คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5,846 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5054/2549 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษซ้ำซ้อน ศาลฎีกาตัดสินว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ตามบทบัญญัติ ป.อ. มาตรา 58 วรรคแรก กำหนดว่า โทษที่รอไว้ในคดีก่อนอันจะนำมาบวกกับโทษในคดีหลังนั้น จะต้องไม่เคยนำโทษที่รอไว้ในคดีก่อนมาบวกกับโทษในคดีอื่นมาก่อน ปรากฏว่าศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 775/2546 พิพากษาเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2546 ให้นำโทษจำคุก 6 เดือนที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1162/2545 ของศาลชั้นต้นบวกเข้ากับโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7755/2546 ของศาลชั้นต้นก่อนศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นได้นำโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้บวกเข้ากับโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7755/2546 แล้ว จึงเป็นกรณีที่ศาลที่พิพากษาในคดีหลังบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลังตามมาตรา 58 วรรคแรก แล้ว โทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้ได้ถูกบังคับโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7755/2546 ของศาลชั้นต้น จึงไม่อาจนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษมาบวกโทษซ้ำในคดีนี้ได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4533/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เลิกจ้างไม่เป็นธรรม: เหตุผลการเลิกจ้างต้องสมควร แม้มีสิทธิเลิกจ้างตามสัญญา
การที่จะพิจารณาว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมอันเป็นเหตุให้นายจ้างต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 หรือไม่นั้น หาใช่พิจารณาแต่เพียงว่านายจ้างมีสิทธิเลิกสัญญาจ้างตามข้อตกลงในสัญญาจ้างประการเดียวเท่านั้นไม่ แต่จะต้องพิจารณาด้วยว่ากรณีการเลิกจ้างดังกล่าวมีเหตุแห่งการเลิกจ้างและเป็นเหตุอันสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างหรือไม่ จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้บริหารทั่วไปเกี่ยวกับสินค้าผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ให้เป็นระบบทางคอมพิวเตอร์ จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยเหตุว่าโครงการดังกล่าวสิ้นสุดลงถือไม่ได้ว่ามีเหตุอันจำเป็นและสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์
โจทก์แก้อุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกาเพิ่มค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานกลาง จึงชอบที่จะทำเป็นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ซึ่งโจทก์ได้อุทธรณ์แล้วแต่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเป็นที่สุด ไม่รับอุทธรณ์โจทก์ ศาลฎีกาย่อมไม่รับวินิจฉัยคำแก้อุทธรณ์โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4532/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างแรงงานไม่ระงับด้วยการตายของนายจ้าง หากหน่วยงานยังดำเนินอยู่ และอำนาจฟ้องเกิดขึ้นเมื่อมีการยุบหน่วยงาน
ว. จ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างในหน่วยวิคตอรี่ของบริษัท อ. แม้ต่อมา ว. จะถึงแก่ความตาย แต่หน่วยวิคตอรี่ก็ยังคงสามารถดำรงอยู่และบริการลูกค้าของบริษัท อ. ต่อไปได้โดยมิได้ยุบไปในทันทีที่ ว. ถึงแก่ความตาย สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับ ว. จึงหามีสาระสำคัญอยู่ที่ตัว ว. ผู้เป็นนายจ้างไม่ แม้ ว. จะถึงแก่ความตาย สัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวก็ไม่ระงับสิ้นไป
สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับ ว. ระบุว่า "ข้าพเจ้า (นาย ว.) ในฐานะนายจ้างยินดีจ่ายเงินสะสมในบัญชีของข้าพเจ้า บัญชีฝากประจำธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาสุรวงศ์ บัญชีเลขที่ 125 - 2 - 10103 - 8 ให้แก่ ส. (โจทก์) ในฐานะลูกจ้างครึ่งหนึ่ง เมื่อข้าพเจ้ามีความประสงค์ยุบหน่วยวิคตอรี่และหรือเมื่อข้าพเจ้าถึงแก่กรรม ขอมอบให้ ส. (โจทก์) มีสิทธิยุบหน่วยวิคตอรี่ตามที่เห็นสมควร" ดังนั้น สิทธิของโจทก์ที่จะพึงได้รับเงินสะสมจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวของ ว. ครึ่งหนึ่งก็ต่อเมื่อมีการยุบหน่วยวิคตอรี่แล้ว เมื่อโจทก์ฟ้องทายาทโดยธรรมของ ว. ให้แบ่งเงินฝากของ ว. ก่อนที่จะมีการยุบหน่วยวิคตอรี่ ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โจทก์จึงยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิที่จะเรียกร้องเงินดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4532/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องเงินสะสมจากสัญญาจ้างแรงงานหลังนายจ้างเสียชีวิต สิทธิเกิดขึ้นเมื่อยุบหน่วยงาน
ว. จ้างโจทก์ให้ทำงานในหน่วยวิคตอรี่ของบริษัท อ. โดยโจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 10,000 บาท ตามสัญญาจ้างงานมีข้อความว่า เมื่อ ว. ถึงแก่ความตายขอมอบให้โจทก์มีสิทธิยุบหน่วยวิคตอรี่ตามที่เห็นสมควร ทั้งบริษัท อ. ยังคงให้สิทธิแก่ทายาทโดยธรรมของ ว. ที่จะเข้ารับช่วงบริหารงานในหน่วยวิคตอรี่ต่อไปในกรณีที่ ว. ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยวิคตอรี่ถึงแก่ความตาย ภายหลังจาก ว. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2543 จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของ ว. ได้มีหนังสือขอให้ทางบริษัท อ. จัดสรรเงินเดือนของโจทก์ตั้งแต่เดือนมกราคม 2543 ถึงเดือนมกราคม 2545 รวม 25 เดือน เป็นเงิน 250,000 บาท และเงินเดือนประจำทุกวันสิ้นเดือน 10,000 บาท ให้แก่โจทก์ แม้ ว. จะถึงแก่ความตาย หน่วยวิคตอรี่ก็ยังคงสามารถดำรงอยู่และบริการลูกค้าของบริษัท อ. ต่อไปได้ มิใช่ว่าต้องยุบไปในทันทีที่ ว. ถึงแก่ความตาย สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับ ว. จึงหามีสาระสำคัญอยู่ที่ตัว ว. ผู้เป็นนายจ้างไม่ แม้ ว. จะถึงแก่ความตายก็ไม่ระงับสิ้นไป
ตามสัญญาจ้างงานระบุว่า "ข้าพเจ้า ว. ในฐานะนายจ้างยินดีจ่ายเงินสะสมในบัญชีของข้าพเจ้า ให้แก่ พ. (โจทก์) ในฐานะลูกจ้างครึ่งหนึ่ง เมื่อข้าพเจ้ามีความประสงค์ยุบหน่วยวิคตอรี่และหรือเมื่อข้าพเจ้าถึงแก่กรรมขอมอบให้ พ. มีสิทธิยุบหน่วยวิคตอรี่ตามที่เห็นสมควร" ตามข้อสัญญาดังกล่าว สิทธิของโจทก์ที่จะพึงได้รับเงินสะสมจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวครึ่งหนึ่งก็ต่อเมื่อมีการยุบหน่วยวิคตอรี่แล้วนั่นเอง เมื่อบริษัท อ. สั่งให้ยุบหน่วยวิคตอรี่ลงตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 เป็นต้นไป แต่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของ ว. แบ่งเงินฝากของ ว. เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2545 ก่อนที่จะมีการยุบหน่วยวิคตอรี่ขณะที่โจทก์ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยมอบผลประโยชน์เงินสะสมตามสัญญาจ้างงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3709/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โทษจำคุกเกินกรอบที่กฎหมายกำหนด ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขได้แม้ไม่มีการอุทธรณ์
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 12 กำหนดว่า การกำหนดโทษจำคุกที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 9 มาตรา 10 หรือมาตรา 11 ให้กำหนดโทษจำคุกอย่างสูงที่สุดได้ไม่เกินห้าสิบปี ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 เป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้โดยจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 54 ปี จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว แม้ปัญหานี้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3453/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษทางวินัยต้องสอดคล้องกับความร้ายแรงของการกระทำ หากการกระทำไม่ร้ายแรง การไล่ออกถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
แม้ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างจะกำหนดว่าพนักงานและลูกจ้างผู้ใดดื่มสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่การงาน เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่โจทก์ออกไปดื่มสุราเพียงเล็กน้อยนอกที่ทำการในขณะใกล้หมดเวลาการทำงานแล้ว เหลือเพียงแต่รอเวลาทำหน้าที่กรรมการปิดตู้นิรภัยเท่านั้น ไม่มีอาการมึนเมาสุรา โจทก์มิได้กล่าวคำขู่อาฆาตผู้บังคับบัญชาเพียงแต่โต้เถียงกันเล็กน้อย ทั้งโจทก์ยังสามารถกลับมาร่วมปิดตู้นิรภัยได้โดยไม่ได้ทำให้งานในหน้าที่เสียหาย ซึ่งการพิจารณาว่าการกระทำผิดใดจะถือเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ ต้องพิจารณาตามพฤติการณ์เป็นราย ๆ ไป หาใช่เมื่อดื่มสุราแล้วแม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นความผิดร้ายแรงทันที การกระทำผิดของโจทก์ถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดในกรณีร้ายแรง การลงโทษโจทก์จึงต้องเป็นไปตามข้อบังคับข้อ 69 ซึ่งให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ตัดเงินค่าจ้าง ลดขั้นเงินเดือนหรือลดค่าจ้างตามควรแก่กรณีให้เหมาะสมแก่ความผิดเท่านั้น ไม่มีกรณีต้องให้ออกจากงาน การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งลงโทษโดยให้โจทก์ออกจากงานจึงเป็นการลงโทษที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 มีคำสั่งลงโทษลดขั้นเงินเดือนโจทก์ 1 ขั้น ตามคำสั่งที่ 5173/2545 แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานโดยต้องจ่ายค่าจ้างในอัตราเดิมนั้น แม้โจทก์จะกระทำความผิดและการลงโทษลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้นตามคำสั่งที่ 5173/2545 จะชอบด้วยข้อบังคับข้อ 69 แต่จำเลยที่ 1 ได้ออกคำสั่งที่ 51238/2545 ให้ยกเลิกโทษตามคำสั่งที่ 5173/2545 ไปแล้ว ต้องถือว่าโจทก์ยังมิได้ถูกลงโทษสำหรับความผิดที่โจทก์กระทำ จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างคำสั่งดังกล่าวมาเป็นเหตุไม่จ่ายเงินตามที่จำเลยที่ 1 อ้างได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3451-3452/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงสภาพจ้างที่ทำหลังการหยุดงาน แม้ไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย แต่มีผลผูกพัน และนายจ้างไม่ติดใจเอาโทษ
เมื่อบรรดาลูกจ้างของโจทก์ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อโจทก์ผู้เป็นนายจ้าง แล้วบรรดาลูกจ้างดังกล่าวกับโจทก์ได้เจรจากันจนสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้และทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพจ้างกันโดยไม่มีข้อตกลงใดที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้วข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลใช้บังคับได้หาตกเป็นโมฆะดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่อย่างใดไม่ การที่ลูกจ้างได้รวมตัวกันหยุดงานเมื่อยังไม่มีการแจ้งข้อเรียกร้องก็ดี จำนวนผู้แทนของลูกจ้างผู้เข้าร่วมในการเจรจากันมีจำนวนเกินกว่าเจ็ดคนก็ดี พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้าดำเนินการไกล่เกลี่ยในวันเดียวกับที่บรรดาลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องก็ดีนั้น แม้จะเป็นการผิดแผกแตกต่างจากขั้นตอนที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ ก็หามีผลเป็นเหตุให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายดังที่ได้วินิจฉัยแล้วต้องตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานคดีนี้ได้
เมื่อโจทก์มีพฤติการณ์และการกระทำที่ไม่ติดใจเอาโทษต่อจำเลยร่วมทั้งหมดและพวกลูกจ้างโจทก์ในคดีนี้ โดยโจทก์ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับลูกจ้างและหักค่าจ้างสำหรับการเข้าทำงานสายแล้ว โจทก์ก็ไม่ติดใจลงโทษทางวินัยอย่างอื่นอีก จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยร่วมทั้งหมดได้จงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และโจทก์ย่อมไม่อาจจะนำการกระทำใด ที่บรรดาจำเลยร่วมทั้งหมดและพวกลูกจ้างโจทก์ในคดีนี้ได้กระทำลงไปมาลงโทษทางวินิจฉัยด้วยการเลิกจ้างบรรดาลูกจ้างดังกล่าวได้อีก กรณีไม่มีเหตุจะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และคำสั่งของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3451-3452/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงแก้ไขข้อพิพาทแรงงาน: การหยุดงาน การเจรจา และผลผูกพันทางกฎหมาย
ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงในปัญหาข้อนี้ว่า เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2543 ลูกจ้างโจทก์ 250 คน ถึง 300 คน รวมทั้งจำเลยร่วมทั้งหมดได้ชุมนุมกันหน้าบริษัทโจทก์โดยไม่เข้าทำงานเพราะไม่พอใจที่โจทก์จะงดจ่ายเงินโบนัสในปี 2543 ลูกจ้างโจทก์ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อโจทก์โดยมีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้อง 200 คนเศษ รวมทั้งจำเลยร่วมทั้งหมด มีการแต่งตั้งผู้แทนลูกจ้างเข้าร่วมในการเจรจา 8 คนในวันเดียวกันได้มีการเจรจาระหว่างผู้แทนโจทก์กับผู้แทนลูกจ้าง โดยมีพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้าร่วมในการเจรจาและลงชื่อด้วย การเจรจาสามารถตกลงกันได้โดยโจทก์ตกลงจะจ่ายเงินโบนัสให้ในวันที่ 10 เมษายน 2544 และวันที่ 25 ธันวาคม 2544 โจทก์จะไม่เอาความผิดแก่ลูกจ้างทุกคนที่ไม่เข้าทำงานในวันที่ 6 ธันวาคม 2543 และให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงานปกติในวันที่ 7 ธันวาคม 2543 ทั้งได้นำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนี้ไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว ต่อมาในวันที่ 10 เมษายน 2544 โจทก์ได้จ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานในขณะนั้น ดังนี้ เห็นว่า เมื่อบรรดาลูกจ้างของโจทก์ 250 คน ถึง 300 คน ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อโจทก์ผู้เป็นนายจ้าง แล้วบรรดาลูกจ้างดังกล่าวกับโจทก์ได้เจรจากันจนสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้และทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกันโดยที่ไม่มีข้อตกลงใดที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลใช้บังคับได้ หาตกเป็นโมฆะดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่อย่างใดไม่ การที่บรรดาลูกจ้างได้รวมตัวกันหยุดงานเมื่อยังไม่มีการแจ้งข้อเรียกร้องก็ดี จำนวนผู้แทนของลูกจ้างผู้เข้าร่วมในการเจรจามีจำนวนเกินกว่าเจ็ดคนก็ดี พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้าดำเนินการไกล่เกลี่ยในวันเดียวกับที่บรรดาลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องก็ดีนั้น แม้จะเป็นการผิดแผกแตกต่างจากขั้นตอนที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ก็ตาม ก็หามีผลเป็นเหตุให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายดังที่ได้วินิจฉัยแล้วต้องตกเป็นโมฆะตามที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ไม่ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานคดีนี้ได้
เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2543 เวลาประมาณ 6.30 นาฬิกา จำเลยร่วมทั้งหมดกับพวกลูกจ้างโจทก์ในคดีนี้และพวกคนงานอื่นได้เริ่มมารวมตัวกันบริเวณหน้าบริษัทโจทก์ด้วยความสมัครใจเพื่อรอฟังว่าเพื่อนร่วมงานที่ชุมนุมต้องการอย่างไร หากต้องการชุมนุมต่อก็พร้อมจะชุมนุมด้วย หากจะกลับเข้าทำงานก็พร้อมที่จะเข้าทำงาน มีผู้แทนเจรจาบางคนช่วยชี้แจงถึงข้อตกลงที่ทำไว้และชักจูงให้พนักงานกลับเข้าทำงาน มีพนักงานบางคนเข้าทำงาน นาง ร. ขออนุญาตฝ่ายบริหารของโจทก์และชี้แจงให้พนักงานที่ชุมนุมทราบว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่ชอบ หลังจากนั้นพนักงานทั้งหมดได้ขอกลับเข้าทำงานเมื่อเวลาประมาณ 7.15 นาฬิกา จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร ระหว่างเวลา 7 นาฬิกา ถึง 7.15 นาฬิกา แต่พนักงานเหล่านี้มิได้กระทำไปโดยมีเจตนาให้นายจ้างได้รับความเสียหายและมิได้มีเจตนากระทำความผิดอาญาต่อโจทก์ผู้เป็นนายจ้าง เมื่อลูกจ้างขอกลับเข้าทำงานแล้ว ฝ่ายนายจ้างจัดให้ลูกจ้างรออยู่ที่โรงอาหาร จากนั้นผู้บริหารของโจทก์ซึ่งรวมถึงกรรมการผู้จัดการได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับลูกจ้างเหล่านี้โดยกล่าวขอให้พนักงานร่วมมือกันทำงานและลืมเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับข้อพิพาทแรงงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเสีย โดยผู้บริหารของโจทก์พูดในลักษณะขอให้เลิกแล้วต่อกัน ให้ร่วมมือกันทำงานต่อไปโดยจะไม่นำเรื่องใด ๆ จากเหตุการณ์นี้มาเป็นข้อบาดหมางระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างอีก โจทก์ได้หักค่าจ้างลูกจ้างที่ชุมนุมกันในวันที่ 7 ธันวาคม 2543 และเข้าทำงานเกินไปจากเวลาทำงานปกติเท่ากับค่าจ้างคนละ 1 ชั่วโมง ซึ่งการหักค่าจ้างนี้เป็นมาตรการอย่างหนึ่งที่โจทก์ใช้แก่พนักงานที่เข้าทำงานสายอันมีลักษณะเป็นการทำโทษพนักงานที่ทำผิดข้อบังคับในการทำงาน โจทก์จึงมีการกระทำหรือพฤติการณ์ที่ไม่ติดใจเอาโทษต่อจำเลยร่วมทั้งหมดและพวกลูกจ้างโจทก์ในสำนวนคดีนี้โดยฝ่ายโจทก์ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับลูกจ้างและหักค่าจ้างลูกจ้างคนละ 1 ชั่วโมง สำหรับการเข้าทำงานสายในวันที่ 7 ธันวาคม 2543 แล้ว โจทก์ไม่ติดใจลงโทษทางวินัยอย่างอื่นแก่ลูกจ้างเหล่านี้อีก ดังนี้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยร่วมทั้งหมดได้จงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและเมื่อโจทก์มีพฤติการณ์และการกระทำที่ไม่ติดใจเอาโทษทางวินัยแก่จำเลยร่วมทั้งหมดและพวกลูกจ้างโจทก์ในสำนวนคดีนี้ โจทก์ย่อมไม่อาจจะนำการกระทำใดที่บรรดาจำเลยร่วมทั้งหมดและพวกลูกจ้างโจทก์ในคดีนี้ได้กระทำลงไปในวันที่ 7 ธันวาคม 2543 มาลงโทษด้วยการเลิกจ้างบรรดาลูกจ้างดังกล่าวได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3365/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแรงงาน: การวินิจฉัยอำนาจพิจารณาคดีแรงงานต้องโดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง
คดีนี้จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานภาค 9 เพราะมูลคดีตามฟ้องมิได้เป็นกรณีที่จำเลยประพฤติผิดสัญญาจ้างดังฟ้อง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงสงขลา เท่ากับจำเลยให้การต่อสู้คดีว่าศาลแรงงานภาค 9 ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ กรณีจึงเกิดปัญหาขึ้นในศาลแรงงานภาค 9 ว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานภาค 9 หรือไม่ ชอบที่ศาลแรงงานภาค 9 จะต้องส่งสำนวนให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัยก่อนว่า คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานภาค 9 หรือไม่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 9 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3196/2549 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนฟ้องคดีอาญาควบคู่กับคดีแพ่ง การดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ถูกต้องและผลกระทบต่อการถอนฟ้อง
แม้ในวันเกิดเหตุจะไม่ใช่วันนัดพิจารณาทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาและคู่ความไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกนั่งพิจารณาคดีเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แต่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลได้นัดคู่ความให้มาศาลเพื่อเจรจากันในห้องพักของผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ถือได้ว่าคู่ความมาศาลและขอให้ศาลนั่งพิจารณาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แม้การไกล่เกลี่ยจะได้กระทำในห้องพักของผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมิใช่ในห้องพิจารณาคดีของศาล แต่ก็เพื่อความสะดวกแก่การที่คู่ความจะได้เจรจาตกลงกัน ถือว่าศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลโดยชอบแล้ว เมื่อคู่ความอยู่ต่อหน้าศาลในการพิจารณาคดีของศาลและโจทก์แถลงขอถอนฟ้องด้วยวาจาในศาลนั้นเอง ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจที่จะรับคำแถลงขอถอนฟ้องด้วยวาจาได้
ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาในคดีอาญาว่าเวลา 10 นาฬิกา คู่ความร่วมกันแถลงว่าสามารถตกลงเจรจาในเรื่องทรัพย์มรดกของ ม. ได้ข้อยุติและแบ่งกันได้แล้ว โจทก์จึงไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยต่อไป ขอถอนฟ้อง อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ส่วนในคดีแพ่ง ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า ให้คู่ความไปจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความและมาทำยอมกันในเวลา 14 นาฬิกา ของวันนั้น แต่เมื่อในตอนบ่ายของวันนั้นไม่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและพิพากษาตามยอมกัน การถอนฟ้องในคดีอาญาย่อมไม่มีผล การที่ศาลชั้นต้นด่วนอนุญาตให้ถอนฟ้องและมีคำสั่งจำหน่ายคดีอาญาจากสารบบความไปก่อน โดยไม่รอให้คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งให้เสร็จไปพร้อมกัน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลงและผิดระเบียบว่าด้วยการพิจารณาคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 โจทก์ขอให้เพิกถอนได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2548)
of 585