คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ธีระวัฒน์ ภัทรานวัช

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 377 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3983/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษความผิดหลายกรรมต่างกันจากการทำสุราเถื่อนและการจำหน่าย โดยแยกพิจารณาบทบัญญัติและอัตราโทษที่ถูกต้อง
สุรากลั่นของกลางคดีนี้จะเป็นจำนวนเดียวกัน แต่ก็เห็นได้ว่าในความผิดแต่ละฐานต่างมีสภาพและลักษณะของการกระทำความผิดที่แตกต่างกัน และสามารถแยกเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันได้ และ พ.ร.บ.สุราฯ มาตรา 5, 30, 32 บัญญัติความผิดและบทลงโทษฐานทำสุราโดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับการมีไว้ในครอบครองซึ่งสุราที่รู้ว่าทำขึ้นโดยฝ่าฝืนกฎหมายไว้คนละมาตรากัน ดังนั้น การที่จำเลยทำสุรากลั่นโดยไม่ได้รับใบอนุญาตกับการมีไว้ในครอบครองซึ่งสุรากลั่นนั้น จึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตาม ป.อ. มาตรา 91
สำหรับความผิดฐานขายสุรานั้น ตาม พ.ร.บ.สุราฯ มาตรา 31 มีระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท สำหรับมาตรา 30 เป็นบทบัญญัติความผิดฐานฝ่าฝืนมาตรา 5 คือการทำสุรา หรือมีภาชนะหรือเครื่องกลั่นสำหรับทำสุราไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและถ้าได้ขายสุราที่ทำขึ้นนั้นด้วยต้องระวางโทษหนักขึ้น เป็นบทเพิ่มโทษจากการทำสุราเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่บทบัญญัติให้การขายสุราที่ทำขึ้นเป็นความผิดตามมาตรานี้อีกบทหนึ่ง ดังนั้น ที่จำเลยขายสุรากลั่นที่จำเลยทำขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 30 แต่เป็นความผิดตามมาตรา 31
ศาลล่างทั้งสองลงโทษเกินกว่าอัตราโทษที่กฎหมายกำหนด ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3816/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรอการลงโทษจำคุกในคดีอาวุธปืน พิจารณาจากพฤติการณ์ไม่ร้ายแรง และโอกาสฟื้นฟู
อาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนแก๊ปยาว ซึ่งได้ความว่าจำเลยมีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในการยิงสัตว์เล็กๆ ที่มารบกวนกัดกินพืชไร่ของจำเลยและชาวบ้าน จำเลยไม่ได้มีไว้เพื่อใช้ในการก่อเหตุใดๆ ตามพฤติการณ์จึงไม่ร้ายแรงมากนัก ยังอยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขฟื้นฟูให้จำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีได้ ทั้งการลงโทษจำคุกระยะสั้น นอกจากจะไม่เกิดผลในการแก้ไขฟื้นฟูความประพฤติของจำเลยแล้ว ยังทำให้จำเลยมีประวัติเสื่อมเสีย เมื่อพ้นโทษแล้วก็ยากที่จะกลับตัวเป็นพลเมืองดีประกอบสัมมาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวโดยสุจริตต่อไปได้การรอการลงโทษจำคุกและคุมความประพฤติจำเลยไว้น่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมโดยส่วนรวมมากกว่า แม้จะปรากฏว่าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกแต่คดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจึงยังไม่ถึงที่สุด คำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวอาจถูกศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งผลสุดท้ายจำเลยอาจไม่ต้องรับโทษถึงจำคุก กรณีเช่นนี้ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ศาลฎีกามีอำนาจรอการลงโทษจำเลยในคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3616/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตอำนาจผู้รับมอบอำนาจ: การมอบอำนาจต้องระบุชัดเจนถึงขอบเขตการกระทำแทน
แม้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 47 จะมิได้กำหนดแบบของหนังสือมอบอำนาจไว้ก็ตาม แต่ข้อความในหนังสือมอบอำนาจก็ต้องระบุไว้ว่า ให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการใดแทนผู้มอบอำนาจได้บ้างอันจะทำให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำแทนผู้มอบอำนาจได้เท่าที่ได้รับมอบอำนาจเท่านั้น เมื่อตามหนังสือมอบอำนาจผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้มอบอำนาจได้มอบอำนาจให้ ธ. ติดต่อขอรับรถของกลางจากพนักงานสอบสวนและให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับการติดต่อขอรับรถของกลางคืนเมื่อคดีถึงที่สุดเท่านั้น ผู้มอบอำนาจไม่ได้มอบอำนาจให้ ธ. ยื่นคำร้องต่อศาลหรือดำเนินคดีในชั้นศาล ดังนั้น ธ. ย่อมไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3336-3337/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลอมและใช้เอกสารสิทธิ การทำลายเอกสาร และความรับผิดของผู้สั่งการกระทำผิด
โจทก์ที่ 1 ส่งสำเนาคำขอกู้และหนังสือกู้เงินโดยไม่ได้ส่งต้นฉบับต่อศาลแต่พนักงานสอบสวนรับรอง สำเนาถูกต้องโดยไม่ปรากฏว่าสำเนานั้นไม่ตรงกับต้นฉบับ ทั้งจำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งคัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารนั้น ศาลรับฟังสำเนาเอกสารนั้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 238
จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในคำขอกู้เงินในฐานะปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนผู้จัดการ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 รู้ว่า ช. ถึงแก่ความตายแล้ว ทั้งจำเลยที่ 1 ก็ให้การปฏิเสธตั้งแต่ชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมปลอมคำขอกู้และหนังสือกู้เงินและไม่ได้ใช้คำขอกู้และหนังสือกู้เงินปลอม จึงมีเหตุสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ฐานปลอมคำขอกู้เงินและหนังสือกู้เงินราย ช. หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ชอบแล้ว
บ. เผาบัญชีเงินกู้ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นการปฏิบัติตามคำสั่ง ที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา การที่จำเลยที่ 1 สั่งให้ บ. เผาบัญชีเงินกู้ จึงไม่ใช่เป็นการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด เพราะ บ. ไม่รู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด แต่กรณีเป็นการที่จำเลยที่ 1 ใช้ บ. เป็นเครื่องมือของจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3336-3337/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร ใช้เอกสารปลอม และทำลายเอกสาร โดยการกระทำของลูกจ้างที่ทุจริตต่อหน้าที่
บทบัญญัติใน ป.อ. มาตรา 84 หมายความว่า ผู้ใช้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดโดยผู้ถูกใช้รู้ว่าการกระทำตามที่ถูกใช้เป็นความผิด หากผู้ถูกใช้กระทำความผิดตามที่ถูกใช้ ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ หากผู้ถูกใช้ไม่กระทำผิดตามที่ถูกใช้ ผู้ใช้ต้องรับโทษหนึ่งในสามของโทษที่กำหนด คดีนี้ บ. เป็นนักการภารโรงไม่มีส่วนได้เสียในบัญชีเงินกู้และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างหรือให้ประโยชน์แก่ บ. ในการเผาทำลายบัญชีเงินกู้ จึงไม่มีเหตุที่ บ. ต้องเผาบัญชีเงินกู้ หาก บ. ทราบว่าการเผาทำลายบัญชีเงินกู้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย บ. ก็คงไม่กระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 เนื่องจาก บ. อาจต้องรับโทษโดยที่ตนเองไม่ได้ประโยชน์ แต่ บ. ยอมเผาบัญชีเงินกู้ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาคงเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา การที่จำเลยที่ 1 สั่งให้ บ. เผาบัญชีเงินกู้นั้น จึงไม่ใช่เป็นการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด เพราะ บ. ผู้ถูกใช้ไม่รู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด แต่เป็นการที่จำเลยที่ 1 ใช้ บ. เป็นเครื่องมือของจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2754/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดหลายกรรมต่างกันคดีน้ำมันปลอมปน: ศาลฎีกายืนตามศาลชั้นต้น แต่ลดโทษปรับและรอการลงโทษ
การกระทำความผิดของจำเลยฐานเป็นผู้ค้าน้ำมันปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจำหน่าย และฐานเป็นผู้ค้าน้ำมันจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพต่ำกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดนั้น ความผิดแต่ละฐานแยกออกต่างหากจากกันได้ชัดเจน ทั้งในแง่เจตนาในการกระทำ สภาพและลักษณะของการกระทำ เวลาที่การกระทำเป็นความผิดสำเร็จลงตลอดจนบทกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ต่างบทมาตรากัน ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2643/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทิ้งฟ้องอุทธรณ์ในคดีล้มละลาย: จำเลยมีหน้าที่นำส่งสำเนาอุทธรณ์ แม้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
จำเลยซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และให้จำเลยนำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายใน 5 วัน คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยนำส่งหมายดังกล่าวย่อมมีความชัดเจนว่าจำเลยมีสิทธิใช้จ่ายเงินของตนได้แล้วตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 24 จำเลยจะอ้างว่าไม่มีสิทธิใช้ทรัพย์สินเพราะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดไม่ได้ ดังนั้น การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้นย่อมเป็นการไม่นำพาต่อคำสั่งของศาลละเลยต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนที่เป็นหน้าที่ของตนจึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2554/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับเนื่องจากคำร้องขยายเวลาไม่ชอบ และฎีกาในข้อเท็จจริงต้องได้รับอนุญาตจากศาล
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายกำหนดยื่นฎีกา โดยผู้ที่ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยแต่ละคน จึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบ แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งอนุญาตตามที่ขอก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตให้ขยายกำหนดยื่นฎีกาตามคำร้อง เมื่อจำเลยทั้งสองยื่นฎีกาล่วงเลยกำหนดยื่นฎีกาแล้วก็ไม่มีผลย้อนไปทำให้คำร้องขอขยายกำหนดยื่นฎีกาที่ไม่ชอบดังกล่าว ให้เป็นคำร้องที่ชอบ
ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีการแก้ไขกฎหมายบทความผิดและบทกำหนดโทษ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เพียงแต่ปรับใช้บทกฎหมายส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 3 และแก้ไขโทษให้เหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมายใหม่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองแต่ละคนไม่เกินกระทงละห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยยื่นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงมาโดยมิได้ร้องขอหรือดำเนินการให้ผู้พิพากษาที่พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้ฎีกาได้ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2058/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รอการลงโทษจำคุกในคดีอาวุธปืน: พิจารณาโทษจำคุกระยะสั้นไม่เกิดผลดีต่อจำเลยและสังคม
จำเลยกระทำความผิดเพียงฐานมีและพาอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยจะใช้อาวุธปืนนั้นก่ออาชญากรรมใด พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่ร้ายแรงนัก ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย เพราะโทษจำคุกระยะสั้นนอกจากจะไม่เกิดผลในการฟื้นฟูแก้ไขความประพฤติของจำเลยแล้ว ยังทำให้จำเลยมีประวัติเสื่อมเสีย เมื่อพ้นโทษแล้วก็ยากที่จะกลับตัวเป็นพลเมืองดีประกอบสัมมาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวโดยสุจริตต่อไปได้ การรอการลงโทษจำคุกและคุมความประพฤติจำเลยไว้น่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมโดยส่วนรวมมากกว่า แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำจึงให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1916/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาจัดหางานสำคัญกว่าฐานความผิด การถอนฟ้องฉ้อโกงกระทบสิทธิบังคับคดีแพ่ง
การจะเป็นผู้กระทำความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาจัดหางานตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 4 วรรคหนึ่ง แม้คำฟ้องของโจทก์ตอนแรกบรรยายว่าจำเลยกับพวกร่วมกันจัดหางานให้แก่ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นคนหางานไปทำงานรับจ้างทำถนนที่ไต้หวันโดยจำเลยกับพวกไม่ได้รับใบอนุญาต แต่คำฟ้องของโจทก์ตอนหลังที่ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายด้วยข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยกับพวกสามารถหางานรับจ้างทำถนนในใต้หวัน และสามารถจัดให้ผู้เสียหายทำงานรับจ้างทำถนนในไต้หวันได้โดยถูกต้องตามกฎหมายและจะได้รับค่าจ้างอันเป็นความเท็จทั้งสิ้น เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่าจำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานให้แก่ผู้เสียหาย คงมีแต่เจตนาหลอกลวงเพื่อจะได้รับเงินจากผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
ผู้เสียหายได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงไม่ติดใจเรียกร้องจากจำเลยอีกต่อไป และขอถอนคำร้องทุกข์ ถือได้ว่าผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์โดยถูกต้องตามกฎหมายในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดต่อสวนตัวก่อนคดีถึงที่สุด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) สำหรับคำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ที่ให้จำเลยใช้เงินแก่ผู้เสียหายนั้น เมื่อสิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงระงับไปแล้ว ย่อมทำให้คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ดังกล่าวตกไปด้วย ประกอบกับ ป.วิ.อ. มาตรา 43 มิได้บัญญัติให้อำนาจพนักงานอัยการที่ยื่นฟ้องคดีอาญาในความผิดฐานร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายได้ อีกทั้ง พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ ก็มิได้บัญญัติให้พนักงานอัยการมีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายแต่อย่างใด จึงยกคำขอในส่วนคดีแพ่งของโจทก์ด้วย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยเช่นเดียวกัน แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
of 38