คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
องอาจ โรจนสุพจน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 439 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8988/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: หลักเกณฑ์ค่ารายปีปีก่อน และข้อจำกัดการอุทธรณ์เรื่องกระบวนการ
ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วที่ใช้เป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมาตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 18 หมายความถึงค่ารายปีของปีก่อนถัดจากปีที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำลังประเมิน ดังนั้น การประเมินค่ารายปีสำหรับโรงเรือนพิพาทที่โจทก์ใช้ในปี 2546 เพื่อคำนวณภาษีซึ่งต้องชำระประจำปีภาษี 2547 จึงต้องนำค่ารายปีของปี 2545 ที่มีการชำระค่าภาษีประจำปีภาษี 2546 มาเป็นหลักในการคำนวณค่าภาษี
ปัญหาว่าใบแจ้งคำชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 หรือไม่ เมื่อศาลภาษีอากรกลางมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทนี้ไว้ในชั้นชี้สองสถานและโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้าน โดยยินยอมดำเนินกระบวนพิจารณาเท่าที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นไว้ คดีจึงไม่มีประเด็นว่า ใบแจ้งคำชี้ขาดที่พิพาทไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 หรือไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นดังกล่าว จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง และมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8940/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งทางปกครองต้องมีเหตุผลรองรับ แม้กฎหมายเฉพาะจะไม่ได้กำหนดไว้ ก็ต้องใช้หลักเกณฑ์ทั่วไปตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ฯ มาตรา 37 บัญญัติว่า คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและการยืนยันคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย และเหตุผลนั้นอย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ และตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ บัญญัติว่า คำชี้ขาดของอธิบดีกรมสรรพากรหรือสมุหเทศาภิบาลนั้น ให้แจ้งไปยังผู้ร้องเป็นลายลักษณ์อักษร ถ้ามีการลดจำนวนเงินที่ประเมินไว้เป็นจำนวนเท่าใดก็ให้แจ้งไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อจะได้แก้ไขบัญชีการประเมินตามคำชี้ขาดนั้น คำชี้ขาดข้างต้นจึงเป็นคำสั่งทางปกครองอย่างหนึ่งและต้องทำเป็นหนังสือให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว คำชี้ขาดฉบับพิพาทมีข้อความเพียงว่า ทรัพย์สินห้างสรรพสินค้า ท. ปีภาษี 2545 ค่ารายปี 62,286,843.76 บาท ค่าภาษี 3,885,052.70 บาท หักลดค่ารายปี 31,080,421.64 บาท ปีภาษี 2546 ค่ารายปี 63,227,042.57 บาท ค่าภาษี 7,773,380.31 บาท หักลดค่ารายปี 538,000 บาท และปีภาษี 2547 ค่ารายปี 66,460,019.42 บาท ค่าภาษี 8,211,873.67 บาท หักลดค่ารายปี 979,730 บาท ไม่ปรากฏเหตุผลว่าเหตุใดจำเลยที่ 1 จึงกำหนดค่ารายปี ค่าภาษีและจำนวนหักลดดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นที่ไม่ต้องแสดงเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคสาม (2) ที่ว่าเหตุผลนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีก ใบแจ้งคำชี้ขาดฉบับพิพาทจึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะออกคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือโดยไม่ต้องระบุเหตุผลไว้ จึงขัดต่อบทบัญญัติในมาตรา 37 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว และ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ฯ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณา วินิจฉัย และสั่งการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นหลักเกณฑ์เพื่อกำหนดขั้นตอนในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อนมีคำสั่งทางปกครอง เช่น การมีคำสั่งอนุญาต อนุมัติ แต่งตั้ง หรือคำสั่งอื่นใดของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิ หรือหน้าที่ต่อบุคคล โดยมีหลักการสำคัญที่จะให้เป็นกฎหมายทั่วไปในการวางระเบียบปฏิบัติแก่เจ้าหน้าที่ทั้งหลายในการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะเป็นการให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจอย่างไม่มีขอบเขตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และในขณะเดียวกันช่วยให้เกิดประสิทธิภาพแก่การบริหารราชการแผ่นดินอีกด้วย โดยมาตรา 3 บัญญัติว่า เรื่องใดถ้ามีบทบัญญัติในกฎหมายอื่นไว้แล้ว กฎหมายฉบับนั้นต้องมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการไม่ต่ำกว่า พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ฯ ด้วย และหลักเกณฑ์ตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการที่ต่ำกว่า พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ฯ มาตรา 37 จึงต้องนำ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ฯ มาตรา 37 ไปใช้บังคับกรณีใบแจ้งคำชี้ขาดตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ ด้วย
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงนามในใบแจ้งคำชี้ขาดในตำแหน่งปลัดกรุงเทพมหานครซึ่งปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเท่านั้น จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะปลัดกรุงเทพมหานครตามที่โจทก์ฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8937-8938/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายเวลาอุทธรณ์ภาษีอากร การรวมสำนวนคดี และเหตุสมควรลดเบี้ยปรับ
ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2549 จำเลยยื่นอุทธรณ์คดีทั้งสองสำนวนเป็นอุทธรณ์คนละฉบับเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2549 ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งเป็นใจความว่า ศาลสั่งรวมการพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนแล้วจึงให้จำเลยทำอุทธรณ์มาในฉบับเดียวกันภายใน 7 วัน ต่อมาจำเลยจึงยื่นอุทธรณ์คดีทั้งสองสำนวนมาในฉบับเดียวกันเป็นอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 21 มิถุนายน 2549 ดังนี้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นอุทธรณ์ที่จำเลยจัดทำและยื่นภายในกำหนดที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่ง ถือว่าจำเลยยื่นอุทธรณ์คดีทั้งสองสำนวนภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว
การที่โจทก์ ช. และ ส. เป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลในการขายที่ดิน 1 แปลงและโจทก์กับ ส. เป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลในการขายที่ดินอีก 1 แปลง แต่เจ้าพนักงานของจำเลยส่งหนังสือขอทราบรายละเอียดการขายอสังหาริมทรัพย์เฉพาะที่ดินเพียงแปลงเดียวถึง ส. โดยไม่ได้ระบุชัดแจ้งว่าเป็นหนังสือที่ส่งถึง ส. ในฐานะบุคคลในคณะบุคคลดังเช่นที่มีการระบุในหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ จึงต้องถือว่าเจ้าพนักงานของจำเลยต้องการขอทราบรายละเอียดการขายที่ดินจาก ส. ในฐานะส่วนตัว ทั้งไม่ได้ความว่าเจ้าพนักงานของจำเลยส่งหนังสือขอทราบรายละเอียดการขายอสังหาริมทรัพย์ถึงโจทก์ด้วยแต่อย่างใด หลังจากขายที่ดินทั้งสองแปลงแล้ว โจทก์ไม่เคยพบกับ ส. อีก จึงไม่อาจนำข้อเท็จจริงที่ ส. ไม่ไปพบเจ้าพนักงานของจำเลยตามหนังสือขอทราบรายละเอียดการขายอสังหาริมทรัพย์มาเป็นเหตุให้มีผลถึงโจทก์โดยอนุมานว่า โจทก์ซึ่งเป็นบุคคล ในคณะบุคคลกับ ส. ไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษีการขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวด้วยได้ ทั้งโจทก์ขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวหลังจากมีการแก้ไขประมวลรัษฎากรซึ่งเปลี่ยนการจัดเก็บภาษีการค้ามาเป็นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะแทนไม่กี่เดือน ตามพฤติการณ์ของโจทก์ที่ยอมเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ยังเพียงติดใจขอลดเบี้ยปรับลงเพราะคิดว่ามีการชำระครบถ้วนขณะขายที่ดินเรียบร้อยแล้ว โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีรายพิพาท กรณีจึงมีเหตุสมควรลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งจากเบี้ยปรับที่ต้องชำระตามการประเมิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8892/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: หลักเกณฑ์ค่ารายปี, ความชอบด้วยกฎหมาย, และข้อจำกัดการอุทธรณ์
ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วที่ใช้เป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมาตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 18 หมายความถึงค่ารายปีของปีก่อนถัดจากปีที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำลังประเมิน ดังนั้น การประเมินค่ารายปีสำหรับโรงเรือนพิพาทที่โจทก์ใช้ในปี 2546 เพื่อคำนวณภาษีซึ่งต้องชำระประจำปีภาษี 2547 จึงต้องนำค่ารายปีของปี 2545 ที่มีการชำระค่าภาษีประจำปีภาษี 2546 มาเป็นหลักในการคำนวณค่าภาษี
ปัญหาว่าใบแจ้งคำชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 หรือไม่ เมื่อศาลภาษีอากรกลางมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทนี้ไว้ในชั้นชี้สองสถานและโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้าน ถือว่าโจทก์สละประเด็นดังกล่าวแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์จึงมิใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง และมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8872/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับระยะเวลาบังคับใช้ข้อบัญญัติท้องถิ่น: การเริ่มต้นนับวัน และผลของการระบุวันใช้บังคับผิดพลาด
พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง หมายความว่า ข้อบัญญัติที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดตราขึ้นในกรณีทั่วไปต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด และมีการประกาศข้อบัญญัตินั้นไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแล้วจนครบกำหนด 15 วัน จึงจะมีผลใช้บังคับได้ แต่มีข้อยกเว้นว่าในกรณีฉุกเฉินหากข้อบัญญัติที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดตราขึ้นโดยมีข้อความระบุให้ใช้บังคับได้ทันทีและได้รับการอนุมัติข้อบัญญัตินั้นจากผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วก็มีผลใช้บังคับได้ในวันที่มีการประกาศ ทั้งนี้ไม่ปรากฏบทบัญญัติอื่นใน พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 กำหนดวิธีการนับวันเริ่มต้นแห่งระยะเวลาประกาศข้อบัญญัติในกรณีทั่วไปไว้ด้วย ทั้งข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี เรื่อง การเก็บภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2542 มิใช่ข้อบัญญัติที่ตราขึ้นในกรณีฉุกเฉินจึงต้องคำนวณระยะเวลาการปิดประกาศตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง โดยไม่นับวันแรกแห่งระยะเวลาที่ประกาศรวมเข้าด้วยเมื่อมีการประกาศ ณ วันที่ 16 เมษายน 2542 จึงเริ่มต้นนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2542 ซึ่งจะครบกำหนด 15 วัน ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2542 และข้อบัญญัติที่ประกาศนั้นจะมีผลใช้บังคับได้ตั้งแต่วันถัดไปคือวันที่ 2 พฤษภาคม 2542
ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี เรื่อง การเก็บภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2542 มีการนับระยะเวลาการปิดประกาศครบกำหนด 15 วัน ว่าตรงกับวันใดไว้ผิดพลาดจึงมีการระบุข้อความล่วงหน้าให้ข้อบัญญัติใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2542 แต่การประกาศข้อบัญญัติซึ่งระบุวันใช้บังคับผิดพลาดมิใช่เรื่องที่ทำโดยไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ ถือได้ว่าข้อบัญญัติดังกล่าวยังไม่สิ้นผลหรือเป็นโมฆะ เมื่อมีการประกาศไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนจังหวัดแล้ว 15 วัน ข้อบัญญัติทั้งหมดยกเว้นข้อ 2 จึงมีผลบังคับใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2542 เป็นต้นไป การกระทำความผิดของจำเลยเกิดขึ้นหลังวันที่ 2 พฤษภาคม 2542 จึงเป็นความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8868/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ การไม่แจ้งความประสงค์ต่อสู้คดี และความรับผิดทางแพ่งจากบัตรภาษี
ในวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 1 ซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การมาศาลและนั่งฟังการพิจารณาตั้งแต่เริ่มต้นสืบพยานจนเสร็จการพิจารณา หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 จึงแจ้งต่อศาลว่าจะให้ทนายความยื่นคำร้องขอต่อสู้คดี ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 มาศาลในวันดังกล่าวซึ่งเป็นวันก่อนที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้แจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดี การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 17 และการไม่แจ้งในโอกาสแรกว่ามีความประสงค์จะต่อสู้คดี ทำให้ศาลสามารถที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ จำเลยมีสิทธิเพียงที่จะถามค้านพยานโจทก์ที่อยู่ระหว่างการสืบพยานได้ แต่จะนำสืบพยานหลักฐานของตนไม่ได้ตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสองของบทมาตราดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง บทบัญญัติดังกล่าวในวรรคสามบัญญัติไว้ชัดเจนว่าจำเลยจะขอยื่นคำให้การตามมาตรานี้หรือจะร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มาศาลก่อนวินิจฉัยชี้ขาดคดีและไม่แจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดี จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจขอยื่นคำให้การหรือร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้
แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า ส. และ ม. ผู้ลงชื่อในคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีในนามของจำเลยที่ 2 และที่ 5 ตามลำดับ ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 และที่ 5 แต่การที่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ได้รับบัตรภาษีไปตามคำร้องขอรับโอนดังกล่าวที่ยื่นต่อโจทก์ และได้นำบัตรภาษีไปใช้ชำระค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 2 และที่ 5 แล้ว พฤติการณ์ดังกล่าวจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 5 เชิด ส. และ ม. ออกเป็นตัวแทนของตนในการกระทำดังกล่าว จำเลยที่ 2 และที่ 5 จึงต้องรับผิดตามคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8829/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี, การประเมินภาษี, และการลดเบี้ยปรับ: ข้อพิพาทเกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีเงินได้นิติบุคคล
ปัญหาเรื่องการออกหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินเป็นไปโดยชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 19 หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจในการประเมินภาษีอากรว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้ยกขึ้นโต้แย้งในชั้นอุทธรณ์การประเมิน ก็มีอำนาจยกขึ้นในชั้นพิจารณาของศาลได้
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย นั้น เมื่อเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าโจทก์หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งไม่ถูกต้องครบถ้วน เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินให้โจทก์ในฐานะผู้จ่ายเงินรับผิดในส่วนที่ขาดได้โดยอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 54 วรรคหนึ่ง และมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 70 โดยเจ้าพนักงานประเมินอาจส่งหนังสือแจ้งให้โจทก์ส่งพยานหลักฐานอันควรแก่เรื่องเพื่อตรวจสอบการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ตามที่เห็นสมควรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 51 ซึ่งเป็นบทบัญญัติโดยเฉพาะอยู่แล้ว จึงไม่อยู่ในบังคับต้องออกหมายเรียกภายในระยะเวลาและโดยเงื่อนไขตามมาตรา 19 ส่วนกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 และปี 2538 นั้น โจทก์มีหน้าที่ยื่นรายการเพื่อชำระภาษีจากจำนวนกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นตาม ป.รัษฎากร มาตรา 67 ทวิ ซึ่งหากโจทก์ไม่ยื่นรายการหรือยื่นรายการโดยแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 เจ้าพนักงานประเมินอาจประเมินให้ชำระภาษีพร้อมเงินเพิ่มได้ทันทีเมื่อพ้นกำหนดยื่นรายการหรือเมื่อโจทก์ยื่นชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้นตาม ป.รัษฎากร มาตรา 67 ตรี โดยไม่จำต้องออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนตรวจสอบตามมาตรา 19 และ 23 แต่อย่างใด
ในชั้นอุทธรณ์การประเมิน โจทก์อ้างว่าได้หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายให้ถูกต้องและนำส่งครบถ้วนแล้วแต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าพนักงานประเมินเมื่อโจทก์อ้างในคำฟ้องว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบเพราะโจทก์ได้หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายถูกต้องและนำส่งครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีสิทธินำพยานหลักฐานเกี่ยวกับเงินสมทบจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมของเจ้าพนักงานของโจทก์มาแสดงว่าได้หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายและนำส่งถูกต้องครบถ้วนแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางไม่รับวินิจฉัยไม่ชอบ แต่ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยก่อน โดยโจทก์มี ป. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ และ ล. เจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงินเบิกความว่า โจทก์ได้นำส่งเงินสมทบจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมของพนักงานโจทก์ตลอดมา ปรากฏตามรายชื่อผู้ประกันตน ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นพนักงานของโจทก์และโจทก์นำส่งเงินสมทบจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมแล้ว แต่ปรากฏว่า ใบเสร็จรับเงินของสำนักงานประกันสังคมไม่ได้แสดงรายการว่าเป็นเงินสมทบของผู้ประกันตนคนใด เป็นพนักงานของโจทก์หรือไม่ และพยานโจทก์ก็มิได้นำสืบอธิบายรายละเอียดให้เห็นได้ว่าหลักฐานการนำส่งเงินสมทบจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมดังกล่าวตรงกับรายชื่อพนักงานของโจทก์ตามแบบที่ยื่นรายการภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด. 1 และ ภ.ง.ด. 1 ก การที่เจ้าพนักงานประเมินนำมาประเงินภาษีโจทก์เพิ่มแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่อาจรับฟังได้ดังที่โจทก์อ้าง
ในชั้นตรวจสอบไต่สวนและชั้นพิจารณาอุทธรณ์ เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินให้โจทก์รับผิดตาม ป.รัษฎากร มาตรา 70 ซึ่งบัญญัติว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยแต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียภาษีโดยให้ผู้จ่ายหักภาษีเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแล้วนำส่งอำเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น โดยบัญชีอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกำหนดอัตราภาษีตามมาตรา 70 ยกเว้นเฉพาะกรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินมาตรา 40 (4) (ข) ไว้ร้อยละ 15 ฉะนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) (4) (ก) (6) ที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยในอัตราร้อยละ 15 จึงชอบแล้ว ที่โจทก์อ้างว่าคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.8/2528 เรื่อง การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีจ่ายเงินค่าจ้างทำของให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ กำหนดให้โจทก์หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เพียงร้อยละ 5 นั้น คำสั่งดังกล่าวใช้สำหรับการจ่ายเงินให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศที่ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่โจทก์ก็มิได้ยกขึ้นอ้างในคำฟ้องและทางนำสืบว่าบริษัทต่างประเทศดังกล่าวประกอบกิจการในประเทศไทย คงเพิ่งมายกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลางตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 29 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัยในส่วนนี้
โจทก์ไม่ได้ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีพร้อมด้วยบัญชีงบดุล บัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุน บัญชีรายรับและรายจ่าย หรือบัญชีรายรับก่อนหักรายจ่ายที่มีบุคคลตามมาตรา 3 สัตต ตรวจสอบและรับรองในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวตามมาตรา 68 และ 69 ทั้งได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่าโจทก์ไม่นำส่งสมุดบัญชีและเอกสารประกอบการบันทึกบัญชีหรือเอกสารใดๆ ที่เพียงพอจะแสดงให้รู้ว่าโจทก์มีรายได้และรายจ่ายจำนวนใด จึงไม่อาจคำนวณหากำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิเพื่อประเมินภาษีตามวิธีปกติได้ การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใดๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า จึงชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 71 (1) โดยมิต้องคำนึงว่าโจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีดังที่โจทก์อุทธรณ์หรือไม่
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) (ภ.ง.ด. 51) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 ถึง 2539 โดยแสดงผลขาดทุนสุทธิทั้งสามรอบระยะเวลาบัญชี แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว การที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลโจทก์ทั้งสามรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใดๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่าตามมาตรา 71 (1) แห่ง ป.รัษฎากร เมื่อได้จำนวนภาษีที่ต้องชำระแล้วจึงคำนวณกลับเป็นกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นๆ ซึ่งปรากฏว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 ถึง 2539 โดยแสดงผลขาดทุนสุทธิอันเป็นการประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิดังกล่าวโดยไม่มีเหตุสมควร การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินให้โจทก์รับผิดเสียเงินเพิ่มร้อยละ 20 ของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นๆ จึงชอบแล้ว ส่วนรอบระยะเวลาบัญชีปี 2540 นั้นโจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) โจทก์จึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มร้อยละ 20 ของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ทั้งนี้ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 67 ตรี วรรคหนึ่ง
การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะตาม ป.รัษฎากร มาตรา 88/4 ประกอบมาตรา 91/21 (5) เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานประเมินที่จะออกหมายเรียกผู้มีหน้าที่เสียภาษี ผู้ทำการแทน หรือพยาน หรือสั่งให้บุคคลเหล่านั้นนำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอันควรแก่เรื่องมาให้ตรวจสอบไต่สวนได้โดยไม่มีบทบัญญัติใดบังคับให้เจ้าพนักงานประเมินต้องแจ้งให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องก่อนจึงจะทำการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะได้ ทั้งกรณีนี้ก็ปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรทุกประเภทโดยระบุมาตรา 91/21 แห่ง ป.รัษฎากร ไว้ด้วยแล้ว แต่โจทก์ไม่ได้ส่งมอบเอกสารหลักฐานให้เจ้าพนักงานประเมิน เมื่อเจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบพบว่าโจทก์ทำนิติกรรมขายที่ดินมีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่มิได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์ได้ตามมาตรา 91/15 (1) และ (3)
เมื่อโจทก์ขายอสังหาริมทรัพย์แล้วไม่ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีธุรกิจเฉพาะตามกฎหมาย จึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ และการที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ลดเบี้ยปรับสำหรับภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่โจทก์คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายเป็นคุณแก่โจทก์และเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่จะงดเบี้ยปรับให้
การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) ตามมาตรา 67 ทวิ นั้น เป็นการเรียกเก็บภาษีก่อนถึงกำหนดเวลาตามมาตรา 68 โดยภาษีที่ชำระนี้ให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 68 ฉะนั้น ภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) ที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใดจึงเป็นส่วนหนึ่งของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องชำระเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้นตามมาตรา 68 โดยกฎหมายให้นำภาษีที่ชำระให้ตอนครึ่งปีมาเป็นเครดิตสำหรับภาษีที่ต้องเสียทั้งรอบระยะเวลาบัญชี คำฟ้องที่เกี่ยวกับการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) จึงเป็นข้อหาเดียวที่เกี่ยวข้องกันกับภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องชำระเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้นๆ แม้จะมีการประเมินแต่เงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี ก็ตาม การที่ศาลภาษีอากรกลางเรียกค่าขึ้นศาลเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งครึ่งปีและเต็มปีในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเป็นแต่ละข้อหาและเมื่อรวมกันแล้วเกินกว่า 200,000 บาท จึงไม่ชอบและเห็นควรให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ที่เสียเกินมาด้วย อนึ่ง โจทก์ยังไม่ได้เสียค่าขึ้นศาลสำหรับการอุทธรณ์คำสั่งศาลภาษีอากรกลางดังกล่าวซึ่งเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลในส่วนนี้อีก 200 บาท ตามราราง 1 (2) (ก) ท้าย ป.วิ.พ. ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 24

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8809/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่อุทธรณ์คำสั่งศาลภาษีอากรกลางทันเวลา และการสละประเด็นข้อพิพาท ทำให้ฎีกาไม่รับฟังประเด็นใหม่
คำสั่งให้งดสืบพยานก่อนที่ศาลภาษีอากรกลางได้มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา หากคู่ความฝ่ายใดไม่เห็นด้วยและประสงค์จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นภายหลังจะต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร ฯ มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 226 เมื่อโจทก์มีเวลาเพียงพอที่จะโต้แย้งคัดค้านคำสั่งดังกล่าวได้แต่มิได้โต้แย้งคัดค้าน จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์
การที่โจทก์แถลงต่อศาลภาษีอากรกลางว่า โจทก์ยินยอมชำระภาษีตามที่เจ้าพนักงานประเมินและได้ผ่อนชำระจนเหลือเพียงงวดสุดท้ายแล้วแต่ยังคงติดใจอยู่เพียงประเด็นเดียวคือ ประสงค์จะขอให้ลดหรืองดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์ จึงถือว่าโจทก์ได้สละประเด็นข้อพิพาทอื่นทั้งหมด ดังนั้น การที่โจทก์อุทธรณ์ประเด็นอื่น จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลภาษีอากรกลางต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรกรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร ฯ มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8808/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งทางปกครองต้องมีเหตุผลตามกฎหมาย แม้กฎหมายเฉพาะจะไม่ได้บังคับ เหตุผลต้องชัดเจนและครบถ้วน
มาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ฯ กำหนดให้คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและการยืนยันคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย และเหตุผลอย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ และมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือน ฯ กำหนดให้คำชี้ขาดของอธิบดีกรมสรรพากรหรือสมุหเทศาภิบาลให้แจ้งไปยังผู้ร้องเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้น คำชี้ขาดดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่จะต้องทำเป็นหนังสือและต้องทำให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ฯ มาตรา 37 คือต้องจัดให้มีเหตุผลและเหตุผลต้องประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ ซึ่งตามใบแจ้งคำชี้ขาดระบุเพียงว่า จำเลยที่ 2 มีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินยืนตามที่จำเลยที่ 1 ประเมิน ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีเหตุผลอย่างไรที่วินิจฉัยยืนตามการประเมินของจำเลยที่ 1 คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 จึงไม่ปรากฏเหตุผลตามที่กฎหมายกำหนด และไม่เข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องแสดงเหตุผลตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ฯ มาตรา 37 วรรคสาม (2) ที่ว่าเหตุผลนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีกจึงขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 37 แม้มาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ บัญญัติเพียงว่าคำชี้ขาดให้แจ้งไปยังผู้ร้องเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมิได้บังคับว่าต้องให้เหตุผล แต่ตามมาตรา 3 วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ฯ ได้วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า วิธีปฏิบัติราชการปกครองตามกฎหมายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายใดกำหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเรื่องใดไว้โดยเฉพาะแล้ว และมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรม หรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการไม่ต่ำกว่าที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ คำชี้ขาดตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ เป็นวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองอย่างหนึ่ง และเป็นคำสั่งทางปกครองที่ต้องทำเป็นหนังสือและต้องให้เหตุผลไว้ด้วยตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ฯ มาตรา 37 แต่มาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตราฐานในการปฏิบัติราชการต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดใน พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ฯ มาตรา 37 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ขั้นต่ำอยู่แล้ว คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 3 วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ฯ เมื่อคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ไม่มีเหตุผลตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 37 คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8807/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับตู้โทรศัพท์สาธารณะ: การพิจารณาคุณสมบัติ 'สิ่งปลูกสร้าง' และข้อยกเว้นสำหรับรัฐวิสาหกิจ
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 31 วรรคท้าย บัญญัติว่า "ในกรณีที่ผู้รับประเมินซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจไม่พอใจในคำชี้ขาดตามวรรคหนึ่ง เนื่องจากเห็นว่าจำนวนเงินซึ่งประเมินไว้นั้นมีจำนวนที่สูงเกินสมควร ให้รัฐวิสาหกิจนั้นนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดตามมาตรา 30 ในการนี้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจให้ลดหย่อนค่ารายปีให้แก่รัฐวิสาหกิจนั้นได้ตามที่เห็นสมควร มติของคณะรัฐมนตรีเป็นที่สุด" เป็นการระบุว่าเฉพาะกรณีที่รัฐวิสาหกิจใดไม่พอใจคำชี้ขาดเพราะเห็นว่าจำนวนเงินที่ประเมินสูงเกินสมควรให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาและคณะรัฐมนตรีมีอำนาจให้ลดหย่อนค่ารายปีได้ เมื่อโจทก์ไม่พอใจคำชี้ขาดเพราะเห็นว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ไม่ใช่กรณีที่โจทก์เห็นว่าจำนวนเงินที่ประเมินและตามคำชี้ขาดสูงเกินสมควร โจทก์จึงไม่ต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลดหย่อนค่ารายปีตามบทบัญญัติดังกล่าว และมีอำนาจฟ้องคดีนี้
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 5 บัญญัตินิยามคำว่า "โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น" ให้กินความถึงแพด้วยเท่านั้น โดยมิได้กำหนดความหมายไว้โดยเฉพาะ เมื่อตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างหนึ่ง แม้จะวางติดอยู่บนแท่นซีเมนต์สี่เหลี่ยมสำเร็จรูปซึ่งวางอยู่บนทางเท้าหรือพื้นดินโดยไม่ได้ฝังเสาลงไปในดินและไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยก็ตาม แต่ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ ก็มิได้กำหนดให้จัดเก็บภาษีเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่มีการฝังเสาลงไปในดินและบุคคลอาจเข้าอยู่และใช้สอยได้เท่านั้น เมื่อตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ได้ใช้คุ้มครองป้องกันมิให้เครื่องโทรศัพท์เสียหาย และให้บริการประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์ให้มีความปลอดภัย สะดวกสบาย จึงเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบกิจการก่อให้เกิดประโยชน์และรายได้แก่โจทก์ ถือเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 5 สำหรับทรัพย์สินที่จะได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (2) นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือสาธารณะ เมื่อโจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจและกฎหมายมิได้บัญญัติให้ยกเว้นภาษีดั่งเช่นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการรถไฟโดยตรง ตู้โทรศัพท์สาธารณะซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 9 (2)
of 44