คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ธีระวัฒน์ ภัทรานวัช

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 377 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6754/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและอายุความเรียกร้องเงินอากรขาเข้า: กรมศุลกากรมีอำนาจประเมินและฟ้องได้ภายใน 10 ปี
ป.รัษฎากร มาตรา 83/10 (1) บัญญัติให้กรมศุลกากรโจทก์ที่ 1 เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่นำเข้าเพื่อกรมสรรพากรโจทก์ที่ 2 และมาตรา 4 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมินได้ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง แต่งตั้งให้ข้าราชการในสังกัดโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานประเมินในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่นำเข้าหรือส่งออก ตามประกาศลงวันที่ 27 ธันวาคม 2534 ส. ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดโจทก์ที่ 1 จึงมีอำนาจประเมินให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม
กะปิที่จำเลยที่ 1 นำเข้าไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า จึงไม่ใช่กรณีพนักงานเจ้าหน้าที่คำนวณจำนวนอากรผิด สิทธิเรียกร้องเงินอากรขาเข้าของโจทก์ที่ 1 จึงไม่ได้มีอายุความ 2 ปี ในกรณีคำนวณจำนวนเงินอากรผิด แต่มีอายุความ 10 ปี นับจากวันที่นำของเข้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6624/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มจากราคาไม้แปรรูป: การใช้ราคาศุลกากรเป็นฐานภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมายเมื่อราคาขายต่ำกว่าราคาตลาด
ไม้ที่โจทก์นำเข้าเป็นไม้แปรรูป การที่กรมศุลกากรกำหนดราคาไม้ที่โจทก์นำเข้าเพื่อเรียกเก็บอากรขาเข้าที่ราคา 10,000 บาท ถึง 11,000 บาทต่อลูกบาศก์เมตร โดยอาศัยราคาในท้องตลาดเป็นรายเฉลี่ยสำหรับไม้แปรรูปตามประกาศอธิบดีกรมศุลกากร ซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 จึงเป็นการกำหนดราคาไม้แปรรูปที่โจทก์นำเข้าโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์นำไม้แปรรูปดังกล่าวไปขายภายหลังในราคาต่ำกว่าราคาดังกล่าว และพิสูจน์ไม่ได้ว่าราคาที่ต่ำกว่านั้นเป็นราคาตลาดในขณะที่ขาย จึงเป็นการขายต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ราคาไม้แปรรูปที่โจทก์ขาย จึงไม่อาจถือเป็นมูลค่าของฐานภาษีในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 79/3 (1) ได้ มูลค่าของฐานภาษีในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มต้องถือตามราคาตลาดของไม้แปรรูปในวันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น คือวันที่มีการส่งมอบไม้แปรรูปให้แก่ผู้ซื้อตาม ป.รัษฎากร มาตรา 78 (1) ที่เจ้าพนักงานประเมินใช้ราคาไม้แปรรูปของกรมศุลกากรดังกล่าวเป็นราคาตลาดในการกำหนดมูลค่าของฐานภาษีของไม้แปรรูปที่โจทก์ขายไปนั้นนับว่าเป็นคุณแก่โจทก์ เพราะราคาต้นทุนซึ่งย่อมต่ำกว่าราคาที่ขาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5597/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้บริการขนส่งเพื่อยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องมีลักษณะเป็นการรับขนส่งเพื่อบำเหน็จที่เป็นค่าระวางพาหนะ
ป.รัษฎากรมิได้บัญญัติว่า การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรหมายความว่าอย่างไร จึงต้องถือความหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 608 และมาตรา 610 จากบทบัญญัติดังกล่าว การให้บริการขนส่งจึงหมายถึงการรับขนส่งของหรือคนโดยสารจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเพื่อบำเหน็จคือค่าระวางพาหนะเป็นทางค้าปกติของผู้ขนส่ง ฉะนั้น หากบำเหน็จที่ได้รับมิใช่ค่าระวางพาหนะแล้ว การให้บริการนั้นก็ไม่ถือเป็นการให้บริการขนส่ง ซึ่งค่าระวางพาหนะจะมากหรือน้อยย่อมขึ้นอยู่กับระยะทาง ความยากง่ายและระยะเวลาขนส่งเป็นสำคัญ เมื่อบำเหน็จที่โจทก์ได้รับจากลูกค้าเป็นค่าตอบแทนการที่โจทก์ส่งพนักงานไปส่งเอกสารให้ลูกค้าตามที่ลูกค้าสั่ง เป็นค่าตอบแทนที่โจทก์ได้รับเป็นรายเดือนจำนวนแน่นอนตามที่ตกลงในสัญญาจ้างบริการโดยมิได้คำนึงถึงระยะทาง ความยากง่ายและระยะเวลาขนส่งในแต่ละคราวเป็นสำคัญ ค่าบำเหน็จที่โจทก์ได้รับจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นค่าระวางพาหนะ การให้บริการของโจทก์ในลักษณะดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นการให้บริการขนส่งอันจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 81 (1) (ณ) แม้จะเป็นการให้บริการในราชอาณาจักรก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5597/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้บริการรับส่งเอกสารไม่ถือเป็นการขนส่ง หากบำเหน็จที่ได้รับไม่ใช่ค่าระวางพาหนะ จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ป.รัษฎากร มาตรา 77/2 บัญญัติให้การให้บริการในราชอาณาจักรโดยผู้ประกอบการอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งคำว่า "บริการ" ตามมาตรา 77/1 (10) หมายความว่าการกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่การขายสินค้า แต่ถ้าการให้บริการนั้นเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรก็ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ณ) การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรตาม ป.รัษฎากร มิได้ให้ความหมายไว้ จึงต้องถือตาม ป.พ.พ. มาตรา 608 และมาตรา 610 การให้บริการขนส่งจึงหมายถึงการรับขนของหรือคนโดยสารจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเพื่อบำเหน็จคือค่าระวางพาหนะเป็นทางค้าปกติของผู้ขนส่ง หากบำเหน็จที่ได้รับมิใช่ค่าระวางพาหนะ การให้บริการนั้นก็ไม่ถือเป็นการให้บริการขนส่ง คดีนี้บำเหน็จที่โจทก์ได้รับจากลูกค้าเป็นค่าตอบแทนการที่โจทก์ส่งพนักงานไปส่งเอกสารให้ลูกค้าตามที่ลูกค้าสั่ง เป็นค่าตอบแทนที่โจทก์ได้รับเป็นรายเดือนจำนวนแน่นอนตามที่ตกลงในสัญญาจ้างบริการและมิได้คำนึงถึงระยะทาง ความยากง่าย และระยะเวลาขนส่งในแต่ละคราวเป็นสำคัญ ค่าบำเหน็จที่โจทก์ได้รับจึงไม่เป็นค่าระวางพาหนะ การให้บริการของโจทก์จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการให้บริการขนส่ง และไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 81 (1) (ณ)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5596/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีจากการขายสินค้าต่ำกว่าราคาตลาด การบันทึกบัญชีที่ถูกต้อง และการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานประเมิน
ลูกหนี้การค้าของโจทก์เป็นเงินได้พึงประเมินนับตั้งแต่โจทก์คำนวณรับรู้รายได้โดยต้องใช้เกณฑ์สิทธิตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่ง ป.รัษฎากร แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น หากโจทก์เห็นว่าไม่อาจได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ดังกล่าวอย่างแน่นอนเพราะลูกหนี้รายนี้ต้องล้มละลาย โจทก์ต้องดำเนินการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของมาตรา 65 ทวิ (9) แห่ง ป.รัษฎากร และกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2534 เมื่อโจทก์ยังมิได้ดำเนินการดังกล่าวจึงต้องถือว่าลูกหนี้รายนี้ยังคงเป็นลูกหนี้ของโจทก์ทั้งจำนวน และโดยที่เป็นหนี้เงินตราต่างประเทศ โจทก์ต้องคำนวณค่าหรือราคาของลูกหนี้เป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยคำนวณไว้ตามมาตรา 65 ทวิ (5) (ก) แห่ง ป.รัษฎากร เมื่อคำนวณแล้วโจทก์มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราจึงต้องปรับปรุงรายการดังกล่าวเป็นรายได้ของโจทก์
โจทก์คำนวณราคาขายผิดพลาดสูงกว่าความเป็นจริง ซึ่งกรณีนี้ต้องแก้ไขทางบัญชีโดยบันทึกลดหนี้ แต่โจทก์กลับจำหน่ายลูกหนี้ออกจากบัญชีทั้งจำนวนโดยบันทึกผลต่างของราคาที่ผิดพลาดเป็นรายจ่ายผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา เป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องทางบัญชี การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นำเงินที่โจทก์ได้รับชำระมาคำนวณเป็นอัตราเงินไทยแล้วเห็นว่าโจทก์มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา จึงนำเงินกำไรดังกล่าวมาบวกกลับในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจึงถูกต้องตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (5) วรรคสอง
ราคาตลาดของสินค้าอาจไม่มีราคาตายตัวหรือราคาเดียว การขายสินค้าแต่ละครั้งในราคาสูงต่ำผิดกันก็อาจอยู่ในกรอบของราคาตลาดได้ แม้โจทก์จะขายสินค้าถุงมือยางให้ผู้ซื้อแต่ละรายในราคาไม่เท่ากัน แต่การกำหนดราคาขายต่อหน่วยก็ต่างกันที่เลขทศนิยมหลักที่ 3 เงื่อนไขการชำระเงินและปริมาณสินค้าที่ซื้อขายก็แตกต่างกัน ทั้งราคาขายสินค้าต่อหน่วยเป็นเงินมาร์กเยอรมันและเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อคำนวณเป็นเงินไทยแล้วมีราคาไม่เท่ากันก็หาใช่กรณีโจทก์ขายสินค้าในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เพราะค่าของเงินแต่ละประเทศที่โจทก์ได้รับมาแต่ละวันคำนวณราคาเป็นเงินไทยตามราคาตลาดในวันที่ได้รับมานั้นมีอัตราแลกเปลี่ยนที่แตกต่างกันตามค่าของเงินนั้น ๆ นอกจากนี้การที่บริษัท R ซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าของโจทก์รายหนึ่งถือหุ้นในบริษัทโจทก์ ย่อมทำให้บริษัททั้งสองมีความผูกพันกันอยู่อันเป็นเหตุสมควรที่โจทก์จะขายสินค้าให้แก่บริษัทดังกล่าวในราคาต่ำกว่าราคาที่ขายให้แก่ผู้ซื้อรายอื่น การกระทำของโจทก์ในส่วนนี้ยังไม่อาจถือว่าเป็นการปฏิบัติเกินกว่าปกติที่พึงปฏิบัติต่อกันในทางการค้าและกระทบถึงผลประโยชน์ของโจทก์เกินกว่าปกติ เจ้าพนักงานประเมินจึงไม่มีอำนาจประเมินราคาสินค้าถุงมือยางของโจทก์ดังกล่าวตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4402/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการยื่นคำร้องขอพิจารณาภาษีโรงเรือนและที่ดินสงวนไว้สำหรับผู้รับประเมิน เจ้าของทรัพย์สิน การชำระภาษีตามสัญญาเช่าไม่ทำให้มีอำนาจดังกล่าว
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 25 บัญญัติให้ผู้รับประเมินที่ไม่พอใจในการประเมินอาจยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่า บริษัท ซ. เจ้าของโรงเรือนและที่ดินดังกล่าวเป็นผู้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษีพิพาท และพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้แจ้งรายการประเมินไปยังบริษัท ซ. อันเป็นการแจ้งรายการประเมินแก่ผู้รับประเมินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 24 แล้ว ดังนั้นผู้รับประเมินที่อาจยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่จึงหมายถึงบริษัท ซ. แม้โจทก์จะมีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามสัญญาเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โจทก์ก็ไม่เป็นผู้รับประเมินในกรณีนี้และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ทั้งตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 37 ก็บัญญัติให้ผู้รับประเมินที่จะต้องลงนามในแบบพิมพ์ใดจะให้ตัวแทนลงนามแทนก็ได้ โดยต้องมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อโจทก์ยื่นแบบพิมพ์คำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 9) ในนามของตนเองโดยบริษัท ซ. ผู้รับประเมินไม่ได้มอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรให้ลงนามแทนได้ จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ และถือว่าไม่มีการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 25 จำนวนเงินที่ประเมินจึงเป็นจำนวนเด็ดขาด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2635/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์การประเมินภาษีอากร การไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์ภายในกำหนด ทำให้การประเมินยุติ และจำเลยต้องชำระภาษี
จำเลยนำเข้าสินค้ากากกุ้งเข้ามาในราชอาณาจักรโดยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าว่าสินค้าขาเข้าจัดอยู่ในประเภทพิกัด 2301.20 อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 10 และเสียภาษีอากรตามอัตราดังกล่าว แต่ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบว่า สินค้าดังกล่าวจัดอยู่ในประเภทพิกัด 0508.00 อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 35 จึงขอให้จำเลยชำระภาษีอากรเพิ่มเติม จำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2543 แต่มิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินภายใน 30 วัน ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ศุลกากรฯ ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 ฉ ซึ่งบัญญัติว่า "...ผู้นำของเข้ามีสิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน..." การประเมินจึงยุติ จำเลยไม่มีสิทธิต่อสู้ว่าการประเมินไม่ชอบ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีอากรเพิ่มเติมตามฟ้อง แม้ศาลภาษีอากรกลางจะมิได้ยกข้อที่จำเลยไม่มีสิทธิต่อสู้ว่าการประเมินไม่ชอบขึ้นวินิจฉัย ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรก็ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1341/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม: การประเมินภาษีภายในกำหนดเวลา, การพิสูจน์ใบกำกับภาษีซื้อ, และการลดเบี้ยปรับ
อธิบดีกรมสรรพากรได้มอบอำนาจให้สรรพากรภาคปฏิบัติราชการแทนอธิบดีอนุมัติให้ใช้อำนาจประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 88/6 วรรคท้าย เมื่อแบบคำขออนุมัติดังกล่าวระบุว่า เรียนอธิบดีกรมสรรพากร (ผ่านสรรพากรภาค 10) มีรายละเอียดการขออนุมัติประเมินตามมาตรา 88/6 วรรคท้าย เดือนภาษีที่ขออนุมัติว่าตั้งแต่เดือนภาษีมีนาคม 2540 ถึงธันวาคม 2540 และลงชื่อโดย ส. ตำแหน่งสรรพากรภาค 10 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายอำนาจจากอธิบดี ส. จึงมีอำนาจทำการอนุมัติให้ใช้อำนาจประเมินตามมาตรา 88/6 วรรคท้ายได้ และโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีมีนาคม 2540 ถึงธันวาคม 2540 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2545 จึงเป็นกรณีเจ้าพนักงานประเมินโดยอนุมัติอธิบดีประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีตามมาตรา 88/6 วรรคท้ายแล้ว
เจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกโจทก์มาพิสูจน์ตามข้ออ้างของโจทก์แต่โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีและมีการซื้อขายสินค้าดังกล่าวจริง แม้ในชั้นพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางโจทก์นำหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์เข้าสืบโดยทำบันทึกถ้อยคำพยานล่วงหน้ามาใช้ประกอบคำเบิกความ แต่มิได้ส่งต้นฉบับบันทึกถ้อยคำดังกล่าวต่อศาลภาษีอากรกลาง และส่งสำเนาแก่จำเลยทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน ก่อนสืบพยานโจทก์ เป็นกรณีโจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดภาษีอากรฯ ข้อ 29 วรรคสาม บันทึกถ้อยคำดังกล่าวจึงไม่สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในคดี
โจทก์อุทธรณ์ว่า ผู้ประกอบการได้แจ้งว่าไม่ต้องเก็บสำเนาเอกสารเกินกว่า 5 ปี แต่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยกลับให้สอบยันภาษีมูลค่าเพิ่มรายพิพาทและไม่ยินยอมให้โจทก์นำใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการดังกล่าวมาใช้ประกอบในการคำนวณภาษีเป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเปรียบเทียบกับกรณีใบกำกับภาษีของบริษัท ส. บริษัท ท. บริษัท อ. และบริษัท ง. ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินใช้ดุลพินิจยอมให้นำใบกำกับภาษีซื้อมาคำนวณภาษีได้ เป็นการใช้ดุลพินิจไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน การประเมินไม่ชอบ เป็นคำอุทธรณ์ที่เกินเลยจากคำเบิกความของพยานโจทก์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลางตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 24 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1254/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายที่ดินที่ได้รับมรดกเพื่อชำระหนี้ธนาคาร มีลักษณะเป็นการค้าหรือหากำไร ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
โจทก์นำที่ดินที่ได้รับมาทางมรดกไปแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยรวม 6 แปลง แล้วกู้ยืมเงินจากธนาคารมาทำธุรกิจสร้างอพาร์ตเมนต์ในที่ดินที่เป็นแปลงย่อยดังกล่าวรวม 2 แปลง และนำที่ดินแปลงย่อยที่พิพาทอีก 2 แปลง ไปหาผลประโยชน์โดยให้ ช. เช่า โดยมีข้อตกลงว่าเมื่อครบกำหนดเวลาเช่า ให้สิ่งปลูกสร้างที่ผู้เช่าสร้างขึ้นในที่ดินที่เช่าตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่า ต่อมาโจทก์ขายที่ดินที่พิพาททั้งสองแปลงเพื่อนำเงินไปชำระหนี้ธนาคาร ดังนี้แสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการในทางค้าอสังหาริมทรัพย์และได้ใช้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงประกอบกิจการให้เช่าแล้ว การที่โจทก์ขายที่ดินพิพาทที่โจทก์มีไว้ในการประกอบกิจการให้เช่าก่อนสิ้นกำหนดเวลาเช่าจึงมีลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (6) ประกอบ พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มาตรา 3 (5) อันต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แม้ภายหลังจะมี พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 ออกมาบังคับใช้แทนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 กำหนดให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร มีแต่เฉพาะการขายของนิติบุคคลเท่านั้น ก็เป็นเพียงกรณีที่รัฐประสงค์จะแก้ไขการจัดเก็บภาษีตามนโยบาย ไม่มีผลลบล้างบทบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับเดิมที่มีผลสมบูรณ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมาแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1233/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ใบกำกับภาษีต้องออกโดยผู้ขายสินค้า/บริการจริง และมีหลักฐานการชำระเงิน การนำภาษีซื้อมาหักต้องมีสิทธิโดยชอบ
ผู้ที่จะมีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้นอกจากต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ยังต้องปรากฏด้วยว่าผู้ประกอบการนั้นได้ขายสินค้าหรือบริการและได้รับชำระราคาสินค้าหรือบริการนั้น หรือเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นในกรณีอื่นตามมาตรา 86 แห่ง ป.รัษฎากร หาใช่ว่าใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ประกอบการจดทะเบียนจะเป็นใบกำกับภาษีที่ชอบด้วยกฎหมายทุกกรณีไม่ เมื่อบริษัททั้งสี่ดังกล่าวออกใบกำกับภาษีซื้อให้แก่โจทก์โดยไม่มีการขายสินค้าถือว่าใบกำกับภาษีดังกล่าวเป็นใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี โจทก์จึงไม่อาจนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีนั้นมาหักในการคำนวณภาษีตามมาตรา 82/5 (5)
of 38