คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ธีระวัฒน์ ภัทรานวัช

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 377 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4181/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในราชการ การเลิกสัญญาส่งผลให้สิทธิการยกเว้นอากรไม่เกิดขึ้น
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มิได้บัญญัติว่าการขอคืนเงินอากรที่ได้รับยกเว้นจะต้องยื่นคำร้องขอคืนตามแบบที่กำหนดไว้ การขอคืนเงินอากรที่ได้รับยกเว้นอากรจึงไม่ต้องยื่นคำร้องตามแบบที่กำหนดไว้ ดังนั้น แม้ใบขอคืนเงินจะระบุแต่ชื่อโจทก์และจำนวนเงินอากรที่ขอคืนเท่านั้น มิได้ระบุรายละเอียดอื่นจำเลยก็ต้องพิจารณาว่าจะต้องคืนเงินอากรให้แก่โจทก์หรือไม่ เมื่อจำเลยพิจารณาแล้วไม่คืนเงินอากรให้แก่โจทก์ โจกท์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
โจทก์กับกรมอู่ทหารเรือทำสัญญาซื้อขายสินค้าพิพาท และกระทรวงกลาโหมมีหนังสือถึงอธิบดีจำเลยขอยกเว้นค่าอากรสำหรับสินค้าพิพาทที่นำเข้า เนื่องจากเป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในราชการทหารแต่ต่อมากรมอู่ทหารเรือบอกเลิกสัญญาเนื่องจากสินค้าที่โจทก์ส่งมอบเป็นสินค้าจากประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร มิใช่จากประเทศสหรัฐอเมริกาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขาย สัญญาซื้อขายจึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายย่อมกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 สินค้าพิพาทจึงมิใช่ยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในทางราชการในขณะที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 แม้ภายหลังกรมอู่ทหารเรือจะประกาศสอบราคาและทำสัญญาซื้อขายใหม่กับโจทก์โดยถือคุณสมบัติของสินค้าเหมือนเดิมทุกประการ ก็เป็นกรณีที่จะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับสินค้าที่นำเข้าตามสัญญาซื้อขายใหม่ การที่โจทก์นำสินค้าพิพาทที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและผ่านพิธีการทางศุลกากรเสร็จสิ้นแล้ว โดยชำระค่าอากรขาเข้าเพราะไม่ได้เป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในทางราชการไปแล้วไปส่งมอบให้กรมอู่ทหารเรือตามสัญญาซื้อขายฉบับใหม่ ไม่ทำให้สินค้าพิพาทตามสัญญาเดิมที่ไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้ากลายเป็นได้รับยกเว้นอากรขาเข้าไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3480/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดในสัญญาโอนสิทธิบัตรภาษีจากการทุจริตของผู้โอนสิทธิ และผลของการสำแดงเท็จในการขอเงินชดเชยภาษี
ในการยื่นบัญชีระบุพยาน โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอส่งสำเนาเอกสารแทนต้นฉบับ เนื่อจากต้นฉบับอยู่ในความครอบครองดูแลของทางราชการ และทางราชการมีความจำเป็นต้องใช้ต้นฉบับเอกสารดังกล่าวอยู่ ซึ่งศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ใช้สำเนาเอกสารที่รับรองโดยถูกต้องแทนต้นฉบับได้ ทั้งบัญชีสินค้าสำหรับเรือเป็นพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องนำพยานดังกล่าวมาสืบ เมื่อศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ส่งสำเนาเอกสารแทนต้นฉบับ โจทก์จึงมีสิทธินำสำเนาบัญชีสินค้าสำหรับเรือมาสืบได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 20 ประกอบข้อกำหนดคดีภาษีอากรฯ ข้อ 16 วรรคสอง
เมื่อจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลจึงต้องพิจารณาว่าคำฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ หากมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ศาลก็ต้องพิจารณาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีไปตามคำฟ้องของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาภาษีอากรฯ มาตรา 17 ซึ่งคดีนี้โจทก์มีผู้จัดการฝ่ายเอกสารของบริษัทตัวแทนเรือเบิกความยืนยันว่ารายละเอียดสินค้าตามบัญชีสินค้าสำหรับเรือที่บริษัทตันแทนเรือรวบรวมนำส่งโจทก์ไม่ปรากฏสินค้าตามที่จำเลยที่ 1 สำแดงในใบขนสินค้าขาออก แสดงว่าเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ลงลายมือชื่อรับรองการตรวจสินค้าและรับรองการรับบรรทุกในใบขนสินค้าขาออกพิพาทไม่มีการตรวจสอบจริงและจำเลยที่ 1 มิได้ส่งสินค้าออกไปต่างประเทศตามที่สำแดงในใบขนสินค้าขาออกพิพาทนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกในรูปบัตรภาษี การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกโดยสำแดงใบขนสินค้าขาออกเป็นเท็จ จึงเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ต้องรับผิดคืนเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดคือวันที่จำเลยที่ 2 รับบัตรภาษีพิพาท
ในการขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษี จำเลยที่ 2 สัญญาว่า กรณีที่เกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด ๆ ยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น นั้น เป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ว่าในการขอรับสิทธิตามบัตรภาษี หากปรากฏว่าการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรของผู้โอนสิทธิเกิดจากการทุจริตและเกิดความเสียหายแก่โจกท์ไม่ว่ากรณีใด จำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดต่อโจทก์โดยไม่มีข้อโต้แย้ง เป็นข้อตกลงที่ไม่มีกฎหมายห้ามและมิใช่ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้โจทก์ต้องรับผิดเพื่อความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 373 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จึงใช้บังคับได้ เมื่อจำเลยที่ 2 นำบัตรภาษีไปใช้ชำระค่าภาษีอากรแทนเงินสดแล้ว จึงมีความรับผิดตามสัญญาต้องใช้เงินคืนโจทก์ตามมูลค่าบัตรภาษีรายพิพาทที่เกิดจากการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาไม่มีกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3320/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดทรัพย์สินของแผ่นดิน: เงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินไม่อยู่ในอำนาจบังคับคดี
การอายัดเป็นการที่ศาลมีคำสั่งห้ามลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้งดเว้นการจำหน่ายสิทธิเรียกร้องและห้ามบุคคลภายนอกมิให้ชำระเงินหรือส่งมอบสิ่งของให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่ให้ชำระหรือส่งมอบแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี แม้โจทก์จะใช้คำว่า อายัด ผิดพลาดก็ไม่ถือเป็นสาระสำคัญ ศาลย่อมพิจารณาจากลักษณะอันแท้จริงตามกฎหมายของกรณีนั้นๆ ว่าที่ถูกต้องแล้วเป็นการยึดหรืออายัด
โจทก์ชำระเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 43 ซึ่งเป็นการชำระเงินค่าภาษีอากรตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 39 เงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งต้องห้ามมิให้ยึดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ตามกฎหมายย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 285 (4) ซึ่งนำมาใช้บังคับแก่วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาด้วยโดยอนุโลมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 259 โจทก์จึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ยึดเงินดังกล่าวก่อนพิพากษาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 254 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2166/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนทรัพย์สินให้ภริยาโดยไม่มีค่าตอบแทนเพื่อชำระหนี้ ไม่ถือเป็นการขายเพื่อหากำไร จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนให้แก่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายโดยไม่มีค่าตอบแทน ซึ่ง ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 (4) ถือว่าเป็นการขาย และโจทก์ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ แต่เนื่องจากภริยาโจทก์ขายที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวแล้วนำเงินดังกล่าวมาชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาท โจทก์จึงโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทเฉพาะส่วนของตนให้แก่ภริยา จึงไม่มีลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (6) ประกอบ พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มาตรา 3 (6) โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1947/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนอสังหาริมทรัพย์ให้บุตรโดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน ไม่ถือเป็นการขายเพื่อหากำไร จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
มาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากร มิได้บัญญัติไว้แจ้งชัดว่าการขายอสังหาริมทรัพย์กรณีใดเป็นการขายที่เข้าลักษณะเป็นทางค้าหรือหากำไร แต่ได้บัญญัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดโดย พ.ร.ฎ. ซึ่งในขณะที่โจทก์จดทะเบียนให้ ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและตึกแถวดังกล่าว พ.ร.ฎ. ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้ายการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244)ฯ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ว่าให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากร มีดังต่อไปนี้ (1)...(6) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (5) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น แต่อย่างไรก็ตาม การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (5) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นมิใช่ว่าจะเป็นทางค้าหรือหากำไรเสมอไป หากแต่เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป การที่โจทก์จดทะเบียนให้ ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและตึกแถวดังกล่าวโดยเสน่หา จะถือว่าเป็นการขายตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 (4) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น แต่เมื่อเป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่าผู้ที่โจทก์โอนที่ดินดังกล่าวให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์และเป็นการโอนโดยไม่มีค่าตอบแทน การโอนที่ดินดังกล่าวจึงไม่ใช่การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร โจทก์จึงไม่จำต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 690/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขายที่ดินเกษตรกรรมภายใน 5 ปี ไม่ถือเป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายใช้ในการเกษตรกรรม แม้ได้กระทำภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ก็ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากร ประกอบมาตรา 3 (6) แห่ง พ.ร.ก.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 690/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายที่ดินเกษตรกรรมภายใน 5 ปี ไม่ถือเป็นทางค้าหรือหากำไร แม้มีบทบัญญัติที่อาจตีความได้
บทบัญญัติใน พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) ฯ มาตรา 3 บัญญัติให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) อนุมาตราแต่ละอนุมาตรามีความชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่าเป็นหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้โดย พ.ร.ฎ.ซึ่งการขายที่ดินที่ผู้นั้นใช้ในการเกษตรกรรมเป็นการขายที่ดินที่ผู้ขายมีไว้ประกอบกิจการนั้นเอง ไม่ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร การตีความกรณีการขายที่ดินที่ผู้นั้นใช้ในเกษตรกรรม ซึ่งไม่ถือเป็นการขายที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามาตรา 3 (5) แห่ง พ.ร.ฎ. ดังกล่าว แต่หากขายไปภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งที่ดินจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น ย่อมเป็นการแปลขยายความ มาตรา 3 (6) ให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ถือเป็นการขายที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 3 (5) กลายมาเป็นการขายที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 3 (6) อีก อันเป็นการแปลขยายความในทางเป็นผลร้ายแก่ผู้ขายที่ดินที่ตนใช้ในเกษตรกรรม แม้ทำให้รัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษี แต่กระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์และส่วนได้เสียของผู้ขายซึ่งได้ใช้ที่ดินนั้นในการเกษตรกรรม ทั้งตามมาตรา 3 (6) บัญญัติไว้เพื่อการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตามาตรา 3 (1) ถึง (5) ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรก็ยังมีข้อยกเว้นอีกหลายกรณีด้วยแสดงว่าการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้ที่ดินมา มิได้ถือเป็นการขายอันเป็นทางค้าหรือหากำไรเสมอไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 688/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คดีภาษีอากรต้องพิจารณาตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาท หากเกิน 50,000 บาท จึงอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
โจทก์นำจำนวนภาษีที่ต้องชำระตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ทั้งสองฉบับมาฟ้องรวมเป็นคดีเดียวกันแต่เป็นกรณีที่โจทก์ขายที่ดินคนละเดือนภาษีกัน ต้องถือว่าการฟ้องแต่ละเดือนภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะและตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นเป็นคนละข้อต่างหากจากกัน สิทธิในการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงจึงต้องพิจารณาจากจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์แต่ละฉบับ จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับที่เกินกว่า 50,000 บาท จึงอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 25

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 687/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่เกิดจากการเพิ่มทุน ไม่ถือเป็นกิจการธนาคารพาณิชย์
บริษัทโจทก์มิได้ให้กรรมการและผู้อื่นกู้ยืมเงินเป็นปกติ แต่ให้กรรมการและผู้อื่นกู้ยืมเงินทุกปีอันเนื่องมาจากการเพิ่มทุนโดยออกหุ้นใหม่เพียงคราวเดียวเท่านั้น โจทก์มิได้ประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 402/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลาภมิควรได้จากบัตรภาษีชดเชยค่าภาษีออก: การคืนเงินเมื่อรับโอนโดยสุจริตและนำไปใช้ชำระภาษีแล้ว
ในการอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลภาษีอากรกลางรับรองว่าคดีของจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง และผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลภาษีอากรกลางรับรองว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ตามคำร้องของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ดังนี้ แม้คดีในส่วนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จะมีทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาทก็ไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามที่ยกเว้นใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 25
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกต่อโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออก ขอโอนสิทธิรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 6 โจทก์ได้จ่ายเงินชดเชยค่าภาษีอากรดังกล่าวโดยออกบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 6 ตามคำขอของจำเลยที่ 1 แล้ว ต่อมาโจทก์พบว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ เอกสารที่จำเลยที่ 1 ยื่นประกอบคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรเป็นเอกสารเท็จและเอกสารปลอม จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรตามคำขอที่จำเลยที่ 1 ยื่นต่อโจทก์และไม่มีสิทธิขอโอนบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 6 จำเลยที่ 3 และที่ 6 ไม่มีสิทธิได้รับบัตรภาษีไปจากโจทก์ ดังนี้ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นเรื่องจำเลยที่ 1 จงใจทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหายแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 6 ไม่ปรากฏว่ามีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำละเมิดต่อโจทก์ การที่จำเลยที่ 3 และที่ 6 ได้รับบัตรภาษีไปจากโจทก์จึงเป็นการได้บัตรภาษีไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบจำเลยที่ 3 และที่ 6 ต้องรับผิดคืนบัตรภาษีแก่โจทก์ในมูลลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 ที่โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า ในการรับโอนบัตรภาษีจำเลยที่ 3 และที่ 6 ได้ยื่นคำร้องขอรับโอนบัตรภาษีต่อโจทก์ระบุว่า "กรณีที่เกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่กรมศุลกากร (โจทก์) ไม่ว่ากรณีใด ๆ ข้าพเจ้า (จำเลยที่ 3 และที่ 6) ยินยอมรับผิดต่อกรมศุลกากร (โจทก์) ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น" จำเลยที่ 3 และที่ 6 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่ได้ให้คำรับรองไว้นั้น เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 และที่ 6 ได้แสดงเจตนายินยอมรับผิดต่อโจทก์ในกรณีที่เกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นสิทธิเรียกร้องตามสัญญาและเป็นคนละข้อหากับความผิดฐานละเมิดและลาภมิควรได้ตามที่โจทก์ฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่ได้แสดงสภาพแห่งข้อหานี้มาในคำฟ้องจึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง แม้ศาลภาษีอากรกลางจะได้ยกความข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยเป็นคุณแก่โจทก์ในประเด็นอำนาจฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะยกขึ้นเป็นประเด็นข้อต่อสู้ในคำแก้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 29 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัย
บัตรภาษีออกให้แทนการคืนเงินชดเชยค่าภาษีอากรเป็นเงินสดเพื่อให้ผู้รับนำบัตรภาษีไปใช้แทนเงินสดในการชำระค่าภาษีอากรแก่โจทก์ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต หรือภาษีอากรอื่นตามมูลค่าของบัตรภาษีตามที่บัญญัติใน พ.ร.บ.ชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักรฯ มาตรา 4 และ 18 จึงถือได้ว่าเป็นเงินจำนวนหนึ่งและ ป.พ.พ. มาตรา 412 บัญญัติว่า "ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ท่านว่าต้องคืนเต็มจำนวนนั้น เว้นแต่เมื่อบุคคลได้รับไว้โดยสุจริตจึงต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน" เมื่อจำเลยที่ 3 และที่ 6 ได้รับโอนบัตรภาษีโดยสุจริต จึงต้องคืนบัตรภาษีตามมูลค่าที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 3 และที่ 6 นำบัตรภาษีที่ได้รับไปชำระค่าภาษีอากรแล้ว จำเลยที่ 3 และที่ 6 จึงไม่ต้องรับผิดคืนบัตรภาษีหรือชดใช้เงินตามมูลค่าบัตรภาษีให้แก่โจทก์
of 38