คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
องอาจ โรจนสุพจน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 439 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4228/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำละเมิดจากการสำแดงเท็จเพื่อรับเงินชดเชยภาษีอากร และความรับผิดชอบของหุ้นส่วนผู้จัดการ
การที่จำเลยที่ 1 สำแดงข้อความอันเป็นเท็จในใบขนสินค้าขาออกฉบับพิพาท โดยไม่มีการส่งออกไปต่างประเทศจริง จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษีและไม่มีสิทธิโอนสิทธิตามบัตรภาษีให้บุคคลอื่น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการจงใจกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมูลค่าบัตรภาษีให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 คือวันที่จำเลยที่ 3 รับบัตรภาษีพิพาทไปจากโจทก์ มิใช่นับแต่วันที่มีการนำบัตรภาษีไปชำระค่าภาษีอากร จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4004/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลักทรัพย์เครื่องมือเกษตรและการปรับบทลงโทษตามมาตรา 335 วรรคสาม โดยการบรรยายฟ้องต้องระบุว่าเป็นเครื่องกลหรือเครื่องจักร
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักเครื่องสูบน้ำซึ่งเป็นเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้มีอาชีพกสิกรรมทำนาไปโดยทุจริต แต่ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเครื่องสูบน้ำเป็นเครื่องกลหรือเครื่องจักรตามที่ระบุไว้ใน ป.อ. มาตรา 335 วรรสาม การกระทำของจำเลยตามคำฟ้องไม่เป็นความผิดตามมาตรา 335 วรรคสาม ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3480/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดในสัญญาโอนสิทธิบัตรภาษีจากการทุจริตของผู้โอนสิทธิ และผลของการสำแดงเท็จในการขอเงินชดเชยภาษี
ในการยื่นบัญชีระบุพยาน โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอส่งสำเนาเอกสารแทนต้นฉบับ เนื่อจากต้นฉบับอยู่ในความครอบครองดูแลของทางราชการ และทางราชการมีความจำเป็นต้องใช้ต้นฉบับเอกสารดังกล่าวอยู่ ซึ่งศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ใช้สำเนาเอกสารที่รับรองโดยถูกต้องแทนต้นฉบับได้ ทั้งบัญชีสินค้าสำหรับเรือเป็นพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องนำพยานดังกล่าวมาสืบ เมื่อศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ส่งสำเนาเอกสารแทนต้นฉบับ โจทก์จึงมีสิทธินำสำเนาบัญชีสินค้าสำหรับเรือมาสืบได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 20 ประกอบข้อกำหนดคดีภาษีอากรฯ ข้อ 16 วรรคสอง
เมื่อจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลจึงต้องพิจารณาว่าคำฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ หากมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ศาลก็ต้องพิจารณาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีไปตามคำฟ้องของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาภาษีอากรฯ มาตรา 17 ซึ่งคดีนี้โจทก์มีผู้จัดการฝ่ายเอกสารของบริษัทตัวแทนเรือเบิกความยืนยันว่ารายละเอียดสินค้าตามบัญชีสินค้าสำหรับเรือที่บริษัทตันแทนเรือรวบรวมนำส่งโจทก์ไม่ปรากฏสินค้าตามที่จำเลยที่ 1 สำแดงในใบขนสินค้าขาออก แสดงว่าเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ลงลายมือชื่อรับรองการตรวจสินค้าและรับรองการรับบรรทุกในใบขนสินค้าขาออกพิพาทไม่มีการตรวจสอบจริงและจำเลยที่ 1 มิได้ส่งสินค้าออกไปต่างประเทศตามที่สำแดงในใบขนสินค้าขาออกพิพาทนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกในรูปบัตรภาษี การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกโดยสำแดงใบขนสินค้าขาออกเป็นเท็จ จึงเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ต้องรับผิดคืนเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดคือวันที่จำเลยที่ 2 รับบัตรภาษีพิพาท
ในการขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษี จำเลยที่ 2 สัญญาว่า กรณีที่เกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด ๆ ยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น นั้น เป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ว่าในการขอรับสิทธิตามบัตรภาษี หากปรากฏว่าการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรของผู้โอนสิทธิเกิดจากการทุจริตและเกิดความเสียหายแก่โจกท์ไม่ว่ากรณีใด จำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดต่อโจทก์โดยไม่มีข้อโต้แย้ง เป็นข้อตกลงที่ไม่มีกฎหมายห้ามและมิใช่ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้โจทก์ต้องรับผิดเพื่อความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 373 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จึงใช้บังคับได้ เมื่อจำเลยที่ 2 นำบัตรภาษีไปใช้ชำระค่าภาษีอากรแทนเงินสดแล้ว จึงมีความรับผิดตามสัญญาต้องใช้เงินคืนโจทก์ตามมูลค่าบัตรภาษีรายพิพาทที่เกิดจากการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาไม่มีกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3052/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานลักทรัพย์โคของผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายเกี่ยวกับความถูกต้องของฐานความผิด
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันลักโคของผู้เสียหาย ซึ่งมีอาชีพกสิกรรมและมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) (12) วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามมาตรา 335 (7) (12) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จึงไม่ต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้คู่ความมิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 โดยให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2874/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องเคลือบคลุม: สิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายต้องชัดเจนถึงความสัมพันธ์และฐานะทางกฎหมายของผู้ฟ้อง
คำฟ้องของโจทก์ปรากฏข้อความที่กล่าวถึงการที่จำเลยทั้งสามโต้แย้งสิทธิของโจทก์อยู่ในข้อ 3 ว่า "ด้วยผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวในข้อ 2 ทำให้โจทก์และบุตรอีก 3 คน ต้องได้รับความเสียหายและขาดผู้อุปการะ..." โดยคำฟ้องของโจทก์ข้ออื่นตลอดจนเอกสารท้ายฟ้องทุกฉบับไม่ปรากฏข้อความใดที่ระบุว่าโจทก์และบุตรทั้งสามของโจทก์เกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์กับผู้ตาย ในฐานะใด อันมีผลทำให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด ในฐานะส่วนตัวหรือฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรทั้งสามได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการบรรยายฟ้องโดยไม่แจ้งชัดว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องโดยอาศัยสิทธิใดในการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับค่าปลงศพ และโจทก์อาศัยสิทธิใดในการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับเรื่องการต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่เข้าใจและไม่สามารถต่อสู้คดีปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ได้ตามสมควร จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แม้จะได้ความในทางพิจารณาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 อาจทราบฐานะของโจทก์ว่าเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายมาก่อนที่โจทก์ฟ้องคดี ก็ไม่ทำให้คำฟ้องของโจทก์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่แรกกลับเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2278/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: การโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วในศาลอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายลงโทษจำคุก 10 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง ข้อหาและคำขออื่นให้ยก โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายอีกกระทงหนึ่งตามฟ้อง จำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางแก่จำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ดังนี้ ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจึงยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์เป็นพิรุธ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางอยู่ในความครอบครองของจำเลย ขอให้พิพากษากลับยกฟ้องโจทก์ และหากศาลฎีกาฟังว่าจำเลยมีความผิดก็ขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เป็นฎีกาที่โต้เถียงปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งยุติไปแล้ว และเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยมา ศาลฎีกาก็ไม่อาจรับวินิจฉัยฎีกาให้จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2014/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทมาตรา 335 ป.อ. กรณีลักทรัพย์โดยทำลายสิ่งกีดกั้น – การพิจารณาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างเวลากลางคืนก่อนเที่ยงจนถึงเวลากลางวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทำอันตรายกุญแจประตูบ้านพักซึ่งเป็นสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ แล้วผ่านประตูดังกล่าวเข้าไปลักทรัพย์ภายในบ้านพักอันเป็นเคหสถาน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (3) อันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไปด้วยประการใด ๆ จึงเป็นการปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้อง ซึ่งปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1947/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนอสังหาริมทรัพย์ให้บุตรโดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน ไม่ถือเป็นการขายเพื่อหากำไร จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
มาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากร มิได้บัญญัติไว้แจ้งชัดว่าการขายอสังหาริมทรัพย์กรณีใดเป็นการขายที่เข้าลักษณะเป็นทางค้าหรือหากำไร แต่ได้บัญญัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดโดย พ.ร.ฎ. ซึ่งในขณะที่โจทก์จดทะเบียนให้ ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและตึกแถวดังกล่าว พ.ร.ฎ. ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้ายการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244)ฯ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ว่าให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากร มีดังต่อไปนี้ (1)...(6) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (5) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น แต่อย่างไรก็ตาม การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (5) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นมิใช่ว่าจะเป็นทางค้าหรือหากำไรเสมอไป หากแต่เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป การที่โจทก์จดทะเบียนให้ ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและตึกแถวดังกล่าวโดยเสน่หา จะถือว่าเป็นการขายตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 (4) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น แต่เมื่อเป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่าผู้ที่โจทก์โอนที่ดินดังกล่าวให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์และเป็นการโอนโดยไม่มีค่าตอบแทน การโอนที่ดินดังกล่าวจึงไม่ใช่การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร โจทก์จึงไม่จำต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 770/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะตามมาตรา 92 การคำนวณโทษ และการลงโทษจำคุกหรือปรับ
การเพิ่มโทษตาม ป.อ. มาตรา 92 เป็นการเพิ่มโทษหนึ่งในสามของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลังเมื่อจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ จึงต้องระวางโทษตามมาตรา 335 วรรคสอง มาคำนวณประกอบกับระวางโทษตามมาตรา 336 ทวิ เพื่อกำหนดโทษสำหรับความผิดในคดีนี้ แล้วจึงเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 92
ความผิดที่จำเลยกระทำกฎหมายกำหนดให้ลงโทษทั้งจำคุกและปรับ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลงแต่โทษจำคุกเพียงสถานเดียวก็ได้แต่ลงโทษปรับเพียงสถานเดียวไม่ได้ ตามป.อ. มาตรา 20

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 767/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์สินที่ใช้โดยสะดวกในการกระทำความผิด การพิจารณาความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการกระทำความผิด
การที่ศาลจะมีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) นั้น มีความมุ่งหมายถึงให้ริบตัวทรัพย์สินที่ผู้กระทำความผิดได้ใช้ในการกระทำความผิดนั้น ๆ โดยตรง คือทรัพย์สินนั้นจะต้องเกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดด้วย ซึ่งต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่อง ๆ ไป สำหรับคดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกลักทรัพย์โดยในการลักทรัพย์ดังกล่าวจำเลยกับพวกได้ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด การพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง และโจทก์จำเลยไม่ติดใจสืบพยานจึงฟังได้ว่าจำเลยกับพวกใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์ของผู้เสียหาย หรือพาเอาทรัพย์ของผู้เสียหายที่จำเลยลักได้มานั้นไป หรือเพื่อให้จำเลยพ้นจากการจับกุมเท่านั้น รถจักรยานยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยตรงที่ศาลจะมีอำนาจสั่งริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
of 44