คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
องอาจ โรจนสุพจน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 439 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 726/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายที่ดินโดยมิได้มีอาชีพค้าอสังหาริมทรัพย์ ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
โจทก์มีอาชีพรับราชการครู มิได้มีอาชีพหรือทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์แต่อย่างใด ที่ดินที่โจทก์ขายไปนี้ โจทก์ได้รับยกให้จากน้องของโจทก์เมื่อปี 2522 โดยโจทก์มิได้ลงทุนซื้อหามาเอง การที่โจทก์ให้บริษัท อ. เช่าที่ดินเพื่อสร้างสถานีบริการน้ำมันก็เป็นการแสวงหาประโยชน์ตามปกติในฐานะเจ้าของทรัพย์สิน โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นให้ผู้อื่นเช่าอีกอันจะเข้าลักษณะของการประกอบอาชีพหรือทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ การที่โจทก์ขายที่ดินไปก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นการขายเพื่อจะซื้อที่ดินแปลงใหม่แล้วนำมาให้เช่าหรือหากำไรอีกทอดหนึ่งแต่อย่างใด แม้ที่ดินของโจทก์จะมีราคาสูงแต่ก็ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าโจทก์ขายที่ดินเป็นทางค้าหรือหากำไรเสมอไปเพราะราคาที่ดินย่อมขึ้นอยู่กับสภาพ ทำเลที่ตั้งและความพึงพอใจของคู่สัญญาเป็นตัวกำหนด จากพฤติการณ์ดังกล่าว การที่โจทก์ขายที่ดินไปยังถือไม่ได้ว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 91/2 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 726/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายที่ดินโดยไม่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
กรณีที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (6) นั้น ต้องเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใด ทั้งนี้ เฉพาะที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ดังนั้น จึงต้องพิจารณาก่อนว่าการขายที่ดินของโจทก์เป็นการขายที่เป็นทางค้าหรือหากำไรหรือไม่ ถ้าใช่ถึงจะต้องพิจารณาต่อไปว่า การขายนั้นอยู่ในหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาที่ให้ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่
โจทก์รับราชการครู มิได้มีอาชีพหรือทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ที่ดินที่โจทก์ขายไปโจทก์ได้รับยกให้จากน้องสาวตั้งแต่ปี 2522 โดยโจทก์มิได้ลงทุนซื้อหามาเอง การที่โจทก์ให้บริษัท อ. เช่าที่ดินเพื่อสร้างสถานีบริการน้ำมันก็เป็นการแสวงหาประโยชน์ตามปกติในฐานะเจ้าของทรัพย์สิน แม้ที่ดินของโจทก์จะมีราคาสูงแต่ก็ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าโจทก์ขายที่ดินเป็นทางค้าหรือหากำไรเสมอไป เพราะราคาที่ดินย่อมขึ้นอยู่กับสภาพ ทำเลที่ตั้งและความพึงพอใจของคู่สัญญาเป็นตัวกำหนด การที่โจทก์ขายที่ดินไปยังถือไม่ได้ว่าเป็นทางค้าหรือหากำไรที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 345/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยอมความระหว่างจำเลยกับผู้เสียหาย ส่งผลให้สิทธิในการฟ้องคดีอาญาของโจทก์ระงับ
คดีความผิดต่อส่วนตัว ในวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ทนายจำเลยแถลงว่าจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้เสียหายและผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยต่อไป ศาลชั้นต้นหมายเรียกผู้เสียหายมาสอบถามหากไม่มาถือว่าผู้เสียหายยอมรับความจริงตามที่ทนายจำเลยแถลง ผู้เสียหายได้รับหมายแล้วไม่มาศาล จึงถือว่าผู้เสียหายกับจำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยจริง ถือว่าได้มีการทำยอมโดยถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงเป็นอันระงับไปตามป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 262/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวความผิดเดียว: สิทธิฟ้องระงับเมื่อรับโทษแล้ว
เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยพร้อมด้วยทรัพย์ของกลางในคดีก่อนกับคดีนี้ในคราวเดียวกัน แต่ที่แยกฟ้องเพราะทรัพย์ของกลางทั้งสองคดีมีผู้เสียหายสองคน การที่จำเลยมิได้รับทรัพย์ของกลางในคดีนี้กับในคดีก่อนไว้คนละคราวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดฐานรับของโจรกรรมเดียว เมื่อคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรแล้ว สิทธิที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องจำเลยสำหรับความผิดฐานรับของโจรในคดีนี้จึงระงับไปตามป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 195/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคำร้องขอเป็นผู้ขาดความสามารถในการจ่ายค่าธรรมเนียมศาล ต้องฟังข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนก่อนวินิจฉัย
โจทก์ขอฟ้องคดีอย่างคนอนาถาโดยอ้างว่ากรมสรรพากรจำเลยยึดและอายัดทรัพย์สินทั้งหมดของโจทก์ทำให้โจทก์ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ทั้งไม่มีทรัพย์สินอื่นใดอีกที่จะนำมาขายหรือเป็นหลักประกันเพื่อขอกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่น ทำให้ไม่มีเงินที่จะนำมาชำระค่าธรรมเนียมศาลได้ ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โจทก์อ้างแม้ทรัพย์สินจำนวนมากดังกล่าวยังเป็นของโจทก์ แต่โจทก์ก็ไม่สามารถขายหรือนำไปเป็นหลักประกันเพื่อหาเงินมาเป็นค่าธรรมเนียมศาลจำนวนสูงอันอาจจะถือได้ว่าโจทก์เป็นคนยากจน การที่ศาลภาษีอากรกลางงดการไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง จึงเป็นการวินิจฉัยโดยยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนเสียก่อน ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ศาลฎีกาย้อนสำนวนไปให้ทำการไต่สวนคำร้องต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 170/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำรับสารภาพชั้นจับกุม/สอบสวนใช้ประกอบพยานหลักฐานได้หากไม่ขัดแย้ง และศาลรับฟังพยานหลักฐานมั่นคง
คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นพยานบอกเล่า แต่ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟัง ศาลนำคำให้การดังกล่าวมาประกอบพยานโจทก์ผู้จับกุมที่ยืนยันถึงการกระทำความผิดของจำเลยโดยชัดแจ้งเพื่อให้น้ำหนักพยานโจทก์มั่นคงโดยปราศจากข้อสงสัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8824/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีธุรกิจเฉพาะจากกิจการร่วมค้า การประเมิน และการลดเบี้ยปรับจากเหตุผลความเข้าใจผิด
โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลร่วมกับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาขายที่ดินอันมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาเป็นการประกอบกิจการร่วมค้าตาม ป.รัษฎากร มาตรา 39 จึงเป็นนิติบุคคลผู้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะจากรายรับที่ได้จากกิจการที่ดำเนินการร่วมกันต่างหากจากโจทก์ทั้งแปดแต่ละคนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/1 (4) ประกอบมาตรา 91/1 วรรคสอง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งแปดได้ร่วมกันยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะในนามของนิติบุคคลผู้ประกอบกิจการร่วมค้าเช่นนี้ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินได้โดยไม่จำต้องออกหมายเรียกตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/15 (1) และมาตรา 88/4 ประกอบกับมาตรา 91/21 (5) กรณีภาษีธุรกิจเฉพาะ ประมวลรัษฎากรมิได้กำหนดเวลาการประเมินไว้ จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติอายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 ซึ่งมีกำหนด 10 ปี ในการเรียกเอาค่าภาษีอากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8458/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดี, การระงับหนี้ด้วยการชำระหนี้, และการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่ตกลง
เมื่อสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2525 และจำเลยที่ 2 ได้ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนในวันที่ 30 ธันวาคม 2525 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในวันดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) และให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลาเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 ดังนั้นแม้อายุความจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2525 ตามข้ออ้างของจำเลยก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีก่อนในวันที่ 19 พฤษภาคม 2535 นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2525 ถึงวันฟ้องคดีก่อน ไม่เกิน 10 ปี สิทธิเรียกร้องกรณีนี้มีอายุความสิบปี ฟ้องโจทก์ในคดีก่อนก็ยังไม่ขาดอายุความและอายุความสะดุดหยุดลงอีกครั้งนับแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2535 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้องคดีก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) เมื่อคดีก่อนศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องอันถือได้ว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง อายุความจึงครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณาคดีก่อน แต่ศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีก่อนเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2539 ให้ยกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ โจทก์จึงฟ้องคดีใหม่เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2540 นับตั้งแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีใหม่เป็นเวลาไม่เกิน 60 วัน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่คดีนั้นศาลไม่รับหรือคืนหรือให้ยกคำฟ้องเพราเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล หรือศาลให้ยกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ และปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณา หรือจะครบกำหนดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดี เพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด" ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามบทบัญญัติดังกล่าว
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง สาระสำคัญว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งใดๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความ ดังนั้นการที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีก่อนย่อมผูกพันจำเลยทั้งสอง เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยและโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้ตามสัญญาอัตราร้อยละ 18 ต่อปี คดีนี้จึงต้องฟังว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ได้ไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8229/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษีอากรขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หากยังไม่แน่นอนว่าผู้เสียภาษีต้องรับผิดจริงหรือไม่
พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรโจทก์ที่ 1 เคยออกแบบแจ้งการประเมินรวม 19 ฉบับ ให้จำเลยชำระภาษีอากรที่ขาดให้ครบถ้วนตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2545 มาครั้งหนึ่งแล้ว แต่พนักงานเจ้าหน้าที่หลงลืมมิได้ลงลายมือชื่อ ต่อมาโจทก์ที่ 1 ออกแบบแจ้งการประเมินแก่จำเลยอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2545 เพื่อป้องกันการโต้แย้งจากจำเลยว่าแบบแจ้งการประเมินเดิมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น เมื่อจำเลยได้โต้แย้งแบบแจ้งการประเมินให้ชำระภาษีอากรที่ขาดฉบับปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2545 โดยยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินแล้ว ก็เท่ากับจำเลยได้ยอมรับรองแบบแจ้งการประเมินของโจทก์ที่ 1 นั้นโดยปริยาย หลังจากรับการประเมินครั้งใหม่แล้ว จำเลยยังยื่นอุทธรณ์การประเมินซ้ำอีกครั้งหนึ่งโดยขอถือตามคำอุทธรณ์ฉบับเดิมจึงชอบที่โจทก์ที่ 1 จะเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ฉ สิทธิในการอุทธรณ์ของผู้นำของเข้าเช่นจำเลยมิได้จำกัดไว้เฉพาะกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าอากรสำหรับของที่กำลังผ่านศุลกากรตามมาตรา 112 เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการประเมินอากรของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ที่เกิดขึ้นแก่ผู้นำของเข้าทุกกรณี เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสียก่อนที่จะมีการนำคดีมาสู่ศาล เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย จึงยังไม่แน่นอนว่าจำเลยจะต้องรับผิดตามที่ถูกประเมินหรือไม่ และถือว่าโจทก์ที่ 1 ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับอากรขาเข้า
ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น แม้จะถือไม่ได้ว่าคำอุทธรณ์ที่จำเลยยื่นต่อกรมศุลกากรโจทก์ที่ 1 เป็นการอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 (1) ด้วย แต่การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีนี้สืบเนื่องจากข้อพิพาทในเรื่องราคาสินค้าที่ใช้เป็นหลักฐานในการคำนวณค่าอากรขาเข้าเป็นหลัก และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าสินค้านั้นมาตรา 79/2 กำหนดฐานภาษีไว้ตามมูลค่าของสินค้านำเข้าโดยให้ใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ.ของสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้าภาษีสรรพสามิตที่กำหนดในมาตรา 77/1 (19) ค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นตามที่จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา และในกรณีที่เจ้าพนักงานศุลกากรได้ทำการประเมินราคาเพื่อเสียอากรขาเข้าใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ให้ถือราคานั้นเป็นราคาสินค้าในการคำนวณราคา ซี.ไอ.เอฟ. ฉะนั้น ความรับผิดเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายของจำเลยจึงขึ้นอยู่กับคำอุทธรณ์ของจำเลยที่ยื่นไว้ต่อโจทก์ที่ 1 โดยจำเลยไม่จำต้องอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร เมื่อยังไม่แน่นอนว่ามูลค่าของสินค้านำเข้าเป็นเท่าใด ความรับผิดของจำเลยเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มจึงยังไม่แน่นอนไปด้วย กรมสรรพากรโจทก์ที่ 2 ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8229/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษีอากรขึ้นอยู่กับความแน่นอนของมูลหนี้และการอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยได้โต้แย้งแบบแจ้งการประเมินให้ชำระภาษีอากรที่ขาด โดยยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินแล้ว ก็เท่ากับจำเลยได้ยอมรับรองแบบแจ้งการประเมินของโจทก์ที่ 1 นั้นโดยปริยาย นอกจากนั้นหลังจากรับแจ้งการประเมินครั้งใหม่แล้วจำเลยยังยื่นอุทธรณ์การประเมินซ้ำอีกครั้งหนึ่งโดยขอถือตามคำอุทธรณ์ฉบับเดิม จึงชอบที่โจทก์ที่ 1 จะเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดำเนินการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 112 ฉ ซึ่งบัญญัติให้สิทธิผู้นำของเข้าอุทธรณ์การประเมินอากรของพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ สิทธิในการอุทธรณ์ของผู้นำของเข้าเช่นจำเลยมิได้จำกัดไว้เฉพาะกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าอากรสำหรับของที่กำลังผ่านศุลกากรตามมาตรา 112 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากรฯ แต่ยังรวมถึงการประเมินอากรของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ที่เกิดขึ้นแก่ผู้นำของเข้าทุกกรณี เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสียก่อนที่จะมีการนำคดีมาสู่ศาล เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่คัดค้านการประเมินอากร จึงยังไม่แน่นอนว่าจำเลยจะต้องรับผิดตามที่ถูกประเมินหรือไม่ และถือว่าโจทก์ที่ 1 ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 17 โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับอากรขาเข้า
ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น แม้จะถือไม่ได้ว่าคำอุทธรณ์ที่จำเลยยื่นต่อโจทก์ที่ 1 เป็นการอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 30 (1) ด้วย แต่การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีนี้สืบเนื่องจากข้อพิพาทในเรื่องราคาสินค้าที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าอากรขาเข้าเป็นหลัก และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าสินค้านั้น ป.รัษฎากร มาตรา 79/2 กำหนดฐานภาษีไว้ตามมูลค่าของสินค้านำเข้าโดยให้ใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้า ภาษีสรรสามิตที่กำหนดในมาตรา 77/1 (19) ค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นตามที่จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา และในกรณีที่เจ้าพนักงานศุลกากรได้ทำการประเมินราคาเพื่อเสียภาษีอากรขาเข้าใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ให้ถือราคานั้นเป็นราคาสินค้าในการคำนวณราคา ซี.ไอ.เอฟ. ฉะนั้น ความรับผิดเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายของจำเลยจึงขึ้นอยู่กับคำอุทธรณ์ของจำเลยที่ยื่นไว้ต่อโจทก์ที่ 1 หากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 วินิจฉัยให้ราคาสินค้าและค่าอากรขาเข้าที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ประเมินไว้ลดลง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ก็ต้องลดลงโดยผลของกฎหมายดังกล่าว โดยจำเลยไม่ต้องอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม ป.รัษฎากรแต่อย่างใด เมื่อยังไม่แน่นอนว่ามูลค่าของสินค้านำเข้าเป็นเท่าใด ความรับผิดของจำเลยเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มจึงยังไม่แน่นอนไปด้วย โจทก์ที่ 2 ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเช่นเดียวกัน
of 44