คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
องอาจ โรจนสุพจน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 439 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 642/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอำนาจการลดเบี้ยปรับ
ธนาคาร ก. ตกลงให้นำหนี้ของบริษัท น. และบริษัท ท. มารวม และให้โจทก์เป็นผู้ชำระหนี้ ตามสัญญากู้เงินโดยมีโจทก์เป็นผู้กู้ ส่วนบริษัท น. และบริษัท ท. เป็นผู้ค้ำประกัน เมื่อพิเคราะห์บัญชีที่โจทก์จัดทำขึ้น โจทก์ได้บันทึกบัญชีว่า บริษัท น. และบริษัท ท. เป็นลูกหนี้เงินกู้ระยะยาว แต่ไม่ได้บันทึกดอกเบี้ยรับไว้ในบัญชี ตามสมุดรายวันทั่วไปของโจทก์ มีรายได้ดอกเบี้ยรับเงินกู้ระยะยาวจากบริษัท น. และบริษัท ท. อันเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสัญญากู้ยืมเงินและข้อมูลทางบัญชีเกี่ยวกับฐานะทางการเงินของกิจการของโจทก์ พยานหลักฐานดังกล่าวย่อมฟังได้ว่าโจทก์ให้บริษัท น. และบริษัท ท. ซึ่งมีความสัมพันธ์กับบริษัทโจทก์กู้ยืมเงิน เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (5)
กรณีมีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มให้แก่โจทก์หรือไม่ เป็นข้อที่โจทก์ต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์เรื่องนี้ต่อศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 641/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำภาษีชำระเกินยกมาหักลดหย่อนภาษีที่ต้องชำระ การประเมินภาษีที่ไม่ถูกต้อง
เดือนภาษีมกราคม 2540 โจทก์มีภาษีชำระเกินยกมา 3,009,253.77 บาท ซึ่งตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/3 วรรคสาม ให้สิทธิโจทก์นำไปชำระภาษีในเดือนถัด ๆ ไปได้จนกว่าจะหมด การที่เจ้าพนักงานประเมินนำภาษีที่ต้องชำระเดือนนี้ 511,661.12 บาท หักออกจากภาษีชำระเกินยกมา แล้วคงเหลือภาษีชำระเกินยกมา 2,497,492.65 บาท เป็นการนำภาษีที่โจทก์ต้องชำระเพิ่มมาหักออกจากภาษีที่ชำระเกินยกมาแล้วยังมีภาษีชำระเกินยกไปใช้ในเดือนถัดไป ดังนั้น โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชำระภาษีเพิ่มเติมและเงินเพิ่ม คงต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับตามการประเมินเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8294/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินต้องเป็นไปตามรายการที่แจ้งประเมินและขอบเขตที่ผู้เสียภาษีร้องขอให้พิจารณาใหม่
จำเลยมีใบแจ้งรายการประเมิน ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2548 มีข้อความสรุปได้ว่า ด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควร กำหนดค่ารายปีและค่าภาษีที่พึงชำระสำหรับทรัพย์สินของโจทก์รวม 5 รายการ แต่ไม่ปรากฏการกำหนดค่ารายปีและค่าภาษีสำหรับทรัพย์สินซึ่งเป็นกองพัสดุและพื้นที่ต่อเนื่อง ดังนั้น กองพัสดุและพื้นที่ต่อเนื่องจึงมิใช่รายการหรือประเภทแห่งทรัพย์สินที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับการประเมินจะต้องพึงชำระค่าภาษีตามการประเมินของจำเลยแต่อย่างใด โจทก์ขอให้พิจารณาการประเมินใหม่เฉพาะ 5 รายการตามใบแจ้งรายการประเมิน แต่ใบแจ้งคำชี้ขาดของจำเลยกลับมีรายการเพิ่มเติมโดยประเมินค่ารายปีและค่าภาษีของกองพัสดุกับพื้นที่ต่อเนื่อง ซึ่งนอกเหนือจากใบแจ้งรายการประเมินของจำเลย และนอกเหนือจากรายการที่โจทก์ขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ดังนั้น ใบแจ้งคำชี้ขาดของจำเลยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับกองพัสดุและพื้นที่ต่อเนื่องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6710/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บริการตรวจสอบสินค้าในไทยและส่งผลให้ต่างประเทศ ไม่ถือเป็นการให้บริการที่ใช้ในต่างประเทศ จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์อัตราภาษี 0%
งานบริการที่โจทก์รับทำให้แก่ผู้ว่าจ้างในต่างประเทศเป็นเพียงงานด้านการตรวจสอบสินค้า ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ผลิตสินค้าในประเทศไทย และการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างสินค้าในห้องปฏิบัติการมิใช่งานบริการด้านการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำรายงานข้อมูลให้แก่ผู้ว่าจ้างในต่างประเทศเพื่อนำข้อมูลดังกล่าวนั้นไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมดแต่อย่างใด การที่โจทก์ทราบผลของการตรวจสอบแล้วจัดส่งรายงานดังกล่าวไปให้แก่ผู้ว่าจ้างในต่างประเทศพร้อมกับใบแจ้งหนี้ ลักษณะของการให้บริการเช่นนี้เห็นได้ว่า เป็นการให้บริการด้านการตรวจสอบหรือวิเคราะห์ตัวอย่างสินค้า หรือการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ผลิตสินค้าของโจทก์ได้ดำเนินการในประเทศไทยถือได้ว่ามีการให้บริการด้านการตรวจสอบในประเทศไทยแล้ว สำหรับการส่งผลการตรวจสอบที่เกิดจากการตรวจวิเคราะห์ของโจทก์ให้แก่ผู้ว่าจ้างในต่างประเทศเป็นเพียงรายงานผลการจากการใช้บริการด้านการตรวจสอบของผู้ว่าจ้างในต่างประเทศเท่านั้น มิใช่เป็นการส่งผลของการให้บริการด้านการตรวจสอบนั้นออกไปใช้นอกราชอาณาจักร ส่วนการที่ผู้ว่าจ้างในต่างประเทศจะนำผลการตรวจสอบไปใช้ในการประกอบการตัดสินใจหรือไม่เป็นเรื่องของการใช้ผลการตรวจสอบซึ่งเป็นขั้นตอนภายหลังจากที่บริการด้านการตรวจสอบของโจทก์ดำเนินการเสร็จแล้ว โดยผลการตรวจสอบนั้นอาจถูกนำมาใช้ในการพิจารณาสั่งซื้อต่อรองราคา ว่าจ้างผลิต ส่งออกสินค้า และวิเคราะห์ตัวอย่างสินค้าในประเทศไทยในภายหลังได้ กรณีเช่นนี้ย่อมไม่อยู่ในความหมายของถ้อยคำที่ว่าได้ส่งผลของการให้บริการนั้นไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105) เรื่อง กำหนดประเภทหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขกรณีการให้บริการที่ทำในราชอาณาจักร และได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศตามมาตรา 80/1 (2) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีพิพาทตามฟ้องจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 80/1 (2) โจทก์จึงไม่มีสิทธิใช้อัตราภาษีร้อยละ 0 ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการตามฟ้องได้ ฉะนั้น ใบแจ้งหนี้ที่โจทก์ออกให้แก่ผู้ว่าจ้างในต่างประเทศในกรณีนี้จึงไม่ถือเป็นใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/5 (1) แห่ง ป.รัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3322/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้จากการขายสิทธิการเช่าและการหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง
หนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาระบุปีภาษี รายละเอียดแสดงการคำนวณภาษี ภาษีที่ต้องชำระ เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ทั้งแสดงเหตุผลที่ประเมินไว้ท้ายหนังสือดังกล่าว สำหรับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มมีรายการยอดขายและภาษีขาย ผลการตรวจยอดขายในเดือนพิพาท ยอดขายที่ต้องเสียภาษี ยอดแตกต่างภาษีขาย รายการคำนวณภาษี รายการเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ รวมภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม ทั้งมีเหตุผลประเมินที่ด้านหลังและข้อควรทราบระบุว่า โจทก์มีรายรับถึงเกณฑ์ต้องจดทะเบียนผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการ และเป็นกรณีประกอบกิจการโดยไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับคำวินิจฉัย อุทธรณ์วินิจฉัยเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาความว่า โจทก์โอนสิทธิการเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1946 ให้แก่บริษัท น. และบริษัทดังกล่าวตีราคาสิทธิการเช่าเป็นหุ้นให้โจทก์ โดยโจทก์ไม่ต้องนำเงินลงทุนเป็นการแลกเปลี่ยน โจทก์จึงได้รับประโยชน์เท่ากับมูลค่าสิทธิที่ระบุในงบการเงินของบริษัท ถือเป็นเงินได้ของโจทก์ตามมาตรา 40 (8) แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าบริษัท น. ให้สัตยาบันเกี่ยวกับสัญญาหรือค่าใช้จ่ายค่ารื้อถอนให้ผู้อยู่อาศัยเดิมก่อนการจัดตั้งบริษัท จึงถือเอารายจ่ายดังกล่าวนั้นมาตีราคาเป็นมูลค่าหุ้นของโจทก์ไม่ได้ เจ้าพนักงานหักค่าใช้จ่ายการโอนสิทธิการเช่าตามหลักฐานที่ปรากฏตามความจำเป็นและสมควร โดยคำนวณเฉลี่ยตามสัดส่วนของเนื้อที่ที่ดินถือว่าเป็นธรรมแล้ว เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์โจทก์นำไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2549 โดยขอเครดิตภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตาม พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 247) พ.ศ.2534 และเจ้าพนักงานได้ประเมินเงินได้สุทธิโดยหักต้นทุนซื้อ อากรแสตมป์และค่าธรรมเนียมจดทะเบียนแล้ว เงินได้จากการโอนสิทธิการเช่าอาคารพาณิชย์พร้อมที่ดิน เจ้าพนักงานประเมินประเมินเงินได้สุทธิโดยหักต้นทุนและค่าใช้จ่ายตามสัดส่วนของเงินได้ตามหลักความสัมพันธ์ระหว่างรายได้กับรายจ่าย เหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว โจทก์สำคัญผิดในข้อกฎหมาย ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษี จึงงดเบี้ยปรับให้ทั้งสิ้น ส่วนเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่ง ป.รัษฎากร ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้อำนาจงดหรือลดได้ จึงให้โจทก์เสียภาษีและเงินเพิ่มตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน สำหรับคำวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มมีความว่า โจทก์โอนสิทธิการเช่าที่ดินเลขที่ 1946 ให้แก่บริษัท น. โดยได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นมูลค่าหุ้น กรณีถือเป็นการขายสินค้าไม่มีรูปร่างตามมาตรา 77/1 (8) (9) แห่ง ป.รัษฎากร มูลค่าทั้งหมดที่ได้รับหรือพึงได้รับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79/3 (1) เจ้าพนักงานประเมินตามมูลค่าที่ปรากฏในงบการเงินของบริษัทเป็นการถูกต้องแล้ว เงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่ง ป.รัษฎากร ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้อำนาจงดหรือลด โจทก์สำคัญผิดในข้อกฎหมาย ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษี จึงงดเบี้ยปรับให้ทั้งสิ้น เห็นได้ว่า หนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจครบถ้วนแล้วตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37
โจทก์ขายอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์ถือครองเป็นระยะเวลาสั้นมากไม่ถึง 1 ปี และไม่ปรากฏว่าโจทก์ซื้อมาเพื่อจะใช้เป็นที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญหรือได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินสมกับเนื้อที่ แต่หลังจากซื้อที่ดิน 1 เดือน โจทก์ได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีธุรกิจเฉพาะประเภทการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไร เงินได้จากการขายที่ดินของโจทก์จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์โดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรตามมาตรา 48 (4) (ข) โจทก์ไม่มีสิทธิจะเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณตามมาตรา 48 (1) และ (2) และไม่อาจหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาตาม พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 165) พ.ศ.2529 แต่ต้องหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 46 แห่ง ป.รัษฎากร และมาตรา 8 ทวิ แห่ง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502
ป.รัษฎากร มาตรา 30 (2) มิได้บัญญัติว่าการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลจะต้องอ้างเหตุผลเช่นเดียวกัน โจทก์จึงอ้างถึงเหตุอื่นนอกเหนือจากที่เคยอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้
สัญญาเช่าที่ดินมีข้อความว่า ผู้เช่ายอมยกกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่ผู้เช่าได้กระทำลงในที่ดินที่เช่าให้แก่ผู้ให้เช่า และผู้ให้เช่ายอมให้ผู้เช่านำอาคารพาณิชย์ อาคารอพาร์ตเมนต์และอาคารสรรพสินค้าที่ปลูกสร้างลงในที่ดินที่เช่าออกให้บุคคลอื่นเช่า จึงมีลักษณะต่างตอบแทนเป็นพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ถือไม่ได้ว่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว เมื่อ ป. ถึงแก่ความตาย สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าย่อมเป็นมรดกตกทอดไปยังทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และ 1600 โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ป. ได้รับอนุมัติจากกรมการศาสนาเข้าสืบสิทธิการเช่าที่ดินดังกล่าว แม้โจทก์ทำสัญญากับกรมการศาสนาโดยเป็นผู้เช่า ก็เป็นการสืบสิทธิของ ป. เจ้ามรดกผู้เช่าเดิม แต่สิทธิการเช่าดังกล่าวเป็นสินสมรส จึงเป็นมรดกของ ป. เพียงกึ่งหนึ่ง เมื่อโจทก์มีชื่อเป็นผู้เช่าแต่ผู้เดียว และบริษัท น. ออกหุ้นตามมูลค่าสิทธิการเช่าดังกล่าว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานการชำระค่าหุ้น เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินได้ตามมาตรา 61 แห่ง ป.รัษฎากร การที่โจทก์โอนสิทธิการเช่าให้แก่บริษัท น. ถือว่าโจทก์มีเงินได้จากการขายสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (9) แห่ง ป.รัษฎากร เพียงกึ่งหนึ่ง
ป.ทำสัญญาเช่าตั้งแต่ก่อน จ. และ ฉ. ทำสัญญาร่วมถือสิทธิและลงทุนกับ ป.และจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท น. แสดงว่า ป. ทำสัญญาในฐานะส่วนตัว มิใช่ตัวแทนบริษัทดังกล่าว ความผูกพันตามสัญญาร่วมถือสิทธิและลงทุนเป็นเพียงหน่วยภาษี มิใช่มีสภาพบุคคลที่จะเป็นตัวการดังที่โจทก์อ้าง
ค่าตอบแทนที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่กรมการศาสนาไม่ได้แบ่งแยกเป็นรายโฉนด โจทก์โอนสิทธิการเช่าให้แก่บริษัท น. เฉพาะโฉนดเลขที่ 1946 การที่เจ้าพนักงานประเมินเฉลี่ยค่าใช้จ่ายตามสัดส่วนของเนื้อที่ดินแต่ละโฉนดจึงสมเหตุผล ส่วนค่ารื้อถอนให้แก่ผู้อยู่อาศัยเดิมเจ้าพนักงานประเมินยอมให้ถือเป็นรายจ่ายของที่ดินแต่ละโฉนดตามจำนวนเงินและหลักฐานของแต่ละแปลงเป็นวิธีที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว
ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสิทธิการเช่าทั้งหมด เจ้าพนักงานประเมินมิได้โต้แย้งว่าเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณภาษี แม้โจทก์มีเงินได้จากการโอนสิทธิการเช่าอันเป็นสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกซึ่งเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้กึ่งหนึ่งของการโอนสิทธิการเช่าดังกล่าว มาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี (ซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 8 ทวิ แห่ง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 ก็มิได้ห้ามโจทก์หักค่าใช้จ่ายเต็มจำนวน การที่เจ้าพนักงานประเมินยอมให้นำรายจ่ายดังกล่าวเต็มจำนวนมาคำนวณภาษีเงินได้จึงเหมาะสมและเป็นคุณแก่โจทก์แล้ว
มาตรา 42 (9) แห่ง ป.รัษฎากร ที่กำหนดให้เงินได้พึงประเมินซึ่งเป็นการขายสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นั้น ใช้เฉพาะกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มิใช่เป็นกรณียกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม การที่โจทก์ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่เป็นผลผูกมัดถึงการวินิจฉัยในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย โจทก์โอนสิทธิการเช่าให้แก่บริษัท น. สิทธิการเช่าดังกล่าวมีราคาและถือเอาได้ จึงเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจ โจทก์ย่อมเป็นผู้ประกอบการตามมาตรา 77/1 (5) แห่ง ป.รัษฎากร
การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งเป็นทางการค้าหรือหากำไรต้องหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 46 แห่ง ป.รัษฎากร ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 ซึ่งไม่มีกรณีหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา โจทก์ต้องแสดงหลักฐานพิสูจน์ว่ามีค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรตามมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
ค่าเช่าบ้านที่เจ้าพนักงานประเมินประเมินนั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์อุทธรณ์การประเมินข้อนี้ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์จึงนำปัญหานี้มาฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางไม่ได้ ตามมาตรา 7 (1) และมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 แม้ศาลภาษีอากรกลางจะรับวินิจฉัยให้ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ในอันที่จะอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา เพราะไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 843/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลือกเสียภาษีเงินได้จากเงินที่นายจ้างจ่ายเมื่อออกจากงาน ต้องรวมเงินจากทุกแหล่งแล้วคำนวณตามหลักเกณฑ์
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 48 (5) และตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน 2535 ข้อ 1
หากโจทก์จะเลือกเสียภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 48 (5) โจทก์ต้องนำเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) ทุกรายการที่เข้าลักษณะเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานในปีภาษีนั้นรวมกัน จากนั้นจึงคำนวณค่าใช้จ่ายและคำนวณภาษีตามมาตรา 48 (5) เมื่อปรากฏว่า ในปีภาษี 2546 เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานที่โจทก์ได้รับจำนวน 1,234,280 บาท เป็นเงินได้ตามข้อ 1 (ง) ส่วนเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 606,449.93 บาท เป็นเงินได้ตามข้อ 1 (ข) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว การที่โจทก์นำเงินจำนวน 1,234,280 บาท ไปแยกคำนวณค่าใช้จ่ายและคำนวณภาษีตามใบแนบ ภ.ง.ด.91 ปีภาษี 2546 หนึ่งฉบับ และแยกเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 606,449.93 บาท ไปคำนวณค่าใช้จ่ายและคำนวณภาษีตามใบแนบ ภ.ง.ด.91 ปีภาษี 2546 อีกหนึ่งฉบับ ย่อมไม่ถูกต้องตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13996/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจกรมสรรพากรประเมินภาษีส่วนท้องถิ่น และข้อยกเว้น พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
กรมสรรพากรมีอำนาจจัดเก็บภาษีส่วนท้องถิ่นแทนกรุงเทพมหานคร โดยอาศัย พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 112 บัญญัติว่า "กรุงเทพมหานครมีอำนาจออกข้อบัญญัติเพื่อเก็บภาษีอากร...เพิ่มขึ้นได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของภาษี ...ประเภทใดประเภทหนึ่งหรือทุกประเภทดังต่อไปนี้ (1) ภาษีธุรกิจเฉพาะตาม ป.รัษฎากร... และวรรคสาม "ภาษีอากร... ตามมาตรานี้ ให้ถือเป็นภาษีอากร...ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น" ดังนั้น ภาษีส่วนท้องถิ่นร้อยละ 10 ของภาษีธุรกิจเฉพาะตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงถือเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะตาม ป.รัษฎากร ซึ่งมาตรา 5 แห่ง ป.รัษฎากรบัญญัติให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากร
ป.รัษฎากรลักษณะ 2 ภาษีอากรฝ่ายสรรพากร หมวด 2 วิธีการเกี่ยวแก่ภาษีอากรประเมิน ส่วน 2 การอุทธรณ์มีรายละเอียดตามมาตรา 28 ถึง 34 เป็นบทบัญญัติที่ได้กำหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองในส่วนการพิจารณาอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะและไม่มีบทบัญญัติว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต้องพิจารณาคำอุทธรณ์ไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ขั้นตอนพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวที่ป.รัษฎากรกำหนดไว้ จึงเข้าหลักเกณฑ์ตามข้อยกเว้นใน พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2535 มาตรา 3 วรรคสอง ที่ไม่นำความในวรรคหนึ่ง มาใช้บังคับในกรณีนี้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่า ป.รัษฎากรในส่วนนี้ มีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการต่ำหรือสูงกว่า พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 45

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13847/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทภาษีธุรกิจเฉพาะ: เช็คเกี้ยวช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ไม่ถือเป็นการประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์กู้ยืมเงินจากนิติบุคคลซึ่งเป็นสถาบันการเงินซึ่งตั้งอยู่ในสาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยไม่ได้บรรยายฟ้องตั้งประเด็นพิพาทว่า ถิ่นอันเป็นที่ตั้งของสำนักสาขาธนาคารทั้งสองแห่งในสาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นภูมิลำเนาของธนาคารทั้งสองแห่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 69 ตามที่โจทก์อุทธรณ์ อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือโจทก์ไม่สามารถยกปัญหาเช่นนี้ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์ อันจะเข้าข้อยกเว้นให้โจทก์มีสิทธิ์อุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจึงไม่รับวินิจฉัยให้
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีตุลาคม 2535 ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายและเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับภาษีเดือนดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2545 จึงต้องถือว่าเป็นการประเมินเมื่อพ้นกำหนดสองปี แต่ยังไม่เกินสิบปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 88/6 (1) (ค) จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการโดยแสดงฐานภาษีต่ำกว่ามูลค่าที่โจทก์ได้รับหรือพึงได้รับเป็นจำนวนเกินกว่าร้อยละ 25 ของฐานภาษีที่แสดงในแบบแสดงรายการภาษีหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงซึ่งปรากฏจากผลการตรวจสอบว่า โจทก์มียอดขายเพิ่มขึ้นและมียอดแตกต่างคิดเป็นร้อยละ 43.83 ของฐานภาษีที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการไว้ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีให้โจทก์ได้ภายในกำหนด 10 ปี ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 88/6 (1) (ค)
เจ้าพนักงานประเมินตรวจพบว่าโจทก์บันทึกรายงานสินค้าและวัตถุดิบที่มีไว้ขายน้อยกว่าสินค้าตามการตรวจสอบมีมูลค่าเป็นเงิน 61,072,244.82 บาท ถือว่าเป็นการขายสินค้าในประเทศ สำหรับสินค้าตามมูลค่าที่ตรวจสอบนั้นไม่อาจระบุได้ว่าเป็นยอดขายของเดือนภาษีใด ซึ่งตามหลักการบัญชีจะต้องนำยอดขาดบัญชีนี้ไปปรับปรุงเป็นยอดสุดท้ายของงวดหรือรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และเป็นคุณแก่โจทก์ในการคิดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม หาใช่ว่าใช้วิธีคำนวณจากฐานภาษีของแต่ละเดือนภาษีตั้งแต่เดือนภาษีมกราคม 2535 ถึงเดือนภาษีตุลาคม 2535 มาคำนวนรวมกันไม่
ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องยื่นแบบแสดงรายการเป็นรายเดือนพร้อมกับชำระภาษีตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 83 ดังนั้น ฐานภาษีที่จะนำมาพิจารณาคำนวณว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการไว้ต่ำกว่ามูลค่าที่โจทก์ได้รับหรือพึงได้รับเป็นจำนวนเกินกว่าร้อยละ 25 หรือไม่ จึงต้องพิจารณาเฉพาะฐานภาษีสำหรับเดือนภาษีที่มีการประเมินเท่านั้น
โจทก์ได้รับชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนเต็มมูลค่าแล้ว แต่โจทก์มีบัญชีลูกหนี้ค่าหุ้นค้างชำระตามงบการเงิน ย่อมมีนัยสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าการลงบัญชีลูกหนี้ค่าหุ้นค้างชำระจำนวนดังกล่าวนั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่เป็นการค้างชำระค่าหุ้นจริง แต่ถือเสมือนว่าโจทก์ปฏิบัติอย่างอื่นที่ก่อให้เกิดผลเช่นเดียวกับการที่โจทก์ยอมให้ผู้ถือหุ้นกู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย แต่เมื่อกรณีดังกล่าวเป็นเงินให้กู้ยืมอันเนื่องมาจากการเพิ่มทุนโดยออกหุ้นใหม่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 เพียงคราวเดียวเท่านั้น ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (5)
ก่อนถึงฤดูผลิตน้ำตาล โจทก์จะสั่งจ่ายเช็คให้ชาวไร่อ้อยนำไปขายลดให้แก่ธนาคารแล้วนำเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตอ้อยส่งโรงงานให้โจทก์ จากนั้นเมื่อชาวไร่อ้อยนำอ้อยมาขายแก่โจทก์ในแต่ละฤดูการผลิต โจทก์จะคิดราคาอ้อยหักกับจำนวนเงินตามเช็คที่จ่ายไป หากส่งอ้อยได้ไม่พอกับจำนวนเงินตามเช็คโจทก์ถือว่าชาวไร่อ้อยเป็นหนี้โจทก์ตามมูลค่าส่วนที่ขาดอยู่ เมื่อถึงฤดูการผลิตใหม่โจทก์ก็จะออกเช็คให้อีกแม้ยังชำระหนี้เดิมไม่หมด แต่จะจ่ายไม่เต็มจำนวนเงินที่ให้ไว้เดิมและแม้ชาวไร่อ้อยบางรายจะเป็นหนี้โจทก์เป็นเวลานานโจทก์ก็จะไม่ตัดสิทธิที่จะให้เงินช่วยเหลือและมิได้คิดดอกเบี้ย ทั้งจะไม่ฟ้องร้องดำเนินคดีแม้ยอดหนี้จะไม่มีการเคลื่อนไหว เพราะโจทก์เกรงว่าชาวไร่อ้อยรายอื่น ๆ จะไม่นำอ้อยมาส่งโรงงาน เช็คดังกล่าวมีลักษณะเป็นการจ่ายค่าซื้อสินค้าล่วงหน้า อัตราการจ่ายเงินตามเช็คนี้ไม่ได้หมายความว่าชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินเต็มจำนวนนั้น แต่หมายถึงวงเงินที่ชาวไร่อ้อยจะได้เงินช่วยเหลือเป็นเงินค่าปุ๋ยหรือค่ายาฆ่าศัตรูพืชเป็นต้น ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายในการตลาดไว้ด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาว่า การที่โจทก์สั่งจ่ายเช็คล่วงหน้าเพื่อช่วยให้ชาวไร่อ้อยนำเช็คไปแลกเงินจากธนาคารพาณิชย์ โดยวิธีขายลดเช็ค ชาวไร่อ้อยต้องเสียส่วนต่างเป็นดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารพาณิชย์ผู้ซื้อเช็คโดยตรง ชาวไร่อ้อยไม่ได้จ่ายดอกเบี้ยให้โจทก์ ข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับเพียงให้ชาวไร่อ้อยนำอ้อยที่ปลูกได้มาส่งมอบให้แก่โจทก์เพื่อโจทก์จะได้มีวัตถุดิบอ้อยป้อนเข้าโรงงานน้ำตาลของโจทก์ ข้อตกลงในเรื่องนี้หาได้มีวัตถุประสงค์เป็นการให้กู้ยืมไม่ แต่เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่บังคับกันได้ระหว่างชาวไร่อ้อยกับโจทก์ ธุรกรรมดังกล่าวเป็นยุทธศาสตร์ทางธุรกิจที่จำเป็นของโจทก์ในการแสวงหาวัตถุดิบคืออ้อยจากชาวไร่อ้อยมาเป็นปัจจัยในการผลิต จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9266/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีธุรกิจเฉพาะจากอสังหาริมทรัพย์: อำนาจประเมินของเจ้าพนักงานสรรพากรและข้อยกเว้น
การที่จะนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมในศาลภาษีอากรนั้น พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาภาษีอากรฯ มาตรา 17 บัญญัติให้ทำได้ต่อเมื่อเป็นกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่จะนำมาใช้บังคับเท่านั้น เมื่อการย่นหรือขยายระยะเวลาได้มีบทบัญญัติมาตรา 19 บัญญัติไว้เป็นพิเศษแล้ว จึงไม่ต้องนำบทบัญญัติ มาตรา 23 แห่งป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น การที่ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยแล้ว เห็นว่าจำเลยเป็นกรมในรัฐบาล จำเลยต้องเสนอเอกสารตามลำดับชั้นตามระเบียบราชการไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อแก้ต่างคดีให้ ซึ่งจำเลยต้องใช้เวลาในการรวบรวมเอกสารพร้อมสรุปข้อเท็จจริง และพึ่งพยานบุคคลไปชี้แจงข้อเท็จจริงแก่พนักงานเพื่อทำคำให้การแก้คดี เป็นเหตุให้พนักงานอัยการไม่อาจทำคำให้การแก้คดียื่นต่อศาลภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายได้ อันเป็นกรณีที่มีความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นคำให้การและจำเลยก็ได้ยื่นคำให้การภายในกำหนด ย่อมเป็นการยื่นคำให้การโดยชอบ ไม่ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การแต่อย่างใด
ตาม มาตรา 91 แห่ง ป.รัษฎากร บัญญัติว่า ภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นภาษีอากรประเมิน ดังนั้น การที่จะเสียภาษีธุรกิจเฉพาะต้องมีการประเมินตนเองของผู้มีเงินได้โดยยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษี หรือเป็นการประเมินโดยเจ้าพนักงานประเมินในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้มีเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้องหรือไม่บริบูรณ์หรือไม่ยื่นรายการ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษี เจ้าพนักงานจึงมีหนังสือเตือนให้โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ไม่ว่าหนังสือเตือนให้ไปยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจะถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ย่อมไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาแผนกภาษีอากร จึงไม่รับวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากร ฯลฯ มาตรา 29
เมื่อหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะฉบับพิพาทมีข้อความ ประเภทการประกอบการ การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นการค้าหรือหากำไร ประเภทรายรับ รายรับหรือพึงได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ รวมรายรับทั้งสิ้น อัตราภาษีร้อยละ 3 ภาษีที่ต้องชำระ เงินเพิ่ม และภาษีส่วนท้องถิ่น รวมภาษีที่ต้องชำระ ระบุสถานที่ให้โจทก์นำภาษีไปชำระ ระบุเหตุผลที่ประเมินและการงดเบี้ยปรับ ดังนี้ ถือเป็นกรณีจัดให้มีเหตุผลในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญและเหตุผลในข้อกฎหมายที่อ้างอิงรวมทั้งเหตุผลในข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนการใช้ดุลพินิจ หนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าวจึงชอบด้วยหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 แล้ว
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 (4) ให้นิยามคำว่า ขาย หมายความรวมถึงสัญญาจะขาย ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้ ให้เช่าซื้อ หรือจำหน่ายจ่ายโอนไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ ดังนั้น การที่โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารให้แก่บริษัทภูเก็ตโกลเด้นแลนด์ จำกัด ผู้ขายเดิม ไม่ว่าจะเป็นการโอนกรรมสิทธิ์เพราะการเลิกสัญญาและกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 หรือการทำนิติกรรมซื้อขายดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาลวง เพราะโจทก์กับบริษัทภูเก็ตโกลเด้นแลนด์ จำกัด มิได้มีเจตนาให้เกิดผลในทางกฎหมายจากนิติกรรมจดทะเบียนการซื้อขายที่ดินพร้อมอาคารนั้นก็ตาม กรณีก็ต้องด้วยนิยามคำว่า ขาย ดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 12) ลงวันที่ 26 เมษายน 2526 ข้อ 2 แต่งตั้งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไปสังกัดกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 16 แห่ง ป.รัษฎากรสำหรับท้องที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งใช้บังคับขณะโจทก์ขายที่ดิน และประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานที่ดินเป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 16 แห่ง ป.รัษฎากร เฉพาะกรณีรับชำระภาษีธุรกิจเฉพาะและแบบแสดงรายการของผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 91/2 (6) นั้นเป็นเพียงการกระทำในฐานะเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับชำระภาษีธุรกิจเฉพาะและแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.40) พร้อมออกใบเสร็จรับเงินให้เท่านั้น มิใช่กระทำในฐานะเจ้าพนักงานประเมินที่ประเมินภาษีโจทก์ ดังนั้น เจ้าพนักงานสรรพากรจึงยังคงเป็นเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีของโจทก์ได้
การที่เทศบาลออกเทศบัญญัติเพื่อเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากรตาม พ.ร.บ.รายได้เทศบาล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2534 มาตรา 12, 14 หรือองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งเป็นหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ออกข้อบังคับตำบลเพื่อเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากร ตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 76 เมื่อที่ดินและอาคารที่โจทก์ขายให้แก่บริษัทภูเก็ตโกลเด้นแลนด์ จำกัด ตั้งอยู่ในเขตตามกฎหมายที่เรียกเก็บภาษีส่วนท้องถิ่นดังกล่าวให้ถือเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะตาม ป.รัษฎากร ดังนี้ เจ้าพนักงานประเมินซึ่งมีอำนาจตาม ป.รัษฎากรย่อมมีอำนาจประเมินภาษีส่วนท้องถิ่นได้ เมื่อกรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเพื่อราชการส่วนท้องถิ่นแล้วก็จะส่งมอบให้แก่กระทรวงมหาดไทยดำเนินการจัดสรรตาม พ.ร.บ.รายได้ประเภทภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2534 ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8708/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าภาษีอากร การสำแดงเท็จ และการตรวจพบอากรขาด
ผู้นำของเข้าไม่อุทธรณ์การประเมินต้องถือว่าผู้นำของเข้าพอใจการประเมินอากรขาเข้าและอากรพิเศษตามการประเมินนั้นย่อมเป็นอันยุติ ผู้นำของเข้าจะนำคดีมาฟ้องเพื่อให้เพิกถอนการประเมินหรือต่อสู้คดีในศาลว่าการประเมินนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้นำของเข้าได้รับหนังสือแจ้งการประเมินโดยชอบแล้ว มิได้อุทธรณ์การประเมิน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิต่อสู้ว่าการประเมินไม่ชอบ ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 เป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจปฏิเสธว่าหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งยุติตามการประเมินแล้วเป็นหนี้ที่ไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 จึงต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1025
กรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบอันเป็นผลให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกต้องชำระอากรเพิ่มเติม แต่ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมิได้กระทำความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรหรือสำแดงเท็จแต่ได้สำแดงรายการในใบขนส่งสินค้าขาเข้าหรือใบขนสิ่งสินค้าขาออกเป็นเหตุให้จำนวนเงินอากรขาดไป เมื่อจำเลยที่ 1 และผู้นำเข้ารายอื่นเคยนำเข้าสินค้ารายการเดียวกับที่เป็นกรณีพิพาทในคดีนี้มานานหลายครั้ง โดยสำแดงประเภทพิกัด 1211.902 ต่อมาสำนักตรวจสอบอากรของโจทก์ได้ตรวจสอบแล้วทักท้วงว่าควรจัดสินค้าพิพาทอยู่ในประเภทพิกัด 1211.909 ซึ่งก่อนมีการแจ้งการประเมินจำเลยที่ 1 ได้โต้แย้งมาตลอดว่าสินค้าพิพาทมีคุณลักษณะที่จัดอยู่ในประเภทพิกัด 1211.902 อันเป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 เข้าใจโดยสุจริตว่าสินค้าพิพาทจัดอยู่ในประเภทพิกัดดังกล่าวกรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในการชำระค่าอากรที่ขาดเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 สำแดงเท็จจริงในใบขนสินค้าขาเข้าพิพาท แต่ต้องด้วยกรณีที่ไม่ให้เรียกเก็บเงินเพิ่ม เนื่องจากมีการตรวจเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินเพิ่มตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง
เมื่อการชำระอากรขาดเกิดจากจำเลยที่ 1 สำแดงประเภทพิกัดของสินค้าไม่ถูกต้อง มิใช่เกิดจากจำเลยที่ 1 สำแดงประเภทพิกัดของสินค้าถูกต้อง แต่โจทก์คำนวณจำนวนเงินอากรผิด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับสินค้าที่นำเข้า ซึ่งมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่นำของเข้าตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคสาม
of 44