คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เปรมใจ กิติคุณไพโรจน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 286 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 49/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย กรรมเดียวความผิดเดียว ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษา
เมทแอมเฟตามีนที่พบที่ตัวจำเลยทั้งสาม 17 เม็ด เป็นจำนวนเดียวกับเมทแอมเฟตามีนที่ค้นพบในบ้านจำนวน 3,000 เม็ด เป็นแต่เพียงจำเลยทั้งสามแยกเอาบางส่วนติดตัวไว้เท่านั้น ทั้งโจทก์ได้บรรยายไว้ในคำฟ้องแล้วว่าเมทแอมเฟตามีน 17 เม็ด ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีน 3,017 เม็ด ที่จำเลยทั้งสามร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ดังนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดเพียงกรรมเดียวฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกกรรมหนึ่งนั้น จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10341/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษี การพิสูจน์รายจ่าย และอำนาจการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
โจทก์ประกอบกิจการเพื่อแสวงหากำไรโดยกู้ยืมเงินมาลงทุน ตอนที่โจทก์ขายรถยนต์ไปในราคาต่ำกว่าราคาทุนโดยไม่ปรากฏว่าราคารถยนต์ในขณะนั้นลดลงและโจทก์ก็ไม่ได้ประสบกับขาดทุน จึงไม่มีเหตุผลใดที่ต้องขายรถยนต์ในราคาที่ขาดทุน อีกทั้งโจทก์ก็ไม่สามารถชี้แจ้งเหตุผลการขายขาดทุนแก่เจ้าพนักงานประเมินได้ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า โจทก์ขายรถยนต์ในราคาต่ำกว่าทุนโดยมีเหตุอันสมควร การที่เจ้าพนักงานประเมินนำเอาผลขาดทุนจากการขายมาคำนวณเป็นยอดขายเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) จึงชอบแล้ว
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ต้องเสียภาษีอากรเฉพาะประเด็นที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินไว้และผู้ต้องเสียภาษีอุทธรณ์เท่านั้น จะไปตั้งประเด็นใหม่นอกเหนือจากประเด็นที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินหาได้ไม่ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินแจ้งว่ารายจ่ายค่าติดตามหนี้และค่าส่งเสริมการขายจำนวน 5,621,000 บาท เป็นรายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่น แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วให้หักเป็นรายจ่ายค่าติดตามหนี้และค่าส่งเสริมการขายจำนวน 1,770,000 บาท ส่วนที่เหลือไม่ให้หักโดยให้เหตุผลว่าโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้รับ จึงต้องห้ามมิให้นำมาหักตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (5) และ (18) แสดงให้เห็นได้ว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วว่ารายจ่ายค่าติดตามหนี้และค่าส่งเสริมการขายจำนวน 5,621,000 บาท ของโจทก์มิใช่รายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่นตามที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินไว้ แต่การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วให้หักเป็นรายจ่ายได้เพียง 1,770,000 บาท ส่วนอีก 3,851,000 บาท คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ให้นำมาหักนั้นเกิดจากการที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เรียกพนักงานผู้มีรายชื่อตามที่โจทก์อ้างว่าเป็นผู้ได้รับเงินค่าติดตามหนี้และค่าส่งเสริมการขายมาไต่สวน โดยไม่มีประเด็นเหล่านี้ในชั้นเจ้าพนักงาน การพิจารณาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องใหม่ที่เจ้าพนักงานประเมินมิได้ตั้งประเด็นไว้ในชั้นไต่สวนเพื่อทำการประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 19, 20, และ 32 เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีโอกาสอุทธรณ์โต้แย้งตามลำดับขั้นตอนได้ การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กลับไต่สวนเสียเองในประเด็นอื่นที่เจ้าพนักงานประเมินมิได้มีคำสั่งไว้จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติ
โจทก์มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องชำระภาษีให้แก่จำเลยที่ 1 ตามที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งมา แม้โจทก์จะได้อุทธรณ์การประเมินก็ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 31 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีตามการประเมินไปก่อน หากผลที่สุดโจทก์ไม่ต้องชำระหรือชำระน้อยกว่าที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินไว้ โจทก์มีสิทธิได้คืนพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 4 ทศ การที่โจทก์เลือกที่จะนำหนังสือรับรองของธนาคารมาค้ำประกันหนี้ค่าภาษีของโจทก์โดยโจทก์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมให้แก่ธนาคารผู้ค้ำประกันร้อยละ 1.7 ต่อปี จึงเป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์เลือกวิธีดังกล่าวเอง โจทก์จึงต้องรับภาระดังกล่าวไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10316/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการหักภาษีซื้อสำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กำหนดช่วงเวลาภาษีซื้อ
ป.รัษฎากร มาตรา 82/3 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 82/7 มาตรา 82/8 และมาตรา 82/16 ให้ผู้ประกอบการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี" แม้บทบัญญัตินี้จะใช้คำว่า "ผู้ประกอบการ" มิได้ใช้คำว่า "ผู้ประกอบการจดทะเบียน" แต่เมื่อภาษีขายหมายถึงภาษีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 77/1 (17) และมาตรา 82/4 วรรคสาม และภาษีซื้อหมายถึงภาษีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นเรียกเก็บตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 77/1 (18) และมาตรา 82/4 วรรคสี่ คำว่า "ผู้ประกอบการ" ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 82/3 วรรคหนึ่ง จึงหมายถึงผู้ประกอบการจดทะเบียน ผู้ประกอบการที่มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจึงไม่อาจเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ เมื่อโจทก์จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มวันที่ 10 ตุลาคม 2545 โจทก์จึงไม่มีสิทธินำภาษีซื้อที่เกิดขึ้นก่อนที่โจทก์จะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10316/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักภาษีซื้อสำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายหลังการเกิดภาษีซื้อ
ป.รัษฎากร มาตรา 82/3 วรรคหนึ่ง ใช้คำว่า "ผู้ประกอบการ" มิได้ใช้คำว่า "ผู้ประกอบการจดทะเบียน" แต่เมื่อภาษีขายหมายถึงภาษีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 77/1 (17) และมาตรา 82/4 วรรคสาม และภาษีซื้อหมายถึงภาษีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นเรียกเก็บตาม มาตรา 77/1 (18) และมาตรา 82/4 วรรคสี่ คำว่า "ผู้ประกอบการ" ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 82/3 วรรคหนึ่ง จึงหมายถึงผู้ประกอบการจดทะเบียน ผู้ประกอบการที่มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจึงไม่อาจเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือน
โจทก์จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มวันที่ 10 ตุลาคม 2545 โจทก์จะนำภาษีซื้อที่เกิดขึ้นระหว่างเดือนภาษีมีนาคมถึงเดือนภาษีกันยายน 2545 ก่อนที่โจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10306/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกันการผ่อนชำระภาษีฯ ผู้ค้ำประกันสละสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน ทำให้เป็นลูกหนี้ร่วม
ตามสัญญาค้ำประกันการผ่อนชำระภาษีอากร จำเลยที่ 3 ให้สัญญาไว้กับกรมสรรพากรโจทก์ว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าภาษีอากร จำเลยที่ 3 จะนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับแจ้ง โดยจำเลยที่ 3 จะนำเงินมาชำระให้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขอผ่อนชำระภาษีอากรโดยมิต้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ต้องชำระก่อน เป็นกรณีที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันสละสิทธิที่จะขอให้เรียกจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนและสละสิทธิที่จะให้โจทก์บังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 688 และ 689 อันมีผลทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 หรือที่ 3 คนใดคนหนึ่งชำระหนี้สิ้นเชิง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้นเชิง จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 691
โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อย่างลูกหนี้ร่วม จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 200 บาท เท่านั้น ตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (2) (ก) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 24

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10305/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องภาษีโรงเรือนและที่ดินไม่เคลือบคลุม โจทก์มีอำนาจฟ้องได้ หากบรรยายฟ้องชัดเจนถึงการใช้ประโยชน์และเหตุไม่ต้องยกเว้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างคือตึกแถวสองชั้น 1 หลัง ใช้อยู่เองและประกอบการค้า และตึกแถวหนึ่งชั้นเป็นโกดังเก็บสินค้าอีก 1 หลัง อยู่ติดกัน โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน คำบรรยายฟ้องของโจทก์ชัดแจ้งแล้วว่า ตึกแถวสองชั้น 1 หลัง จำเลยใช้เป็นที่อยู่อาศัยและประกอบการค้าด้วย และมีตึกแถวหนึ่งชั้นเป็นโกดังเก็บสินค้า 1 หลัง อยู่ติดกับตึกแถวสองชั้น และโจทก์ได้บรรยายฟ้องต่อไปว่า ตึกแถวสองชั้นและโกดังเก็บสินค้าต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ประเมินค่าภาษีโดยเทียบเคียงกับค่ารายปีของโรงเรือนหรือทรัพย์สินที่ให้เช่าตามหลักเกณฑ์การกำหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรในเขตเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี และบัญชีแสดงการแบ่งทำเลเพื่อกำหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตร ซึ่งมีรายละเอียดชัดเจนว่า ตึกแถวสองชั้นทำเลใดคิดค่าเช่าเท่าใด โกดังเก็บของคิดค่าเช่าเท่าใด กำหนดเป็นค่ารายปีและค่าภาษีเท่าใด ซึ่งจำเลยสามารถเข้าใจได้ดีจึงต่อสู้ได้ถูกต้องว่าตึกแถวและโกดังของจำเลยไม่ต้องเสียภาษีเพราะเหตุใด ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
แม้โจทก์จะมิได้ระบุว่าจำเลยใช้โรงเรือนเป็นที่ไว้สินค้าหรือประกอบอุตสาหกรรมตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าตึกแถวสองชั้น 1 หลัง จำเลยใช้อยู่เองและประกอบการค้าจึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามกฎหมาย อันเป็นการระบุว่าจำเลยต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินในส่วนของตึกแถวสองชั้น เพราะจำเลยได้ใช้ประกอบการค้าด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10287/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ต้องอิงค่ารายปีที่ศาลเคยตัดสิน และพิจารณาปัจจัยเปลี่ยนแปลงที่สมเหตุผล
การพิจารณากำหนดค่ารายปีสำหรับปีภาษีพิพาทต้องเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ คือ นำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วนั้นมาเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีที่จะต้องเสียในปีต่อมาซึ่งต้องเป็นค่ารายปีที่ศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว และหากพนักงานเก็บภาษีของจำเลยจะประเมินค่ารายปีโดยกำหนดให้แตกต่างจากค่ารายปีและค่าภาษีที่ล่วงมาแล้วได้ จะต้องมีพฤติการณ์อื่นที่มีผลทำให้เปลี่ยนแปลงค่ารายปีเพิ่มขึ้นหรือลดลง ที่จำเลยนำสืบว่าได้เทียบเคียงกับสถานีบริการน้ำมันรายอื่นในบริเวณใกล้เคียงก็ปรากฏตามแผนที่ซึ่งจำเลยจัดทำขึ้นว่าสถานีบริการน้ำมันดังกล่าวห่างจากสถานีบริการน้ำมันพิพาทของโจทก์ประมาณ 2 กิโลเมตร และ 3.4 กิโลเมตร ทำเลที่ตั้ง ขนาด และสภาพพื้นที่ของโรงเรือนทั้งสองไม่อาจเทียบเคียงกับสถานีบริการน้ำมันพิพาทได้ ดังนั้น การที่พนักงานเก็บภาษีของจำเลยจะนำค่าเช่าของสถานีบริการน้ำมัน 2 แห่งดังกล่าวเปรียบเทียบแล้วประเมินเป็นค่ารายปีของโรงเรือนพิพาท จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นได้ว่าการพิจารณากำหนดค่ารายปีของสถานีบริการน้ำมันพิพาทเป็นกรณีที่ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาโดยคำนึงถึงมาตรา 8 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ ด้วย นอกจากนี้โจทก์มีพยานมาเบิกความว่าสำหรับปีภาษี 2544 โรงเรือนซึ่งเป็นสถานีบริการน้ำมันพิพาทของโจทก์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมขึ้น สภาพเศรษฐกิจในขณะนั้นยังอยู่ในสภาวะตกต่ำและชะลอตัวซึ่งก็ปรากฏว่าพนักงานเก็บภาษีของจำเลยประเมินค่ารายปีสำหรับปีภาษี 2544 เท่ากับปีภาษี 2543 และปีภาษี 2542 โดยมิได้ประเมินค่ารายปีเพิ่มขึ้นตามที่อ้างว่าบริเวณที่ตั้งของสถานีบริการน้ำมันพิพาทมีความเจริญเพิ่มขึ้นมากและปีภาษีพิพาทเศรษฐกิจไม่ได้ตกต่ำแล้ว จึงเจือสมกับคำเบิกความของพยานโจทก์ว่าค่ารายปีและค่าภาษีสำหรับปีภาษี 2544 ควรเท่ากับปีภาษี 2543 ค่ารายปีและค่าภาษีที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8940/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งทางปกครองต้องมีเหตุผลรองรับ แม้กฎหมายเฉพาะจะไม่ได้กำหนดไว้ ก็ต้องใช้หลักเกณฑ์ทั่วไปตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ฯ มาตรา 37 บัญญัติว่า คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและการยืนยันคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย และเหตุผลนั้นอย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ และตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ บัญญัติว่า คำชี้ขาดของอธิบดีกรมสรรพากรหรือสมุหเทศาภิบาลนั้น ให้แจ้งไปยังผู้ร้องเป็นลายลักษณ์อักษร ถ้ามีการลดจำนวนเงินที่ประเมินไว้เป็นจำนวนเท่าใดก็ให้แจ้งไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อจะได้แก้ไขบัญชีการประเมินตามคำชี้ขาดนั้น คำชี้ขาดข้างต้นจึงเป็นคำสั่งทางปกครองอย่างหนึ่งและต้องทำเป็นหนังสือให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว คำชี้ขาดฉบับพิพาทมีข้อความเพียงว่า ทรัพย์สินห้างสรรพสินค้า ท. ปีภาษี 2545 ค่ารายปี 62,286,843.76 บาท ค่าภาษี 3,885,052.70 บาท หักลดค่ารายปี 31,080,421.64 บาท ปีภาษี 2546 ค่ารายปี 63,227,042.57 บาท ค่าภาษี 7,773,380.31 บาท หักลดค่ารายปี 538,000 บาท และปีภาษี 2547 ค่ารายปี 66,460,019.42 บาท ค่าภาษี 8,211,873.67 บาท หักลดค่ารายปี 979,730 บาท ไม่ปรากฏเหตุผลว่าเหตุใดจำเลยที่ 1 จึงกำหนดค่ารายปี ค่าภาษีและจำนวนหักลดดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นที่ไม่ต้องแสดงเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคสาม (2) ที่ว่าเหตุผลนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีก ใบแจ้งคำชี้ขาดฉบับพิพาทจึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะออกคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือโดยไม่ต้องระบุเหตุผลไว้ จึงขัดต่อบทบัญญัติในมาตรา 37 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว และ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ฯ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณา วินิจฉัย และสั่งการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นหลักเกณฑ์เพื่อกำหนดขั้นตอนในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อนมีคำสั่งทางปกครอง เช่น การมีคำสั่งอนุญาต อนุมัติ แต่งตั้ง หรือคำสั่งอื่นใดของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิ หรือหน้าที่ต่อบุคคล โดยมีหลักการสำคัญที่จะให้เป็นกฎหมายทั่วไปในการวางระเบียบปฏิบัติแก่เจ้าหน้าที่ทั้งหลายในการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะเป็นการให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจอย่างไม่มีขอบเขตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และในขณะเดียวกันช่วยให้เกิดประสิทธิภาพแก่การบริหารราชการแผ่นดินอีกด้วย โดยมาตรา 3 บัญญัติว่า เรื่องใดถ้ามีบทบัญญัติในกฎหมายอื่นไว้แล้ว กฎหมายฉบับนั้นต้องมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการไม่ต่ำกว่า พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ฯ ด้วย และหลักเกณฑ์ตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการที่ต่ำกว่า พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ฯ มาตรา 37 จึงต้องนำ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ฯ มาตรา 37 ไปใช้บังคับกรณีใบแจ้งคำชี้ขาดตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ ด้วย
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงนามในใบแจ้งคำชี้ขาดในตำแหน่งปลัดกรุงเทพมหานครซึ่งปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเท่านั้น จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะปลัดกรุงเทพมหานครตามที่โจทก์ฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8807/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับตู้โทรศัพท์สาธารณะ: การพิจารณาคุณสมบัติ 'สิ่งปลูกสร้าง' และข้อยกเว้นสำหรับรัฐวิสาหกิจ
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 31 วรรคท้าย บัญญัติว่า "ในกรณีที่ผู้รับประเมินซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจไม่พอใจในคำชี้ขาดตามวรรคหนึ่ง เนื่องจากเห็นว่าจำนวนเงินซึ่งประเมินไว้นั้นมีจำนวนที่สูงเกินสมควร ให้รัฐวิสาหกิจนั้นนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดตามมาตรา 30 ในการนี้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจให้ลดหย่อนค่ารายปีให้แก่รัฐวิสาหกิจนั้นได้ตามที่เห็นสมควร มติของคณะรัฐมนตรีเป็นที่สุด" เป็นการระบุว่าเฉพาะกรณีที่รัฐวิสาหกิจใดไม่พอใจคำชี้ขาดเพราะเห็นว่าจำนวนเงินที่ประเมินสูงเกินสมควรให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาและคณะรัฐมนตรีมีอำนาจให้ลดหย่อนค่ารายปีได้ เมื่อโจทก์ไม่พอใจคำชี้ขาดเพราะเห็นว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ไม่ใช่กรณีที่โจทก์เห็นว่าจำนวนเงินที่ประเมินและตามคำชี้ขาดสูงเกินสมควร โจทก์จึงไม่ต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลดหย่อนค่ารายปีตามบทบัญญัติดังกล่าว และมีอำนาจฟ้องคดีนี้
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 5 บัญญัตินิยามคำว่า "โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น" ให้กินความถึงแพด้วยเท่านั้น โดยมิได้กำหนดความหมายไว้โดยเฉพาะ เมื่อตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างหนึ่ง แม้จะวางติดอยู่บนแท่นซีเมนต์สี่เหลี่ยมสำเร็จรูปซึ่งวางอยู่บนทางเท้าหรือพื้นดินโดยไม่ได้ฝังเสาลงไปในดินและไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยก็ตาม แต่ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ ก็มิได้กำหนดให้จัดเก็บภาษีเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่มีการฝังเสาลงไปในดินและบุคคลอาจเข้าอยู่และใช้สอยได้เท่านั้น เมื่อตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ได้ใช้คุ้มครองป้องกันมิให้เครื่องโทรศัพท์เสียหาย และให้บริการประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์ให้มีความปลอดภัย สะดวกสบาย จึงเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบกิจการก่อให้เกิดประโยชน์และรายได้แก่โจทก์ ถือเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 5 สำหรับทรัพย์สินที่จะได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (2) นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือสาธารณะ เมื่อโจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจและกฎหมายมิได้บัญญัติให้ยกเว้นภาษีดั่งเช่นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการรถไฟโดยตรง ตู้โทรศัพท์สาธารณะซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 9 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8804/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์การประเมินภาษี, สิทธิขอคืนภาษี, ดอกเบี้ยคืนภาษี, และผลของการไม่ยื่นรายการภาษีตามกำหนด
โจทก์อ้างในคำฟ้องว่า โจทก์มิได้ใช้ที่ดินและโกดังสินค้าในการประกอบกิจการใด การขายที่ดินและโกดังสินค้าดังกล่าวจึงไม่ใช่การขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีไว้ในการประกอบกิจการ ซึ่งจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ การที่ศาลภาษีอากรกลางหยิบยกข้อความตามสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับบริษัท ส. และข้อที่โจทก์ยอมรับการประเมินค่ารายปีและเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนมาประกอบดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์มีอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไว้ในการประกอบกิจการจึงมิใช่การวินิจฉัยนอกประเด็น แม้เหตุผลตามคำพิพากษาจะแตกต่างจากเหตุผลของเจ้าพนักงานประเมินหรือคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ตาม
โจทก์อ้างว่าอสังหาริมทรัพย์จำนวน 4 แปลง โจทก์ได้มาตั้งแต่ปี 2525 และขายไปในปี 2535 โดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร จำเลยให้การว่า โจทก์ซื้อที่ดิน 4 แปลงมาในราคา 4,000,000 บาท แล้วขายไปในราคา 30,254,882 บาท และตามหนังสือสัญญาซื้อขายระบุว่าขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นโกดังก่ออิฐถือปูน ซื้อเพื่อใช้เป็นที่สร้างคลังเก็บสินค้า แสดงว่าโจทก์ผู้ซื้อมีเจตนาใช้ประกอบกิจการเป็นโกดังเก็บสินค้ามิได้มีเจตนาใช้เป็นที่อยู่อาศัย ทั้งยังยื่นแบบแสดงรายการกำหนดค่ารายปีและชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน ด้วยเหตุผลดังกล่าวการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวถือว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ตาม พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มาตรา 3 (5) คือ อสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ โจทก์มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะและต้องนำเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ไปรวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นๆ ของโจทก์ เห็นได้ว่าคำให้การของจำเลยมิได้ปฏิเสธข้ออ้างตามคำฟ้องว่าโจทก์ได้ที่ดินทั้ง 4 แปลงมาโดยมิได้มุ่งในทางค้าหรือหากำไรให้เห็นโดยชัดแจ้ง คำให้การของจำเลยมุ่งแสดงข้อเท็จจริงให้เห็นว่าโจทก์ขายที่ดินไปในทางค้าหรือหากำไรซึ่งจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอันเป็นภาษีคนละประเภทกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คำให้การของจำเลยจึงมิได้ปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ดังนั้น ปัญหาที่ว่าโจทก์ได้ที่ดินมาโดยมุ่งในทางค้าหรือหากำไรนั้น ถือว่าจำเลยได้รับแล้ว และข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำฟ้องว่าโจทก์ได้ที่ดินมาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร โจทก์จึงมีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2535 สำหรับเงินได้จากการขายที่ดินตามวิธีการที่กำหนดในมาตรา 48 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร
มาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 บัญญัติว่า "การใดที่กฎหมายกำหนดให้อุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นคณะกรรมการ ขอบเขตการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น..." ซึ่ง ป.รัษฎากร มาตรา 32 ได้กำหนดขอบเขตการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้แล้วโดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยจึงมีอำนาจดำเนินการไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา 32 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่อาจนำระยะเวลาที่กำหนดให้วินิจฉัยอุทธรณ์ และแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ดังกล่าวมาใช้ได้
มาตรา 27 ตรี (1) แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติให้ผู้มีสิทธิขอคืนภาษีอากรที่ยื่นรายการเมื่อพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนด ขอคืนได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันยื่นรายการก็สืบเนื่องมาจากแม้ผู้ยื่นจะยื่นเกินกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดก็ตาม แต่เมื่อผู้ยื่นไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรจึงต้องคืนให้ ส่วนเรื่องดอกเบี้ย มาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ซึ่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ข้อ 2 กำหนดไว้ว่า การคิดดอกเบี้ยให้แก่ผู้ได้รับคืนภาษีอากรนั้น จะคิดให้ต่อเมื่อได้มีการยื่นแบบแสดงรายการหรือคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือภายในเวลาที่ได้รับการขยายหรือเลื่อนให้ เมื่อโจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิได้รับภาษีอากรที่ชำระไปแล้วคืนตามมาตรา 27 ตรี (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ย
of 29