทำการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านในท้องที่นั้น จะเบิกจ่ายได้เพียงหลังเดียว" ตามข้อบังคับใหม่นี้มิได้กำหนดให้ต้องเป็นการเบิกค่าเช่าบ้านเพื่อชำระราคาบ้านเฉพาะในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่เท่านั้น แต่กำหนดให้เป็นบ้านที่อยู่ในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่สามารถเดินทางไปปฏิบัติงานประจำสำนักงานใหม่ได้ด้วย โดยเปลี่ยนแปลงให้ตนเองหรือคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งซึ่งทำการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านในท้องที่นั้นสามารถจะเบิกจ่ายค่าเช่าบ้านได้เพียงหลังเดียว
โจทก์เคยร่วมกับสามีกู้ยืมเงินจากธนาคาร อ. สาขาตรัง ในโครงการสินเชื่อเคหะสงเคราะห์เพื่อก่อสร้างบ้านพักเพื่ออยู่อาศัยร่วมกันมาก่อน แม้ต่อมาสามีโจทก์แต่เพียงผู้เดียวได้กู้เงินจากธนาคาร ก. สาขาตรัง ตามโครงการเคหะสงเคราะห์และสวัสดิการแก่พนักงานการไฟฟ้า เพื่อใช้สิทธิในส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายลดลง ซึ่งหากเป็นการกู้เงินตามสัญญาใหม่ที่มีจำนวนเงินไม่สูงกว่าจำนวนหนี้เดิมก็จะเป็นการชำระหนี้ราคาบ้านที่ค้างชำระอยู่เดิมนั่นเอง และแม้สามีโจทก์จะเป็นผู้กู้เงินตามสัญญาใหม่แต่เพียงผู้เดียว บ้านที่ปลูกสร้างขึ้นดังกล่าวโดยอาศัยเงินกู้นั้นก็เป็นสินสมรสของโจทก์ด้วย และนอกจากโจทก์จะต้องรับผิดชำระหนี้ที่สามีโจทก์ได้กู้ยืมตามโครงการเคหะสงเคราะห์และสวัสดิการแก่พนักงานการไฟฟ้า ของธนาคาร ก. สาขาตรัง ดังกล่าว เพราะเป็นหนี้ร่วมแล้ว โจทก์ยังต้องรับผิดในฐานะผู้จำนองที่ดินเป็นประกันเงินกู้ดังกล่าวด้วย ดังนั้นไม่ว่าสามีโจทก์หรือโจทก์จะเป็นผู้ทำสัญญากู้ยืมเงินเอง สิทธิและหน้าที่ของโจทก์ก็ไม่มีความแตกต่างกัน โจทก์จึงมีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านเพื่อชำระค่าผ่อนชำระเงินกู้ดังกล่าวได้ตามเงื่อนไขของข้อบังคับคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2548 ข้อ 15 (ข้อบังคับใหม่) ข้อบังคับดังกล่าวจึงถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายและเป็นคุณกับโจทก์
ระเบียบสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2550 ข้อ 21 ส่วนที่กำหนดให้เบิกจ่ายย้อนหลังได้ไม่เกินวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2548 เป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณและลูกจ้างมิได้ยินยอม จึงไม่สามารถใช้เพื่อตัดสิทธิของโจทก์ให้ลดน้อยลงจากสิทธิที่โจทก์มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านเพื่อผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ค้างชำระย้อนหลังได้ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 ตามข้อบังคับคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2548 ข้อ 15 (1) แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15348/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างข้าราชการระดับสูงที่ไม่เป็นธรรม ต้องพิจารณาคุณสมบัติผู้บริหารและผลกระทบต่อองค์กร
แม้ศาลแรงงานกลางจะรับฟังข้อเท็จจริงว่า สาเหตุที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์จะไม่ใช่เพราะโจทก์ขาดประสิทธิภาพในการทำงานถึงขนาดต้องเลิกจ้างก็ตาม แต่อีกสาเหตุหนึ่งที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เป็นเพราะโจทก์ขาดวุฒิภาวะในการเป็นผู้บริหารระดับสูง ใช้อารมณ์ฉุนเฉียว ทำให้เพื่อนร่วมงานไม่อาจทำงานร่วมกับโจทก์ได้ ศาลแรงงานกลางได้ฟังข้อเท็จจริงมาแล้วว่า มีพนักงานในแผนกของโจทก์ 2 คน ในจำนวน 4 คนลาออก เพราะไม่สามารถทนร่วมงานกับโจทก์ได้ เมื่อโจทก์เป็นผู้บริหารระดับสูงของจำเลยที่ 1 คุณสมบัติในการเป็นผู้บริหารและความสามารถในการบังคับบัญชาบริหารจัดการภายในองค์กรจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ การที่โจทก์ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องเลิกจ้างโจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่าการเลิกจ้างโจทก์เป็นไปโดยมีเจตนากลั่นแกล้ง จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรเพียงพอ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15025/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนสัญญาจ้างต่างประเทศ: จำเลยมีหน้าที่รับผิดแม้ไม่ได้ลงนามในสัญญาโดยตรง หากมีเจตนาหลีกเลี่ยงกฎหมายจัดหางาน
จำเลยได้ร่วมกับบริษัท ว. ตัวการซึ่งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในการทำสัญญาจ้างกับโจทก์ การที่จำเลยให้โจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาจ้างดังกล่าวกับนายจ้างผู้เป็นตัวการโดยจำเลยมิได้ลงลายมือชื่อในสัญญาจ้างด้วยตนเองแทนนายจ้างผู้เป็นตัวการ ก็เห็นได้ชัดแจ้งว่าจำเลยประสงค์จะหลีกเลี่ยงวิธีปฏิบัติตามขั้นตอนของผู้จัดหางานที่จะต้องตรวจสอบและลงนามในสัญญาจ้างดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยเป็นตัวแทนทำสัญญาจ้างแทนนายจ้างผู้เป็นตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาจ้างแต่โดยลำพังแม้ชื่อของตัวการจะได้เปิดเผยแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 824
จำเลยกำหนดให้โจทก์เดินทางไปเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในวันที่ 20 เมษายน 2551 แต่จำเลยขอเลื่อนกำหนดไปในวันที่ 2 พฤษภาคม 2551 ก่อนถึงกำหนดนัดพนักงานของจำเลยสั่งให้โจทก์เตรียมเงิน 15,000 บาท เพื่อเป็นค่าบริการแก่จำเลย โจทก์แจ้งว่าจะจ่ายให้หลังจากไปทำงานและได้รับเงินเดือนแล้ว วันที่ 2 พฤษภาคม 2551 โจทก์ยังไปที่บริษัทจำเลยและตรวจสอบเอกสารการเดินทางและการเข้าเมือง จึงพบว่าเอกสารระบุเพศไม่ตรงกับเพศของโจทก์ โจทก์จึงเดินทางกลับบ้านมิได้เดินทางไปที่สนามบิน เห็นได้ว่าโจทก์ยินยอมเสียค่าบริการให้แก่จำเลยเพียงแต่ขอผัดใช้ให้หลังจากเดินทางไปทำงานกับนายจ้างและได้รับเงินเดือนแล้วเท่านั้น เมื่อถึงวันนัดโจทก์ก็เดินทางไปที่บริษัทจำเลยตามกำหนด แสดงว่าโจทก์มิได้ถือเอาเหตุที่จำเลยเรียกค่าบริการมาเป็นเหตุว่าจำเลยผิดสัญญาเพื่อเรียกค่าเสียหายตามฟ้อง การที่ระบุเพศผิดพลาดโจทก์ก็หาได้เรียกให้จำเลยจัดการเสียให้ถูกต้องเสียก่อนซึ่งหากจำเลยมิได้ดำเนินการให้ก็จะถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญา แต่โจทก์กลับเดินทางกลับบ้าน มิได้ไปที่สนามบิน ย่อมแสดงว่าโจทก์ประสงค์ที่จะไม่เดินทางไปเมืองดูไบตามสัญญาจ้างเอง ไม่ถือว่าจำเลยผิดสัญญาที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13924/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีแรงงาน การประเมินผลการปฏิบัติงาน และการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
โจทก์ฟ้องอ้างว่าในการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน ผู้จัดการส่วนจะต้องกำหนดเป้าหมายของการทำงาน (KPI) และจะต้องให้พนักงานลงลายมือชื่อรับทราบตลอดจนมีโอกาสโต้แย้งดุลพินิจในการประเมิน อ. ผู้จัดการส่วนซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ไม่ได้กำหนดเป้าหมายการทำงาน ให้พนักงานรับทราบ ไม่ทำการประเมินตามระเบียบหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ใช้อำนาจประเมินตามอำเภอใจ ทำให้โจทก์ได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี 2548 ไม่ถึง 1 ขั้น เป็นการประเมินผลการปฏิบัติงานที่ไม่เป็นไปตามความสามารถที่แท้จริง ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ ให้จำเลยมีคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนโจทก์ใหม่ และให้จำเลยจ่ายเงินส่วนต่างพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ประจำปี 2548 ไม่ถูกต้องตามระเบียบและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง มิใช่โจทก์เรียกร้องให้มีการกำหนดหรือแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จะต้องไปดำเนินการให้สหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดกำหนดให้โจทก์ต้องไปดำเนินการอย่างใดก่อน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
ประเด็นแห่งคดีมีเพียงว่า จำเลยประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี 2548 ของโจทก์ถูกต้องหรือไม่ และจำเลยต้องประเมินผลการปฏิบัติงานให้แก่โจทก์ใหม่หรือไม่เท่านั้น การที่โจทก์ยกเหตุที่ไม่อยู่ในประเด็นแห่งคดีขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13923/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีแรงงาน: สิทธิยังไม่ถูกโต้แย้ง การเปลี่ยนแปลงระเบียบอาจเกิดขึ้นได้
โจทก์ฟ้องอ้างว่าการที่จำเลยยกเลิกข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ.2529 แล้วนำระเบียบบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2546 ระเบียบดังกล่าวฉบับที่ 2 พ.ศ.2548 และฉบับที่ 3 พ.ศ.2548 มาใช้บังคับแก่โจทก์ เป็นผลให้โจทก์ได้รับบำเหน็จเป็นจำนวนเงินที่ลดลงกว่าข้อบังคับเดิมเมื่อโจทก์ต้องออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุในปี 2567 ขอให้ยกเลิก เพิกถอนระเบียบทั้งสามฉบับนั้นไม่ให้มีผลใช้บังคับแก่โจทก์และให้จำเลยใช้ข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ.2529 แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานจะมีสิทธิได้รับบำเหน็จจากกองทุนดังกล่าวเมื่อออกจากกองทุนหรือออกจากงานตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามข้อบังคับหรือระเบียบของกองทุน ขณะฟ้องคดีโจทก์ยังไม่ได้ออกจากกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานและไม่ได้ครบอายุเกษียณหรือออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยด้วยเหตุอื่นที่จะทำให้เกิดสิทธิในการได้รับบำเหน็จจากกองทุนดังกล่าว และก่อนที่จะถึงวันที่โจทก์เป็นผู้มีสิทธิได้รับบำเหน็จจากกองทุนนั้นไม่ว่าเพราะเหตุเกษียณอายุในปี 2567 หรือเพราะเหตุอื่น จำเลยก็อาจมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบอีกก็ได้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิใดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11328-11424/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มเติม
โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดเป็นลูกจ้างในงานขนส่งทางบก ในกรณีที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างให้โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและทำงานล่วงเวลาในวันหยุดโดยไม่มีข้อตกลงที่จะจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ด จำเลยก็ยังมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนที่ทำให้แก่โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 6
โจทก์แต่ละคนกล่าวอ้างในคำฟ้องว่าในแต่ละวันทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและทำงานล่วงเวลาในวันหยุดวันละ 4 ชั่วโมง ปรากฏอัตราการจ่ายค่าตอบแทน (อัตราเดิม) ตามระยะทางและระยะเวลาการเดินทาง ตัวอย่างเช่น กรณีที่โจทก์คนใดเดินทางไปส่งมอบสินค้าที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งใช้ระยะเวลาเดินทาง 12 ชั่วโมง เกินกว่าเวลาทำงานปกติไป 4 ชั่วโมง จำเลยจ่ายค่าตอบแทนให้เป็นเงินรวม 345 บาท ซึ่งคิดเป็นอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง คือ ชั่วโมงละ 28.75 บาท หากต้องเดินทางไปส่งสินค้าที่จังหวัดจันทบุรีซึ่งใช้ระยะเวลาเดินทาง 9 ชั่วโมง เกินกว่าเวลาทำงานปกติไป 1 ชั่วโมง จำเลยจ่ายค่าตอบแทนให้เป็นเงินรวม 335 บาท ซึ่งคิดเป็นอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง คือชั่วโมงละ 37.22 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานที่โจทก์แต่ละคนได้รับตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 2 แล้ว ปรากฏว่าจำเลยได้จ่ายค่าตอบแทนสำหรับการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและการทำงานล่วงเวลา ในวันหยุดเป็นเงินจำนวนเกินกว่าอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงของโจทก์แต่ละคนทั้งเอกสารหมาย ล.1 ก็ปรากฏว่าแม้โจทก์จะทำงานภายในชั่วโมงทำงานปกติคือไม่เกิน 8 ชั่วโมง จำเลยก็จ่ายค่าตอบแทนให้นอกเหนือจากเงินเดือนซึ่งเป็นประโยชน์แก่โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ด เมื่อได้ความว่าจำเลยจ่ายค่าตอบแทนสำหรับการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและการทำงานล่วงเวลาในวันหยุดซึ่งไม่น้อยกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดให้แก่โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนตามฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11269/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีแรงงาน: สัญญาจ้าง, การผ่อนชำระหนี้, และการย้อนสำนวนเพื่อพิจารณาความรับผิด
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน หาใช่เป็นคดีละเมิดอย่างเดียวไม่ เพราะโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างลูกจ้างมีข้อผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงานต่อกัน นอกจากจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว ยังฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย และตามหนังสือรับรองและค้ำประกัน ข้อ 2 ก็ระบุว่า "หากปรากฏว่าระหว่างที่จำเลยที่ 1 ทำงานได้ทำความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดให้แก่โจทก์ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นโดยเจตนาหรือประมาท จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดในความเสียหายนั้นๆ และยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามจำนวนที่เสียหายไปนั้นทั้งสิ้น รวมทั้งความเสียหายทั้งปวง ซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ด้วย โดยไม่จำกัดวงเงิน และให้ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นลูกหนี้ร่วม..." ข้อผูกพันของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์จึงหมายถึงจำเลยที่ 2 ค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างแรงงานด้วย สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มูลละเมิดระหว่างจำเลยที่ 1 และโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานเกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2544 จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์เดือนละ 1,350 บาท ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2546 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2548 อันเป็นการผ่อนชำระหนี้ขณะยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 10 ปี จึงมีผลทำให้อายุความในส่วนนี้สะดุดหยุดลงและเริ่มนับใหม่ถัดจากวันผ่อนชำระหนี้โจทก์ครั้งสุดท้ายคือเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2548 ทั้งการที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดวันที่ 6 กันยายน 2550 ยังไม่พ้น 10 ปี นับจากวันที่ 17 ธันวาคม 2544 คดีโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น โจทก์มิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้ง และมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
of 585