คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5,846 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10217/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: ผลผูกพันคำวินิจฉัยคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และข้อจำกัดการอุทธรณ์
มูลเหตุเลิกจ้างคดีนี้เป็นมูลเหตุเดียวกันกับคดีที่โจทก์ไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กล่าวหาว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยชี้ขาดว่าการเลิกจ้างของจำเลยไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม มีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์ หากโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยก็ชอบที่จะฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอน คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงเป็นที่สุด คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม จำเลยให้การปฏิเสธว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเท่านั้น ดังนั้นคดีจึงไม่มีประเด็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นที่สุดโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจึงเป็นอุทธรณ์ที่ยกข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางขึ้นอ้างเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10161/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลาออกของลูกจ้างมีผลสิ้นสุดสัญญาจ้างแรงงาน แม้จำเลยให้ลูกจ้างออกจากงานก่อนกำหนดก็ไม่ถือเป็นการเลิกจ้าง
โจทก์แสดงความประสงค์ลาออกจากงานต่อจำเลยเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2545 โดยให้มีผลวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 เป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งการเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้นนายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติ จึงมีผลในวันที่โจทก์แจ้งไว้ และไม่อาจถอนเจตนานั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 386 วรรคสอง ดังนั้น สัญญาจ้างแรงงานย่อมจะมีผลสิ้นสุดลงในวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 แม้จำเลยจะให้โจทก์ออกจากงานก่อนถึงวันดังกล่าวตามที่โจทก์ประสงค์โดยโจทก์ไม่มีความผิด ก็มีผลทำให้โจทก์เสียหายเพียงเท่าที่ไม่ได้รับค่าจ้างจนถึงวันที่โจทก์ประสงค์จะออกเท่านั้น จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างอันมีผลที่จะทำให้จำเลยต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9488/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยไม่ได้รับความยินยอม และการจ่ายเงินรางวัลพนักงานดีเด่นเป็นสภาพการจ้าง
การที่จำเลยจ่ายเงินรางวัลพนักงานดีเด่นและหัวหน้าดีเด่นประจำเดือนแก่ลูกจ้างเป็นประจำตลอดมาทุกเดือน นับแต่ปี 2541 จนถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2545 เงินรางวัลพนักงานดีเด่นและหัวหน้างานดีเด่น ประจำเดือนจึงเป็นประโยชน์อื่นของลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างงานหรือการทำงานและเป็นสภาพการจ้าง ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 แม้ว่าเรื่องของการจ่ายเงินรางวัลพนักงานดีเด่นและหัวหน้าดีเด่นประจำเดือน เป็นสภาพการจ้างอื่นใดที่ไม่อยู่ในข้อเรียกร้องตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง แต่ก็เป็นสภาพการจ้างที่ปฏิบัติสืบกันมาจึงเป็นสภาพการจ้างที่บันทึกข้อตกลงดังกล่าวระบุให้ต้องคงไว้เช่นเดิม และยังเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยาย การยกเลิกรางวัลพนักงานดีเด่นและหัวหน้างานดีเด่นประจำเดือนเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างและเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8923-8927/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจหน้าที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย และความเป็นนายจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท ก. ลูกหนี้แล้ว อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไปเป็นอำนาจของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 จำเลยจึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ก. ลูกหนี้ผู้เป็นนิติบุคคล การที่จำเลยจ้างโจทก์ทั้งห้าหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวโดยจ่ายค่าจ้างจากกองทรัพย์สินของบริษัท ก. ลูกหนี้ โจทก์ทั้งห้าจึงเป็นลูกจ้างของบริษัท ก. ลูกหนี้โดยมีจำเลยเป็นผู้กระทำการแทน จำเลยมีฐานะเป็นนายจ้างโจทก์ทั้งห้าตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 โจทก์ทั้งห้าไม่ใช่ลูกจ้างของกรมบังคับคดีอันเป็นหน่วยงานราชการส่วนกลาง สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โจทก์ทั้งห้ามีอำนาจฟ้อง
โจทก์ทั้งห้ามีหนังสือขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างในวันลาป่วย พร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม หรือเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมเจ้าหนี้ การที่จำเลยทำบันทึกเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นว่าไม่จำเป็นให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาโดยอ้างเหตุว่าสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของทางราชการไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จนได้รับความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชานั้น เป็นเพียงความเห็นของจำเลยในปัญหาว่าจำเป็นต้องนำเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมเจ้าหนี้หรือไม่ ไม่ใช่จำเลยกระทำหรือวินิจฉัยให้โจทก์ทั้งห้าไม่ได้รับค่าชดเชยและค่าตอบแทนดังกล่าว ไม่ทำให้โจทก์ทั้งห้าได้รับความเสียหาย โจทก์ทั้งห้าจึงไม่จำต้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อให้มีคำสั่งกลับหรือแก้ไขคำวินิจฉัยของจำเลยตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 146 เมื่อ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 บัญญัติให้ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และโจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางได้ส่วนปัญหาว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าตอบแทนดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งห้าตามฟ้องหรือไม่ นั้นจำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยจ้างโจทก์ทั้งห้าทำงานที่แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจหรือไม่ อันเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของจำเลยตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ประกอบข้อเท็จจริง แต่ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาคดีใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8923-8927/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะลูกจ้างในคดีล้มละลาย: อำนาจฟ้องและสิทธิการเรียกร้องค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
เมื่อศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัท ก. ลูกหนี้แล้ว อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไปเป็นอำนาจของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยจึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ก. และค่าจ้างของโจทก์ก็จ่ายจากกองทรัพย์สินของบริษัท ก. โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของบริษัท ก. โดยมีจำเลยเป็นผู้กระทำการแทนจำเลยจึงมีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 5 โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างของกรมบังคับคดีอันเป็นหน่วยงานราชการส่วนกลาง สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ
และเมื่อโจทก์มีหนังสือขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย และค่าตอบแทนอื่น ๆ หรือเสนอเรื่องที่โจทก์ขอเข้าพิจารณาในที่ประชุมเจ้าหนี้ การที่จำเลยทำบันทึกเสนอผู้บังคับบัญชาว่า ไม่จำเป็นต้องให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณา โดยอ้างเหตุว่าสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยเพื่อประโยชน์ราชการไม่อยู่ในบังคับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ นั้น เป็นเพียงความเห็นของจำเลยในปัญหาว่าจำเป็นต้องเสนอเรื่องเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมเจ้าหนี้หรือไม่ แม้ต่อมาผู้อำนวยการกองบังคับคดีล้มละลาย 1 ให้งดเสนอที่ประชุมเจ้าหนี้ ก็ไม่ใช่กรณีที่จำเลยกระทำหรือวินิจฉัยให้โจทก์ไม่ได้รับค่าชดเชยและค่าตอบแทนดังกล่าว ไม่ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์จึงไม่จำต้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลล้มละลายกลางภายใน 14 วัน นับแต่วันทราบคำวินิจฉัย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 146 และโจทก์สามารถฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8590-8591/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวางเงินชำระหนี้คดีแรงงานระหว่างอุทธรณ์ ไม่ถือเป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษา จึงยังต้องเสียดอกเบี้ย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2547 จำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา แม้ว่าวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 จำเลยจะนำต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางวางต่อศาลแรงงานกลาง แต่จำเลยก็มิได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ทั้งจำเลยยังได้ระบุในคำขอวางเงินว่านำมาวางไว้เพื่อชำระหนี้โจทก์ถ้าจำเลยแพ้คดีในชั้นฎีกา ถือได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยวางเงินต่อศาลโดยไม่ยอมรับผิด จึงไม่เป็นเหตุระงับการเสียดอกเบี้ยหากจำเลยมีความรับผิดตามกฎหมายจะต้องเสีย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 136 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8589/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างและการจ่ายค่าชดเชย: การกระทำของนายจ้างที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นการเลิกจ้างโดยเด็ดขาด
โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างรายวัน ทำหน้าที่เป็นแม่บ้านทำความสะอาดภายในโรงงานจำเลย ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2548 ล. กรรมการบริษัทจำเลยสั่งให้โจทก์ทำงานหลังสิ้นสุดเวลาทำงานตามปกติ เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งก็ให้พนักงานรักษาความปลอดภัยเก็บบัตรบันทึกเวลาทำงานของโจทก์ไว้และสั่งให้บอกโจทก์รออยู่ที่ป้อมบริเวณหน้าโรงงานในวันที่โจทก์มาทำงาน ต่อมาในวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 โจทก์จะเข้าทำงานในช่วงเช้า แต่พนักงานรักษาความปลอดภัยยังไม่ให้เข้าโรงงานแต่ให้รออยู่จนเวลา 8.40 นาฬิกา โจทก์จึงออกจากโรงงานไปปรึกษาพนักงานตรวจแรงงาน แล้วกลับเข้าไปที่โรงงานอีกครั้งในเวลาประมาณ 16 นาฬิกา พบ ส. หัวหน้าฝ่ายบุคคล ส. ขอให้โจทก์ทำงานต่อไป แต่โจทก์ไม่ตกลง ส. จึงนำใบลาออกมาให้โจทก์แต่โจทก์ไม่ลงลายมือชื่อในใบลาออกให้นั้น การที่ ล. จะแสดงความไม่พอใจต่อโจทก์และมีคำสั่งดังกล่าวซึ่งทำให้โจทก์ไม่สามารถเข้าทำงานในโรงงานตามปกติได้ ก็เพื่อให้โจทก์รออยู่และได้พบกับ ล. ก่อน อันเป็นการใช้อำนาจทางการบริหารที่นายจ้างสามารถกระทำได้ แต่ในระหว่างที่โจทก์รออยู่นั้นโจทก์ได้ออกจากโรงงานไปเองโดยยังไม่ได้พบกับ ล. กรณีดังกล่าวจึงยังถือไม่ได้ว่า ล. ได้บอกเลิกจ้างโจทก์หรือมีการกระทำใดที่จะไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้โดยเด็ดขาด จึงไม่ใช่การเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 118 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8588/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการลงโทษทางวินัยของนายจ้าง: ศาลไม่ก้าวล่วงดุลพินิจหากชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับ
โจทก์ในฐานะผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยการพนักงานฯ และคำสั่งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา ซึ่งต้องควบคุมดูแลตรวจสอบการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชา แต่โจทก์กลับไม่ควบคุมดูแลตรวจหลักฐานตามรายงานซีเอ็มเอฟ 15 จนเป็นเหตุให้มีการทุจริตยักยอกเงินไปไม่นำเข้าเป็นรายได้ของจำเลยและปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมดูแลการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติตามระเบียบในการขอติดตั้งโทรศัพท์ จนมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยจนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย
การลงโทษพนักงานที่กระทำผิดวินิจฉัยไม่ร้ายแรงตามข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยการพนักงานฯ ข้อ 58 นั้น ผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือน ตามที่พิจารณาเห็นเหมาะสม และเป็นดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาที่จะนำเหตุลดหย่อนโทษมาประกอบการพิจารณาหรือไม่ก็ได้ แม้จะเคยมีการลงโทษผู้กระทำผิดวินัยที่คล้ายคลึงกับการกระทำผิดของโจทก์ด้วยการภาคทัณฑ์ ก็มิได้หมายความว่าผู้บังคับบัญชาจะลงโทษสถานอื่นนอกจากภาคทัณฑ์ไม่ได้ หากผู้บังคับบัญชาเห็นว่าการลงโทษครั้งก่อนๆ ไม่เหมาะสมก็มีอำนาจกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมได้ การที่ผู้บังคับบัญชาลงโทษโจทก์ด้วยการลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น โดยไม่ปรากฏว่ามีการลงโทษโดยไม่สุจริตหรือกลั่นแกล้งโจทก์ หรือการลงโทษที่ไม่เหมาะสม จึงเป็นการลงโทษที่เหมาะสมชอบด้วยข้อบังคับของจำเลยแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8417/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างฐานทุจริตต่อหน้าที่ นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มิได้ให้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ไว้ และมิได้ใช้คำว่า "โดยทุจริต" ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 1 (1) จึงต้องให้ความหมายว่า "ทุจริต" ตามพจนานุกรม คือความประพฤติชั่ว โกง ไม่ชื่อตรง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการสอบสวนนั้นโจทก์แจ้งว่า โจทก์ได้รับกล้องที่เป็นของสมนาคุณมาจริงแล้วนำไปไว้ในที่เก็บสินค้าของจำเลยยังมิได้นำออกใช้ แต่เมื่อตรวจดูหน่วยความจำที่บันทึกภาพถ่ายในกล้องปรากฏว่ามีภาพอยู่จำนวน 26 ภาพ เป็นภาพถ่ายที่โจทก์บันทึกไว้เป็นการส่วนตัวโจทก์จึงยอมรับว่าเอากล้องดังกล่าวไปใช้จริง การที่โจทก์ยอมรับว่าเอากล้องดังกล่าวไปใช้แล้วจึงเป็นเพราะโจทก์จำนนต่อหลักฐานนั่นเอง ทั้งไม่อาจถือได้ว่าเป็นการนำไปใช้โดยถือวิสาสะ เพราะหากโจทก์คิดว่าโจทก์มีสิทธิจะนำไปใช้ได้ โจทก์ก็น่าจะยอมรับว่าเอาไปใช้แล้วจริงตั้งแต่ต้น ไม่น่าจะต้องให้ตรวจดูหน่วยความจำที่กล้องบันทึกไว้เสียก่อน เมื่อปรากฏว่ามีภาพถ่ายที่โจทก์บันทึกไว้เป็นการส่วนตัว โจทก์จึงเพิ่งจะยอมรับว่ากล้องดังกล่าวเป็นของสมนาคุณที่จำเลยได้มาและมีไว้เพื่อให้พนักงานของจำเลยจับรางวัลในงานวันขึ้นปีใหม่ การที่โจทก์ไม่แจ้งให้จำเลยทราบว่าได้กล้องดังกล่าวมา ทั้งยังนำไปใช้โดยพลการ เมื่อมีการสอบสวนก็ยังไม่ยอมรับว่าเอาไปใช้แล้วจนต้องมีการตรวจสอบหาความจริงจากหน่วยความจำที่กล้องบันทึกไว้ด้วยเช่นนี้ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการประพฤติไม่ซื่อตรงอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) ทั้งยังเป็นการกระทำอันไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 จำเลยไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ ทั้งการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในกรณีนี้เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควรที่จะเลิกจ้างได้ จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7855/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นายจ้างตัวแทน: การผูกพันนายจ้างจากตัวแทนในการจ้างงานและค่าจ้าง
จำเลยมอบหมายให้ ว. ดูแลงานด้านการตลาดของบริษัทจำเลย และรู้เห็นในการทำงานของ ว. จึงเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยได้เชิด ว. ออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยหรือรู้แล้วยอมให้ ว. เชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยในการจ้างโจทก์ทำงานกับจำเลย การที่ ว. รับโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยโดยจ่ายค่าจ้างให้และจำเลยได้รับประโยชน์จากการทำงานของโจทก์มาโดยตลอดนั้น จึงมีผลผูกพันจำเลยเสมือนว่า ว. เป็นตัวแทนของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 จำเลยจึงเป็นนายจ้างโจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 โดยเป็นผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้โดยมี ว. กระทำการเป็นตัวแทนของจำเลยดำเนินการแทน ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยจะมีฐานะเป็นนายจ้างโจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 หรือมาตรา 5 (3) จำเลยก็เป็นนายจ้างโจทก์
of 585