คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
องอาจ โรจนสุพจน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 439 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8804/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์การประเมินภาษี, สิทธิขอคืนภาษี, ดอกเบี้ยคืนภาษี, และผลของการไม่ยื่นรายการภาษีตามกำหนด
โจทก์อ้างในคำฟ้องว่า โจทก์มิได้ใช้ที่ดินและโกดังสินค้าในการประกอบกิจการใด การขายที่ดินและโกดังสินค้าดังกล่าวจึงไม่ใช่การขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีไว้ในการประกอบกิจการ ซึ่งจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ การที่ศาลภาษีอากรกลางหยิบยกข้อความตามสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับบริษัท ส. และข้อที่โจทก์ยอมรับการประเมินค่ารายปีและเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนมาประกอบดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์มีอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไว้ในการประกอบกิจการจึงมิใช่การวินิจฉัยนอกประเด็น แม้เหตุผลตามคำพิพากษาจะแตกต่างจากเหตุผลของเจ้าพนักงานประเมินหรือคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ตาม
โจทก์อ้างว่าอสังหาริมทรัพย์จำนวน 4 แปลง โจทก์ได้มาตั้งแต่ปี 2525 และขายไปในปี 2535 โดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร จำเลยให้การว่า โจทก์ซื้อที่ดิน 4 แปลงมาในราคา 4,000,000 บาท แล้วขายไปในราคา 30,254,882 บาท และตามหนังสือสัญญาซื้อขายระบุว่าขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นโกดังก่ออิฐถือปูน ซื้อเพื่อใช้เป็นที่สร้างคลังเก็บสินค้า แสดงว่าโจทก์ผู้ซื้อมีเจตนาใช้ประกอบกิจการเป็นโกดังเก็บสินค้ามิได้มีเจตนาใช้เป็นที่อยู่อาศัย ทั้งยังยื่นแบบแสดงรายการกำหนดค่ารายปีและชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน ด้วยเหตุผลดังกล่าวการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวถือว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ตาม พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มาตรา 3 (5) คือ อสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ โจทก์มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะและต้องนำเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ไปรวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นๆ ของโจทก์ เห็นได้ว่าคำให้การของจำเลยมิได้ปฏิเสธข้ออ้างตามคำฟ้องว่าโจทก์ได้ที่ดินทั้ง 4 แปลงมาโดยมิได้มุ่งในทางค้าหรือหากำไรให้เห็นโดยชัดแจ้ง คำให้การของจำเลยมุ่งแสดงข้อเท็จจริงให้เห็นว่าโจทก์ขายที่ดินไปในทางค้าหรือหากำไรซึ่งจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอันเป็นภาษีคนละประเภทกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คำให้การของจำเลยจึงมิได้ปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ดังนั้น ปัญหาที่ว่าโจทก์ได้ที่ดินมาโดยมุ่งในทางค้าหรือหากำไรนั้น ถือว่าจำเลยได้รับแล้ว และข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำฟ้องว่าโจทก์ได้ที่ดินมาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร โจทก์จึงมีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2535 สำหรับเงินได้จากการขายที่ดินตามวิธีการที่กำหนดในมาตรา 48 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร
มาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 บัญญัติว่า "การใดที่กฎหมายกำหนดให้อุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นคณะกรรมการ ขอบเขตการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น..." ซึ่ง ป.รัษฎากร มาตรา 32 ได้กำหนดขอบเขตการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้แล้วโดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยจึงมีอำนาจดำเนินการไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา 32 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่อาจนำระยะเวลาที่กำหนดให้วินิจฉัยอุทธรณ์ และแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ดังกล่าวมาใช้ได้
มาตรา 27 ตรี (1) แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติให้ผู้มีสิทธิขอคืนภาษีอากรที่ยื่นรายการเมื่อพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนด ขอคืนได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันยื่นรายการก็สืบเนื่องมาจากแม้ผู้ยื่นจะยื่นเกินกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดก็ตาม แต่เมื่อผู้ยื่นไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรจึงต้องคืนให้ ส่วนเรื่องดอกเบี้ย มาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ซึ่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ข้อ 2 กำหนดไว้ว่า การคิดดอกเบี้ยให้แก่ผู้ได้รับคืนภาษีอากรนั้น จะคิดให้ต่อเมื่อได้มีการยื่นแบบแสดงรายการหรือคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือภายในเวลาที่ได้รับการขยายหรือเลื่อนให้ เมื่อโจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิได้รับภาษีอากรที่ชำระไปแล้วคืนตามมาตรา 27 ตรี (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8656/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายอสังหาริมทรัพย์ภายใน 5 ปี เข้าข่ายเป็นการค้าหรือหากำไร ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินกับบริษัท พ. และทำสัญญาว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ทำการปลูกสร้างอาคารในที่ดินดังกล่าว โดยโจทก์เป็นผู้ขออนุญาตก่อสร้างและขอมีหมายเลขประจำบ้าน ต่อมาโจทก์ทำสัญญาโอนสิทธิจะซื้อที่ดินและสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างอาคารให้บริษัท ด. โดยบริษัท ด. ตกลงชำระค่าโอนสิทธิให้แก่โจทก์ กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินและอาคารดังกล่าว เมื่อโจทก์ได้ทำสัญญาโอนสิทธิจะซื้อที่ดินและสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างอาคาร จึงถือว่าโจทก์ได้ขายอสังหาริมทรัพย์ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 3 (6) แห่ง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7089/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ที่ไม่ได้อุทธรณ์ และยืนตามคำพิพากษาเดิมเรื่องโทษ
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้มีเจตนาลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายนั้น ซึ่งในชั้นอุทธรณ์จำเลยได้ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย จำเลยก็ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่าที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยนั้นไม่ชอบแต่อย่างไร การที่จำเลยยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นฎีกาซ้ำอีก ถือได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งยกขึ้นในชั้นฎีกาและเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6899/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ที่ไม่ได้ยกขึ้นสู่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และยืนตามคำพิพากษาเดิม
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอก จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง แม้จำเลยจะยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยดังกล่าวก็ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6186/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: หลักเกณฑ์การคำนวณค่ารายปีจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและกรณีคืนเงินภาษี
หลังจากรับสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้ทำคำให้การแก้คดีแล้ว จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การตลอดมารวม 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลาจนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 จำเลยทั้งห้าจึงมีหน้าที่ที่จะต้องจดจำกำหนดระยะเวลายื่นคำให้การที่ตนร้องขอขยายระยะเวลาไว้เอง และต้องยื่นคำให้การแก้คดีภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวโดยเคร่งครัด หากมีเหตุจำเป็นไม่สามารถยื่นคำให้การได้ทันภายในกำหนดนั้น ก็ต้องร้องขอขยายระยะเวลาต่อไปตามความจำเป็นอีก การที่ต้องมีกำหนดระยะเวลาให้คู่ความแต่ละฝ่ายปฏิบัติภาระหน้าที่ของตนในการดำเนินกระบวนพิจารณาก็เพื่อเร่งรัดให้ทุกฝ่ายดำเนินกระบวนพิจารณาภายในเวลาอันสมควร หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดละเลยหน้าที่นั้นก็ต้องถือว่าไม่ติดใจดำเนินกระบวนพิจารณาตามหน้าที่ของตน แม้กระนั้นกฎหมายก็ยังให้โอกาสในการกล่าวอ้างแก้ตัวผ่อนปรนหลักเกณฑ์เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม หากว่าฝ่ายนั้นมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจจักก้าวล่วงเสียได้ แต่ในกรณีของจำเลยทั้งห้านั้น คงปรากฏตามคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การฉบับลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2545 แต่เพียงว่า ทนายจำเลยทั้งห้าเข้าใจผิดหลงว่าครบกำหนดยื่นคำให้การในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2545 โดยไม่ปรากฏว่าเหตุใดจึงทำให้เข้าใจผิดหลงไปได้เช่นนั้น เมื่อไม่ปรากฏเหตุอันอาจจูงใจให้ทนายจำเลยทั้งห้าเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปได้เช่นนั้น ข้ออ้างดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังเป็นข้อแก้ตัวอันควรได้ แม้ต่อมาวันที่ 25 ธันวาคม 2545 จำเลยทั้งห้าจะยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การอีกครั้งหนึ่งว่า การขาดนัดยื่นคำให้การนั้นมีเหตุผลสมควรประการอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 นั้น ก็ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร ฯ มาตรา 17 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 199 วรรคท้าย สำหรับปัญหาที่ว่าคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยทั้งห้าฉบับหลังเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่ ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
แม้ปีภาษี 2544 โจทก์จะมิได้นำค่ารายปีของส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกตามรายการทรัพย์สินดังกล่าวมารวมคำนวณกับค่ารายปีของโรงเรือนซึ่งติดตั้งส่วนควบนั้น แต่เมื่อโจทก์สำแดงรายการเครื่องจักรกลไกตามที่จำเลยที่ 1 ทักท้วงประจำปีภาษี 2545 แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องกำหนดค่ารายปีของส่วนควบสำคัญที่มีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกนั้น เพื่อหาจำนวนเงินที่เครื่องจักรกลไกแต่ละเครื่องสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 8 วรรคสอง เพื่อคิดค่าภาษี และในกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องจักรกลไกดำเนินกิจการเองหรือด้วยเหตุประการอื่น ก็มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้โดยคำนึงถึงลักษณะของเครื่องจักรกลไก ขนาด ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่เครื่องจักรกลไกนั้นได้รับประโยชน์ตามความในวรรคสามของมาตรา 8 นั้น แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2475 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินค่ารายปีของทรัพย์สิน กล่าวคือ ในกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง หรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินค่ารายปีโดยเทียบเคียงกับค่ารายปีของทรัพย์สินที่ให้เช่าที่มีลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันในเขตของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นนั้น แต่จำเลยที่ 1 พิจารณากำหนดค่ารายปีโดยคำนึงแต่เพียงว่าเครื่องจักณกลไกดังกล่าวมีมูลค่าสูงถึง 999,452,799.66 บาท และโจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 ถึง 4,275,982,415.29 บาท เสียภาษีสรรพสามิต 15,439,793,946.26 บาท แสดงว่าโจทก์สามารถใช้เครื่องจักรหาผลประโยชน์ได้เป็นเงินจำนวนสูงมากจึงกำหนดค่ารายปีจากข้อมูลดังกล่าวเป็นเงินจำนวนสูง ทั้งที่ค่ารายปีตามความในมาตรา 8 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ หมายถึงจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้การเช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ โดยไม่คำนึงว่าจะมีการเช่าทรัพย์สินนั้นหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยและข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้การกำหนดค่ารายปีสอดคล้องกับค่าเช่าดังกล่าวมากที่สุด โดยกรณีเงินได้ซึ่งเกิดจากการใช้เครื่องจักรนั้นผลิตสินค้าออกจำหน่ายเป็นเพียงที่มาของเงินได้ของผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น ๆ ซึ่งนำไปสู่การจัดเก็บภาษีเงินได้ตาม ป.รัษฎากร ซึ่งมีหลักการคนละอย่างกับการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ให้จัดเก็บจากฐานค่ารายปี โดยถือตามเกณฑ์การหาประโยชน์ในการให้เช่าหรือควรให้เช่าได้เป็นสำคัญ ซึ่งหากมีผู้เช่าเครื่องจักรนี้ไปใช้ผลิตสินค้าจำหน่าย ค่าเช่าเครื่องจักรย่อมเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งของผู้เช่า ซึ่งควรต้องต่ำกว่าผลประโยชน์ที่ผู้เช่าจะได้จากการใช้เครื่องจักรผลิตสินค้าจำหน่าย มิฉะนั้นก็จะไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้เช่าแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 1 กำหนดค่ารายปีจากมูลค่าเครื่องจักรโดยมีที่มาจากรายได้ของโจทก์ที่ได้จากการใช้เครื่องจักรกลไกของโจทก์ผลิตสินค้าจึงเป็นการประเมินภาษีตามดุลพินิจของตนฝ่ายเดียวโดยไม่สมเหตุสมผลและมิได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 8 วรรคสองและสามแห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ และภาระภาษีที่ตกแก่โจทก์ การประเมินและคำชี้ขาดของจำเลยทั้งห้าจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การให้เช่าเป็นวิธีการหนึ่งในการหาประโยชน์โดยตรงจากทรัพย์สิน แม้มูลค่าทรัพย์สินซึ่งนำออกให้เช่าจะเป็นฐานอย่างหนึ่งที่ผู้ให้เช่าย่อมต้องคำนึงถึงเป็นประการสำคัญก็ตาม แต่ก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เพื่อเป็นเกณฑ์กำหนดในการคำนวณหาจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ เช่น ต้องพิจารณาความเหมาะสมของระยะเวลาที่เช่าทรัพย์นั้น รวมทั้งการเสื่อมราคาของทรัพย์สินด้วย เป็นต้น ส่วนกรณีการฝากเงินต่อธนาคารอันทำให้ผู้ฝากได้มาซึ่งผลประโยชน์โดยได้รับดอกเบี้ยตอบแทนจากธนาคารตามจำนวนเงินและระยะเวลาที่ฝากนั้น น่าจะพอถือเป็นตัวเลขในการหาประโยชน์จากทรัพย์สินได้อย่างหนึ่งรวมทั้งยังต้องพิจารณาจากข้อมูลอื่น ๆ อีก เพื่อคำนวณหาค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้นว่าผันแปรเพิ่มขึ้นเพียงใดหรือไม่ อย่างไร เมื่อการประเมินของจำเลยที่ 1 ที่กำหนดค่ารายปีตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการไม่ชอบดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น ประกอบกับทางพิจารณาไม่ปรากฏข้อมูลอื่นที่จะกำหนดค่ารายปีได้ดีกว่าการกำหนดตามทางเลือกที่โจทก์เสนอเพื่อประกอบการพิจารณาหาค่ารายปีของส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกดังกล่าวจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารของรัฐจึงสมควรถือตามข้อเสนอของโจทก์ดังกล่าว ประกอบกับจำเลยทั้งห้าขาดนัดยื่นคำให้การตามรูปคดีนี้ จึงชอบที่จะใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารเหล่านั้นเป็นฐานในการคำนวณหาค่ารายปีของส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5887/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่ลงลายมือชื่อในฎีกาทำให้ฎีกาไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ฎีกาของจำเลยไม่มีลายมือชื่อผู้ฎีกา โดยเหตุที่ฎีกาเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่งตามคำนิยามในมาตรา 1 (3) แห่ง ป.วิ.พ. ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ดังนั้น เมื่อไม่มีลายมือชื่อผู้ฎีกา ฎีกาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 158 (7) ประกอบด้วยมาตรา 215 และ 225 แห่ง ป.วิ.อ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5855/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ครอบครองทรัพย์ที่ถูกลักทรัพย์มีสิทธิเป็นผู้เสียหายได้ แม้กรรมสิทธิ์จะยังไม่โอน
คำว่า "ผู้เสียหาย" ในความผิดฐานลักทรัพย์ไม่จำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ถูกลักไป บุคคลที่เป็นผู้ครอบครองทรัพย์ที่ถูกลักไปก็เป็นผู้เสียหายได้ คดีนี้ได้ความว่าจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมได้ร่วมกันลักอาหารสัตว์ส่วนหนึ่งในระหว่างทางที่โจทก์ร่วมขนส่งเพื่อส่งมอบให้แก่บริษัท ซ. ผู้ซื้อ ระหว่างการขนส่งอาหารสัตว์ที่บรรทุกในรถยนต์คันเกิดเหตุ อาหารสัตว์เหล่านั้นจึงยังคงอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสองเนื่องจากโจทก์ร่วมมีหน้าที่จำต้องส่งมอบอาหารสัตว์ให้ครบจำนวนแก่บริษัท ซ. ผู้ซื้อ โจทก์ร่วมจึงมีฐานะเป็นผู้เสียหายในเหตุคดีนี้อยู่ด้วย ไม่ว่ากรรมสิทธิ์ในอาหารสัตว์ที่โจทก์ร่วมตกลงขายได้โอนไปยังบริษัท ซ. เพราะมีการชั่งน้ำหนักอันเป็นการบ่งตัวทรัพย์สินนั้นออกเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งตั้งแต่ต้นทางการขนส่งโดยผลของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 460 วรรคแรก แล้วหรือไม่ก็ตาม โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเข้าดำเนินคดีเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้โดยชอบ แม้ขณะเกิดเหตุหากกรรมสิทธิ์ในอาหารสัตว์ดังกล่าวได้โอนไปยังบริษัท ซ. เสียก่อนแล้วโดยผลของกฎหมายอันเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองลักทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ซ. ขณะอยู่ในความครอบครองโจทก์ร่วมผู้เป็นนายจ้างของจำเลยทั้งสองซึ่งแตกต่างกับข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าวในฟ้องซึ่งบรรยายว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม กรณีก็เป็นข้อแตกต่างที่มิใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยทั้งสองมิได้หลงข้อต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 83 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5639/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขายรถยนต์ต่ำกว่าราคาตลาดและให้ของแถม มิชอบ คืนเงินภาษี
ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) ไม่ได้นิยามคำว่าราคาตลาดไว้ แต่เมื่อพิจารณาถึงความหมายในทางการค้าโดยทั่วไปแล้ว คำว่าราคาตลาดใน ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) คงมีความหมายทำนองเดียวกันกับคำว่าราคาตลาดตาม ป.รัษฎากร มาตรา 79/3 และมาตรา 91/1 (3) คือเป็นราคาสินค้าหรือบริการที่มีการซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไปในขณะใดขณะหนึ่ง โจทก์เป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ซาบแต่เพียงผู้เดียว จึงไม่มีราคารถยนต์ซาบจากผู้จำหน่ายรายอื่นมาเปรียบเทียบเป็นราคาตลาดได้ ดังนั้น หากไม่มีข้อเท็จจริงอย่างอื่นราคาตลาดรถยนต์ซาบจึงควรเป็นราคาตั้งขายปลีกแก่บุคคลทั่วไป แต่การที่โจทก์ขายรถยนต์ซาบต่ำกว่าราคาตั้งขายปลีกอันเนื่องจากสภาวะวิกฤติของเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยไม่ปรากฏว่ามีการสมยอมราคากัน จึงมิใช่เป็นราคาต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร
หนังสือสัญญาจ้างซ่อมแซมและบำรุงรักษารถยนต์โดยสาร เป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพกับบริษัท ต. และบันทึกข้อความว่าด้วยการยกเลิกค่าซ่อมรถจากอุบัติเหตุค้างดำเนินการระหว่างปี 2520 ถึง 2534 ที่แสดงว่าโจทก์ทำสัญญารับจ้างลูกจ้างดูแลบำรุงรักษารถยนต์โดยสารให้แก่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งในสัญญาข้อ 8 ให้สิทธิแก่บริษัท ต. ที่จะมอบให้บริษัทในเครือเป็นผู้ดำเนินการแทนได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์ได้เข้าร่วมป็นคู่สัญญากับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โดยมีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญา หนี้อันเกิดจากการรับจ้างซ่อมแซมดูแลรถยนต์โดยสารประจำทางในกรณีรถเกิดอุบัติเหตุ ย่อมเป็นหนี้ระหว่างโจทก์กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หาใช่หนี้ระหว่างโจทก์กับพนักงานขับรถยนต์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพแต่อย่างใดไม่ การที่โจทก์ทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการยกเลิกค่าซ่อมรถให้แก่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โดยไม่ได้ฟ้ององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเป็นคดีแพ่งหรือคดีล้มละลาย หรือองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเลิกกิจการซึ่งเป็นการไม่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534) ข้อ 4 การจำหน่ายหนี้สูญของโจทก์จึงไม่เป็นไปตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่ง ป.รัษฎากร การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ชอบแล้ว
แม้เงินมัดจำจะมีลักษณะเป็นเงินประกันความเสียหาย แต่เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 378 ได้บัญญัติไว้ด้วยว่า มัดจำนั้นถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้จัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนเมื่อชำระหนี้แล้ว เงินมัดจำจึงเข้าลักษณะเป็นเงินชำระค่ารถยนต์ล่วงหน้าบางส่วน ต้องนำมาคำนวณเป็นฐานภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 79 และ 78 (1) (ข)
การที่โจทก์ฟ้องขอให้คืนมาภาษีที่ชำระตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ชำระจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เมื่อ ป.รัษฎากร มาตรา 4 ทศ และ 84/3 บัญญัติเรื่องการคืนเงินภาษีอากรไว้เป็นพิเศษแล้ว จึงไม่อาจนำเรื่องอัตราดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาใช้บังคับ โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากยอดเงินที่ขอคืนได้ตามอัตรา หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2522) ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับเงินคืนเงินภาษีอากร ข้อ 1 (3) แต่ต้องไม่เกินกว่าจำนวนภาษีที่ได้รับคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5249/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายห้องชุดเพื่อหลีกเลี่ยงชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ ถือเป็นการฉ้อฉล เพิกถอนได้
การที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดกับจำเลยที่ 1 โดยก่อนจะมีการทำสัญญาซื้อขายห้องชุดดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้นำเช็คมาแลกเงินสดไปจากจำเลยที่ 2 รวม 10 ฉบับ เป็นเงิน 597,000 บาท ภายหลังจากเช็คถึงกำหนดชำระ จำเลยที่ 2 นำเช็คทั้งสิบฉบับไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยที่ 1 จึงโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยที่จำเลยที่ 1 ไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 2 มาก่อน ซึ่งจำเลยที่ 2 รับเช็คไว้ถึง 10 ฉบับ ทั้งๆ ที่จำเลยที่ 2 ไม่เคยมีอาชีพปล่อยเงินกู้ อีกทั้งไม่เคยรับแลกเช็ค เพิ่งทำครั้งนี้เป็นครั้งแรก การที่จำเลยที่ 2 รับแลกเช็คจากจำเลยที่ 1 จึงผิดปกติวิสัยหลายประการ ประการแรก คือ พฤติการณ์ที่ลุงของจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่กล้าให้จำเลยที่ 1 แลกเช็ค แต่แนะนำให้จำเลยที่ 1 นำเช็คมาแลกเงินสดจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหลานของตนเอง ประการต่อมาเช็คที่จำเลยที่ 1 นำมาแลกเงินสดทั้งสิบฉบับล้วนเป็นเช็คของคนอื่น ไม่ใช่เช็คของจำเลยที่ 1 และเมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดแทนที่จำเลยที่ 2 จะรีบนำเช็คแต่ละฉบับไปเรียกเก็บเงินทันที กลับปล่อยเวลาล่วงเลยไป จึงเพิ่งนำไปเรียกเก็บเงินพร้อมกัน และต่อมาจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเพื่อชำระหนี้ตามเช็ค และจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองต่อจำเลยที่ 3 ในวันเดียวกัน อีกทั้งจำเลยที่ 2 ยังได้ทำบันทึกว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับโอนห้องชุดดังกล่าวชำระหนี้ตามเช็คทั้งสิบฉบับ รวมเป็นเงิน 597,100 บาท และหนี้ที่เหลือไม่ติดใจเรียกร้องอีกต่อไป ซึ่งการกระทำดังกล่าวขัดต่อเหตุผล เพราะกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่จำเลยที่ 2 รับโอนมีราคาประมาณ 400,000 บาท อีกทั้งยังจำนวนแก่จำเลยที่ 3 เป็นประกันหนี้อยู่ประมาณ 270,000 บาท เมื่อจำเลยที่ 2 รับโอนกรรมสิทธิ์แล้วจึงยังต้องรับภาระชำระหนี้จำนองดังกล่าวด้วย แต่จำเลยที่ 2 กลับทำบันทึกว่า หนี้ที่เหลือไม่ติดใจเรียกร้องอีกต่อไป ทั้งช่วงระยะเวลาที่จำเลยที่ 2 รับแลกเช็คจากจำเลยที่ 1 และทำสัญญารับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด อยู่ในระหว่างเวลาที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้และจำเลยที่ 2 ก็ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นนอกจากกรรมสิทธิ์ในห้องชุด ดังกล่าว จึงเป็นข้อบ่งชี้ชัดว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดโดยรู้ว่าจะเป็นการให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบเป็นการฉ้อฉลโจทก์
โจทก์ได้ไปตรวจสอบเอกสารกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่สำนักงานที่ดิน เขตลาดพร้าว วันที่ 2 มีนาคม 2542 จึงทราบว่าจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้จำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2541 โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 เมื่อนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนคือวันที่ 2 มีนาคม 2542 ถึงวันฟ้อง จึงเป็นระยะเวลาไม่พ้นหนึ่งปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4458/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการฎีกาในคดีอาญา: โทษจำคุกต่อกระทงไม่เกิน 5 ปี
คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยกระทำความผิดรวม 90 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุกกระทงละ 3 เดือน แม้รวมโทษทุกกระทงแล้วลงโทษจำคุกจำเลยถึง 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 91 (1) ก็ตาม แต่เมื่อโทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงห้ามคู่ความมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
of 44